ความเชื่อที่ว่า ความรุนแรงจากเกมนำไปสู่การใช้ปืนในชีวิตจริง ยังคงเป็นความเชื่อที่ฝังอยู่ในความคิดของคนทั่วไป รวมถึงบรรดาสมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา
แต่ความเชื่อนี้เป็นจริงแค่ไหน ยังคงเป็นคำถามอยู่
เมื่อธันวาคม 2012 ชายอายุ 20 ปีกราดยิงในโรงเรียนประถมจนทำให้มีเด็ก 20 คน และผู้ใหญ่ 6 คนเสียชีวิตก่อนจะฆ่าตัวตายตาม มีข้อสันนิษฐานว่า เหตุจูงใจอาจจะมาจากวิดีโอเกม เพราะตำรวจพบวิดีโอเกมจำนวนมากในห้องนอนของเขา ซึ่งมีเกมที่มีความรุนแรงอย่าง Call of Duty และ Grand Theft Auto
ครั้งนั้น สื่อพากันรายงานว่า เขาฝึกฝนทักษะการฆ่าจากเกม ส่วนประธานสมาคมปืนยาวก็โทษว่าผู้ผลิตเกมเป็นต้นเหตุของความรุนแรง
แต่ปรากฏว่า ในรายงานผลการสืบสวนอย่างเป็นทางการยืนยันว่า เกมที่ผู้ก่อเหตุหมกมุ่น คือเกม Dance Dance Revolution เกมเต้นที่ไร้ความรุนแรง เมื่อดูข้อมูลจีพีเอสในรถของเขา พบว่าเขามักไปเล่นเกมนี้ทุกวันศุกร์ ครั้งละประมาณ 4-10 ชั่วโมง สรุปคือ เอฟบีไอไม่พบหลักฐานว่าเขาก่อเหตุเพราะได้รับอิทธิพลจากเกม
หรือเหตุสังหารหมู่ในเวอร์จิเนีย ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 32 คน ทนายความให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์อ้างว่าฆาตกรใช้วิดีโอฝึกวิธียิงปืน แต่เมื่อตำรวจค้นหอพักของเขาหลังจากเกิดเหตุไม่กี่ชั่วโมง กลับไม่พบวิดีโอเกมเลย
ย้อนไปเมื่อปี 1998 ศูนย์ประเมินภัยคุกคามแห่งชาติ (National Threat Assessment Center) ศึกษาประวัติของฆาตกร พบว่ามีเพียง 12% ของผู้ก่อเหตุยิงที่สนใจวิดีโอเกมที่รุนแรง ยังมีงานวิเคราะห์เหตุกราดยิงในโรงเรียน 10 ครั้งตั้งแต่ปี 1998 ของ ปีเตอร์ แลงค์แมน ซึ่งศึกษาจิตวิทยาของมือปืน พบว่า มีผู้ก่อเหตุเพียง 20% เท่านั้นที่เล่นวิดีโอเกมรุนแรงเป็นประจำ
มาร์ค แอปเพิลบัม ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโกกล่าวว่า ไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างวิดีโอเกมกับการก่อเหตุรุนแรง ซึ่ง แบรด บุชแทน อาจารย์ด้านการสื่อสารและจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโอไฮโอ หนึ่งในผู้เขียนรายงานวิเคราะห์งานวิจัยที่ทำในรอบ 60 ปี ว่าด้วยความรุนแรงจากเกมและพฤติกรรมก้าวร้าวอธิบายว่า จากเงื่อนไขเรื่องจริยธรรมของการทำวิจัย ทำให้ไม่สามารถทดลองความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างวิดีโอเกมและความรุนแรงได้
ทั้งนี้ แม้จะมีงานศึกษาหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า คนที่เล่นเกมรุนแรงมีความก้าวร้าว หลังจากเล่นเกมชั่วระยะหนึ่ง แต่ยังไม่พบว่ามันนำไปสู่การกระทำที่รุนแรง
นอกจากนี้เราอาจจะต้องทบทวนความคิดที่ว่า “ความรุนแรงในเกมเป็นตัวฝึกให้คนก่อเหตุรุนแรง”
เพราะก็มีงานศึกษาหลายชิ้นที่พบว่า ยิ่งคนเล่นวิดีโอเกมที่รุนแรง จะกระทำความรุนแรงน้อยลง เช่น ในปี 2017 หนังสือเรื่อง ‘Moral Combat: Why the War on Video Games Is Wrong’ โดย แพทริก มาร์กี และ คริสโตเฟอร์ เฟอร์กูสัน เสนอว่า ในช่วงที่เกมที่มีความรุนแรงนิยม อัตราอาชญากรรมรุนแรงกลับลดลง นักวิจัยยังพบความสัมพันธ์แบบเดียวกันในกรณีของภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ด้วย
ผลการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า ผู้ก่อเหตุยิงในโรงเรียน มักมีพฤติกรรมผิดปกติมากกว่า มาร์กีกล่าว และไม่ว่าจะชอบหรือไม่ วิดีโอเกมที่รุนแรงเป็นแค่กิจกรรมปกติที่เล่นกันในหมู่เพื่อน
ทฤษฎีของมาร์กีคือ วิดีโอเกมที่มีความรุนแรงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คนเล่นเกมในบ้านมากกว่าเล่นกลางแจ้งกับคนอื่นๆ ในอีกทางหนึ่ง คนก็ก่อเหตุรุนแรงน้อยลง เพราะพวกเขายุ่งอยู่กับการเล่นเกมแทน
“มันไม่ใช่คำอธิบายที่เซ็กซี่ แต่มันอาจจะเป็นคำอธิบายที่สมเหตุสมผลที่สุด” มาร์กีกล่าว
ที่มา:
- https://www.buzzfeed.com/paulmcleod/there-is-a-link-between-violent-video-games-and-real-world?utm_term=.ggXNk1X9x#.mvQbzN7w5
- http://time.com/5191182/trump-video-games-violence/
- http://www.businessinsider.com/violent-video-games-ban-mass-shooting-shootings-2018-3