“น้องคะ ฝนตกพี่ยอมเสียเงินค่าส่งเพิ่มเลยนะเพราะพี่หิว”
“พี่เสียเพิ่มด้วยหรือครับ”
“เสียสิ ก็ในระบบให้พี่จ่ายเพิ่ม บอกว่าสภาพอากาศแย่”
“อ้าว แต่ผมไม่เห็นได้เงินเพิ่มเลย อุตส่าห์ตากฝนมา”
บทสทนาระหว่างไรเดอร์กับผู้บริโภคช่วยยืนยันและการันตีได้ดีว่า ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอย่างบริการเดลิเวอรีส่งคน-ส่งอาหาร เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากแค่ไหน โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือในวันที่สภาพอากาศแย่ และช่วงเวลารถติด แต่เงินเหล่านี้หายไปอยู่ที่ใดและกับใคร?
‘โบ้’ – อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายความหมายของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มไว้ว่า เป็นโมเดลแบบทุนนิยมที่เจ้าของแพลตฟอร์มมีอำนาจต่อรองมากกว่าภาคส่วนอื่นๆ ที่ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ 1. ดีมานด์ความต้องการของผู้บริโภค 2. ซัพพลายร้านอาหารกับไรเดอร์ และ 3. ผู้บริโภค ซึ่งเป็นส่วนที่แพลตฟอร์มให้ความสำคัญมากที่สุด ในขณะที่ร้านอาหารและไรเดอร์แทบไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ
ปัญหาของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กที่เข้าร่วมไม่ได้ เพราะไม่สามารถแบกรับการหักเปอร์เซ็นต์มหาโหดจนเหลือกำไรเพียงน้อยนิด หรือบางร้านต้องเพิ่มราคาอาหารเพื่อให้ถัวเฉลี่ยกับเปอร์เซ็นต์ที่ต้องจ่าย ส่วนไรเดอร์ก็ไร้อำนาจในการต่อรอง ไม่ว่าจะเป็นค่าส่งที่ถูกลดราคา การหักเปอร์เซ็นต์และเงื่อนไขต่างๆ รวมไปถึงกลุ่ม ‘พี่วิน’ หรือวินมอเตอร์ไซค์ที่ถูกดิสรัปต์จากแพลตฟอร์มก็ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า
“บ่อยครั้งเรารู้ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น บางทีเห็นใจไรเดอร์ บางทีเห็นอกเห็นใจร้านค้า แต่พอไม่มีทางเลือก ชีวิตมันต้องสั่งอาหาร เราก็เหมือนเป็นคนที่สนับสนุนค้ำจุนอยู่กลายๆ ให้ระบบนี้ยังอยู่ต่อไปได้ เราเลยคิดว่าถ้ามันมีทางเลือกเป็นครั้งเป็นคราว หรือเป็นอะไรก็ได้ ให้คนสามารถอยู่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมมากขึ้นแค่นั้นเอง ไม่ได้หวังจะให้คนเลิกใช้แอปพลิเคชันอื่น ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว”
สิ่งเหล่านี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘โบ้’ – อรรคณัฐ ที่ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สร้างแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า ‘ตามสั่ง-ตามส่ง’ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับคนในชุมชนและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ภายใต้แนวคิด ‘เศรษฐกิจสมานฉันท์’ ที่ให้พี่วินแถวบ้าน รับจ้างส่งคน-ส่งอาหารแบบไม่คิดค่าบริการ ไม่หักหัวคิว และไม่คิดค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น
ที่มาที่ไปของโปรเจกต์ตามสั่ง-ตามส่งมาจากไหน
เราเป็นพวกโปรเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็ก เป็นเด็กสายวิทยาศาสตร์ คือชีวิตตอนนี้กับชีวิตเมื่อยี่สิบปีที่แล้วมันต่างกันคนละโลกเลย มันสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์มหาศาลได้ในปัจจุบัน อย่างพวกบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ทั้งหลายแหล่ ที่นำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำกำไรเป็นหลัก ซึ่งเราคิดว่าเยอะเกินไป เยอะจนเบียดตัวมันอ้วนเหมือนอึ่งอ่าง เบียดแบบทุกคนชิดขอบไปหมด และท้ายที่สุดมันจะกินทุกอย่างให้เข้าไปอยู่ในท้องมันทั้งหมด
เราก็คิดว่าสิ่งนี้มันผิด ปรัชญาทางเทคโนโลยีมันไม่ได้เป็นแบบนี้ เราเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีเวลาว่างมากขึ้นไม่ใช่เอามาใช้เป็นเครื่องมือให้ทำงานมากขึ้น ซึ่งที่ตลกร้ายไปใหญ่คือทำงานมากขึ้นแต่เงินไม่ได้ขึ้นตาม ชีวิตมันหดหู่ เลยคิดว่าเราต้อง Upside down กลับหัวกลับหางมันซะ แทนที่จะเอามันมาเป็นเครื่องจักรในการสูบกำไร ก็ลดบทบาทให้เหลือเพียงเครื่องมือที่ให้ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน มีอำนาจในการต่อรองร่วมกันมันคือการเปลี่ยนโมเดล จาก Winner takes all ในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นให้ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน
ตามสั่ง-ตามส่งเปลี่ยนโมเดลเพื่อให้ทุกคนได้ผลประโยชน์ร่วมกันอย่างไรบ้าง
เปลี่ยนตั้งแต่วิธีคิดที่ทุกภาคส่วนเป็น Stakeholders ในระบบนิเวศจะต้องมีอำนาจในการต่อรองเท่ากัน เราคิดว่าถ้าเกิดมีใครคนใดคนหนึ่งได้น้อยกว่าอีกคน ระยะแรกอาจจะพอไปได้ แต่ระยะยาวนั้น ใครไปไม่ได้ คนนั้นจะต้องหลุดออกไปจากระบบ และถ้าหลุดออกไปก็ไม่ครบวงจรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งเลยต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่วิธีคิดว่าทำอย่างไรให้ทุก Stakeholders ในระบบนี้ ได้ประโยชน์ร่วมกัน มีอำนาจในการต่อรองเท่ากัน มีความพึงพอใจเท่ากัน ก็เลยได้โมเดลนี้ขึ้นมาครับ Social Economy หรือเศรษฐกิจเพื่อสังคม ซึ่งเน้นเรื่องการเป็นเจ้าของร่วมกัน หรือ Ownership ที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ร่วมกันเป็นหลัก
แนวคิดเศรษฐกิจสังคม และเศรษฐกิจสมานฉันท์คืออะไร
ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาเรามองเห็นว่าพี่วินลำบาก รายได้ลดลง ส่วนพ่อค้าแม่ค้าต้องขายอาหารในแพลตฟอร์มเท่านั้น เพราะไม่สามารถนั่งกินข้าวที่ร้านได้ ซึ่งก็โดนแพลตฟอร์มโขกสับกลับมาอีก หรือบางคนใช้งานแพลตฟอร์มไม่เป็น เลยมาคิดว่าช่วงเวลายากลำบากเราสามารถทำอะไรให้ทุกคนมีความมั่นคงทางอาชีพได้บ้าง เราก็คิดกันแค่นี้แต่พอทำไปทำมามันเข้าท่าว่ะ
คือกระบวนการของตามสั่ง-ตามส่ง พี่วินหรือวินมอเตอร์ไซค์ต้องจ่ายเงินแทนลูกค้าตอนซื้อข้าวก่อน ซึ่งสิ่งนี้มันโคตรสะท้อนความเชื่อใจเลย และมันสามารถเกิดขึ้นได้เฉพาะในชุมชนเท่านั้น เพราะถ้าไม่รู้จักกัน ถามว่าคุณจะกล้าออกเงินให้ก่อนไหม และจะรู้ไหมถ้าวิ่งไปส่งข้าวจะได้เงินคืนหรือเปล่าเราไม่รู้ใช่ไหมครับ
แสดงว่ากระบวนการที่โครงการเราทำมันมี Outcome ออกมาที่นอกเหนือจากที่คาดหมายไว้ นั่นคือเรื่องของความเชื่อใจ เรื่องการเป็นเจ้าของเรื่องของการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนขึ้นมา ยกตัวอย่างเวลามีการประชุมร่วมกลุ่มก็มีการพูดถึงเรื่องอื่น พูดถึงเรื่องของความปลอดภัย พี่วินจะอาสาเป็นคนที่ดูแลบางเรื่องให้ เช่น จับงูหรือเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน
แต่เนื่องจากแหล่งทุนเราคือ สสส. เขาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาวะ เขาบอกกับเราว่าโครงการดีมากช่วยขยายผลได้ไหม ทำอย่างไรก็ได้ให้พี่วินเลิกเหล้า เลิกสูบบุหรี่ เราก็บอกว่าเอาเรื่องปากท้องก่อน เดี๋ยวพอเขามีเงิน เขาก็เริ่มห่วงสุขภาพเองแหละ เหมือนชนชั้นกลาง เดี๋ยวพอเริ่มมีเงินเดี๋ยวก็อยากอยู่นาน เดี๋ยวก็ไปฟิตเนส ไปนู้นไปนี่ เอาเรื่องอาชีพก่อน
ก็อธิบายเพิ่มเติมไปว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นได้และพิสูจน์ได้ว่าสามารถเกิดขึ้นได้จริง นี่คือวิธีคิดที่ทุกคนจะมาร่วมมือกันทำ ได้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะต่างคนต่างมีอาชีพของตัวเองอยู่แล้ว ร้านค้ามีอยู่แล้ว พี่วินก็วิ่งอยู่แล้ว มีสิ่งนี้อยู่ แต่ทุกคนมีโอกาสมากขึ้น ถ้ามันมีต้นทุนทุกคนยินดีจ่ายร่วมกัน เพราะตัวแพลตฟอร์มไม่ได้หากำไร เราก็อยากเอาอันนี้ไปทดลองทำต่อ ซึ่งเราก็ชี้ให้ สสส. เห็นว่า นี่ไงสิ่งที่เราทำอยู่มันทำให้เกิดสุขภาวะนะโว้ย แต่มันไม่ใช่สุขภาวะส่วนบุคคล มันคือสิ่งที่เรียกว่าสุขภาวะชุมชน
เป็นการยืนยันว่าตามสั่ง-ตามส่งจะนำไปสู่สุขภาวะชุมชน
ใช่ เราก็บอกเขาว่าเห็นไหม มันเกิดสิ่งที่เรียกว่าสุขภาวะชุมชน จากการดำเนินกิจกรรมของเรา และเราเลือกสิ่งที่คิดว่ามันเกิดขึ้นได้จริง เช่น การมีส่วนร่วม ความเป็นเจ้าของ ความโปร่งใส เพราะมันต้องโปร่งใส ต้องมาคำนวณต้นทุนร่วมกันว่าต้นทุนเท่าไร เราเลยเสนอไปว่าตามสั่ง-ตามส่งเป็น Entry Point เป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘สุขภาวะชุมชน’ แต่เส้นทางนั้นมันต้องผ่านสิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจสมานฉันท์ และใช้วิธีที่เสริมศักยภาพให้กับ Stakeholders ให้เขาใช้เครื่องมือเป็น มีความเข้าใจ ได้ข้อมูลครบถ้วน และให้เป็นการตัดสินใจของเขาเองว่าจะทำหรือไม่ทำ ซึ่งนี่คือเจตจำนงเสรี หรือ Free Will อย่างแท้จริง
ซึ่งถ้าเขาได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ถูกบิดเบือน เหมือนการใช้งานในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่บิดเบือนเรื่องราคาค่าส่ง เรื่องโปรโมชันเราจะเคลมได้อย่างไรว่านี่คือเจตจำนงเสรี ซึ่งระหว่างทางที่มันจะไปสู่สุขภาวะชุมชน มันอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทสั่งอาหาร ส่งคน ขายของชำ แต่ว่าระหว่างทางมีเรื่องอะไรอีกตั้งเยอะแยะที่สามารถทำได้ เขาสามารถที่จะรวมกลุ่มกันผ่านกิจกรรมเหล่านี้ทำให้เข้มแข็งขึ้น พอเข้มแข็งขึ้นก็ไปทำอย่างอื่นร่วมกันอีกได้ เช่นเอาเงินมารวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มออมทรัพย์ อย่างที่ลาดพร้าว 101 เขาจัดสวัสดิการเองได้ เช่น ถ้าเราเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ เป็นพี่วินถ้าเกิดมีปัญหาทางสุขภาพ หรือสมมติว่าเสียชีสิต ครอบครัวเราจะได้เงินค่าฌาปนกิจสงเคราะห์สองหมื่นบาท หรือหากเกิดอุบัติเหตุ เป็นพี่วินไม่มีประกันสังคม ไม่มีมาตรา 40 ก็ไม่ได้เงินชดเชย แต่เป็นสมาชิกกลุ่ม ก็เอาไปวันละห้าร้อยบาท นี่คือเขาก็บริหารจัดการกันเอง
เราก็คิดว่า เออ ตามสั่ง-ตามส่ง เนี่ยเป็น Entry Point พอคนในชุมชนมาทำสิ่งนี้ร่วมกัน มันมีอะไรยึดเหนี่ยว และเกาะเกี่ยวกันด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ทางสังคม มันนำไปสู่อย่างอื่นได้อีกเยอะ ต้องการจะพิสูจน์ในสิ่งนี้ เราเลยเสนอ สสส. ว่าเอาเงินมาให้เราทำต่อเถอะ (หัวเราะ)
แพลต์ฟอร์ม ตามสั่ง-ตามส่ง แตกต่างจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างไร
ตัวแพลตฟอร์มมันไม่มีอะไรแตกต่างจากเอกชนหรอก มันคือกิจกรรมทางเศรษฐิจในการสั่งอาหารมีคนมาส่งอาหาร เรียกคนมารับจากบ้านไปส่งที่จุดหมาย หรือการไปส่งเอกสาร เหล่านี้ไม่มีอะไรแตกต่างหรือแปลกไปเลย แต่สิ่งที่เราคิดว่ามันต่างหรือไม่เหมือนคือ Core Value ที่เราต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วม ทุกคนเป็นเจ้าของแบบเจ้าของจริงๆ เราเป็นเพียงคนที่สร้างเครื่องมือเอาเครื่องมือมาให้ เอาคอนเซ็ปต์มาขายไปตื้อให้ทุกคนซื้อ มาทดลองทำด้วยกันจนมันเสร็จ จนเราอยู่ในฐานะที่ประคับประครองให้ความช่วยเหลือในทางเทคนิคในส่วนที่เขาไม่สามารถทำเองได้ แต่เราก็พยายามปรับให้เขาสามารถดำเนินการต่อไปได้โดยพึ่งพิงเราให้น้อยที่สุด
ตอนนี้ตามสั่ง-ตามส่งขยายไปกี่พื้นที่แล้ว
ตอนนี้มีลาดพร้าว 101 , สามย่านจุฬาฯ, เจริญกรุง, ตลาดต้นไม้, ภูเก็ต, สายบุรี และเบตง
ปัจจัยในการเลือกพื้นที่ให้บริการคืออะไร
โดยส่วนมากจะเป็นเขาติดต่อมา ที่เราอยากทำจริงๆ มีแค่ลาดพร้าว 101 หลังจากนั้นมันก็ไปแบบของมันเอง และอีกที่ที่อยากทำคือ สามย่าน เพราะรู้สึกว่าอายว่ะ มันคือถิ่นเรา (หัวเราะ) ก็เลยไปขอทุนจากทางจุฬาฯ เขาก็สนับสนุนให้ทำหกที่ และทำที่นี่ที่แรก
คิดค่าบริการส่งอาหาร และส่งคนอย่างไร
ยกตัวอย่างถ้าคุณกดสั่งอาหารมันจะมีคำสั่งเด้งไปที่พี่วินว่าให้ไปรับอาหารร้านนี้อีกสิบนาที และให้นำมาส่งที่คนนี้บ้านอยู่ตรงไหนถ้าไปไม่ถูกให้กดดูแผนที่ กดโทรได้ และเรามีระบบหลังบ้านที่ทำให้รู้ว่าพี่วินอยู่ตรงไหน เวลาที่ส่งออเดอร์ให้ จะไม่มีการอ้างอิงระบบคะแนนแต่จะดูว่าใครใกล้ร้านที่สุด ถ้าอยู่ด้วยกันสองคน เราก็จะให้คนที่อยู่ตรงนั้นก่อนเป็นคนแรก เพราะวัฒนธรรมของวินก็เป็นแบบนี้ ใครอยู่ตรงนั้นก่อนก็ให้ออกคิวแรก ซึ่งเวลาเราออกแบบกระบวนการเราก็ไปรับฟังว่าอะไรคือ Pain point ของพี่วิน เช่น วินไม่ชอบรอถ้าจะให้วินทำเหมือนไรเดอร์แพลตฟอร์มไปนั่งรออาหารเขาไม่ทำกับคุณแน่นอน เราเลยต้องบอกเขาว่าอีกกี่นาทีอาหารจะเสร็จ
เลยออกแบบเป็นเครื่องมือไปที่ร้านค้า และร้านค้าจะเป็นคนบอกเองว่าใช้เวลากี่นาทีในการทำอาหาร สมมติร้านค้าบอกว่าสิบนาทีมันก็จะไปเด้งในแจ้งเตือนพี่วินว่าอีกสิบนาทีให้ไปรับอาหาร
เคยเจอปัญหาเหมือนไรเดอร์แพลตฟอร์มไหมเช่น ยกเลิกออเดอร์
ตอนนี้ยังไม่เจอ เพราะเราออกแบบมาจากพื้นฐานของชุมชน คือการให้บริการในพื้นที่ที่ไม่ไกลมาก เรื่องการรอนานไม่ค่อยมีเนื่องจากอยู่ในพื้นที่สั้นๆ เลยสามารถทำให้สั่งได้มากกว่าหนึ่งร้าน เพราะระยะทางจากร้านที่หนึ่งถึงร้านที่สอง มันอยู่ในระยะ 500-600 เมตร ถ้าสมมติเป็นแกร็บให้สั่งได้มากกว่าหนึ่งร้าน แต่ร้านที่เราอยากกินคือข้าวมันไก่ประตูน้ำ ส่วนอีกร้านเป็นผัดไทยประตูผี ซึ่งมันไกลกันมาก แต่พอเป็นชุมชนร้านมันไม่ไกลกัน และคิดค่าส่งเพิ่มร้านละสิบบาท ก็ให้พี่วินไปเลย เพราะเขามีค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้นจริงจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง
ความยากของการทำโครงการนี้คืออะไร
ตอนชวนเขาเข้ามาร่วมโครงการยังไม่ยากเท่ากับจะทำอย่างไรให้โครงการไปต่อได้ คือทุกคนเคยชินกับการขายของในลักษณะที่ตัวเองเป็นร้านค้า ไม่ต้องมานั่งคิดว่าค่าส่งที่เหมาะสมจะต้องเป็นเท่าไร เรื่องนี้ยากสำหรับเขา ก็แค่กดรับ ขายได้หรือขายไม่ได้มันก็จบ แต่นี่เราขอให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมกับสิ่งที่เขาได้กลับคืนไป คือเขาจะไม่ถูกหักค่าตอบแทน มันก็เลยเป็น Give and Take อย่างพวกร้านค้า ถ้าเป็นร้านที่อยู่ในแพลตฟอร์มต่างๆ อยู่แล้ว เขาจะเข้าใจง่ายมาก พอบอกว่านี่เป็นโครงการของมหาวิทยาลัยกับ สสส. ไม่ได้เก็บค่าส่วนแบ่งใดๆ เราจะศึกษาก่อนว่าต้นทุนจริงเป็นเท่าไร แล้วค่อยมาตัดสินใจร่วมกันว่าทางพี่วินกับร้านค้าจะ contribute ร่วมกันเท่าไหร่ แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่คุ้ม มันก็ไม่มีอะไรผูกมัด อยากจะเลิกขายก็เลิกได้
เวลาสั่งอาหารหรือเรียกพี่วินมีกำหนดเวลาไหม
ปกติของวิน จะมี Time Out เซ็ตเอาไว้ตลอด ของเราเซ็ตเอาไว้สองนาที คือเราจะไม่เหมือนแอปพลิเคชันทั่วไปที่จะไม่รู้ข้อมูลแล้วกดแย่งกัน หรือพุ่งไปตามคะแนนที่มี แต่ของเรา พี่วินจะรู้ก่อนว่าต้องวิ่งไปส่งที่ไหน ค่าอาหารเท่าไร ค่าตอบแทนได้เท่าไร แล้วให้เวลาเขา 2 นาทีในการตัดสินใจ อย่างของแกร็บ คุณมีเวลาเพียงสามสิบวินาที ข้อมูลขึ้นมาคุณต้องรีบตัดสินใจ แต่ถ้าเป็นไลน์แมน คุณต้องกดแย่งกัน คุณจึงไม่ได้ดูรายละเอียดเพราะต้องแย่งงานกัน
ถ้าไม่รับงานก็ไม่ส่งผลอะไรใช่ไหม ส่วนคิวก็จะรันเป็นพี่วินคนถัดไป
ใช่ครับ ส่วนการสั่งอาหารหรือเรียกวินก็แล้วแต่ละพื้นที่ เช่นลาดพร้าว 101 วินเขาวิ่งกันถึงเวลาห้าหกทุ่มเลย แต่สำหรับคนที่ให้บริการ ตามสั่ง-ตามส่ง ตอนนี้เขาก็ไปคุยกันเองเพื่อให้มีคนวิ่ง ตอนนี้ก็มีการจัดเป็นเวรเช่น วันจันทร์เวลา 21.00-24.00 น. ถ้าไม่มีวินวิ่งรถให้ติดต่อเขาได้เลย เขาจะสแตนบายให้ เห็นไหมมันมีความรู้สึกเป็นเจ้าของมีส่วนร่วม เวลาที่เขาอาสาทำแบบนี้เพราะเขากลัวว่าเดี๋ยวจะไม่มีคนให้บริการและคนจะรู้สึกว่าโครงการนี้มันกระจอก ก็เริ่มมีส่วนร่วมในทีมนี่แหละที่เราจะเคลมว่าเป็นสุขภาวะชุมชน
สมมติว่าเป็นแกร็บผมว่าเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น พอมันรู้สึกเป็นเจ้าของมันจะมีส่วนร่วมในการกำหนดหลายอย่างเช่น เรามาประชุมกันวินบอกว่าส่งอาหารสามกิโลเมตรแรกคิดค่าส่งห้าสิบบาท แต่ร้านค้าบอกว่าแพงไปเดี๋ยวขายไม่ได้และวินจะไม่ได้วิ่งมันก็เกิดการต่อรองกันเอง โดยประสบการณ์แล้วคนส่วนมากจะคิดว่าวินจะเรียกราคาแพงตลอดเวลา แต่พอจริงๆแล้ววินจะคิดเผื่อลูกค้าตลอดว่าแพงไปหรือเปล่าพอแพงไปเขาก็จะไม่ใช้บริการและร้านค้าก็จะเริ่มเห็นอกเห็นใจวินมากขึ้น เพราะวันแรกร้านค้าคิดว่าวินนี่แหละที่ไม่มีมาตรฐาน พอไม่มีมาตรฐานปุ๊บ โครงการมันคงจะล่มเพราะพวกวิน แต่ตอนนี้ทุกคนเริ่มคิดโปรโมชันให้ผู้บริโภคแล้ว
อย่างเช่นเป็นโปรโมชัน วันที่ 11 เดือน 11 ก็มาคุยกันว่าเอาแบบนี้ไหม ถ้ามีใครสั่งอาหารก็ค่าส่งฟรี แต่เพื่อไม่ให้วินต้องส่งฟรี เดี๋ยวร้านค้าจะเป็นคนออกค่าส่งให้ แต่ร้านก็อาจจะต้องกำหนดขั้นต่ำนะ เช่น สั่ง 111 บาท เพื่อให้ร้านมีกำไรจะได้แบ่งจ่ายให้กับวิน เพื่อเป็นการดึงให้ผู้บริโภคมาใช้บริการมากขึ้น ตลอดกระบวนการเราก็จะเห็นเรื่องที่มันเซอร์ไพร์สอยู่ตลอดเวลาแบบนี้เลยคิดว่าเราต้องทำได้สิสิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจสมานฉันท์
โฆษณาให้คนมาใช้งานตามสั่ง-ตามส่งหน่อย
ผมคิดว่าเราเป็นทางเลือก เราไม่ได้ไปขอให้ใครเลิกใช้แอปพลิเคชันอื่น เพียงแต่ว่าบ่อยครั้งเรารู้ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น บางทีเห็นใจไรเดอร์ เห็นอกเห็นใจร้านค้า แต่พอไม่มีทางเลือก แล้วชีวิตเราต้องสั่งอาหาร เราก็เหมือนเป็นคนที่สนับสนุนอยู่กลายๆ ค้ำจุนให้ระบบนี้มันยังอยู่ได้ต่อไป เราเลยคิดว่าถ้ามีทางเลือกเป็นครั้งเป็นคราว หรือเป็นอะไรก็ได้ ให้คนสามารถที่จะอยู่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่มันเป็นธรรมมากขึ้นแค่นั้นเอง เราไม่ได้หวังว่าเราจะให้คนเลิกใช้แอปพลิเคชันอื่นและมีแต่เรา ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว
เราต้องการเป็นทางเลือก เป็นโอเอซิส ไม่ต้องการจะไปแข่งกับใครและในแง่ความเป็นจริงแข่งกับเขาไม่ได้อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรหลายอย่าง แค่ทำตัวเองให้เป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนที่มีความคิดคล้ายๆ กันอยากจะทำอะไรบางอย่างเราต้องเชื่อและลงมือทำ ถึงจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้ามันไม่มีพื้นที่ตรงนี้ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร
มองภาพแพลตฟอร์มในอนาคตไว้อย่างไรบ้าง
อยากให้เป็นแบบปฏิกิริยาลูกโซ่ คือทำที่นี่มีคนตรงนี้แล้วคนตรงนี้ก็ไปกระจายต่อไปจนมีหลายๆ ที่
ในฐานะที่คุณทำวิจัยและทำงานเกี่ยวกับเรื่องแพลตฟอร์ม มองเห็นปัญหาในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มอย่างไร แท้จริงแล้วการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต้องเป็นแบบไหน
คืออุดมคติเลย ผู้บริโภคมันต้องเป็น Concern Consumer คือคุณต้องรู้และคุณต้องรับผิดชอบ ถ้าคุณรู้และคุณก็ยังไม่ทำก็แสดงว่าคุณไม่ได้รู้จริง คือเรารู้ว่าไรเดอร์ถูกเอาเปรียบ แต่เพื่อลดค่าใช้จ่ายของเราก็ต้องสั่ง เอ้าแล้วแบบนี้แสดงว่าเราก็ไม่รู้จริง เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่ทำ แต่เราก็ไม่ได้เอาตัวเองไปตัดสิน ผู้บริโภคนะ เพราะบางคนมีความจำเป็นของเขาจริงๆ เขาไม่มีทางเลือก เราเลยเสนอมาเป็นทางเลือกหนึ่งของเขา จะได้เป็นคนที่ Political Correctness ขึ้นอีกนิดหนึ่ง (หัวเราะ) จะได้มีทางออก
ถ้าวันหนึ่งคุณไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้แล้ว ตามสั่ง-ตามส่ง จะสามารถดำเนินต่อไปได้ไหม
เราหวังว่าจะให้มันรันต่อโดยไม่มีพวกเราได้ แต่เราไม่คิดว่าจะเลิกทำนะ พวกเราคิดว่ามันจะเป็นโปรเจ็กต์ยาวตลอดชีวิต คิดว่าจะทำจนกว่าจะสำเร็จ แล้วเป้าหมายคือจะให้ไปได้ด้วยตัวเอง และในทุกพื้นที่ไม่ต้องเหมือนกัน แต่ตอนนี้ทุกพื้นที่เหมือนกันเลย การคิดค่าบริการ การดำเนินงาน นี่คือ การกระจายอำนาจ แต่ละที่มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจ แต่ขอให้รักษา Core Value การมีส่วนร่วม การเป็นเจ้าของร่วมกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน ลงมือร่วมกัน ร่วมกันแค่นั้นเอง แล้วก็บำรุงรักษาร่วมกัน เรื่องของเทคนิคที่เขายังไม่สามารถจัดการได้ด้วยตัวเองได้ อนาคต อยากจะพวกนี้ให้เป็นโอเพ่นซอร์ส บางพื้นที่แต่ละที่มีการปรับเป็นไปตามความต้องการของเขาก็จัดการทำกันเองครับ