ตลอดช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญา 700,000 คนต้องหนีตายออกจากประเทศพม่า เป็นวิกฤตที่ทั่วโลกจับตา และล่าสุด เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ (UN) ออกรายงานระบุว่า ทหารระดับสูงในพม่าควรจะถูกตั้งข้อหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ในรัฐยะไข่ และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในพื้นที่อื่นๆ โดยเสนอให้ดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อสอบสวนการกระทำของนายพล 6 นาย

รายงานของ UN ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ภาพถ่ายดาวเทียม รูปถ่าย และคลิปวิดีโอนี้ถือได้ว่าเป็นประณามขั้นรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาต่อกรณีของความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา

ในรายงานระบุว่า “ความจำเป็นทางทหาร ต้องไม่รับรองการฆ่าโดยไม่เลือกปฏิบัติ การข่มขืนหมู่ การทำร้ายเด็ก และการเผาหมู่บ้าน ยุทธวิธีที่ทหารใช้ตลอดมานั้นไม่สมเหตุสมผลกับภัยคุกคามความมั่นคง ทั้งในรัฐยะไข่ และทางตอนเหนือของพม่า” อาชญากรรมในรัฐยะไข่เข้าข่ายเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมทั้งนโยบายต่างๆ ที่เปลี่ยนลักษณะทางประชากรของรัฐยะไข่ ทั้งแผนการทำลายและการใช้ความรุนแรงสูงสุด

แม้รัฐบาลจะยืนยันว่า ปฏิบัติการของตนมุ่งเป้าไปที่ทหารหรือการคุกคามความมั่นคง แต่หลักฐานจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า มีการกระทำความผิด และมีการออกคำสั่งเพื่อควบคุมปฏิบัติการที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ตรวจสอบจาก UN สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ โดยพบว่า รัฐบาลพลเรือนยังมีส่วนในการก่ออาชญากรรมนี้ทั้งด้วยการกระทำและการละเว้นจากการปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนี้ UN ยังประณามนางอองซาน ซูจี อย่างรุนแรง ที่ไม่พยายามหยุดยั้งหรือป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้น

“ที่ปรึกษาของรัฐ นางอองซาน ซูจี ไม่ใช้อำนาจที่เธอมีในฐานะหัวหน้าของรัฐบาล หรือศีลธรรม (moral authority) ของเธอเพื่อหยุดหรือป้องกันสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่” ผู้ตรวจสอบขององค์การสหประชาชาติระบุ

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา ซูจีเพิ่งกล่าวสุนทรพจน์ที่สิงคโปร์และอ้างว่า “การก่อการร้ายยังคงเป็นภัยคุกคามรัฐยะไข่ซึ่งต้องมีการแก้ไข”

“อันตรายของการก่อการร้าย ซึ่งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่วิกฤตทางมนุษยธรรมในยะไข่ยังคงมีอยู่ในตอนนี้ ถ้าความท้าทายด้านความปลอดภัยนี้ไม่ได้รับการแก้ไข ความเสี่ยงจากความรุนแรงระหว่างชุมชนยังคงมีอยู่”

เช้าวันที่ 28 ส.ค. เพจเฟซบุ๊กของซูจี โพสต์ข้อความที่เลือกหยิบมาจากส่วนหนึ่งจากสุนทรพจน์เดียวกันนี้ว่า

“เราซึ่งอาศัยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านในพม่า มองเห็นมุมที่ต่างออกไปจากคนที่สังเกตจากภายนอก และคนที่จะไม่ได้รับผลจากสิ่งที่เกิดขึ้น สำหรับเรา มันเป็นแผนที่แห่งอนาคตที่รวมทุกอย่างไว้ในของประเทศของเรา เช่นเดียวกับรายละเอียดเล็กๆ ในชีวิตประจำวันของเรา แนวทางของเราต้องเป็นองค์รวมและครอบคลุม เราจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญ แต่เราไม่สามารถละเลยประเด็นที่สำคัญรองลงมาได้”

ตั้งแต่มีการก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศเมื่อปี 2002 แต่ยังไม่เคยมีการดำเนินคดีอาชญากรรมในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เลย หนึ่งในความซับซ้อนของกรณีนี้คือ พม่ายังไม่ได้เป็นสมาชิกของศาล ดังนั้น ศาลอาญาระหว่างประเทศก็ไม่มีอำนาจทางการศาล

รายงานยังเน้นถึงบทบาทของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ว่ามีส่วนเพิ่มความรุนแรงในพม่า

วันเดียวกันนี้เฟซบุ๊กประกาศว่า ได้ถอดบัญชีผู้ใช้ 18 บัญชี อินสตาแกรม 1 บัญชี และเพจ 52 เพจ ที่เชื่อมโยงกับกองทัพพม่า ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 12 ล้านคนออกไป ในฐานะที่เป็น “ส่วนหนึ่งของการป้องกันการแพร่กระจายความเกลียดชังและข้อมูลผิดๆ” บนเครือข่าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัญชีขององค์กรต่างๆ ในพม่า รวมทั้งเพจของพล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และสถานีโทรทัศน์เมียวดี ซึ่งเป็นเครือข่ายของทหาร

เฟซบุ๊กให้เหตุผลว่า ข้อค้นพบจากรายงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงให้เห็นชัดเจนว่า บุคคลและองค์กรเหล่านี้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง และละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ “ดังนั้น เราต้องการป้องกันไม่ให้พวกเขาใช้บริการของเราเพื่อเพิ่มความรุนแรงทางชาติพันธุ์และศาสนาเพิ่มขึ้นได้อีก”

“เรายังคงทำงานเพื่อป้องกันการใช้เฟซบุ๊กไปในทางที่ผิดในพม่า รวมทั้งผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่จัดทำขึ้นเมื่อต้นปีนี้ นี่เป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่เพื่อให้ประชาชนจำนวนมากพึ่งพาข้อมูลบนเฟซบุ๊กได้”

 

ที่มา:

บรรยายภาพ: เด็กชายโรฮิงญาวัย 7 ปี ถูกยิงเข้าที่หน้าอก ขณะยืนอยู่หน้าศูนย์การแพทย์เมื่อเดือนสิงหาคม 2017 ปัจจุบันลี้ภัยไปอยู่ในบังคลาเทศ (ภาพถ่ายเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2017 โดย Adnan Abidi/REUTERS)

Tags: , , , , , ,