“สำหรับผม เสื้อผ้าคือการแสดงออกความรู้สึกนึกคิดรูปแบบหนึ่ง” (To me, clothing is a form of self-expression)

มาร์ค จาค็อบส์ ดีไซเนอร์ชื่อดังระดับโลกเคยกล่าวไว้ คำกล่าวที่ใครต่อใครยากจะปฏิเสธว่า เสื้อผ้าที่เราสวมใส่นั้นบอกถึงตัวตน นิสัย ไปจนถึงความเชื่อของเราได้

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เสื้อผ้าอาจทำหน้าที่เช่นนั้น เป็นเครื่องห่อหุ้มร่างกาย เป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงความเป็นตัวตน แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เสื้อผ้าคือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สถิติบอกว่าสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์มากที่สุด ซึ่งกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของแบรนด์แฟชั่นมากกว่าที่เคย ดีไซเนอร์ต้องปรับตัวกันใหม่ ไม่ใช่แค่ ‘ดีไซน์’ เสื้อผ้าอีกต่อไป หากต้อง ‘ดีไซน์’ กระบวนการผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

โจทย์ใหญ่ไม่กี่ปีที่ว่านี้ เป็นโจทย์ที่ไม่ใหม่สำหรับ Shaka (ชากะ) แบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติไทย กลิ่นอายญี่ปุ่น ที่ใส่ใจตั้งแต่การคิดไปจนถึงกระบวนการผลิตมาตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่ ‘ปลา’ – ลลิษณัลล์ ขะมาลา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Shaka บอกว่าความยั่งยืนไม่ใช่กระแส หากคือหัวใจของสิ่งที่ Shaka เป็น

 

 

‘Shaka’ มาจากคำในภาษาญี่ปุ่น มีความหมายว่า พระพุทธเจ้า คุณปลาเริ่มต้น Shaka ขึ้นในปี 2543 หลังจากผ่านการคลุกคลีทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมเสื้อผ้า เป็นหนึ่งในสายพานการผลิตและพัฒนาสินค้ามายาวนานให้กับ YACCOMARICARD (ยัคโกะมาริคาร์ด) ที่ได้รับโจทย์ R&D โดยตรงจากทางญี่ปุ่น ทำให้เล็งเห็นทักษะฝีมือการตัดเย็บของคนไทยที่มีความประณีต ละเอียด มีเอกลักษณ์ ประกอบกับความต้องการของเธอเองที่ต้องการพัฒนาผ้าที่ทอและผลิตในไทยไปพร้อมๆ กับใส่ใจสิ่งแวดล้อม Shaka จึงเกิดขึ้นด้วยคำถามว่า

 “ในเมื่อคนไทยมีทักษะฝีมือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แล้วทำไมเราจะมีแบรนด์เสื้อผ้าที่เป็นสัญชาติไทยไม่ได้”

 

แบรนด์สัญชาติไทย กลิ่นอายญี่ปุ่น

 “เริ่มต้นจากการเป็นล่ามภาษาบริษัทแฟชั่นเสื้อผ้าญี่ปุ่น ทำให้ได้พูดคุยกับคนตัดเย็บ ดูสินค้า ดูแพตเทิร์น มันเลยทำให้เราสนุกกับงานไปเรื่อยๆ จนกลายมาตั้งโรงงานผลิตเล็กๆ ด้วยกัน”

คุณปลา ลลิษณัลล์เล่าย้อนหลังถึงจุดเริ่มต้นของ Shaka ว่าเธอเข้าสู่วงการอุตสาหกรรมเสื้อผ้าด้วยการเริ่มต้นทำงานกับหุ้นส่วนญี่ปุ่น มาริโกะ วาตานาเบ้ เจ้าของบริษัทแบรนด์เสื้อผ้าอย่าง YACCOMARICARD หลังทำงานในวงการเสื้อผ้าญี่ปุ่นร่วม 10 ปี จึงทำให้เห็นและเข้าใจวิธีการทำงานที่มีความ ‘เนี้ยบ’ ในทุกขั้นตอน ทั้งการดีไซน์ที่มีความประณีต การออกแบบ และงานการ์เมนต์ดาย (เสื้อผ้าย้อม) ที่โรงงานเลือกใช้ผ้าธรรมชาติเป็นหลัก เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ลินิน เรยอน ไปจนถึงกระบวนการหลังย้อมที่มีการบำบัดน้ำเสียเพื่อไม่ปล่อยน้ำไม่ดีทิ้งลงไป เป็นการรับผิดชอบต่อชุมชนและที่สาธารณะ

 “ค่าใช้จ่ายในการบำบัดน้ำเสียมีราคาสูงกว่าการย้อมผ้าเสียอีก แต่เราก็ตัดสินใจตั้งแต่สร้างโรงย้อมไปพร้อมๆ กับสร้างกระบวนการบำบัดน้ำเสียขึ้น เพื่อความสบายใจว่า น้ำเหล่านี้จะไม่ถูกปล่อยสู่ธรรมชาติ”

 

S-H-A-K-A  

ทุกตัวอักษรของชื่อนั้นมีความหมาย

S – smart & intelligence ความฉลาด มีไหวพริบทั้งการทำงานและการดำเนินชีวิต ที่ช่วยให้ปรับตัวท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงได้

– harmony ความสอดคล้องและกลมกลืนในแต่ละช่วงเวลา

A – attitude ความคิดด้านบวกที่พร้อมเผชิญทุกความท้าทายที่ผ่านเข้ามา

K – keep going ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร จะต้องหาทางออก และพัฒนาต่อไปไม่หยุด

A – action คิดแล้วลงมือทำ ไม่หยุดเพียงแค่ไอเดีย

ทุกความหมายของตัวอักษรบ่งบอกถึงความเป็น Shaka ได้เป็นอย่างดี ด้วยความที่แบรนด์ไม่ใช่ ‘Fast fashion’ ตามกระแส แต่ Shaka เป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่เน้นความร่วมสมัย ที่ไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ปีก็ยังสามารถหยิบจับชุดเก่งตัวเดิมออกมาสวมใส่ได้ใหม่อย่างมั่นใจ

 

 

นอกจากแนวคิดที่เป็นสปิริตของ Shaka แล้ว ความประณีตพิถีพิถันในทุกขั้นตอนก็เป็นเอกลักษณ์ของ Shaka ไม่แพ้กัน ตั้งแต่การออกแบบเสื้อผ้า เลือกลายผ้า ตัดเย็บ ก่อนผืนผ้าจะถูกนำมาตัดแต่งเป็นเสื้อผ้าชิ้นโปรดในตู้เสื้อผ้าของผู้สวมใส่

ความใส่ใจที่ถูกส่งต่อผ่านเนื้อผ้า

นอกจากคุณภาพของเสื้อผ้า คุณภาพชีวิตของคนทำงานก็เป็นสิ่งที่ Shaka ให้ความใส่ใจไม่น้อยไปกว่ากัน 

ด้วยความที่พนักงานในโรงงาน Shaka ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ในช่วงปีแรกที่ตั้งบริษัท คุณปลาพบว่ามีพนักงานหลายคนแต่งงาน ตั้งครรภ์ ลาไปคลอดลูก พอถึงเวลากลับมาทำงานก็ต้องส่งลูกหลานไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดู หรือจ้างพี่เลี้ยง ซึ่งทำให้พนักงานต้องรับผิดชอบทั้งค่าใช้จ่าย รวมถึงต้องจัดการชีวิตเรื่องในบ้านและหน้าที่การงาน

 

เมื่อมองเห็นปัญหาเหล่านี้ Shaka จึงมีนโยบายให้พนักงานสามารถฝากลูกไว้ที่ ‘เนอร์สเซอรี’ ในโรงงานได้ ช่วยให้พนักงานที่มีลูกเล็กสามารถมาให้นมลูกได้ มีเวลาใกล้ชิดกับลูกมากกว่าเคย นอกจากนั้น ภายในโรงงานยังมี ‘อาหารกลางวันสะอาด’ ราคาประหยัดเพียงมื้อละ 10 บาท มีบริการรถรับส่งที่ช่วยให้พนักงานลดภาระค่าใช้จ่าย มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ตามมาด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการทำงานที่นี่

การดูแลพนักงานที่ดีทำให้พนักงาน Shaka ส่วนใหญ่อยู่ด้วยกันมานาน จนสามารถถ่ายทอด Brand DNA ของ Shaka ผ่านกระบวนการทำงาน และคงไว้ซึ่ง 3 เทคนิคพิเศษของ Shaka ได้ ซึ่งเทคนิคที่ว่านั้นประกอบไปด้วย

1. Icon Truck

เทคนิคที่ต่อยอดมาจากงานฝีมือของพนักงานที่เชี่ยวชาญเรื่องการตีเกล็ด ผ่านการพัฒนาและออกแบบจนกลายเป็นเอกลักษณ์ใหม่ของแบรนด์ ที่เป็นการผสมผสานการเย็บเกล็ดชุดขนาดเล็ก-ใหญ่ และการเลือกชนิดผ้าที่ดูแลง่าย เมื่อนำไปซักก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการรีดเกล็ด

2. S-Curve

การออกแบบที่นำตัวอักษรแรกของแบรนด์ Shaka คือตัว S เพิ่มลงบนโครงเสื้อเพื่อเพิ่มเอกลักษณ์ และขับรูปร่างทรวดทรงของผู้สวมใส่ให้ชัดขึ้น เช่น การเพิ่ม S-Curve ตรงเอว การสอดแทรกไปในรูปร่างของกระดุมและขอบกระเป๋า ซึ่งเป็นการผลิตที่ยากกว่าการออกแบบเส้นตรงธรรมดา

3. Sustainability Material 

การนำวัสดุรีไซเคิลจากพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งเปลี่ยนมาเป็นส่วนประกอบบนเสื้อผ้า เช่น นำมาใช้เป็นกระดุม หรือหัวเข็มขัด ที่นอกจากจะเป็นการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าแล้ว ยังรับประกันได้ว่าดีไซน์ไม่ซ้ำใคร

 

“เพราะคำว่ายั่งยืนของ Shaka ไม่ได้หมายถึงการรีไซเคิลเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงทุกกระบวนการในการทำเสื้อ 1 ตัว”

 การเปลี่ยนแปลงทั้งกระแสสังคมและความเร่งด่วนของปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลกอาจทำให้ใครหลายคนมองว่านี่คือความท้าทาย เรียกร้องให้ต้องปรับตัว หากโจทย์ของ Shaka อาจไม่ใช่การเปลี่ยน แต่คือการรักษาหัวใจเรื่องความยั่งยืนไว้ หัวใจที่ใส่ใจทั้งผู้คนในการผลิต ผู้คนที่สวมใส่ และโลกใบนี้

 

 

“เป้าหมายต่อไปคือการนำผ้าไทยมาพัฒนาเข้าสู่วงการแฟชั่นมากขึ้น เช่น ผ้าไหมไทยที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์และสร้างได้หลากหลาย และตอนนี้ทุกคนกำลังประสบปัญหาเรื่องการหางาน เราก็อยากกระจายรายได้ให้ทุกคนด้วยการต่อยอดงานฝีมือของคนไทย”

คุณปลาทิ้งท้ายเรื่องเป้าหมายต่อไปของ Shaka หลังปีที่ 20 เรื่องการกระจายรายได้เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้คน

‘คุณภาพ’ สิ่งที่ Shaka ใส่ใจในทุกขั้นตอนมาโดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา 

Tags: ,