แจ๊ซคลับแห่งแรกในโลกเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 ยุคที่ดนตรีแจ๊ซเฟื่องฟูจากความ ‘งบน้อย’ ของนักดนตรีผิวดำชนชั้นกรรมาชีพ ผู้ไม่สามารถซื้อเครื่องดนตรีคลาสสิกคัลฟูลแบนด์แบบที่ใช้ในวงออร์เคสตร้าได้ เลยเลือกใช้แค่เครื่องดนตรีบางประเภท จำพวกเครื่องเป่าอย่างแซกโซโฟน ทรัมเป็ต และเครื่องให้จังหวะที่สามารถคราฟต์เองได้ง่าย ๆ อย่างพวกกลอง รวมไปถึงเครื่องดนตรีประจำบ้านอย่างเปียโนและกีต้าร์ เกิดเป็นดนตรีชนิดใหม่ที่มาพร้อมกรู๊ฟสนุกสนานตามจังหวะจะโคนสไตล์คนผิวดำ

แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะรักดนตรีแจ๊ซและได้รับความนิยมเหมือนในปัจจุบัน ครั้งหนึ่งมันเคยถูกเรียกว่า ‘Devil’s music’ มาแล้ว เพียงเพราะการมีต้นกำเนิดมาจากคนผิวดำในยุคที่มนุษย์ยังคิดว่าการเหยียดสีผิวเป็นเรื่องของปกติชนนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้แจ๊ซคลับในยุคนั้นเลยถูกจำกัดไว้ในพื้นที่เฉพาะ เช่นบาร์คนดำในชั้นใต้ดิน และโรงละครบางแห่งเท่านั้น

กลับเข้าสู่แจ๊ซคลับในยุคนี้ To More Bar คือแจ๊ซคลับลึกลับที่เพิ่งเปิดทำการได้ไม่นานบนพื้นที่ทำเลเก่าของร้าน Soul Bar กับกิมมิคคล้ายๆ เดิม แต่เพิ่มเติมคือความหลากหลายของ Live Performance ที่เริ่มตั้งแต่วงดนตรีสดหลากแนว อาทิ Blue Jazz, Swing Jazz, Hiphop Jazz, Neo Soul, Disco Funk ไปจนถึงโชว์มายากล และดีเจเซ็ทจากเหล่าคนดนตรีในวงการที่แวะเวียนมาเปิดแผ่นสลับมูดสร้างบรรยากาศให้ย่านเจริญกรุงครึกครื้นและดูหลงยุคมากกว่าเก่า

ด้วยมูดแบบโรงละครยุค 40s-50s ตกแต่งบางมุมด้วยม่านกำมะหยี่สีแดงเนื้อหนาและหนัก ให้ความรู้สึกเย้ายวนปนน่าสงสัย ผสมรวมกับความขรึมของเคาน์เตอร์บาร์ทรงโค้งจากไม้เก่าสีเข้ม เก้าอี้วงกลมไร้พนักพิงเบาะนั่งสีแดงแบบที่บาร์ในยุครุ่นปู่รุ่นย่าชอบใช้ และบันไดเวียนทำจากเหล็ก เลยไม่แปลกใจที่จะเห็นหนุ่มสาวหลงยุคพากันแต่งตัวแฟชันวินเทจ รองเท้าส้นสูงสีแดงและกระเป๋าสาน หมวกปานามาและสายเอี๊ยม พร้อมใจกันมาชุมนุมที่นี่โดยไม่ได้นัดหมาย และจะแน่นร้านโดยเฉพาะค่ำคืนวันศุกร์-เสาร์ จนบางครั้งเก้าอี้ทั้งหลายในร้านอาจถูกเนรเทศออกไป เพื่อเพิ่มพื้นที่ยืนดูวงดนตรีแจ๊ซที่ชื่นชอบแสดงสดแบบใกล้ชิดติดขอบเวที

 

ไม่ใช่แค่การสร้างมาเพื่ออรรถรสทางสายตาเท่านั้น แต่ความเป็นบาร์กึ่งโรงละครสุดบูทีคของร้านนี้ยังถ่ายทอดไปสู่เครื่องดื่มค็อกเทลซิกเนเจอร์ด้วยเช่นกัน เพราะถ้าพลิกหน้าเมนูของร้านดูจะเห็นรายชื่อละครเวทีชื่อดังก้องโลกที่ทุกคนหลงรัก ไม่ว่าจะเป็น Les Miserables, Mamma Mia, Miss Saigon, ไปจนถึง Phantom Of The Opera ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นชื่อค็อกเทลแต่ละสูตรของร้าน

Miss Saigon

Miss Saigon เป็นค็อกเทลตัวแรกที่เราเลือกสั่ง ดูจากชื่อก็เดาเอาเองว่าเป็นค็อกเทลสำหรับสาวสวย อย่างเราแน่นอน ซึ่ง Miss Saigon คนนี้มาพร้อมความเสน่ห์ลึกลับชวนให้ค้นหาจากกลิ่นอโรมาของตะไคร้ต้นใหญ่ ใบไทมส์ และเอเดอร์ฟลาวเวอร์ เพิ่มความละมุนแบบผู้หญิงด้วยครีมจากไข่ขาว และใส่เหล้าจินลงไปแทนความขมขื่นในชีวิตของมิสไซง่อนคนนี้ และเสิร์ฟในแก้วสูงทรงดอกทิวลิป

Once

Once เป็นแก้วต่อมาที่เราสั่งเนื่องจากคำโฆษณาของเจ้าของร้านนี้ว่าเป็นแก้วโปรดของเขาเอง และก็ไม่ผิดหวังกับรสชาติที่ออกมานุ่มนวลแบบ Unisex คือผู้หญิงดื่มได้ ผู้ชายดื่มเพลิน เป็นค็อกเทลแนว Sweet & Sour ที่เน้นชูรสชาติเบสเหล้าทั้งสองตัวคือ Sailor Jerry Rum และ Tequila Rose ออกมาได้อย่างซับซ้อนโดดเด่น

Phantom Of The Opera

ปิดท้ายด้วย Phantom Of The Opera ที่ตอนแรกก็สั่งมาเพราะชอบละครเวทีเรื่องนี้เฉยๆ แต่พอได้ลองแล้วกลายเป็นติดตาตรึงใจไปอีกนาน ด้วยรสเผ็ดขึ้นจมูกของพริกขี้หนูและผงปาปริกาที่เคลือบอยู่รอบขอบแก้ว บวกกับ Grand Marnier Tequila ที่ผสมกลมกลืนกับน้้ำส้มคั้นสดๆ ได้อย่างมีชั้นเชิง

และแล้วเวลาก็เดินมาถึงช่วงที่คนทั้งร้านเริ่มขยับมาใกล้ชิดกันมากขึ้น เพื่อแบ่งสเปซให้คนที่มาทีหลังได้เขยิบเข้ามาในร้าน เพราะนี่คือช่วงเวลาของการแสดงสดบนเวทียกพื้นสูงไม่ถึงสองคืบที่ถูกล้อมกรอบด้วยม่านสีแดง โดยในแต่ละวันจะมีศิลปินหลากหน้าหลายตาแวะเวียนมาแสดงฝีไม้ลายมือกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

สำหรับค่ำคืนวันศุกร์สุดสัปดาห์แบบนี้ เป็นคิวของ Mode Ft. Bessie ที่เรารอดูเป็นพิเศษ เพราะมี Bessie นักดนตรีสาวผิวดำสาย Soul Jazz เป็นนักร้องนำ และมีวง Supergoods ที่เคยฝากฝีมือไว้กับการเป็นวง Opening Act ให้งานคอนเสิร์ตของ Mac Ayres มาแล้วแสดงต่อท้าย เรียกว่าใครที่หลงใหลในเสน่ห์ของดนตรีรากเหง้าแจ๊ซและบลูส์ บาร์แห่งนี้น่าจะเป็นพิกัดลับทางดนตรี (และเครื่องดื่ม) ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง  

 

เครดิตภาพ: To More Bar

Fact Box

  • To More 945 ถ.เจริญกรุง เปิดบริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 19.00-00.00 น. โทร. 09-5593-9661 FB: www.facebook.com/tomorebar/