เคยรู้สึกไหมว่าเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ รู้สึกว่าประเทศนี้เจริญหูเจริญตาเจริญใจ ไม่จำเป็นต้องทำงานหนัก ไม่ต้องเรียนสูงๆ ก็ได้ค่าตอบแทนเท่ากับทำงานในประเทศทั้งเดือน (หรืออาจจะทั้งปี) ขณะเดียวกันไปเกิดในชาติอื่นอาจจะดีกว่า อย่างน้อยพาสปอร์ตก็ทรงอำนาจ ทรงอิทธิพล จะไปไหนไม่ต้องหอบเอกสารเป็นปึกไปขอวีซ่า ไม่ต้องถูกตรวจคนเข้าเมืองชนิดหัวจรดเท้า คุณภาพชีวิตที่ดี อาจหมายถึงการมีระบบขนส่งมวลชนที่ดี มีสวนใกล้บ้านให้วิ่งเล่น มีระบบรัฐสวัสดิการที่พร้อมดูแลตั้งแต่ครรภ์มารดาจนเชิงตะกอน ต่อให้ต้องจ่ายภาษีแพงๆ ก็ยอม เพราะ ‘รัฐ’ พร้อมดูแล

ประเทศแบบนี้อาจมีทั้งประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย หลายประเทศในยุโรป อาจเป็นได้ทั้งแคนาดา สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย หรืออาจเป็นได้ทั้งญี่ปุ่นหรือไต้หวัน ฉะนั้นความน้อยเนื้อต่ำใจ ความรู้สึก ‘ไม่พอใจ’ ในชาติ อาจผุดขึ้นมาได้เมื่อไปเที่ยวในประเทศเหล่านี้ ไปทำงาน หรือพูดคุยกับคนในประเทศนั้นๆ หรืออาจอยู่ในวันที่กำลังท้อใจในโชคชะตา หาเงินไม่ทันใช้ หรือเจอข่าวการเมือง เจอเรื่องที่รู้สึก ‘อิหยังวะ’ บ่อยๆ

อันที่จริง เรื่องนี้มีแนวคิดที่ถูกจำกัดความไว้เรียกว่า Anti-Patriotism เป็นขั้วตรงข้ามของคำว่า Patriotism หรือ ‘ความรักชาติ’ และความภาคภูมิใจในชาติ แนวคิดนี้แพร่หลายในศตวรรษที่ 19 ในยุคตื่นรู้ โดย ปีแยร์ โชแซฟ ปรูดง (Pierre-Joseph Proudhon) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส รวมถึง มิฮาอิล บาคูนิน (Mikhail Bakunin) นักคิด-นักปฏิวัติชาวรัสเซีย มักพูดเรื่อง ‘ความรักชาติ’ ว่า แท้จริงแล้วเป็นเพียงเครื่องมือของผู้ปกครอง เพื่อให้คนในชาติกำราบ หรือ ‘ยอมรับ’ ความเป็นรัฐ เพื่อให้การกดขี่และระบบ ‘ชนชั้น’ ยังคงอยู่ต่อไปเรื่อยๆ 

ขณะเดียวกัน แนวคิดนี้ยังแพร่หลายในช่วงปลายทศวรรษ 1960-ต้นทศวรรษ 1970 ในช่วงเวลาที่สงครามเวียดนามเฟื่องฟู วัยรุ่นอเมริกันและชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยไม่ได้เข้าใจว่า เพราะเหตุใดต้องไปร่วมรบในสงครามที่ตัวเองไม่ได้ก่อในอีกซีกโลกหนึ่ง ความเข้าใจในห้วงเวลานี้ก็คือรัฐบาลไม่ใช่ชาติ และถ้าชาติไม่ใช่สิ่งที่ดี ก็เป็นเรื่องปกติ ที่ต้องวิพากษ์ ต้องปรับปรุง-เปลี่ยนแปลงได้

ข้อดีของ ‘ความรักชาติ’ ก็คือ ในประเทศที่มีฐานประชาธิปไตยตั้งมั่น ความรักชาติมีส่วนสำคัญในการแก้ไขสิ่งเลวทราม และสร้างสิ่งดีงามขึ้นมาใหม่ เสียงของประชาชนถูกสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้ง แนวนโยบายสุดโต่งที่ประชาชนไม่เลือก สุดท้ายก็จะเปลี่ยนไปยังแนวนโยบายที่ประชาชนต้องการมากขึ้น ขณะเดียวกัน แนวคิดเสรีนิยม-อนุรักษนิยม ก็ผันแปรไปตามกาลเวลา บางช่วงอาจเอียงซ้าย บางช่วงอาจเอียงขวา แม้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ประชาชนก็มีสิทธิมีเสียง สะท้อนความต้องการของตัวเอง

แต่ในทางตรงกันข้าม หากประเทศนั้นๆ อยู่ในระบอบเผด็จการฟาสซิสม์ อยู่ในระบอบอภิสิทธิ์ชน ประชาชนไม่สามารถส่งเสียงใดๆ ก็ตามเพื่อเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านมา 10-20 ปี ก็เหมือนเดิม ระบบสาธารณูปโภคยังเหมือนเดิม ระบบขนส่งมวลชนเก่าบุโรทั่ง สวัสดิการไม่ได้ดีขึ้น รายได้ขั้นต่ำไม่ได้ดีขึ้น ประเทศนั้นยังอยู่ที่เดิม ขณะที่ประเทศอื่นเคลื่อนที่ไปไกล ก็เป็นเรื่องปกติที่คนจะรู้สึก Anti-Patriotism และจะรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตั๋วเครื่องบินราคาถูกลง พาคนไปเห็นโลกได้ไกลกว่าแค่หน้าปากซอย

มีตัวชี้วัดบางอย่างที่บ่งบอกว่าประเทศนั้นๆ ลงหลักปักฐานด้าน ‘ประชาธิปไตย’ มากน้อยเพียงใด แล้วทำไมคนบางคนถึงรู้สึกไม่ค่อยพอใจกับชาติตัวเอง

เป็นต้นว่าประเทศนั้นๆ มี ‘กระบวนการยุติธรรม’ ที่ดีหรือไม่ หากประชาชนมองเห็นกระบวนการยุติธรรมที่เงินซื้อได้ ที่เลือกปฏิบัติเฉพาะคนมีอำนาจ มีเงิน พวกเขาก็อาจ ‘เกลียด’ ชาติตัวเองมากขึ้น

ในทางใกล้เคียงกัน หากชาตินั้นๆ แวดล้อมด้วยการคอร์รัปชัน การเมืองคือเรื่องของผลประโยชน์ เรื่องของการ ‘ทำทุน’ และ ‘ถอนทุน’ โดยที่ประชาชนไม่ได้อะไร ไม่เคยได้โอกาสจากระบบการเมืองเช่นนี้ แล้วเศรษฐกิจก็ยังดิ่งเหว ค่าตอบแทนยังคงเดิม ไม่อาจสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ให้คนได้เติบโตอย่างเสมอภาค เสมอหน้า ก็เป็นไปได้ที่ Anti-Patriotism จะขยายตัว

แล้วบ้านเราล่ะ?

อันที่จริงคำนี้เคยถูกประดิษฐ์ขึ้นมาในช่วงที่การเมืองร้อนแรงปลายปี 2018 เมื่อเพลง ‘ประเทศกูมี’ ได้รับความนิยมสูงสุด เป็นคำว่า ‘ชังชาติ’ โดยถอดความจากด้านตรงข้ามของคำว่า ‘รักชาติ’ ในเวลานั้น ประเทศยังคงอยู่ในรอยต่อระหว่าง ‘เผด็จการ’ ก่อนกลายเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ และจนถึงวันนี้ ในระบอบการปกครองที่ไม่มีชื่อเรียก คำว่าชังชาติก็ยังเวียนวนอยู่ กลางปีที่แล้วพรรคก้าวไกลเพิ่งถูกยุบไปด้วยเหตุผลที่ว่า มีการกระทำที่ ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งหมายความว่า Anti-Patriotism ยังคงวนเวียนอยู่ในสารบบการเมืองไทยและจะไม่จางหายไปง่ายๆ

ยังไม่มีตัวชี้วัดว่าคนที่มีแนวคิดนี้ในประเทศนี้มีมากน้อยขนาดไหน แต่สิ่งที่เป็นเรื่องยากลำบากก็คือหากคนรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจชาติตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งด้วยการมองเห็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม การมองเห็นระบบการเมืองที่ไร้การตอบสนองเสียงของประชาชน-ปราศจากการมีส่วนร่วม และเป็นเรื่องของอภิสิทธิ์ชน หรือมองเห็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อให้คนเล็กคนน้อยเติบโต ยืนด้วยขาของตัวเอง หากแต่เป็นระบบเศรษฐกิจของนายทุนที่ถ่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น โดยไม่มีหนทางในการแก้ไข เราจะเจอสภาวะ Brain Drain หรือ ‘สมองไหล’ ชวนให้คนหนึ่งคนออกไปทำงานประเทศอื่นที่มีระบบการปกครองที่ลงหลักปักฐานมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ หรือสามารถทำรายได้มากกว่านี้ 5 เท่า 10 เท่า

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งปีนี้มอบให้กับ ดารอน อะเซโมกลู (Daron Acemoglu) ไซมอน จอห์นสัน (Simon Johnson) และเจมส์ เอ. โรบินสัน (James A. Robinson) ได้ชี้ให้เห็นว่า การที่ชาติแต่ละชาติมีความเจริญรุ่งเรืองแตกต่างกัน มีเหตุและปัจจัยสำคัญ เป็นต้นว่าหลัก ‘นิติธรรม’ ของประเทศนั้นมีมากน้อยเพียงใด และแม้บางประเทศที่เป็นประเทศอาณานิคมแบบเดียวกัน หากเจ้าอาณานิคมวางรากฐานเรื่องนิติธรรม สร้างระบบประชาธิปไตยที่เอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วม ประเทศที่อยู่ใต้อาณานิคมนั้นๆ ก็มีสิทธิเจริญรุ่งเรืองกว่าประเทศอาณานิคมที่เจ้าอาณานิคมมุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรเพียงอย่างเดียว

ความรู้สึก ‘ไม่เท่าเทียม’ ทั้งในทางกฎหมาย ในทางเศรษฐกิจ และในทางการเมือง จึงเป็นเรื่องปกติที่ใครสักคนจะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ แต่นั่นย่อมดีกว่าการ ‘ทน’ อยู่ไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจแก้ไข สนใจแต่ว่าบุญวาสนามีแค่ไหน โชคชะตามีแค่นี้ จึงต้องทนอยู่กันไปแบบนี้

หลายประเทศพลิกฟื้นขึ้นมาได้ ก็ด้วยแรงส่งจากความน้อยเนื้อต่ำใจ แรงถีบจากสภาวะเศรษฐกิจที่สู้คนอื่นเขาไม่ได้ นำมาสู่การปฏิรูปการเมือง และการสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่

ส่วนบ้านเราจะเริ่มเมื่อไร จะสร้างสิ่งที่ดีขึ้นได้ไหม ณ ตอนนี้ยังคงไม่เห็นวี่แวว

ที่มา

https://www.theguardian.com/world/2024/oct/14/three-us-based-professors-win-nobel-prize-in-economics-daron-acemoglu-simon-johnson-james-robinson-

https://journals.indexcopernicus.com/api/file/viewByFileId/548159

Tags: , , , , ,