สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เผยมาตรการต่อเนื่องในการตอบสนองในพื้นที่การทำงานต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส โดยนายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า เขากังวลอย่างมากต่อการแพร่ระบาดของไวรัสทั่วโลกอย่างไม่คาดคิดมาก่อน ตลอดจนผลกระทบที่เกิดต่อผู้ลี้ภัยและชุมชนที่ให้ที่พักพิง วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการทำงานในพื้นที่ ทำให้ต้องเร่งปรับแนวทางการทำงานอย่างรวดเร็ว
“สิ่งสำคัญลำดับแรกของเราในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คือการทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลในความห่วงใยของเราทุกคนได้รวมอยู่ในแผนการตอบสนองของแต่ละประเทศและให้พวกเขาได้รับทราบข้อมูลอย่างเหมาะสม โดยที่เราได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่หากรัฐบาลต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมในการเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อสถานการณ์นี้’’ กรันดีเสริม
แม้ว่าจำนวนรายงานการติดเชื้อและการยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้ลี้ภัยยังมีอยู่ในขั้นต่ำ แต่มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นในประเทศทั่วโลกพักพิงอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อย ซึ่งมีระบบสาธารณสุข น้ำสะอาด และระบบสุขาภิบาลที่ไม่เพียงพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
กรันดี ยังเสริมอีกว่า มีผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นในประเทศอีกมากที่อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงที่หนาแน่นหรือในเขตเมืองที่ทุรกันดาร โครงสร้างด้านสาธารณสุขและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านน้ำสะอาด สุขาภิบาล และสุขอนามัย (WASH) มีจำกัด มาตรการการป้องกันในพื้นที่เหล่านี้จึงมีความสำคัญยิ่ง
นอกจากนี้ UNHCR ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติเพื่อร่วมหาทางออกในการขนส่งที่เป็นไปได้อย่างยากลำบากเนื่องจากการหยุดชะงักของการผลิตและการปิดชายแดนในประเทศต่างๆ โดยมีการเร่งการจัดซื้อในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคเพื่อทำการขนส่งทางอากาศ
ทั้งนี้ มาตรการตอบสนองในพื้นที่การทำงานของ UNHCR รวมถึง
-
การเสริมสร้างระบบและบริการด้านสาธารณสุขและโครงการ WASH รวมถึงการแจกจ่ายสบู่และเพิ่มการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด
-
การสนับสนุนรัฐบาลในการป้องกันการติดเชื้อและรับมือด้านสาธารณสุข รวมถึงการจัดเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์
-
การแจกจ่ายที่พักพิงและสิ่งของบรรเทาทุกข์
-
การนำเสนอแนวทางและข้อมูลตามจริงของมาตรการการป้องกัน
-
การเพิ่มเติมการสนับสนุนทางการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19
-
การติดตามอย่างใกล้ชิดและเข้าช่วยเพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิของผู้พลัดถิ่นจะได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียม
สำหรับมาตรการในค่ายผู้ลี้ภัยแต่ละประเทศ มีอาทิ
ในประเทศบังกลาเทศ เจ้าหน้าที่ในหน่วยสาธารณสุขของค่ายผู้ลี้ภัยที่มีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นกว่า 850,000 คน ได้เริ่มการฝึกอบรมโดยมีผู้ลี้ภัยอาสามากกว่า 2,000 คนที่ทำงานร่วมกับชุมชนและผู้นำทางศาสนาร่วมกันเผยแพร่มาตรการการป้องกันที่สำคัญต่างๆ แก่ผู้ลี้ภัยผ่านทางสปอตวิทยุ วิดีโอ โปสเตอร์ และใบปลิวรณรงค์ในภาษาท้องถิ่น ได้แก่ ภาษาโรฮิงญา เมียนมา และเบงกาลี นอกจากนี้ยังมีมาตรการในการจัดหาสบู่และน้ำสะอาดแก่ผู้ลี้ภัยทุกคน โดยกำลังเพิ่มจุดล้างมือและสนับสนุนการก่อสร้างสถานที่รักษาและแยกตัวแห่งใหม่สำหรับผู้ลี้ภัยและชุมชนต่างๆ ที่ให้ที่พักพิงโดยรอบ
ในประเทศกรีซ มีการเร่งการสนับสนุนแก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มการแจกจ่ายน้ำสะอาดและระบบสุขาภิบาล จัดส่งผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย และจัดหาจัดตั้งหน่วยแพทย์ รวมถึงพื้นที่คัดกรองโรค แยกตัวสังเกตอาการ และกักตัว UNHCR ยังได้อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ขอลี้ภัยผ่านโทรศัพท์สายด่วนโดยจัดหาผู้ลี้ภัยที่อาสาทำหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษา นอกจากนั้น UNHCR ยังกระตุ้นหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอโยกย้ายผู้ขอลี้ภัย 35,000 คนจากศูนย์แรกรับที่หนาแน่นบนเกาะให้เหลือน้อยกว่า 6,000 คน
ที่จอร์แดน มีการตรวจวัดอุณหภูมิที่ทางเข้าค่ายผู้ลี้ภัยซาตารี (Zaatari) และอัซรัค (Azraq) พร้อมการรณรงค์แคมเปญภายในค่ายเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส มีการเพิ่มการจ่ายไฟฟ้าและขยายเวลาเปิดร้านค้าเพื่อหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม
Fact Box
- ร่วมบริจาคปกป้องผู้ลี้ภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ที่เว็บไซต์ http://unh.cr/5e79d6bf98