เกือบ 20 ปีที่แล้ว ทันตแพทย์กลุ่มหนึ่งได้ค้นพบว่าอาชีพ ‘หมอฟัน’ นอกจากจะทำหน้าที่ดูแลสุขภาพช่องปากและฟันของคนไข้แล้ว หมอฟันยังสามารถใช้โอกาสนี้ในการแนะนำคนไข้ที่สูบบุหรี่ให้เลิกบุหรี่ได้ เพราะหมอฟันเป็นบุคคลแรกๆ ที่จะสังเกตเห็นปัญหาสุขภาพช่องปากของคนไข้ที่เกิดจากการสูบบุหรี่
ด้วยสถานะ ‘ทันตแพทย์’ ที่คอยดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน และคนไข้ส่วนใหญ่เชื่อและปฏิบัติตามข้อแนะนำของหมอ ด้วยเหตุนี้ ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้เข้ามาสนับสนุนและจัดทำโครงการวิชาชีพทันตแพทย์ต้านภัยยาสูบขึ้นในปี 2548 โดยได้รับทุนสนับสนุนงบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เป็นผู้ประสานงานกับคณะทันตแพทยศาสตร์ทุกสถาบัน รวมถึงหน่วยงานด้านทันตสาธารณสุขทุกสังกัด ให้เข้ามาทำงานในลักษณะงานอาสา เพื่อช่วยลดการบริโภคยาสูบในประเทศไทย และลดปัจจัยเสี่ยงในโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ ไม่ว่าจะโรคหลอดเลือดหัวใจ ถุงลมโป่งพอง โรคเบาหวาน หรือรอยโรคก่อนมะเร็งในช่องปากที่สร้างความเจ็บปวดอย่างมาก และหลายกรณีก็พัฒนาจนเป็นมะเร็ง
ทันตแพทย์ อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา เป็นหนึ่งในกลุ่มทันตแพทย์ที่ร่วมก่อตั้งโครงการวิชาชีพทันตแพทย์ต้านภัยยาสูบ ซึ่งปัจจุบันขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ คนล่าสุด จึงตั้งใจสานต่องานนี้อย่างเต็มที่ และยังคงเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้ไปยังทันตแพทย์รุ่นใหม่ๆ ผ่านการทำงานของเครือข่ายบุคลากรด้านทันตสาธารณสุข ในประเทศและต่างประเทศ
“แค่เราขูดหินปูนคนไข้ ก็สังเกตได้แล้วว่าคนไข้คนนี้สูบบุหรี่ เราไม่จำเป็นต้องรอให้คนไข้มีอาการหนักๆ เกิดรอยโรคก่อนมะเร็งในช่องปาก หรือปอดมีปัญหา เป็นถุงลมโป่งพอง หรือความดันในโลหิตสูง ซึ่งการเตือนคนไข้รายนั้น แนะนำเขาตั้งแต่แรกๆ ให้เลิกบุหรี่ ช่วยให้เขามีกำลังใจ มีความตั้งใจ ช่วยให้เขาเลิกบุหรี่ได้” ทันตแพทย์อดิเรกเล่าให้ฟัง
“หลายคนอาจสงสัยว่าหมอฟันจะไปยุ่งเรื่องนี้ทำไม เพราะแค่งานวิชาการ งานบริการคนไข้ปกติ ก็ยุ่งกันมากแล้ว แต่สำหรับผม หมอฟันค่อนข้างใกล้ชิดคนไข้ และเป็นคนที่เห็นความเปลี่ยนแปลงมากที่สุด”
ทันตแพทย์อดิเรกฉายภาพให้เห็นว่า ถ้าคนทั่วไปบอกต่อๆ กันว่า หากคนติดบุหรี่ยังสูบบุหรี่จนอายุ 60-70 ปี มักจะมีความเสี่ยงสูงที่จะ ‘มะเร็ง’ แน่นอนนะ หรืออีก 10-20 ปี จะเป็นโรคหัวใจ ผู้ที่สูบบุหรี่ 90 เปอร์เซ็นต์ อาจเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากหมอฟันทักคนไข้ว่า “มีปัญหาเหงือกแล้วนะ ฟันที่อุดไว้มีรอยไหม้หรือมีคราบบุหรี่ติด” หรือทักคนไข้ว่า “ริมฝีปากคล้ำนะ สูบบุหรี่หรือเปล่า” คนกลุ่มนี้จะเริ่มรู้สึกแล้วว่า การสูบบุหรี่เริ่มจะเป็นปัญหากับการใช้ชีวิต
“ถ้าเราทักไปแล้ว บางทีเขาอาจไม่พร้อมเลิกวันนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปบังคับ แต่เราแนะนำว่ามันมีวิธีนะ หมอช่วยแนะนำได้ หรือวันไหนพร้อมก็บอกหมอนะ แค่นี้เราก็ช่วยได้เยอะมากแล้ว อย่าลืมว่าการที่หนึ่งคนไม่สูบบุหรี่ มันลดความเสี่ยงได้หลายชีวิต ทั้งคนในครอบครัว คนในที่ทำงาน
“ดังนั้นถามผมว่าการเลิกบุหรี่ใช่หน้าที่ของหมอฟันหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่ใช่หน้าที่โดยตรงก็จริง แต่ทั้งหมดเป็นสปิริตของคนที่ทำงานด้านสาธารณสุข เราอยากให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี ถ้าคิดแบบนี้ได้มันก็ไม่ใช่เรื่องพันธะของงานทันตกรรมหรือหน้าที่ แต่เป็นเรื่องของความสุขและความภูมิใจมากกว่า”
นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ บอกว่า จากหมอฟันกลุ่มเล็กๆ ที่ช่วยกันรณรงค์เรื่องนี้เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว วันนี้มีเครือข่ายทันตแพทย์ช่วยเลิกบุหรี่อยู่ทั่วประเทศ กระจายอยู่ทั้งในหน่วยงานของรัฐและคลินิกเอกชน มีการทำงานทั้งระบบ โดยมุ่งเน้นช่วยเหลือผู้สูบบุหรี่ให้สามารถลดหรือเลิกได้ถาวร รวมทั้งยังเข้าไปทำกิจกรรมกับกลุ่มเด็กและเยาวชนเพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ตลอดจนพัฒนานิสิตนักศึกษาและทันตบุคลากรให้สามารถป้องกันและช่วยเหลือผู้สูบบุหรี่ได้ ขณะเดียวกัน ยังได้ผลักดันและพัฒนาระบบบริการเพื่อสนับสนุนทันตบุคลากรในการทำงานช่วยเหลือผู้เลิกบุหรี่
คุณหมออดิเรกบอกว่า ความภาคภูมิใจที่ผ่านมา ก็คือการที่คนไข้ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ตามคำแนะนำ ยกครอบครัวมาขอบคุณหมอที่ช่วยให้ลูกชาย ช่วยให้คุณพ่อเลิกบุหรี่ได้ เพราะหมอคือคนที่คนไข้เชื่อถือมากที่สุด และผลที่ตามมาจากการเลิกบุหรี่ได้ ก็คือการที่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังน้อยลง ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีต่อตัวคนไข้เองเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีกับ ‘ครอบครัว’ เพราะโรคเหล่านี้ ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคนในครอบครัว ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสูง
ตัวเลขในสหรัฐอเมริกาพบว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังคิดเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด ขณะที่ประเทศไทยนั้น รัฐใช้งบประมาณกับระบบสุขภาพมากกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งแน่นอนว่า ‘เค้ก’ ก้อนใหญ่สุดคือการรักษาโรคเรื้อรัง ไม่ว่าจะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งการ ‘ป้องกัน’ ตั้งแต่ต้นทางด้วยการลดสิงห์อมควันหน้าใหม่ จึงเป็นส่วนสำคัญในการลดโรคเรื้อรังเหล่านี้
ทั้งหมด ทำให้ภารกิจของโครงการนี้ยังไม่จบง่ายๆ ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ปัจจุบัน มีคนไทยที่สูบบุหรี่มากกว่า 9.9 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 17.4 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยผู้ชายจะสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิงถึง 20 เท่า และถึงแม้ว่ายอดตัวเลขผู้สูบบุหรี่จะมีแนวโน้มที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2560 หรือเมื่อ 5 ปีก่อน แต่ยังมีประชากรกว่า 6.7 ล้านคน คิดเป็น 23.7 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองจากในบ้าน โดยข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่ หัวหน้าครอบครัวเป็นผู้สูบบุหรี่ รองลงมาคือบุตร ซึ่งทำให้โครงการวิชาชีพทันตแพทย์ต้านภัยยาสูบ ยังต้องทำงานอย่างหนักต่อไป เพื่อลดจำนวนนักสูบให้เหลือน้อยที่สุด
ทันตแพทย์อดิเรกบอกว่า โครงการวิชาชีพทันตแพทย์ต้านภัยยาสูบ ในวันนี้ ได้แบ่งการทำงานเป็น 5 แผนงาน เพื่อให้ครอบคลุมเครือข่ายต่างๆ คือ 1. กลุ่มทันตบุคลากรสังกัด กทม. ที่เน้นการให้บริการทันตกรรมผ่านสถานพยาบาลสังกัด กทม. รวมไปถึงทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนในสังกัด กทม. 2. กลุ่มทันตบุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้บริการอยู่ในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ รวมถึงร่วมมือกับสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อพัฒนากิจกรรมเสริมหลักสูตรในโรงเรียน 3. กลุ่มทันตบุคลากรที่เป็นภาคเอกชนที่มาร่วมทำงานในลักษณะจิตอาสา ร่วมกับสายด่วน Quitline 1600 และการสื่อสารธารณะผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ 4. กลุ่มนิสิตและนักศึกษาทันตแพทย์ ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ในประเทศไทยทุกแห่งได้ร่วมบูรณาการหลักสูตร จัดอบรม ไปจนถึงสนับสนุนการจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยต่างๆ และ 5. การพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ โดยสนับสนุนงานวิจัยและการนำเสนอผลงานวิชาการทั้งระดับชาติและนานาชาติ
อีกส่วนสำคัญที่ทำให้โครงการวิชาชีพทันตแพทย์ต้านภัยยาสูบประสบความสำเร็จ คือการร่วมมือกับสายด่วนเลิกบุหรี่ หรือ Quitline 1600 ผ่านทางโครงการ Dentist Hero ที่มีคอนเซปต์ง่ายๆ ในการให้ทันตแพทย์ส่งต่อคนไข้ที่อยากเลิกบุหรี่ให้กับ Quitline 1600 เป็นผู้แนะนำในการช่วยต่อ
“การช่วยแนะนำให้ใครสักคนเลิกบุหรี่มันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ที่ต้องใช้ทั้งความรู้และจิตวิทยาสูง คนที่ต้องการเลิกบุหรี่หลายคน แม้มีความตั้งใจแต่เอาชนะใจตัวเองไม่ได้ ผู้แนะนำเลยต้องช่วยให้กำลังใจบ่อยๆ และถามความก้าวหน้าเสมอๆ เรายอมรับว่าหมอฟันหลายคนโดยเฉพาะที่ทำงานในคลินิกเอกชนไม่ได้มีเวลาขนาดนั้น
“โครงการ Dentist Hero เลยมาแก้จุดอ่อนนี้ ด้วยการให้หมอฟันเป็นผู้แนะนำและสอบถามคนไข้เบื้องต้นว่าอยากลองเลิกบุหรี่หรือไม่ ถ้าคนไข้สมัครใจ หมอจะเป็นผู้ส่งข้อมูลคนไข้ให้กับ Quitline 1600 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเป็นผู้แนะนำต่อ ซึ่งปัจจุบันเรามีสมาชิก Dentist Hero มากกว่า 1,000 คน และมีการประสานงานกันผ่านทาง Online ทั้งเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก DentistHero รวมถึง Line @DentistHero ซึ่งกำลังพัฒนาเครื่องมือเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพขึ้นต่อไป”
นอกจากนั้นยังมีโครงการ ‘NO NO กระต่ายขาเดียว’ ซึ่งเป็นโครงการที่เครือข่ายกลุ่มที่ 2 ของเครือข่ายกระทรวงสาธารณสุข ที่ร่วมกับสำนักงานการประถมศึกษา ในการรณรงค์ป้องกันนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ โดยเน้นให้เด็กตั้งแต่ชั้น ป.4 ถึง ป.6 ให้มีทักษะในการปฏิเสธบุหรี่ ทั้งที่มาจากเพื่อนรุ่นเดียวกันเชิญชวน หรือคนในครอบครัวสูบแล้วสร้างความคุ้นเคยในการสูบบุหรี่ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเด็กที่ต้องได้รับการปกป้องไม่ให้เข้าสู่วงจรของการริเริ่มสูบบุหรี่
ทั้งหมดนี้ คือความพยายามของคนกลุ่มเล็กๆ ในวันงดสูบบุหรี่โลก ที่มุ่งหมายให้สังคมไทยเป็นสังคมปลอดบุหรี่ ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้สูบเท่านั้น แต่ยังสร้างประโยชน์ต่อคนรอบตัว และช่วยประเทศชาติได้ในที่สุด
Tags: ทันตแพทย์, วันงดสูบบุหรี่โลก, Dentist Hero, อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา, บุหรี่, The Frame