นับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ แสดงท่าทีสอดรับกับชาติอาเซียนในปมพิพาททะเลจีนใต้ การเปลี่ยนจุดยืนของวอชิงตันจะส่งผลให้ประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกับจีนเลือกกลยุทธ์ทางกฎหมายเป็นหมากตัวใหม่หรือไม่ อีกไม่นาน เราอาจได้เห็นกัน

ที่ผ่านมา ชาติอาเซียนที่อ้างเขตแดนทางทะเลทับซ้อนกับจีน เลือกใช้หนทางการทูตเป็นด้านหลัก รูปธรรมก็คือ การเจรจาหลายฝ่ายที่มีกลุ่มอาเซียนเป็นกลไกกลาง จัดทำแนวปฏิบัติว่าด้วยทะเลจีนใต้ซึ่งกินเวลามานานหลายปี 

แน่นอนว่า มาตรการทางทหารไม่ใช่ทางเลือก ทั้งด้วยเหตุของกำลังรบที่ห่างกันลิบลับ ความสัมพันธ์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนของการแก้ไขข้อพิพาท และเสถียรภาพของภูมิภาคโดยรวม 

อีกกลยุทธ์หนึ่งที่อาจนำมาใช้ได้  คือ ช่องทางกฎหมาย ผ่านการร้องขอคำวินิจฉัยจากกลไกตุลาการระหว่างประเทศ ฟิลิปปินส์เคยเลือกเดินหมากเกมนี้มาแล้ว และได้รับชัยชนะมาแล้ว 

ถ้าคู่พิพาทกับจีนอีกราย คือ เวียดนาม ตัดสินใจทำอย่างเดียวกัน และหากได้รับผลลัพธ์อย่างเดียวกัน นั่นจะบั่นทอนน้ำหนักคำกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนลงไปอีก นักสังเกตการณ์บางรายมองว่า ท่าทีของสหรัฐฯ ที่ประกาศสนับสนุนชาติอาเซียนในข้อพิพาทกับจีน อาจกระตุ้นให้ประเทศเหล่านี้ลุกขึ้นฟ้องร้องปักกิ่งต่อศาลนานาชาติก็เป็นได้

จีนรุกหนัก

ปักกิ่งอ้างแผนที่เมื่อทศวรรษ 1940 แสดงแนวเขตกรรมสิทธิ์ด้วยเส้นประ 9 เส้น แนวเส้นที่ว่านี้ครอบคลุมทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด 

ท้องทะเลย่านนี้ นอกจากเป็นแหล่งปลาชุกชุม ยังเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซ รวมทั้งเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญ

ปัญหาคือ แนวเส้นรูปตัวยูในภาษาอังกฤษ ลากผ่านเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนามกับฟิลิปปินส์ รวมทั้งของบรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไต้หวัน รายหลังนี้จีนถือเป็นดินแดนของตัว

เขตเศรษฐกิจจำเพาะถือเป็นพื้นที่ที่รัฐริมฝั่งมีสิทธิ์แสวงประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล สิทธินี้เป็นไปตามอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ซึ่งจีนเป็นภาคีในสนธิสัญญาฉบับนี้ด้วย  

ในระยะหลัง จีนเดินหน้ารุกอย่างหนักในการอ้างกรรมสิทธิ์ ตามหมู่เกาะน้อยใหญ่ สันดอนปะการัง มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวร สิ่งอำนวยความสะดวกทางทหาร รวมถึงสำรวจปิโตรเลียม ไม่ว่าประเทศที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนจะประท้วงอย่างไรก็ตาม

การอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนทำให้เกิดเหตุเผชิญหน้า คุมเชิง และกระทบกระทั่งในทะเล ระหว่างเรือของจีน ทั้งเรือของพลเรือนและทหาร กับเรือของชาติอาเซียนต่างๆอยู่เนืองๆ 

เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ฟิลิปปินส์ยื่นเรื่องต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร กรุงเฮก เมื่อปี 2012 ขอให้วินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของแนวเส้นประที่จีนกล่าวอ้างแสดงกรรมสิทธิ์ จีนปฏิเสธเข้าร่วมในกระบวนการ ศาลดังกล่าวออกคำวินิจฉัยในปี 2016 ว่า จีนไม่มีสิทธิทางประวัติศาสตร์อย่างที่อ้างในแผนที่เส้นประ 9 เส้น 

คำวินิจฉัยนี้เป็นคุณแก่ฝ่ายฟิลิปปินส์ แต่จีนไม่ยอมรับ เรื่องจึงยังคาราคาซังเรื่อยมา

อเมริกาเชียร์ชาติอาเซียน

ในโอกาสครบรอบ 4 ปีของคำวินิจฉัยดังกล่าว เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ ออกถ้อยแถลงด้วยถ้อยคำค่อนข้างดุเดือด

ปอมเปโอ บอกว่า สหรัฐฯ ถือว่าการแสวงหาทรัพยากรของจีนในทะเลจีนใต้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นเดียวกับการโหมกระหน่ำรังแกเพื่อนบ้านเพื่อควบคุมทะเลดังกล่าว โลกจะไม่ยอมให้จีนฮุบเอาทะเลจีนใต้เป็นจักรวรรดิทางทะเลของจีน

เขาบอกด้วยว่า สหรัฐฯ ยืนเคียงข้างพันธมิตรและหุ้นส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะปกป้องอธิปไตยของตนเหนือทรัพยากรนอกชายฝั่งตามสิทธิและพันธะภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ 

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยืนเคียงข้างประชาคมนานาชาติในการปกป้องเสรีภาพในการเดินทะเล ปฏิเสธการดึงดันในลักษณะพลังอำนาจคือความถูกต้องในทะเลจีนใต้ หรือในภูมิภาคนั้น

ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เล่นบทเสมอนอก ไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับข้อพิพาทนี้โดยตรง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถือว่าแต่ละประเทศต้องหาทางตกลงกันเอง แต่ในท่ามกลางความระหองระแหงในความสัมพันธ์กับปักกิ่ง วอชิงตันดูจะหันมาถือหางฝ่ายตรงข้ามกับจีนในปมพิพาทนี้

ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังลงรายละเอียดด้วยว่า สหรัฐฯ ไม่ยอมรับคำกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนเหนือพื้นที่ต่างๆในทะเลจีนใต้ คือ แวนการ์ดแบงก์นอกฝั่งเวียดนาม สันดอนลูคาเนียนอกฝั่งมาเลเซีย สันดอนเจมส์ในความถือครองของมาเลเซีย น่านน้ำในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของบรูไน และเกาะนาทูนานอกฝั่งอินโดนีเซีย

คู่พิพาทรุกกลับ?

เมื่อสหรัฐอเมริกาให้ท้ายเช่นนี้ ชาติอาเซียนที่พิพาทกับจีนจะเดินตามอย่างฟิลิปปินส์หรือเปล่า ริชาร์ด เฮย์แดเรียน นักวิชาการในกรุงมะนิลา วิเคราะห์ว่า เวียดนามซึ่งปีนเกลียวกับจีนอย่างหนักด้วยเรื่องนี้เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ อาจตัดสินใจใช้มะนิลา โมเดล

เขาบอกว่า เวียดนามจะเอาอย่างไรต่อไป คงต้องรอดูหลังจากผลัดเปลี่ยนคณะผู้นำในปีหน้า ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของเวียดนาม เลฮวยเตรือง บอกว่า ฮานอยอยากใช้วิธีเจรจามากกว่า แต่วิธีอื่นๆ ก็ยังคงเป็นทางเลือก ไม่ว่าการไกล่เกลี่ย การใช้อนุญาโตตุลาการ หรือการฟ้องศาลโลก 

อย่างไรก็ดี นายพลเรือนอกราชการของสหรัฐฯ ไมเคิล แม็กเดวิด นักวิจัยอาวุโสด้านยุทธศาสตร์ศึกษาประจำซีเอ็นเอ หน่วยงานคลังสมองในสหรัฐฯ มองว่า ชาติอาเซียนคงยึดถือแนวทางเดิมมากกว่า นั่นคือ รักษาดุลในความสัมพันธ์ทั้งกับอเมริกาและจีน ประคองตัวไม่ให้พลัดเข้ามาในวงปะทะระหว่างยักษ์ใหญ่ทั้งสอง

ทอมัส แดเนียล นักวิเคราะห์ของสถาบันยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา มาเลเซีย ฟันธงว่า ชาติอาเซียนคงไม่ฟ้องร้องจีน เพราะจีนมีอิทธิพลมหาศาลในภูมิภาค เป็นคู่ค้ารายสำคัญ และเป็นพี่ใหญ่ในย่านนี้ นี่คือความจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะอยู่กับเราต่อไปอีกนาน

ปมพิพาททะเลจีนใต้จะพัฒนาต่อไปอย่างไร ถึงแม้ไทยไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่คงหลีกเลี่ยงแรงกระเพื่อมไม่พ้น

อ้างอิง:

AFP via Japan Times, 14 July 2020

Reuters, 16 July 2020

South China Morning Post, 17 July 2020

Tags: