ญี่ปุ่นถอนตัวออกจากคณะกรรมาธิการล่าวาฬสากล (International Whaling Commission หรือ IWC) ด้วยเหตุผลเพราะต้องการจะกลับมาล่าวาฬเพื่อเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากที่ยุติการล่าวาฬเพื่อการค้ามานานถึง 31 ปี 

ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ญี่ปุ่นจะกระทำการล่าวาฬเพื่อการพาณิชย์ต่อเหมือนที่ผ่านมาในอดีต เพียงแต่จะจำกัดบริเวณการล่าเฉพาะในเขตน่านน้ำชายฝั่งทะเลของญี่ปุ่นเท่านั้น จะไม่รุกล้ำเข้าไปในน่านน้ำแอนตาร์กติก หรือในซีกโลกใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นได้สังหารวาฬไปแล้วมากมาย โดยอ้างจุดประสงค์เพื่องานด้านวิชาการ

ตามรายงานข่าว ญี่ปุ่นจะล่าวาฬจนถึงสิ้นปี 2019 จำนวน 227 ตัว ระบุเป็นวาฬมิงค์ 52 ตัว วาฬบรูดา 150 ตัว และวาฬไซ 25 ตัว

องค์กรด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างกรีนพีซเคยวิจารณ์พฤติกรรมการล่าวาฬของญี่ปุ่นมาโดยตลอด แต่ดูเหมือนไม่ส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่นมากนัก ยิ่งเมื่อญี่ปุ่นถอนตัวออกจาก IWC ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นว่าญี่ปุ่น “ไม่แคร์โลก”

วาฬถูกล่ามายาวนาน

ชาวเยอรมันออกล่าวาฬกันตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 โดยกลุ่มชาวประมงจากฮัมบวร์ก ลือเบ็ค และเอ็มเดน พวกเขาเรียกการออกล่าวาฬกันว่า ‘ทริปกรีนแลนด์’

การล่าวาฬในอดีตมีจุดประสงค์หลักก็เพื่อต้องการไขมันวาฬมาใช้เป็นน้ำมันตะเกียง เวลาล่วงเลยถึงต้นศตวรรษที่ 20 ไขมันวาฬถูกนำมาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และเนยเทียม ราวทศวรรษ 1900s เยอรมนีผลิตเนยเทียมออกขายตามร้านค้าถึง 1 แสนตันต่อปี โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจฝืดเคืองปี 1923 เนยเทียมจากไขมันวาฬเป็นที่ต้องการอย่างมาก เหตุเพราะเป็นเนยสำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อย

จวบถึงปลายทศวรรษ 1930s เยอรมนีได้ชื่อว่าเป็นประเทศล่าวาฬติดอันดับสามของโลก รองจากสหราชอาณาจักร และนอร์เวย์ เฉพาะในปี 1935 ทั้งสองประเทศในอันดับต้นนั้นล่าวาฬไปกว่า 34,000 ตัว 

เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง บทบาทนักล่าวาฬของชาวประมงเยอรมันก็สิ้นสุดลงตามไปด้วย และในสนธิสัญญาพ็อตสดัมปี 1945 ได้ระบุห้ามชาวเยอรมันล่าวาฬอย่างเด็ดขาด

ไอซ์แลนด์และนอร์เวย์ก็ยังต้องการสืบสานต่อประเพณี

นอกจากญี่ปุ่นได้สิ้นสุดการเป็นสมาชิกภาพในคณะกรรมาธิการล่าวาฬสากล หรือ IWC ไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมาแล้วนั้น ยังมีอีกสองประเทศคือ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ที่ประกาศขอถอนตัวออกมาด้วยเช่นกัน หลังจากเคยยุติการล่าวาฬเพื่อการค้าตามข้อตกลงร่วมกันของนานาชาติเมื่อปี 1986

ญี่ปุ่นเอง หลังจากลงนามเข้าเป็นสมาชิกใน IWC แล้ว ก็พยายามที่จะใช้ช่องว่างของสนธิสัญญา โดยอ้างเหตุผลการล่าวาฬเพื่องานด้านวิชาการเป็นข้อต่อรอง ทำให้มีการล่าวาฬในประเทศยังคงมีสืบต่อไป ขณะเดียวกันก็ยังนำเนื้อวาฬที่ล่าได้ไปใช้ประโยชน์ด้านการบริโภคอีกด้วย

ญี่ปุ่นนอกจากจะไม่ปิดบังแล้ว ยังอธิบายชัดเจนด้วยว่า การล่าวาฬเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชาติ และการถอนตัวออกจาก IWC ครั้งนี้ ญี่ปุ่นยืดอกกล่าวด้วยความภูมิใจด้วยว่า ประเพณีล่าวาฬที่ดีงามของชาติจะถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อๆ ไป โดยประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีการล่าวาฬมายาวนานนับศตวรรษ กระทั่งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งถือว่าเนื้อวาฬนั้นเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของประชากรที่ยากไร้ภายหลังสงคราม แต่หลายสิบปีที่ผ่านมา เมื่อเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว การบริโภคเนื้อวาฬของผู้คนก็ลดลงอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน

ในขณะที่ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งไม่ถือว่าการล่าวาฬเป็นเรื่องผิดแผกแหวกธรรมชาติ เพราะนอกจากจะมีความเชื่อว่าวาฬเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจแล้ว การล่าวาฬยังเป็นประเพณีที่พวกเขาต้องสืบสานต่อ เมื่อปี 1982 ชาวประมงในนอร์เวย์เคยถึงกับช็อก เมื่อกลุ่มนักกิจกรรมใช้ความรุนแรงเพื่อขัดขวางการล่าวาฬ ถึงขนาดต้องการจะจมเรือของชาวประมง

ส่วนไอซ์แลนด์ ที่แม้จะเข้าร่วมลงนามยุติการล่าวาฬพร้อมกับนอร์เวย์ แต่ก็พยายามใช้ข้ออ้างเหตุผลทางวิชาการในการล่าเหมือนเช่นญี่ปุ่นและนอร์เวย์ โดยไอซ์แลนด์เริ่มล่าวาฬอีกครั้งตั้งแต่ปี 2002 เรื่อยมา โดยเฉพาะวาฬครีบ และวาฬมิงค์ หน่วยงานประมงของไอซ์แลนด์ระบุจำนวนจากสถิติการล่าไปจนถึงปี 2023 ว่าจะมีวาฬถูกล่าอีกไม่ต่ำกว่า 400 ตัว แต่ปีนี้เป็นปีแรกในรอบ 17 ปี ที่สมาพันธ์ประมงในไอซ์แลนด์ประกาศหยุดล่าวาฬในช่วงฤดูร้อน

อ้างอิง:  

https://www.n-tv.de/panorama/Island-setzt-Walfang-Saison-aus-article21115487.html

https://www.dw.com/de/wir-jagen-weiter-walfang-geh%C3%B6rt-in-norwegen-zur-tradition/a-3431226

https://www.spiegel.de/einestages/deutsche-walfaenger-moby-fett-jagd-auf-die-giganten-der-meere-a-1247340.html