ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาร้าน ‘สะดวกซัก’ กลายเป็นธุรกิจใหม่ที่ผุดขึ้นรวดเร็วเป็นดอกเห็ด

อย่างไรก็ดี ถ้าจะให้ยกตัวอย่างร้านสะดวกซักที่ได้มาตรฐาน ‘อ๊อตเทริ วอชแอนด์ดราย’ (Otteri wash & dry) น่าจะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในใจใครหลายคน ด้วยภาพลักษณ์ดูสะอาดสะอ้าน สามารถให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ซักจบครบทุกขั้นตอน มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งคอย Wi-Fi ฟรี ปลอดภัยด้วยไฟส่องสว่างทั่วทุกมุม พร้อมติดกล้องวงจรปิด ราคาค่าบริการย่อมเยา (เริ่มต้นที่ 40 บาท) เปิดตลอด 24 ชั่วโมง และหมัดเด็ดถูกใจกลุ่มคนรุ่นใหม่กับการนำคาแรกเตอร์  ‘นาก’ สุดน่ารักมาใช้เป็นมาสคอตประจำแบรนด์ จนบางครั้งผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมาหน้าร้านต้องแอบนึกสงสัยว่า นี่เป็นคาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่นเปิดใหม่หรือเปล่า

หลังเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2016 ปัจจุบันอ๊อตเทริมีหน้าร้านให้บริการมากถึง 785 สาขา กอบโกยผลประกอบการแตะหลักพันล้านต่อปี และล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2022 กลุ่มบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ PTTOR ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นราว 40% (1,105 ล้านบาท) ผนึกกำลังให้นากตัวนี้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ปัจจัยหลักที่ทำให้อ๊อตเทริก้าวกระโดดเติบโตรวดเร็วเพียงระยะเวลาสั้นๆ คือการนำ Pain Point ของผู้ใช้งานที่เคยเจอจากร้านตู้ซักผ้าหยอดเหรียญธรรมดาทั่วไป อาทิ เครื่องชำรุด บรรยากาศชวนวังเวง สกปรก ไร้จุดจำหน่ายผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่ม ฯลฯ มายกเครื่องปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์เสียใหม่ 

เนื่องในโอกาสปีแห่งความสำเร็จของแบรนด์นากสะดวกซัก เราชวน คิม-กวิน นิทัศนจารุนุกุล ซีอีโอผู้ก่อตั้งแบรนด์อ๊อตเทริมาพูดคุยถึงเส้นทางก่อนหน้าที่ล้มลุกคลุกคลาน จนได้มาเจอกับโมเดลธุรกิจประเภทดังกล่าว แนวคิดร้านสะดวกซักที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและเป็นมิตรต่อสังคม เรื่องราวสุดแปลกภายในร้าน จนถึงคำถามที่หลายคนสงสัยว่า พวกเขามองเป้าหมายใหม่ถึงขั้นไหนเมื่อได้รวมเข้ากับ PTTOR

ล้มลุกคลุกคลานกับธุรกิจประเภท B2B จนกลายเป็นบทเรียนสำคัญของชีวิต 

“ถ้าให้เล่าทั้งหมดนี่ยาวมากเลยนะ” (หัวเราะ)

กวินเริ่มเปิดบทสนทนากับเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้มเป็นกันเอง เขามาในลุคสบายๆ แต่แฝงด้วยความเนี้ยบตามแบบฉบับผู้บริหาร

ประเด็นสำคัญแรกที่เราอยากรู้จากปากเขา คือแบรนด์และแฟรนไชส์อ๊อตเทริเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งซีอีโอหนุ่มรายนี้เปิดใจกับเราว่า หลังเรียนจบจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ราวปี 2010 ก็ได้เข้ามาสานต่อกิจการค้าอัญมณีของตระกูล ทว่าปีเดียวกันนี้กลับเผชิญเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองจนรายได้ซบเซา จึงหันไปเป็นเซลขายผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้า น้ำยาฟอกขาว น้ำยาปรับผ้านุ่ม ตามคำชี้แนะของภรรยา 

สาละวนอยู่ในธุรกิจประเภทผ้ามาสักระยะ กวินมองเห็นอีกหนึ่งช่องทางหารายได้ นั่นคือการเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าหยอดเหรียญจากประเทศจีน ส่งออกตามโรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล และโรงแรม ในรูปแบบโมเดลธุรกิจประเภท ‘B2B’ (Business to Business) ที่ ณ เวลานั้นยังไม่บูมในไทย ภายใต้นามจดทะเบียนบริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (K-nex Corporation)

“ผมทำหลายอย่างมาก ทำตั้งแต่โรงงานผลิตน้ำยา เอาจริงๆ อย่าเรียกว่าโรงงานผลิตเลย เรียกว่ากวนครีมขายดีกว่า (หัวเราะ) จากนั้นก็มานำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมซักอบรีดจากประเทศจีน ช่วงแรกก็ขายดีในระดับหนึ่ง แต่พอมาเจอกระแสอี-คอมเมิร์ซ (E-Commerce) ของอาลีบาบา (Alibaba) เข้ามา Disrupt กลายเป็นว่าคนจะหาซื้อเครื่องซักผ้าจากที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องพึ่งเรา ฝั่งซัพพลายเออร์เขาก็ยินดีที่จะขายสินค้าของเขาให้กับผู้ที่มีกำลังซื้อ เมื่อความไม่แน่นอนมากขึ้น เราเลยต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจาก B2B (Business to Business) ขายตามโรงพยาบาล โรงแรม มาเป็นประเภท B2C (Business to Customer) ขายให้กับร้านสะดวกซักและผู้บริโภคทั่วไป”

หลังปรับโมเดลมาเป็นแบบ B2C กำไรบริษัท เค-เน็กซ์ฯ ยังคงลุ่มๆ ดอนๆ กวินจึงเพิ่มช่องทางด้วยการเปิดโรงงานรับจ้างซักผ้าในจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกจ้างตามนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมมีโชว์รูมไว้ขายเครื่องซักผ้า ทว่าแผนงานดังกล่าวผิดไปจากที่คิด บรรดาลูกจ้างส่วนใหญ่ยังนิยมซักเสื้อผ้าด้วยมือ เคราะห์ซ้ำยังมาโดนวิกฤตโควิด-19 ล้มไม่เป็นท่า ต้องหยุดพักกิจการชั่วคราว

“เพราะเราเห็นว่าเทรนด์เรื่องของการซักผ้าในประเทศเริ่มเปลี่ยนไป ผู้คนต้องการสินค้าหรือบริการที่ทำให้การซักผ้าของเขาดีขึ้น ทำแล้วน่าจะดีเนอะ สุดท้ายมันเลยเจ๊ง บทเรียนนั้นทำให้เราคิดได้ว่าอาศัยแค่ความเชื่อมั่นอย่างเดียวมันไม่พอ สิ่งที่เราขาดหายไปคือการวางแผนงานการตลาดจริงจัง หรือทำมาร์เก็ตรีเสิร์ช กระทั่งมีโอกาสได้เรียนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ แล้วจึงเริ่มทำแฟรนไชส์อ๊อตเทริจริงจังจากตอนนั้น”

สู่แฟรนไชส์สะดวกซักมาตรฐานยืนหนึ่งในไทย

ท่ามกลางบทสนทนาที่กำลังออกรสออกชาติ ภายในอ๊อตเทริสาขาลาดพร้าว 101 เราสังเกตเห็นถึงลูกค้าที่เดินเข้าออกไม่ขาดสาย และด้วยสัญชาตญาณยอดนักขาย กวินเลยอดที่จะขออนุญาตเราเพื่อเดินไปเทกแคร์ลูกค้าเหล่านั้นไม่ได้ ทำให้ประเด็นถัดมาที่เราจะถามเขา คือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของอ๊อตเทริเป็นใครกันแน่

“ช่วงเวลานั้นธุรกิจแบบบริการตัวเอง (Self Service) เริ่มได้รับความนิยมในต่างประเทศ อย่างพวกตู้กดน้ำหยอดเหรียญ (Water Vending Machine) รวมไปถึงเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ที่ในประเทศแถบอาเซียนทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นิยมกันแพร่หลาย ผมเลยคิดว่าคนไทยไลฟ์สไตล์ก็ไม่ได้ต่างจากพวกเขา นั่นหมายความว่าเราสามารถนำโมเดลธุรกิจประเภทดังกล่าวมาใช้ได้เช่นกัน ขณะเดียวกันแบรนด์ร้านซักรีดในบ้านเราก็ยังมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นร้านที่เปิดเป็นธุรกิจครอบครัวแนวคุณป้าข้างบ้านเสียมากกว่า ที่เห็นโด่งดังและมีสาขาอยู่เยอะก็มีแค่ของซินไฉฮั้ว (Sin Chai Hua)

“ฉะนั้นรูปแบบโมเดลธุรกิจที่เรามองไว้จึงต่างจากร้านซักรีดดั้งเดิม เพราะเป็นแบบบริการตัวเอง เราไม่มีพนักงานคอยช่วย เมื่อคุณเข้ามาคุณต้องแลกเหรียญ เอาผงซักฟอก เอาน้ำยาปรับผ้านุ่มมาจากบ้าน เอาผ้าเข้าเครื่องซักด้วยตนเอง ย้ายผ้าจากเครื่องซักไปเครื่องอบด้วยตนเอง เราจึงเรียกตัวเองว่าเป็นร้านสะดวกซัก ขณะเดียวกันได้เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากลูกจ้างแรงงานเป็นนักศึกษา วัยรุ่น ผู้อยู่อาศัยตามคอนโดฯ และอะพาร์ตเมนต์ ที่ชอบทดลองอะไรใหม่ๆ โลเคชันสาขาแรกของอ๊อตเทริเลยปักธงแถวมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามด้วยตลาดนัดยงเจริญ ศรีนครินทร์”

เมื่อรู้ถึงกลุ่มเป้าหมาย โจทย์ต่อไปคือทำอย่างไรให้แบรนด์เป็นแฟรนไชส์ที่แตกต่าง เหนือกว่าร้านสะดวกซักทั่วไป กวินจึงเลือกที่จะนำ Pain Point ของผู้บริโภคมาแก้ไข เพื่อกลายมาเป็นข้อแตกต่างและจุดแข็งแก่อ๊อตเทริ 

“กลุ่มเป้าหมายของเราเป็นผู้ที่ชอบใช้เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญฝาบนเป็นทุนเดิม เราเลยมีหน้าที่ต้องพรีเซนต์ตัวเองว่า ต่างจากบริการแบบเดิมอย่างไรบ้าง อ๊อตเทริเลือกหยิบ Pain Point ของผู้บริโภคมาชูโรง ส่วนใหญ่ปัญหาของลูกค้าไม่ใช่แค่เรื่องการซัก ที่เขาแค่เทน้ำยาโยนเข้าเครื่องแล้วก็จบ แต่ยังรวมไปถึงขั้นตอนการตากที่ไม่เอื้อต่อที่พักอาศัยและเรื่องรีด ที่เราสามารถแก้ไขปัญหาด้วยเครื่องอบรีด เสื้อคุณแห้งสนิทไม่ต้องไปตากซ้ำ เสื้อยืดหรือเสื้อโปโลก็เรียบพับเก็บได้ทันที

“กล่าวรวมๆ คืออ๊อตเทริมี Functional Benefit อยู่ 3 ข้อ คือ 

1. ความสะดวกสบาย – คุณเข้ามาจะได้เจอกับความสะดวกสบาย มีที่จอดรถ มี Wi-Fi มีพัดลม และมีที่นั่งคอยผ้า 

2. ผ้าต้องสะอาดและแห้ง – ด้วยความที่เราคลุกคลีกับอุตสาหกรรมผลิตเครื่องซักผ้ามาก่อน เราจะรู้วิธีเซตเครื่องทันทีว่าจะต้องปรับระดับแค่ไหนผ้าถึงจะสะอาดที่สุด ขณะเดียวกันก็ประหยัดน้ำ ประหยัดพลังงานได้มากที่สุด 

3. Branding – ต้องสร้างประสบการณ์ที่ดี ซึ่งเป็นข้อที่ยากที่สุด เราต้องออกแบบให้ลูกค้ารู้สึกว่ากำลังได้รับการบริการทั้งที่ไม่มีคนบริการเขา ซ้ายขวาเป็นอย่างไร เดินมาตรงนี้แล้วทำอย่างไรต่อ จุดขายผงซักฟอกอยู่ตรงไหน จุดล้างมืออยู่ตรงไหน เพื่อไม่ให้เขาเดินงงวนไปวนมา

“ที่อยากนำเสนอคือสูตรซักผ้าที่เราศึกษาผ่านพฤติกรรมการซักผ้าของคนไทย คนมักจะคิดว่ายิ่งฟองเยอะยิ่งสะอาดเพราะเห็นจากโฆษณาในโทรทัศน์ ซึ่งความจริงไม่ใช่ การที่คุณล้างฟองหรือล้างเคมีออกไม่หมดนั่นแหละจะทำให้คุณคัน แต่ในเมื่อเราไม่มีเวลามานั่งอธิบายให้ลูกค้าฟังทุกราย สูตรจึงเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด เช่น น้ำเย็นสำหรับผ้าเปื้อนน้อย น้ำอุ่นสำหรับผ้าเปื้อนปานกลาง น้ำร้อนสำหรับผ้าเปื้อนมาก น้ำยาประเภทลิควิดเหมาะกับเครื่องซักของเรานะ ฯลฯ

“อีกเรื่องคือความปลอดภัย เราเป็นร้านที่เปิด 24 ชั่วโมง เปิดกว้าง ไม่มีประตูล็อก พูดตรงๆ ตอนกลางคืนโคตรน่ากลัวฉิบหาย (หัวเราะ) นอกจากความสะอาด สะดวก สบาย ความปลอดภัยก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย จะทำอย่างไรให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการรู้สึกปลอดภัย เราจึงออกแบบร้านให้ไม่มีมุมอับเพื่อที่โจรขโมยจะไม่สามารถแอบซ่อนตัว พร้อมกล้องวงจรปิดคอยจับภาพ เปิดไฟส่องสว่างให้ได้มากที่สุด”

เราตั้งคำถามต่อซีอีโอหนุ่มด้วยความสงสัย สมมติมีลูกค้าที่ป่วยเป็นโรคติดต่อแล้วนำผ้ามาซักที่ร้าน ผู้ที่มาใช้เครื่องซักต่อจะปลอดภัยจากโรคหรือเปล่า?

“กรณีที่มีลูกค้านำเสื้อผ้าของผู้ป่วยติดเชื้อมาซัก แล้วเกิดฉันมาใช้ต่อจะติดโรคไปด้วยไหม ก็ต้องอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ว่า พวกเชื้อโรคแบคทีเรียเมื่อเจอกับน้ำยาซักผ้าที่เป็นกรดเคมีปริมาณเข้มข้นหรืออุณภูมิความร้อนเหมาะสม จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ภายนอกพวกตัวเครื่อง ประตูที่จับ เรามีเจ้าหน้าที่เข้ามาทำความสะอาดทุกวัน ใครที่มาใช้บริการก็ขอให้สบายใจได้”

มาสคอตตัวนากสุดน่ารักขวัญใจมวลชน และเรื่องราวสุดป่วนชวนฮาจากลูกค้า

ถึงตรงนี้หากจะไม่เอ่ยถามถึงเรื่อง ‘นาก’ มาสคอตสุดน่ารักประจำแบรนด์ และขวัญใจบรรดาลูกค้าคงจะเป็นเรื่องผิด 

“เรื่องนี้สนุก มันเริ่มจากตอนแรกที่เราจดทะเบียนตั้งชื่อแบรนด์ว่าอ๊อตเทริ  บางคนอาจจะออกเสียงเพี้ยนเป็นโอเตริ โอทานิ โอเทอริ แต่ด้วยความที่อ่านออกเสียงยากและยังไม่มีใครเคยใช้ในไทย ข้อดีเลยเกิด เวลาทำออนไลน์มาร์เกตติ้ง ทำเสิร์ชเอนจิ้น ชื่อจะติดขึ้นมาเป็นหน้าแรกง่าย ต่อมาคือการนำคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนนากมาใช้ ข้อดีคือมันไม่เก่า ไม่แก่ เหมือนเราดูโดราเอมอนที่ผ่านไปกี่ปีก็เหมือนเดิม ภาพลักษณ์ของแบรนด์เลยมีความสดใส ดูเป็นวัยรุ่น

“และการที่เราเลือกคาแรกเตอร์ตัวนากมาใช้ เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่เขามีความชื่นชอบสัตว์ตัวเล็กน่ารัก ทีนี้ถ้าสังเกตผู้หญิงหลายครอบครัวส่วนใหญ่จะมีสิทธิตัดสินใจในเรื่องของการซักผ้า เขาก็บังคับให้แฟน ให้สามีมาซักกับเรา (หัวเราะ) 

“ตัวผมเองเป็นวัยรุ่นที่เติบโตมากับการดูการ์ตูนญี่ปุ่น ดูอนิเมะญี่ปุ่น เราก็มีมุมมองต่อประเทศญี่ปุ่นว่าเขามีความเรียบง่าย สะอาด และมีระเบียบ เช่นเดียวกับเมื่อพูดถึงแบรนด์ที่มาจากญี่ปุ่น เราก็จะมองไปในเวย์นั้น เราออกแบบให้ร้านมีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น”

จาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 3 กระทั่งขยับขยายเป็น 785 สาขา และจะมีมากกว่าเดิม เมื่อมีผู้ติดต่อเข้ามาขอซื้อแฟรนไชส์อ๊อตเทริเดือนละไม่ต่ำกว่า 500 ราย แน่นอนว่ายิ่งมากคนก็ยิ่งมากความ เรื่องราวสารพันชวนฮาจากลูกค้าเลยถูกหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังพอสังเขป

“ด้วยความที่แบรนด์เราขยายกิจการในลักษณะแฟรนไชส์ แต่ละสาขาก็จะมีซูเปอร์ไวเซอร์ (Supervisor) คอยให้บริการลูกค้า เราก็จะมีหน้าที่ซัพพอร์ตซูเปอร์ไวเซอร์อีกที ทว่าเมื่อก่อนก็จะเจอเรื่องแปลกๆ บ่อยพอสมควร เช่น ลูกค้าโทรติดต่อมาโดยตรงให้ช่วยซ่อมเครื่อง พอถามอยู่ที่ไหนเขาบอกอยู่ขอนแก่น เราก็ได้แต่เกาหัวพี่จะไปช่วยเธอยังไงดี (หัวเราะ) สุดท้ายก็ต้องส่งเรื่องให้ซูเปอร์ไวเซอร์ที่ให้บริการในพื้นที่

“ล่าสุดก็จะมีแจ้งเข้ามาว่าเจอเตารีดในเครื่องซักผ้า ผมเดาว่าเขาคงรีบรวบมาทั้งผ้าปูที่นอน มีดหมอก็เคยเจอครับ ไม่ใช่มีดหมอผ่าตัดแต่เป็นมีดหมอผีด้ามปลอกเล็กๆ โหดสุดก็เป็นเจอปลอกกระสุนปืนในสาขาสามจังหวัดชายแดนใต้ พวกที่เอารองเท้ามาซักนี่แทบเบสิก”

แนวคิดที่เป็นมิตรต่อ ‘สังคม’ ด้วยการจับมือกับมูลนิธิกระจกเงา

วิสัยทัศน์ของแบรนด์อ๊อตเทริ คือการสร้างสรรค์สังคมที่มีสุขภาพดีโดยเริ่มจากการใส่เสื้อผ้าที่สะอาด (Creating Healthy Lifestyle Community) ดังนั้นนอกจากการเข้าถึงบริการในราคาย่อมเยาต่ำสุด 40 บาท (ต่อน้ำหนักเสื้อ 9 กิโลกรัม) และแพงที่สุด 100 บาท (ต่อน้ำหนักเสื้อ 28 กิโลกรัม) ที่วางเอาไว้ตั้งแต่เริ่ม เป้าหมายยังรวมไปถึงการทำโครงการ CSR (Corporate Social Resposibility) ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ด้วยการนำรถเคลื่อนที่ติดตั้งเครื่องซักผ้า อบผ้า และห้องอาบน้ำ ขับตระเวนช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านในประเทศไทย เนื่องในวันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ ทุกวันที่ 8 มิถุนายน กลายเป็นไวรัลส่งต่อกันบนโลกโซเชียลมีเดีย 

“ตอนช่วงโควิดระบาด ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เขาอยากจะให้เราบริจาคเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้า เพื่อเอาไปใช้ในบ้านที่รับดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่เป็นคนเร่ร่อน เราก็โอเค ถ้างั้นขอไปดูหน่อยว่าเป็นอย่างไร ก็ได้เห็นผู้ป่วยจิตเภทที่ พม. รับมากับตาตัวเอง เห็นว่าเขารับมาเพราะครอบครัวไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ บางรายยากจนก็ต้องออกมาเดินจร หลังจากนั้นเลยเกิดความรู้สึกที่ว่าเราช่วยได้แค่นี้เองหรอวะ เราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ เลยตัดสินใจโทรติดต่อไปยังมูลนิธิกระจกเงา เพราะเราเชื่อว่าเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในปัญหาคนไร้บ้าน

“เรียกว่าปัญหาคนไร้บ้านในสังคมไทยมีหลายมิติ มีคนไร้บ้านที่เต็มใจเป็นคนไร้บ้านจริงๆ กับกลุ่มคนไร้บ้านที่ต้องมาเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจ ทีนี้เราและมูลนิธิกระจกเงาสังเกตเห็นปัญหาหนึ่ง คือคนไร้บ้านเขาไม่มีที่อาบน้ำและไม่มีที่ซักเสื้อผ้า ที่ที่เขาไปอาบได้มักเป็นคลองหรือรีบอาบตามปั๊มน้ำมันด้วยสายชำระ คนภายนอกแม้แต่ตัวผมเองอาจจะนึกปัญหานี้ไม่ออกเพราะเราอาบน้ำทุกวันจนชิน”

ถึงกระนั้น กวินเล่าว่ากว่าที่โครงการจะเป็นรูปเป็นร่างก็ต้องผ่านการลองผิดลองถูกเช่นกัน หลังแผนแรกเลือกที่จะเปิดให้บริการฟรี ตามอ๊อตเทริสาขาบริเวณที่มีคนไร้บ้านอยู่เป็นจำนวนมาก ก่อนจะปรับเปลี่ยนกลายมาเป็นรถเคลื่อนที่ดังที่เห็น

“เราเริ่มต้นโครงการจากอ๊อตเทริสาขาหัวลำโพง เพราะที่บริเวณนั้นมีกลุ่มคนไร้บ้านเยอะ ทว่าก็ต้องล้มพับไป เพราะมีคนไร้บ้านจำนวนมากที่เขาติดโควิดมาขอใช้บริการ เรากับทีมมูลนิธิฯ ลงความเห็นตรงกันว่า ความปลอดภัยของทีมควรมาก่อน เลยต้องวางแผนกันใหม่และฉุกคิดได้ว่า ทำไมเราไม่ออกไปหาคนไร้บ้านเองเสียล่ะ ง่ายกว่าที่จะให้เขาเสียเวลาเดินทางมาเอง ก็เลยทำรถเคลื่อนที่ที่มีเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า และห้องอาบน้ำ

“ตอนนี้เรามีรถซักผ้าเคลื่อนที่ประจำจุดอยู่ตรงบริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ในชื่อของ ‘ชูมณี’ (Chumanee) หน่วยงานของเราที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลเรื่องกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยเฉพาะ รถของชูมณีจะให้บริการเป็นประจำทุกวันอังคารและวันศุกร์ เวลาตั้งแต่ 09.00-17.00 น. ก็จะมีกลุ่มคนไร้บ้านทยอยมาใช้บริการเป็นประจำ นอกจากนั้นเราอยู่ในระหว่างการคุยกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้ช่วยหาโลเคชันที่เหมาะสม แก่การสร้างห้องน้ำและที่ซักผ้าสาธารณะถาวร รวมถึงนำคนจากโครงการจ้างวานข้ามารับจ้างซักผ้าตามจุดต่าง”

ไม่เปลี่ยนไป แม้ได้ PTTOR เข้ามาถือหุ้นสนับสนุน

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดของแบรนด์อ๊อตเทริ เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2565 เมื่อ PTTOR หรือบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เดินหน้ายื่นซื้อหุ้นแบรนด์อ๊อตเทริในวงเงิน 1,105 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนหุ้น 40% อย่างไรก็ตาม ดีลมูลค่ามหาศาลนี้ยังมีเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่คาดไว้ ว่าเหตุใดซีอีโออย่างกวินจึงกล้าตัดสินใจขายแบรนด์ที่ตัวเองสร้างมากับมือเกือบครึ่งต่อครึ่ง และในอนาคตภาพลักษณ์หรือวิสัยทัศน์ของแบรนด์จะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด

“(หยุดคิดครู่หนึ่ง) เรามอง OR เท่ากับโอกาส ผมพูดเหมือนกับสโลแกนเขาเลยอ่ะ (หัวเราะ) แรกเริ่มเราตั้งเป้าว่าอ๊อตเทริจะเติบโตจนมีมูลค่าเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ และการที่มีบริษัทเจ้าใหญ่ยื่นมือมาซัพพอร์ต จะยิ่งช่วยให้เราเข้าสู่ตลาดได้เร็วยิ่งขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นใครก็ได้ที่มีเงิน แต่ต้องเป็นคนที่มองวิสัยทัศน์ มองพันธกิจเหมือนกันกับเรา และที่เราสัมผัสได้จาก OR คือเขาพร้อมให้โอกาสกับคนที่รอคอยโอกาสนั้นๆ เช่นเดียวกันกับเราที่ต้องการมอบโอกาสสุขภาพดีหรือเรื่องของการซักผ้าให้กับคนไร้บ้าน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ดีลนี้เกิดขึ้น

“ไม่ใช่แค่ OR ผมมักบอกเสมอต่อผู้ที่ติดต่อเข้ามาซื้อแฟรนไชส์ถึงพันธกิจของเรา ที่ต้องการสร้างสรรค์สังคมในเชิงบวก ไม่ใช่แค่หวังในเรื่องของผลกำไร ถ้าคุณโอเคเข้าใจและเห็นชอบแบบเดียวกันค่อยมาซื้อ

“ส่วนที่ใครมองว่าเราขายหุ้นให้กับ OR จะทำให้เราสูญเสียตัวตนไปไหม ผมตอบได้เลยว่าไม่มีทาง ที่ OR เข้าร่วมกับอ๊อตเทริเพราะเขาชอบในความเป็นเรา ไม่ใช่เข้ามาเพราะอยากเปลี่ยนเราเป็นแบบอื่น สิ่งที่เขามาคือเสริมความแข็งแรงในมุมที่เรายังทำได้ไม่ดีพอ เช่น การขยับขยายสาขา ในอนาคตเราก็จะเห็นร้านอ๊อตเทริตามปั๊ม ปตท. เพิ่มมากขึ้น

“ผมตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรกว่า อ๊อตเทริหลังจากเป็นร้านสะดวกซักที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย อ๊อตเทริจะต้องเป็นร้านสะดวกซักที่ใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมว่าเป็นเรื่องปกติที่แบรนด์ไหนๆ ก็ตั้งเป้ากัน แต่อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญควบคู่ คือการผลักดันให้เรื่องของการซักผ้าเป็นโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เข้าถึงได้ในราคาถูก เหมือนการเข้าถึงน้ำสะอาด เข้าถึงไฟฟ้า เข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต”  

ก่อนจะจากกันกวินได้สอนเราใช้แอปพลิเคชันของอ๊อตเทริ ที่บริการอยู่ทั้งในแอปสโตร์ (App Store) และกูเกิ้ลเพลย์ (Google Play) ซึ่งสามารถช่วยเหลือได้ตั้งแต่สาขาที่อยู่ใกล้ตัวผู้ใช้งาน วอลเล็ตเก็บคะแนนสะสม จ่ายเงินออนไลน์ผ่านแอปฯ จนถึงคู่มือบอกสูตรการซัก ครบเครื่องเหมาะแก่การเป็นร้านสะดวกซักอันดับหนึ่งในประเทศ การันตีผ่านยอดตัวเลขมูลค่าแบรนด์ที่สูงถึง 2,700 ล้านบาท และเรามีสิทธิที่จะได้เห็นร้านนากสะดวกซักนี้เติบโตแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิมทุกๆ ไตรมาส

Fact Box

  • นอกจากรับช่วงต่อกิจการค้าขายอัญมนณีของครอบครัว และเป็นเซลล์ขายผลิตภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาดเสื้อผ้า กวิน นิทัศนจารุนุกุล ยังเคยประกอบอาชีพเป็นไกด์และล่ามภาษาสเปน ตามงานอีเวนต์สำคัญ เช่น เวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส ปี 2005 (Miss universe 2005) และงานการค้าระหว่างประเทศ
  • นอกจากโครงการรถซักผ้าเคลื่อนที่ อ๊อตเทริและมูลนิธิกระจกเงายังเคยจัดตั้งโครงการที่มีชื่อว่า ‘ซักเพื่อให้’ (Wash & Share) โดยเปิดให้ประชาชนนำเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม มาบริจาคตามอ๊อตเทริจำนวน 218 สาขา เพื่อส่งมอบต่อให้กับกลุ่มคนไรบ้านใช้งาน
  • โมเดลธุรกิจแบบ B2B (Business to Business) คือการทำการค้าระหว่างบริษัทกับบริษัทด้วยกัน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนถึงขนส่ง และอีกหนึ่งรูปแบบคือบริษัทคนกลางที่รับจัดหาสินค้าจากผู้ผลิต เพื่อส่งมอบโปรดักต์ให้กับบริษัทและหน่วยงานนั้นๆ 
  • โมเดลธุรกิจแบบ B2C (Business to Customer) คือการทำการค้าระหว่างผู้ค้ากับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่ได้เข้าถึงกลุ่มคนทุกประเภท
Tags: , , , , ,