จู่ๆ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาก็ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงกำจัดจรวดนิวเคลียร์พิสัยกลาง สหรัฐฯ-รัสเซีย ความเคลื่อนไหวนี้อาจทำให้ยุโรปและเอเชียต้องหวนคืนสู่เกมประชันอาวุธย้อนยุคสงครามเย็น

ถ้าผู้นำทำเนียบขาวทำจริงตามคำประกาศ และเริ่มประจำการจรวดนิวเคลียร์พิสัยกลางในประเทศพันธมิตรนาโต รัสเซียขู่ว่าจะตอบโต้ด้วยการเล็งเป้าขีปนาวุธไปยังยุโรป

หากสหรัฐฯ ฉวยจังหวะที่ปลอดพันธะในการควบคุมขีปนาวุธพิสัยกลาง ส่งอาวุธชนิดนี้ไปประจำการที่ดินแดนสหรัฐฯ บนเกาะกวม หรือในประเทศพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น จีนย่อมไม่ยอมเสียดุลอำนาจในเอเชีย-แปซิฟิก

การถอนตัวของสหรัฐฯ จากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง หรือไอเอ็นเอฟ (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty) จึงอาจนำไปสู่การแข่งขันสั่งสมอาวุธ เหมือนเมื่อครั้งโลกยังอยู่ในยุคสงครามเย็น

เสาหลักของการควบคุมอาวุธ

ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมว่า วอชิงตันจะถอนตัวจากข้อตกลงไอเอ็นเอฟ ที่โรนัลด์ เรแกนกับมิคาอิล กอร์บาชอฟ ลงนามร่วมกันที่ทำเนียบขาวเมื่อปี 1987

เมื่อ 8 ธันวาคม 1987 ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน แห่งสหรัฐฯ (ขวา) และมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียต (ซ้าย) พบกันที่กรุงวอชิงตันเพื่อลงนามในข้อตกลงปลดขีปนาวุธ หรือ สนธิสัญญาไอเอ็นเอฟ (ภาพโดย MIKE SARGENT / AFP)

ไอเอ็นเอฟกำหนดให้มหาอำนาจทั้งสองขั้วกำจัดขีปนาวุธพิสัยใกล้ (500-1,000 กม.) และพิสัยกลาง (1,000-5,500 กม.) ทั้งแบบปกติและแบบติดหัวรบนิวเคลียร์ ที่ติดตั้งบนภาคพื้นดิน มีขีดความสามารถยิงไกลถึงยุโรปและอลาสกา

ในยุคสงครามเย็น สหภาพโซเวียตวางกำลังขีปนาวุธไว้ที่เมืองคาลินินกราด ริมฝั่งทะเลบอลติก เล็งเป้าไปยังอังกฤษ เยอรมนีตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งขีปนาวุธของอเมริกา

จนกระทั่งถึงปี 1991 การตรวจพิสูจน์ตามข้อตกลงดังกล่าวนำไปสู่การกำจัดขีปนาวุธรวม 2,692 ลูก ข้อตกลงนี้จึงนับเป็นหนึ่งในย่างก้าวสำคัญที่นำพาโลกพ้นออกจากการแข่งสร้างอาวุธ

‘รัสเซียบิดพลิ้ว’

ผู้นำสหรัฐฯ อ้างเหตุผลในการถอนตัวจากไอเอ็นเอฟว่า เป็นเพราะรัสเซียละเมิดข้อตกลง พร้อมกับสำทับว่า สหรัฐฯ จะพัฒนาขีปนาวุธเหล่านี้ หากรัสเซียกับจีนไม่หยุดพัฒนาอาวุธดังกล่าว

สหรัฐฯ กล่าวหารัสเซียซึ่งสืบต่อพันธกรณีจากโซเวียตว่าละเมิดข้อตกลงที่ไม่มีกำหนดเวลาหมดอายุฉบับนี้ โดยทดสอบจรวดร่อน SSC-8, ขีปนาวุธข้ามทวีปชนิดติดตั้งบนยานยนต์ SS-25 และขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ RS-26  

มอสโกปฏิเสธว่า ไม่ได้ละเมิด พร้อมกับกล่าวหากลับว่า วอชิงตันต่างหากเป็นฝ่ายไม่ทำตามข้อตกลง โดยจัดสร้างฐานยิงขีปนาวุธโทมาฮอว์กในโปแลนด์และโรมาเนีย รวมทั้งใช้อากาศยานไร้คนขับที่ติดตั้งจรวด MQ-9 Reaper

เมื่อวันพุธที่ 24 ตุลาคม ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศว่า ถ้าอเมริกาฉีกสนธิสัญญาไอเอ็นเอฟ รัสเซียจำเป็นต้องเล็งเป้าขีปนาวุธไปยังประเทศยุโรปที่ตกลงให้สหรัฐฯ ประจำการจรวดนิวเคลียร์ ดินแดนของประเทศเหล่านั้นจะตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการโจมตีตอบโต้

ปูตินเตือนด้วยว่า ชะตากรรมของข้อตกลงอีกฉบับหนึ่ง คือ สนธิสัญญาลดอาวุธยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ หรือนิวสตาร์ท (New Strategic Arms Reduction Treaty) ซึ่งจะหมดอายุในปี 2021 ก็ยังไม่แน่นอนว่าจะมีการต่ออายุหรือไม่ ถ้าข้อตกลงทั้งสองฉบับถูกทำลาย โลกจะพลัดกลับไปสู่การแข่งขันสั่งสมอาวุธ

สำหรับสนธิสัญญานิวสตาร์ทนั้น ทรัมป์เคยพูดโจมตีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2017 โดยบอกว่า เป็นอีกหนึ่งในบรรดาข้อตกลงห่วยๆ ที่เจรจาในสมัยรัฐบาลโอบามา เพราะเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายรัสเซีย

กระสุนนัดเดียว นกสองตัว

สงครามการค้าไม่ทันหาย สงครามเย็นรอบใหม่อาจเข้ามาแทรก

ในคำประกาศถอนตัวของทรัมป์ น่าสังเกตว่า ผู้นำสหรัฐฯ พาดพิงถึงจีนด้วย ทั้งๆ ที่ปักกิ่งไม่ใช่คู่สัญญาในข้อตกลงไอเอ็นเอฟ

นักการทหารอเมริกันมองว่า ถ้าทรัมป์ฉีกข้อตกลงไอเอ็นเอฟ นอกจากปลดพันธนาการที่มัดมือมัดเท้าฝ่ายอเมริกาในการถ่วงดุลกับรัสเซียแล้ว ยังจะช่วยให้เพนตากอนสามารถลดความเสียเปรียบจีนซึ่งกำลังพัฒนาขีปนาวุธชนิดยิงจากภาคพื้นอีกด้วย

เจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ วาดแผนว่า ถ้าทรัมป์บอกเลิกจริง สหรัฐฯ จะมีช่องทางที่จะส่งขีปนาวุธแบบปกติชนิดติดตั้งกับยานยนต์ ซึ่งซุกซ่อนจากการตรวจพบของฝ่ายปรปักษ์ได้ ไปประจำการที่เกาะกวม หรือญี่ปุ่น หรือกระทั่งออสเตรเลีย

หากอเมริกาเสริมเขี้ยวเล็บในย่านเอเชีย-แปซิฟิกได้ จีนก็จะต้องคิดหนักหากชิงเปิดฉากยิงใส่เรือรบหรือฐานทัพของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้

เพนตากอนจับตามาโดยตลอดต่อกรณีจีนวางกำลังขีปนาวุธพิสัยกลาง DF-26 ซึ่งยิงไกล 4,000 กม. ตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อกองกำลังสหรัฐฯ ทั้งในทะเลและบนภาคพื้น โดยเฉพาะที่เกาะกวมในมหาสมุทรแปซิฟิก

การล้มครืนของข้อตกลงกำจัดขีปนาวุธพิสัยกลางระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ย่อมส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วยุโรปและเอเชีย บรรดาประเทศใหญ่อาจเสริมสร้างกำลัง ทั้งในเชิงรับและเชิงรุก

ทรัมป์กับปูตินมีกำหนดนัดหมายพูดจากันในโอกาสเข้าร่วมรำลึกครบรอบ 100 ปีของการยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่กรุงปารีส และเรื่องขีปนาวุธพิสัยกลางคงเป็นหนึ่งในประเด็นที่ผู้นำทั้งสองหยิบยกขึ้นหารือ

 

อ้างอิง:

 

Tags: , , , ,