เมื่อปี 2016 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ชาวอเมริกัน 6 ล้านคนดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสาร PFOS (perfluorooctanesulfonic acid) และ PFOA (perfluorooctanoic acid) สารเคมีซึ่งอยู่ในกะทะและหม้อเคลือบแบบนอนสติ๊ก บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร และอุปกรณ์โฟมดับเพลิงที่ใช้ในฐานทัพ ในระดับที่มากกว่าแนวทางที่สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ที่ 70 ส่วนต่อล้านล้านส่วน แต่ก็ยังไม่มีกฏหมายที่บังคับให้ผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดต้องตรวจสอบหรือเอาสารเคมีนี้ออกไป
สารเคมีเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ในดินและน้ำใต้ดินซึ่งถูกนำมาผลิตน้ำดื่ม จนถึงปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าสามารถตรวจพบสารเคมีเหล่านี้ในตัวของชาวอเมริกันเกือบทุกคน สารเคมีนี้ไม่สลายตัวในสิ่งแวดล้อมจนได้ชื่อว่าเป็น ‘สารเคมีอมตะ’ (forever chemicals) ซึ่งหากสะสมในปริมาณมากจะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ตับ ไทรอยด์ การตั้งครรภ์ รวมทั้งผลกระทบทางสุขภาพอื่นๆ
เมื่อปีที่แล้ว สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา หรือ EPA ออกมาบอกว่าได้จัดทำแผนแก้ไขปัญหานี้ โดยผู้อำนวยการในขณะนั้นกล่าวว่าเรื่องนี้ว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนของชาติ ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2019 EPA ก็ประกาศแผนปฏิบัติการควบคุมสารเคมีในกลุ่มนี้ ด้วยแรงกดดันจากสภาคองเกรส
EPA ประกาศว่า ภายในปีนี้จะเริ่มต้นกระบวนการจำกัดปริมาณการปนเปื้อนของสารเคมีเหล่านี้ในน้ำดื่ม รวมทั้งออกแนวปฏิบัติเพื่อทำให้น้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนสารเคมีสะอาด และบังคับให้มีการทดสอบหาสาร PFAS ในระบบน้ำสาธารณะทั่วประเทศ ศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของสารเคมีชนิดนี้ที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ รวมทั้งประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ให้ชุมชนทั่วประเทศ ทั้งนี้กระบวนการควบคุมอย่างสมบูรณ์จะต้องใช้เวลาหลายปี
แต่กลุ่มนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวว่าต้องการมาตรการที่จริงจังและรวดเร็วมากกว่านี้ การทำงานของ EPA ช้าเกินไป ที่ผ่านมาพวกเขาได้เรียกร้องให้จัดการกับปัญหาอย่างเร่งด่วนในระดับชาติ
เอริค ออลสัน ผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพของสภาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources Defense Council) กล่าวว่า EPA ล้มเหลวในการควบคุมสารเคมีที่ปนเปื้อนในน้ำดื่มมานานกว่า 20 ปีแล้ว “ถ้าพวกเขาควบคุมของอย่างสารพิษที่พบอยู่ทั่วประเทศไม่ได้แล้ว พวกเขาจะควบคุมอะไรได้”
ในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายใดๆ ออกมา ตอนนี้มีหลายรัฐที่เริ่มจัดการกับปัญหานี้ไปแล้ว ขณะที่ยังไม่มีกฎหมายของรัฐบาลกลางออกมา รัฐนิวเจอร์ซีย์เป็นรัฐแรกที่ออกกฎควบคุมสารเคมี PFAS ในน้ำดื่ม ส่วนรัฐอื่นๆ เช่น เวอร์มอนต์ มิชิแกน และนิวยอร์คเริ่มทำตาม อย่างไรก็ดี การที่ไม่มีแนวทางจาก EPA ก็ทำให้ทำงานยากขึ้น โดยเฉพาะไม่รู้ว่ามีการผลิตหรือใช้สารเคมีที่เกี่ยวข้องในปริมาณเท่าใด
ที่มา:
- https://www.washingtonpost.com/climate-environment/2019/02/14/epa-vows-national-action-toxic-forever-chemicals/
- https://phys.org/news/2019-02-epa-outlines-toxic-chemicals.html
- https://www.theguardian.com/environment/2019/feb/14/epa-toxic-chemicals-pfos-pfoa-delay
Tags: มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, หม้อเคลือบแบบนอนสติ๊ก, EPA, น้ำปนเปื้อนสาร PFOS, สิ่งแวดล้อม