หลายครั้งที่เราได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ากรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมรแห่งนี้เต็มไปด้วยศูนย์การค้า ที่ตั้งทุกหัวมุมของเมือง จนแทบไม่เหลือพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนได้เดินเล่นหรือพักผ่อนหย่อนใจในวันหยุด
อย่างไรก็ตามหากมองอีกมุมนอกเหนือจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ มีข้อมูลอีกชุดที่แสดงให้เห็นถึง ‘ศักยภาพ’ ของประเทศไทยกับแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มธุรกิจลักชูรี จากรายงานของ Bloomberg ปี 2568 ระบุว่า การขยายตัวของตลาดสินค้ากลุ่มนี้เติบโตขึ้น 124% ในปี 2567 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมเราจึงเห็นภาพการเปิดตัวของป็อปอัปสโตร์ของแบรนด์ระดับไฮเอนด์อยู่หลายเจ้า เรียงรายอยู่ตลอดเส้นทางถนนสุขุมวิท
และหากใครที่มีโอกาสเดินทางผ่านบริเวณหัวมุมสี่แยกบางนา จะพบเข้ากับกลุ่มเครนขนาดใหญ่หลายสิบคัน ตั้งตระหง่านเพื่อเร่งก่อสร้าง ‘ลูกคนใหม่’ ของกลุ่มเดอะมอลล์ (The Mall Group) ที่ถูกตั้งเป้าหมายให้เป็นแฟล็กชิปของเครือ และแบกรับภารกิจอันหนักอึ้งที่ทำให้ประเทศไทยกลับสู่กระดานการแข่งขันบนเวทีโลกอีกครั้ง ตามที่ ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหารกลุ่มเดอะมอลล์ตั้งเป้าไว้
วันนี้ The Momentum มีโอกาสเข้าพูดคุยกับคนทำห้างตัวจริงเสียงจริง เธอคนนี้เป็นหญิงแกร่งที่สวมหมวกหัวเรือของกลุ่มเดอะมอลล์ ผู้มองเห็นโอกาสและช่องว่างการแข่งขันในประเทศไทย เพื่อพูดคุยถึงอนาคตของธุรกิจรีเทลในภูมิภาค ตลอดจนเรื่องราวบางส่วนในชีวิตที่อยากส่งต่อเป็นภารกิจสุดท้าย
เหตุผลที่ทำให้คุณศุภลักษณ์ตัดสินใจก้าวเข้าสู่ธุรกิจศูนย์การค้า
จริงๆ ไม่ได้ตัดสินใจมาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ แต่เพราะคุณพ่อได้ที่ดินแถวราชประสงค์ ซึ่งเป็นทำเลสวย ท่านเลยอยากให้ลูกได้ลองค้าขาย เป็นผู้ประกอบการ เพราะพ่อไม่ชอบให้เราเป็นลูกจ้างใคร อยากให้มีกิจการของตัวเอง แต่เราไม่ได้เรียนมาทางนี้ จำได้ว่ากลับมาวันแรก พ่อบอกให้มาทําศูนย์การค้า เราถึงกับบอกพ่อเลยว่า “พ่อจะบ้าเหรอ” เราไม่ได้เรียนมาทางนี้จะไปรู้เรื่องได้อย่างไร แล้วพื้นที่ตรงนั้นก็มีคู่แข่งเยอะมาก
ด้วยความที่เราเป็น Daddy’s Daughter พ่อให้ทำอะไรก็ทำ เราใช้เวลาอยู่ 4-5 เดือน ตระเวนดูห้างต่างๆ จดทุกรายละเอียด ดูการวางสินค้า ดูการวางตำแหน่งเสา ดูทุกอย่าง จนยามถามว่ามาทำอะไรทุกวันเราก็บอกว่า มาทำทีสิส (Thesis) จากไม่รู้อะไรเลย เราได้เรียนรู้จากของจริง
หลังทำทีสิสห้างสรรพสินค้ามาหลายเดือน จุดไหนที่ทำให้รู้สึกว่า ห้างของเราจะต้องแตกต่างจากที่อื่น
ตอนนั้นเราก็ดูว่า แต่ละห้างเขาทํากันยังไง ทําไมจัดวางร้านแบบนี้ หรือทําไมห้างนั้นทำอย่างนั้น แต่เวลานั้นเราก็ยังไม่รู้เรื่องหลายอย่าง เช่น การวางบันไดเลื่อนหรือว่าห้างควรมีแผนกอะไรบ้าง
ช่วงแรกเป็นอะไรที่เหนื่อยมาก เพราะว่าเราเด็กมาก เวลาไปชวนซัพพลายเออร์เขาก็ไม่อยากคุยด้วย หรือบางทีขอถ่ายรูปเขายังไม่ยอมถ่ายด้วยเลย เพราะถ้าเขาถ่ายรูปอาจโดนไล่ออกจากห้าง
เราก็ได้แต่คิดว่าจะทำอย่างไรต่อดี สุดท้ายก็ใช้ความเป็นเด็กนี่แหละ ไปพูดกับเขาตรงๆ ว่า เราอยากทําการค้าด้วยพอจะเป็นไปได้ไหม ซึ่งต้องใช้พลังต่อสู้พอสมควร ประกอบกับตอนเด็กเราเป็นคนขี้อายมาก แต่ตอนนั้นรู้สึกว่า ถ้าไม่สู้ก็จะตายและเราไม่ได้เกิดแน่
จนในที่สุดได้ไปเจอกับสหพัฒนพิบูลและ ICC Group ที่เปิดโอกาสให้เราได้ทำการค้าด้วย และเขาก็ให้การสนับสนุนเรา โดยให้แบรนด์ใหญ่มาลงกับห้างเช่น ARROW หรือ Wacoal
แต่ตอนนั้นยังไม่มีแบรนด์เครื่องสำอางเลย เรารู้ว่ากว่าจะได้สินค้ามาขายมันยากมาก เราก็พยายามหาสินค้าแปลกๆ จากญี่ปุ่นหรือเยอรมนีมาขาย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสินค้าเด็ก เพราะว่าตอนนั้นเราเป็นเด็ก ปรากฏว่าขายดี เพราะมันแตกต่างจากที่อื่น ทว่าปีแรกไปได้ดี แต่ปีที่ 2 เริ่มยาก เพราะการแข่งขันในย่านนั้นรุนแรง เราเหมือนปลาเล็กที่พร้อมจะถูกปลาใหญ่กินตลอดเวลา
เมื่อเห็นว่าแข่งขันในย่านราชประสงค์ค่อนข้างสูง ตอนนั้นคุณทำอย่างไร
อย่างที่บอกว่า เราอยู่ตรงนั้นได้ประมาณสัก 2 ปี ทําอย่างไรก็ไม่มีทางสู้กับศูนย์การค้าใหญ่ได้ ทำให้เราคิดว่า ‘หนีตาย’ ดีกว่า อยู่ตรงนั้นแล้วก็คงไม่เวิร์ก จึงปักหมุดไปที่รามคำแหง
ตอนที่ไปสำรวจพื้นที่ก็พบว่า ย่านรามคำแหงมีหมู่บ้านเยอะและยังไม่ต้องแข่งกับใคร เราสามารถเป็นที่หนึ่งในย่านนั้นได้ เราเลยคิดว่าจะต้องทำศูนย์การค้าที่ ‘ครบวงจร’ เพราะตอนนั้นห้างส่วนใหญ่ยังไม่มีอะไรดึงดูด ซูเปอร์มาร์เก็ตก็เล็ก เราบอกพ่อว่า ต้องสร้างศูนย์ฯ ที่มีครบทั้งร้านค้า ร้านอาหาร โรงหนัง ลานไอซ์สเกต ให้คนมาแล้วรู้สึกมีความสุข ไม่ใช่มาแค่ซื้อของ
เราทำ The Mall 2, The Mall 3 และ The Mall 4 ต่อกัน แล้วก็พยายามกลับไปขอซัพพลายเออร์เดิมให้กลับมาร่วมด้วยอีกครั้ง เพราะครั้งก่อนที่ราชดำริเราพาเขาขาดทุน ครั้งนี้จึงขอโอกาสแก้ตัวเลยบอกเขาตรงๆ ว่า ขอแก้ตัวและสัญญาว่าจะไม่ทำให้เขาขาดทุนอีก เราจำไว้เสมอว่า ถ้าจะทำศูนย์การค้า ต้องคิดถึงร้านค้าก่อน ถ้าพาร้านค้าขาดทุน เราไม่ทำดีกว่า
ดูเหมือนว่าคุณศุภลักษณ์เป็นคนกล้าขอ กล้าลุย อยากรู้ว่าความกล้านั้นมาจากไหน
คุณพ่อเป็นคนผลักดัน เขาสอนอะไรเราเยอะมาก เขาเป็นคนกล้าได้กล้าเสียเต็มที่ แต่เราไม่ได้เป็นแบบนั้น ด้วยการที่เราเรียนเภสัช จึงมองเรื่องวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างต้องรอบคอบ เพราะถ้าจ่ายยาผิดหรือไม่ละเอียด อาจทำให้คนไข้ตายได้ เราจึงใช้เหตุผล ศึกษาความเป็นไปได้ และดูการแข่งขันว่าจะเป็นอย่างไรมากกว่า
แต่ความกล้าที่คุณพ่อสอน ทำให้เรารู้ว่าเราต้องสู้ไม่ถอยเหมือนเวลารักษาคนไข้ให้หาย ต้องทำให้เขาหายป่วยให้ได้ การทำธุรกิจก็เช่นกัน
อีกหนึ่งเหตุผลที่ปลุกความกล้าของเราคือ เราเป็นคนไทย เวลาเดินทางไปไหนมักโดนดูถูก ทั้งดูเด็กเกินไปหรือถูกมองว่าเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ จะไปสู้อะไรได้ บางคนมองว่า The Mall เป็นห้างชั้นสอง ความดูถูกเหล่านี้ผลักดันให้เราฮึดขึ้นมา มีความกล้าที่จะพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ยิ่งดูถูกมากเท่าไร เรายิ่งอยากลุกขึ้นสู้ให้เห็นว่าเราทำได้
อะไรคือความยากที่สุดของการพัฒนาศูนย์การค้า
จริงๆ เราเป็นคนชอบซื้อของ เวลาเห็นอะไรสวยๆ งามๆ ก็ชอบอยู่แล้ว นั่นคือมุมของผู้บริโภค แต่พออยู่ในบทบาทต้องพัฒนาศูนย์การค้า เราต้องศึกษาอย่างจริงจัง เดินทางไปต่างประเทศเพื่อดูว่า ประเทศอื่นเขาทำห้างสรรพสินค้าอย่างไร ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ก็ไปดูหมด แล้วก็สงสัยว่าทำไมห้างเหล่านี้ถึงเหมือนกันไปหมด ในหัวเรามีแต่คำว่า ‘ครบวงจร’ ถ้าจะทำศูนย์การค้าทั้งที ก็ต้องมีทุกอย่างให้คนมาแล้วรู้สึกว่าไม่ต้องไปไหนอีกแล้ว
เราเชื่อว่า ถ้าอยากเป็น Leader อย่าเป็น Follower หมายความว่า อย่าไปทำตาม เราต้องคิดเอง ทำเอง มองให้ออกว่าต้องทำอะไร และทำสิ่งที่แตกต่าง ถ้าทางตรงสู้ไม่ได้ ก็ต้องหาทางอ้อม และต้อง Think out off the box (กล้าคิดนอกกรอบ)
ในยุคที่กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยห้างในฐานะคนทำศูนย์การค้าคุณมองเห็นโอกาสตรงไหนอีก
คนถามเรื่องนี้กับเราเยอะมาก “Does Bangkok still need another shopping mall?” เพราะตอนนี้เรากําลังทํา Bangkok Mall อยู่ แต่พวกเขาไม่รู้ว่าเรากำลังจะทำอะไร สมัยตอนที่ทำสยามพารากอน (Siam Paragon) เรามองว่านั่นศูนย์การค้าที่ยอดเยี่ยมมาก และพื้นที่ตรงนั้นก็ยังมีสยามเซนเตอร์ (Siam Center) และสยามดิสคัฟเวอรี (Siam Discovery)
แต่วันนี้เราอยากทำบางสิ่งที่เป็น Legacy ของตัวเอง ทำสิ่งที่จะกลายเป็น ‘เรือธง’ ของกลุ่มเดอะมอลล์ ด้วยการสร้าง Bangkok Mall ศูนย์การค้าที่ไม่เหมือนที่ไหนในโลก และ ‘A Must-Come Destination’ แบบเดียวกับ Dubai Mall
เรามองว่า ถึงเวลาแล้วที่กรุงเทพฯ ควรมีศูนย์การค้าระดับโลกที่มีครบทุกอย่างและไม่มีที่ใดเทียบได้ เราอยากใช้โอกาสนี้ช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ทั้งที่ธุรกิจเล็กๆ โดยเฉพาะของคนรุ่นใหม่ คือจุดที่สามารถสร้างความแตกต่างได้จริง เราอยากให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสรวย พอเห็นใครค้าขายได้ดี มีรายได้ เรารู้สึกภูมิใจและมีความสุขมาก
เราไม่ได้ทำ Bangkok Mall เพื่อความร่ำรวย เพราะชีวิตเรามีพอแล้วทั้งชื่อเสียงและเงินทอง เราไม่มีลูก ไม่ได้ตื่นเต้นกับการขยายธุรกิจหรือผลกำไรมากที่สุดอีกต่อไป สิ่งที่เราทำวันนี้คือสร้างอะไรบางอย่างที่ช่วยเหลือคนอื่นได้ และเป็นความภาคภูมิใจของประเทศ
เราต้องการทําศูนย์การค้าให้เลิศที่สุดและเชื่อว่าทำได้
คุณศุภลักษณ์มองการแข่งขันในตลาดลักชูรีของภูมิภาคนี้อย่างไร
กรุงเทพฯ เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลกและ Siam Paragon เป็นศูนย์การค้าที่มียอดขายแซงคู่แข่งอย่างฮ่องกง เมื่อก่อนปารีสกับลอนดอนเป็นผู้นำในตลาดนี้ แต่ด้วยปัญหาภายในประเทศทำให้ปารีสตกเป็นรองลอนดอน อีกทั้งลอนดอนก็มีปัญหาเรื่อง Tax Refund
นี่จึงทำให้ไทยเกิดปรากฏการณ์ส้มหล่น แบรนด์ดังอย่าง Bulgari, Tiffany & Co., Dior หรือ Louis Vuitton หันมาจัดงานในไทยเยอะขึ้น เพราะเดินทางง่ายและค่าใช้จ่ายไม่สูง นอกจากนี้เรายังดึงคนรวยจากกัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เข้ามาได้อีกมาก แต่จะทำให้แข็งแรงกว่านี้ได้ ถ้าเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม
เราเชื่อว่า เมืองไทยเองก็มีศักยภาพไม่แพ้ใคร เรามีทรัพยากรธรรมชาติ มีวัฒนธรรมที่ดี และความเป็นมิตรของคนไทยที่ทำให้นักท่องเที่ยวอยากกลับมาอีก ถ้าเราขยายสนามบินของเราได้ช้ากว่าสิงคโปร์ โอกาสก็อาจหลุดมือไป เพราะถ้าสิงคโปร์กลายเป็นฮับ นักท่องเที่ยวจะย้ายไปและกรุงเทพฯ อาจตามไม่ทัน
ตอนนี้การส่งออกของไทยยังติดขัด หนี้เสีย (Non-performing Loan: NPL) เยอะ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างการท่องเที่ยวให้แข็งแรง คำถามคือ จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเดินทางมา คำตอบคือ เราต้องเป็น Hub of Aviation ดังนั้นภาครัฐกับเอกชนต้องทํางานให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น เพื่อวางแผนว่าจะทําอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นฮับ ความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนคือกุญแจสำคัญที่จะผลักดันประเทศไทยให้ไปถึงจุดนั้นได้
ในมุมมองของคุณ นักธุรกิจที่ดีเป็นอย่างไร
คุณสมบัติการเป็นนักธุรกิจที่ดีมันเยอะเหลือเกิน แต่สิ่งแรกเลยที่เรามองเห็น คือ
หนึ่ง ‘ความรัก’ คุณต้องรักในสิ่งที่ทำ รักงาน รักลูกน้อง รักเจ้านาย และรักทุกคน เพราะความรักคือจุดตั้งต้นของพลังบวกทั้งหมด
สอง ‘เสียสละ’ การเป็นผู้นําที่ดี คุณจะนั่งสบายๆ แล้วสั่งให้ลูกน้องทำและนั่งอยู่เป็นหอคอยงาช้างไม่ได้ ผู้นำที่ดีต้องเสียสละกับลูกน้องตลอดเวลา พูดให้เห็นภาพง่ายๆ คือถ้าทีมทำงานดึก เราก็ต้องทำงานดึกไปกับเขา
สาม ‘วิสัยทัศน์’ ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์มองไกล มองให้ขาด ไม่ใช่แค่เอาตัวรอดในวันนี้ แต่ต้องคิดต่อไปว่าอีก 5 ปี 10 ปี โลกเปลี่ยนเร็ว คุณจะเจออะไร ตัวอย่างง่ายๆ ใครจะคิดว่า โดนัล ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะออกนโยบายที่จำกัดเรื่องเพศในสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยกลับยืดหยุ่น มีความเท่าเทียม และเปิดกว้างมากขึ้น เรื่องนี้กลับกลายเป็นข้อได้เปรียบของเรา
สี่ ‘ทีมที่ดี’ ผู้นำไม่สามารถทํางานคนเดียวได้ เมื่อไรที่คุณรบคนเดียว คุณตายแน่ ดังนั้นต้องมีพันธมิตรที่ดีและสามารถทำงานร่วมกันได้ เพราะไม่มีผู้นำคนไหนที่สมบูรณ์แบบ เราจึงต้องเปิดรับความคิดเห็น ใช้การประชุมแบบมีส่วนร่วมในระดับที่เหมาะสม
ห้า ‘ความกล้า’ เรื่องนี้สำคัญมาก ต้องกล้าออกนอกกรอบ หากคุณไม่กล้าเลย เอาแต่อยู่แต่ในคอมฟอร์ตโซนเท่ากับว่าคุณกำลังถอยหลัง
หก ‘สัญชาตญาณนักสู้’ คือ ต้องมีใจนักสู้ ทำงานหนัก เมื่อต่อสู้แล้วต้องไม่มีคําว่ายอมแพ้ เราเชื่อในคำพูดง่ายๆ ว่า “Keep fighting and no surrender”
เจ็ด ‘ความมุ่งมั่น’ คือ ต้องทุ่มเท ตั้งใจ ถ้าคิดจะจับปลาหลายมือ โอกาสสำเร็จจะยิ่งน้อย นี่คือเหตุผลที่กลุ่มเดอะมอลล์ไม่ขยายศูนย์การค้าให้มากเกินไป เราเน้นคุณภาพ สร้างให้ใหญ่ และแข็งแรงพอจะยืนหยัดแข่งกับใครก็ได้ในตลาด
จากรางวัล Lifetime Achievement Award ที่งาน Retail Leaders Circle Global Forum 2568 ซึ่งเข้าใจว่าคุณเป็นผู้หญิงเอเชียเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ รู้สึกอย่างไรบ้าง
ตอนที่ไปรับรางวัล เราเป็นผู้หญิงเอเชียคนเดียวและเราก็รู้กันดีว่าในโลกธุรกิจระดับสากล โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง ผู้หญิงไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเท่าผู้ชาย ขณะที่เวทีนั้นเต็มไปด้วยการพูดเรื่อง AI เรื่องผลประกอบการ ตัวเลข กำไร ขาดทุน
แต่เราเลือกที่จะพูดในมุมที่ต่างไป ประโยคแรกที่พูดบนเวทีคือ “ทำไมเราไม่ลองพูดถึงวิธีการรักใครสักคน” ตอนนั้นคนเข้าร่วมงาน 3,000 กว่าคนตกใจกันหมด เพราะไม่คาดว่าจะได้ยินคำพูดแบบนั้นในวงการธุรกิจระดับโลก แล้วเราก็พูดต่อว่า “ทำไมเราไม่ลองพูดถึงความสงบหรือความรัก”
เราบอกเลยว่า “วันหนึ่งทุกคนจะต้องตายอยู่ดี แล้วในวาระสุดท้ายก่อนตาย คุณต้องการ AI จริงๆ หรือ คุณไม่ต้องการมันหรอก แต่คุณต้องการความสุข ได้อยู่ใกล้กับครอบครัวที่คุณรักในวาระสุดท้ายของชีวิต ทุกคนต้องการความสุขทั้งนั้น แล้วทำไมเราถึงไม่สร้างความสุขให้กับโลกใบนี้” เพียงเท่านั้นคนปรบมือกันหมด
สิ่งที่อยากสื่อคือ ถ้าทุกคนเอาแต่แข่งขัน แข่งกันเอาตัวรอด สุดท้ายก็จะเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว และถ้าผู้นำยังเห็นแก่ตัว โลกนี้ก็อยู่ไม่ได้ มันจะลุกเป็นไฟ
อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกกดดันว่าจะต้องประสบความสำเร็จเร็ว
เข้าใจนะว่าเด็กรุ่นใหม่หลายคนถูกคาดหวังว่าจะต้องสำเร็จเร็ว แต่เรื่องนี้ก็มีทั้งโชค ดวงชะตา โชคชะตา อย่างเราเองก็ได้ที่ดินมาด้วยโชคชะตา หลายคนบอกว่า แข่งอะไรก็แข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้ คือบางคนจะถูกลอตเตอรี่มันก็ถูก
เราก็คิดว่า ไม่มีอะไรที่ได้มาจากสวรรค์ ดังนั้นคุณก็ต้องทํางานหนัก นอกเหนือจากคุณสมบัติผู้นำที่กล่าวไปข้างต้น สิ่งสำคัญที่อยากบอกคือ ต้องปรับทัศนคติ (Attitude) ต้องคิดถึงคนอื่นก่อนตัวเอง
และต้องออกจากกรอบว่า ฉันจะทำของฉันคนเดียวหรือขออยู่ของฉันคนเดียว
เวลาทำธุรกิจอย่าฉาบฉวย ต้องรู้ในสิ่งที่ทำ กว่าคนคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จมากถึงจุดนี้มันยากลําบากขนาดไหน เป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้สึก ดังนั้นคนที่มีความพร้อมควรจะเข้ามาช่วยให้คนรุ่นใหม่เปลี่ยนทัศนคติของคนรุ่นใหม่ ให้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมบ้าง อย่าเห็นแก่ตัว เพราะความเห็นแก่ตัวคือภัยร้ายที่สุดของสังคม
จงอย่าเห็นแก่ตัวและต้องทําอะไรเพื่อประโยชน์ของสังคม ถ้าสังคมไม่รอด คุณก็ไม่รอด ต่อให้คุณรวยขนาดไหน ถ้าประเทศชาติที่เดินหน้าไปไม่ได้ เราอาจไม่สุขใจ เราต้องมีชีวิตที่เสียสละ และคิดถึงประโยชน์ส่วนรวม นี่คือบทเรียนที่เราอยากส่งต่อ
สุดท้าย ถ้ามีโอกาสฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ คุณอยากบอกอะไร
คุณต้องหาคำตอบให้ได้ว่า คุณชอบอะไร คุณต้องรู้ว่าคุณมีแพสชันด้านไหน เพราะถ้าไม่มี คุณก็จะทำแค่ลอง ไม่มีทางจะรักในสิ่งที่ทำได้จริง ดังนั้นต้องพยายามค้นหาคำตอบให้ได้
แต่ต้องยอมรับว่า การจะสร้างธุรกิจด้วยตัวเองให้สำเร็จมันยาก โดยเฉพาะในภาวะที่หาเงินทุนยากลำบาก ก็ต้องกลับมาคิดให้หนักว่าจะทําอะไร และเผื่อใจไว้ว่า การลงทุนครั้งนี้อาจจะไม่ประสบความสําเร็จ แต่หากมีใจรักก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป รู้จักจังหวะจะโคน และต้องคิดให้แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ เพราะคุณไม่สามารถทำตามใครได้
การทำธุรกิจในช่วงนี้อาจต้องอาศัยการร่วมมือกันมากขึ้น ต้องรู้จักหาทีมที่ช่วยลดความเสี่ยง เพราะถ้าเดินเกมหนักหรือเสี่ยงเกินไป ก็อาจไม่ปลอดภัยในสถานการณ์แบบนี้ ควรค่อยๆ เดินทีละก้าว เก็บสะสมทุนไปเรื่อยๆ จนมีมากพอที่จะต่อยอดได้อย่างมั่นคง พูดง่ายๆ คือ ต้องวางรากฐานให้แข็งแรงก่อนที่จะขยายอะไรต่อไป
Tags: ธุรกิจ, อสังหาริมทรัพย์, เดอะมอลล์, ห้างสรรพสินค้า, นักธุรกิจ, The Mall, ศูนย์การค้า, Bangkok Mall, รีเทล, ศุภลักษณ์ อัมพุช