การเกิดขึ้นของเมตาเวิร์ส (Metaverse) สั่นสะเทือนโลก ในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน เมตาเวิร์สกลายเป็น ‘คำเท่ๆ’ เช่นเดียวกับ บิ๊กดาต้า (Big Data) หรือ บล็อกเชน (Blockchain) ที่ทุกธุรกิจใหม่ ทุกสตาร์ทอัพทั่วโลก ล้วนมุ่งหน้าไปหา และหวังจะฉกฉวยโอกาสจากเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนไป

หนึ่งในหน่วยงานไทยที่ปรับตัววิ่งเข้าหา ‘เทรนด์’ เหล่านี้ คือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA  ซึ่งมีเป้าหมายในการปลุกปั้นเหล่า ‘นวัตกร’ และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในประเทศไทยทั้ง ‘รุ่นใหม่’ และ ‘รุ่นใหญ่’ มุ่งหน้าสู่การเป็น ‘ชาตินวัตกรรม’ เพื่อท้าทายตัวเอง และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไม่ให้ถูกกระแสโลกกลืน และกลายเป็นประเทศที่ถูกลืม

จับเข่าคุยกับ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อมองทิศทางลม ว่าด้วยการสร้างชาติไทยให้เป็นชาติแห่งนวัตกรรม ด้วยเป้าหมายการเป็น Top 30 ของประเทศที่มีดัชนีชี้วัดทางนวัตกรรมชั้นนำของโลก ว่าไทยต้องทำอย่างไรเพื่อไปให้ถึง และมีเรื่องอะไรบ้างที่คนไทยควรรู้และต้องรู้ เพื่อให้คนไทยพร้อมสำหรับการเป็นชาติผู้นำด้านนวัตกรรมอย่างแท้จริง

ที่มาของแคมเปญ ‘นวัตกรรมประเทศไทย (Innovation Thailand) เป็นอย่างไร

จุดเริ่มต้นของแคมเปญนี้มีความท้าทายอยู่ข้อหนึ่งในเชิงระบบ ก็คือการที่คนส่วนใหญ่มองคำว่า ‘นวัตกรรม’ ไม่เหมือนกัน บางคนมองไปยังเรื่องของสิ่งประดิษฐ์ที่มีเทคโนโลยีใหม่เป็นส่วนประกอบ หรือบางคนอาจจะมองในเรื่องของโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่ใช้รุกตลาด พอเราพูดถึงเรื่องของนวัตกรรมในประเทศไทย เราจึงยังไม่ได้พูดถึง ‘นวัตกรรม’ ในความหมายเดียวกัน ดังนั้นบางอย่างที่เกิดขึ้นจึงยังไม่ใช้นวัตกรรมที่แท้จริง

เวลานึกถึงนวัตกรรมในประเทศไทยเรามักจะนึกถึงเรื่องอะไร? คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเรื่องข้าว ซึ่งจริงๆ แล้วนั้น ‘ข้าว’ คือปัญหาของประเทศเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้าวน้ำท่วม ข้าวราคาตก หรือว่าชาวนาข้าวยากจน และพยายามที่จะทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น เพราะฉะนั้นมันยังไม่มีอะไรที่ไปยึดโยงกับคำว่าประเทศไทยกับนวัตกรรมเหมือนกับหลายๆ ประเทศ 

ยกตัวอย่างเช่น หากพูดถึงประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรมในระดับโลกอย่างเยอรมัน เราก็มักจะนึกถึง ‘วิศวกรรมยานยนต์’ สหรัฐอเมริกาเราก็จะนึกถึง ‘แผ่นดินที่มีโอกาสของการเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอด’ หรือเกาหลีใต้เราก็จะนึกถึง ‘เคป็อป’ แต่ละประเทศเขามีภาพนวัตกรรมของตัวเองอยู่ ดังนั้นเราจึงอยากจะให้สิ่งที่กล่าวไปนั้นเกิดขึ้นกับประเทศไทย เมื่อใดที่พูดถึงก็อยากให้มีสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ทางนวัตกรรมเอาไว้ให้ยึดโยงนึกถึงเสียบ้าง นี่คือจุดกำเนิดของแคมเปญนวัตกรรมประเทศไทย

แล้วคำว่า ‘นวัตกรรม’ ในมุมมองของ NIA คืออะไรกันแน่?

ในกระแสทั่วไป อาจารย์จากมหาวิทยาลัยจะไปนำนิยามของนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัย MIT (Massachusetts Institute of Technology) มา ซึ่งก็คือ Technologies + Commercialization หรือก็คือ ‘สิ่งประดิษฐ์ที่ขายได้’ แต่ของเรามันมากกว่านั้นบางทีนวัตกรรมมันไม่เกี่ยวอะไรกับสิ่งประดิษฐ์ หรือว่า R&D (Research and Develop) เลย เพราะฉะนั้น สำหรับ NIA ความหมายของคำว่านวัตกรรมที่อยาากจะสื่อสารออกไปคือ ‘การทำให้สิ่งที่มีอยู่เดิมนั้นเกิดคุณค่าใหม่ และทำให้สิ่งที่จับต้องไม่ได้มีคุณค่าขึ้นมา’ และสิ่งนั้นถูกแพร่กระจายในเชิง ‘การใช้งาน’ เพื่อให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้น

เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเทคโนโลยี มันสามารถที่จะเป็น ‘ศิลปะ’ ก็ได้ หรือเป็นเพียง ‘วิธีการ’ ก็ได้ แต่ว่ามันจะต้องมีคนใช้ และคำว่าคนใช้ไม่ได้หมายความว่าต้องซื้อเพียงอย่างเดียว รับไปใช้ก็ได้

ปัญหาของการสื่อสารนิยามที่แท้จริงของนวัตกรรมคืออะไร?

เป็นปัญหามาตลอดสำหรับเรื่องนี้ เพราะคนในกระแสหลักก็ยังคงคิดว่านวัตกรรมต้อง ‘ไฮเทค’ ต้องเป็นสินค้าที่เป็นชิ้นๆ และจับต้องได้ เพราะนั่นคือสิ่งที่ใกล้ตัวเขามากที่สุด ดังนั้นสิ่งที่ต้องขาดคือ ‘Use Case ของเมืองไทย’ หรือนวัตกรรมที่คนไทยทำหน้าตาเป็นอย่างไร มันไม่จำเป็นที่จะต้องเหมือนกับนวัตกรรมที่มีเทคโนโลยีระดับสูง หรือมีบริษัทยักษ์ใหญ่คอยสนับสนุนอยู่ เพราะเรายังคงติดกับภาพที่สื่อกระแสหลักนำเสนอ ซึ่งนั่นไม่ได้มีอะไรผิด เพราะมันคือสิ่งที่สื่อเห็นภาพ

แต่สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ ก็คือ การที่จะเริ่มสื่อสารเรื่องดังกล่าวนั้น ควรจะเริ่มจากกลุ่มที่เป็นผู้ทำนวัตกรรมก่อน เราจึงพยายามทำให้คนที่เขาเป็นผู้สร้างนั้นรู้ว่าหน้าตาของนวัตกรรมนั้นเปลี่ยนอย่างไร และในขณะเดียวกันฝั่งของผู้ใช้เรามีความที่จะพัฒนาสื่อ เพราะฉะนั้นแคปเปญ Innovation Thailand มีกลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องการสร้างความเข้าใจก็คือคนที่เป็นเจ้าของกิจการ หรือว่าบริษัทที่มีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง และในขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของนวัตกรรมก็ต้องสื่อสารไปยังสาธารณะว่าให้เป็นเรื่องที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ว่านวัตกรรมไม่ใช่เรื่องของผู้ที่อยู่ในแล็บหรือว่าเรื่องของสิ่งไฮเทคอย่างเดียวแล้ว

2-3 ปีที่ผ่านมา NIA พยายามสื่อสารออกไปว่าบริษัทของไทยและแบรนด์นวัตกรรมของไทยนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่เราสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง และก็เห็นได้ว่ามีกระแสของการให้ข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมออกมาอยู่มากพอสมควร ทำให้ภาพจำของผู้คนเริ่มที่จะเปลี่ยนไป เพราะเขาไม่ได้มองว่านวัตกรรมเป็นเรื่องของสิ่งไฮเทคอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว

สิ่งใดที่คิดว่าเป็นจุดเด่นหรืออัตลักษณ์ของนวัตกรรมประเทศไทย

เป็นสิ่งที่เราคิดอยู่นาน และตกลงกันภายในว่าเราต้องทำอย่างไรดี เพราะอย่างไรก็ตาม ต้องมีบางอย่างเอาไว้เป็นหลักยึด คนส่วนใหญ่ก็มักจะมองว่า การเกษตร และการท่องเที่ยวคือจุดแข็งของเรา ซึ่งมันก็ไม่เชิงเสียทีเดียว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นการแก้ปัญหาซะส่วนใหญ่ แต่ถ้าพูดถึงจุดร่วมที่คนต่างประเทศและในประเทศรู้สึกร่วมกัน โดยการมองข้ามเรื่องการท่องเที่ยวไปคิดว่ามันคือ ‘นวัตกรรมที่ทำให้เรามีชีวิตแบบไม่แข็งเกินไปและไม่หย่อนเกินไป’ หรือ Innovation for Crafted living 

เพราะสำหรับชาวต่างชาติที่ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมของคนไทย อย่างไรเขาก็ต้องอยากกลับมาอีก ไม่ใช่แค่เรื่องของอาหารอร่อยหรือว่าธรรมชาติที่สวยงาม แต่สิ่งที่กลับมาเพราะเขามีความสุข (Happiness) ที่มาจากความสบายใจ คนไทยก็ด้วย ไม่อย่างนั้นคนไทยคงจะเปลี่ยนวิถีชีวิตไปแล้ว สิ่งที่เราเคยบอกกันว่าไม่ดี บางทีมันอาจจะเป็นอัตลักษณ์ของเราก็ได้ 

ดังนั้นคำว่า Innovation for Crafted living มีมิติสำคัญอยู่ 6-7 มิติ แล้วก็ดึงบริษัทหรือองค์กรที่ทำเกี่ยวกับนวัตกรรมในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความมั่นคงปลอดภัย ความสุขสมบูรณ์ (Wellness) หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับศิลปะเข้ามา มันต้องทำให้คนในประเทศและต่างประเทศจดจำอัตลักษณ์นวัตกรรมที่เราใช้ชีวิตแบบคราฟต์ให้ได้

จะทำให้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าใจนวัตกรรม Innovation for Crafted living ได้อย่างไร?

2 ปีก่อนเราได้แบ่งกลุ่ม ดังที่ได้ถามมาซึ่งก็คือคนในประเทศและคนต่างประเทศ โดยที่ตัวเนื้อหาที่สื่อสารก็แตกต่างกันออกไป โจทย์ใหญ่ของเมืองไทยก็คือเรายังไม่มี Use Case จากบริษัทไทย หรือภาคธุรกิจที่ทำนวัตกรรมเกี่ยวกับสาขาที่เราตั้งขึ้นมา ดังนั้นเราพยายามจะสื่อสารไปคือการทำให้คนไทยเห็นว่า แบรนด์หรือบริษัทแต่ละบริษัทในไทยทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้อย่างไร ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่สเกลในระดับโลก แต่ว่าสิ่งเหล่านี้คืออัตลักษณ์ของคนไทยไปแล้ว

ส่วนในฝั่งของต่างประเทศ พวกเขาจะสามารถจดจำอัตลักษณ์ของนวัตกรรมไทยในรูปแบบของ ‘วิถีชีวิต’ และการเข้ามาสัมผัสประสบการณ์โดยตรง เพราะฉะนั้น ณ จุดนี้จึงมาเชื่อมกับคนไทยด้วยว่า เราต้องการที่จะให้คนต่างประเทศจดจำแบรนด์ของประเทศไทย โดยการให้เขาจดจำว่าการบริการหรือสินค้าจากประเทศเรานั้นทำให้เขารู้สึกว่ามันมีคุณค่าต่อชีวิตเขา

ต่อมา เราพบว่าการที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดเป็นพลวัต เพื่อให้ทุกอย่างมันเคลื่อนที่ไปทั้งเครือข่าย โฟกัสของเราในช่วงโควิดจึงไปอยู่ที่ฝั่งผู้ประกอบการ รวมทั้งหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับด้านนวัตกรรมในประเทศ เริ่มที่จะทำงานเกี่ยวกับทางด้านเครือข่าย

การสื่อสารก็จะพูดถึง 2 ส่วน หนึ่งก็คือบริษัทนั้นมีนวัตกรรมอย่างไร เราก็จะเริ่มทำ Case Study ออกไปเยอะๆ และพยายามที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย อีกส่วนหนึ่งเราพยายามที่จะเจาะกลุ่มประชาชนเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. เยาวชน 2. คนชรา และ 3. LGBTQA+ สิ่งที่น่าสนใจก็คือกลุ่มที่ 3 นั้นเป็นกลุ่มที่นำเทรนด์ (Innovator) ส่วนสองกลุ่มแรกนั้นเป็นกลุ่มช่วงวัยที่จะเข้ามาเป็นทั้ง ‘นวัตกร’ และคนที่จะเข้ามาใช้นวัตกรรมได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเราจะมุ่งเน้นไปยังสังคมสองกลุ่มได้แค่ ฝั่งภาคบริษัท และฝั่งสังคมทั่วไป ให้เห็นภาพว่านวัตกรรมไม่ใช่เรื่องไกลตัว และเห็นว่าเมืองไทยมีนวัตกรรมเป็นอย่างไร

ส่วนต่างประเทศ เราทำงานร่วมกับหน่วยงานอย่างเช่น สถานทูตไทย และองค์กรที่จะเป็นองค์กรนวัตกรรมอย่างกับเราในประเทศต่างๆ อย่าง สิงคโปร์ เกาหลี ยุโรป หรือแม้กระทั่งคาซัคสถาน ที่เป็นเป็นเอเชียกลาง รวมทั้งที่ฮ่องกงกับจีน รวมทั้งยังมีความพยายามที่จะพูดถึงโครงการ Innovation Thailand ให้พวกเขารับรู้ โดย Use Case ล่าสุดที่กำลังได้รับความสนใจจากฝั่งนานาชาติ คือเรื่องวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมธนาคารไทย 

แต่ในส่วนของบุคคลหรือบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมอยู่แล้ว เราจะทำการดึงเข้ามาในเครรือข่ายเลย

ผลงานหรือตัวอย่างที่น่าสนใจที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA มีอะไรบ้าง

ผมขอยกตัวอย่างตอนที่เราทำ Start up Thailand League ซึ่งคือการเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ สามารถที่จะมาเรียนรู้ได้ว่าผู้ประกอบการคืออะไร และเขาสามารถเป็นผู้ประกอบการได้โดยการช่วยเหลือของเรา

ซึ่งก็มีอยู่เคสหนึ่งที่ชื่อว่า Camp Fire ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเกม โดยแรกเริ่มนั้นก็ได้เข้าร่วมโครงการโดยหวังที่จะเข้ามาพิชชิง (Pitching) ขอเงินทุนเพียงอย่างเดียว โดยภายหลังเขาก็ได้ตั้งบริษัทขึ้นมาจริงๆ ตอนแรกไม่ได้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อในการทำธุรกิจเยอะ แต่เราก็ได้เข้าไปช่วยในการให้เงินทุนหรือการหาสถานที่สำหรับการทำออฟฟิศของบริษัท 

หลังจากที่ให้การสนับสนุนไปสัก 2-3 ปี บริษัทก็เริ่มมีรายได้ และได้หันเหจากการทำเกมไปยังการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) จากไม่มีต้นทุนมาก่อน พวกเขาได้กลายเป็นเจ้าของธุรกิจหลัก 10 ล้าน และกำลังทำธุรกิจเกี่ยวกับด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและเมตาเวิร์ส ซึ่งอาจจะมีมูลค่าสูงมากกว่านี้ในอนาคต โดย Camp Fire เป็นบริษัทที่มาจากเชียงราย ก็เป็นหนึ่งในเคสของการสร้างผู้ประกอบการนอกเหนือจากจังหวัดกรุงเทพฯ ของเรา 

อีกกลุ่มคือบริษัทที่ทำเกี่ยวกับด้านโลจิสติกส์ โดยบริษัทนี้มีต้นทุนทางด้าน ‘คลังสินค้า’ เป็นของตัวเอง และได้เข้ามาพัฒนานวัตกรรมและโมเดลธุรกิจ เพื่อที่จะรับทุนจากเราไป จนในปัจจุบันได้อยู่ในจุดที่กลายเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพทางด้านการจัดการคลังสินค้า ปัจจุบันเพิ่งได้เงินลงทุนในหลัก 100 ล้าน และพึ่งได้เปิดตัวกับบริษัท JWD ไป จะเห็นได้ว่าาเด็กรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมเป็นอย่างมาก 

อีกส่วนหนึ่งก็คือการทำงานร่วมกับบริษัทใหญ่อย่างเช่น Thai Union ที่เราไปทำงานร่วมกัน ก็ให้ความสำคัญในการสร้างนวัตกรรมร่วมกับเรา ถึงขั้นเข้าโปรแกรม Accelerator ในเรื่องของอาหาร โดยการดึงสตาร์ทอัพจากต่างประเทศเข้ามา และได้ประกาศว่าเขาจะเปลี่ยนแปลงให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองแห่ง Food Tech หรือเป็นซิลิคอนแวลลีย์เมืองไทย และได้ร่วมจับมือกับบริษัทใหญ่อีกหลายๆ บริษัท ไม่ว่าจะเป็นซีพีหรือเอไอเอส ที่ทำเรื่อง Robotic AI อยู่

สิ่งที่ผมเล่ามา มันไม่ใช่เรื่องของการสร้างเทคโนโลยีที่ไฮเทคล้ำสมัยจากในแล็บ แต่เป็นเรื่องของการพัฒนาความเป็นอยู่และไลฟ์สไตล์ ซึ่งทุกอย่างมันต่อกันติดกันหมดเลย มันก็จะตรงกับคำว่า Innovation For Crafted Living ยิ่งเรานำเสนอเคสได้เยอะเท่าไหร่ เราก็ยิ่งที่จะเชื่อมต่อภาพให้ได้ใหญ่มากขึ้นเท่านั้น 

คุณมีความเห็นอย่างไรกับเมตาเวิร์ส มีความเป็นไปได้ที่จะนำเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันไหม และเมตาเวิร์สจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Innovation Thailand หรือเปล่า?

สองประเด็นนะครับ หนึ่งคือเมตาเวิร์สจะกลายเป็นคำที่คนพูดถึงกันตลอดเวลาเหมือน Big Data หรือ AI คำนี้จะถูกพูดกันจนกลายเป็นแฟชั่น ก็คงจะได้ยินไปซ้ำๆ ไปอีกนาน ในส่วนของประเด็นที่สองคือ แล้วตอนนี้ประเทศไทย ‘มีของ’ ที่จะทำให้เราเกาะไปกับกระแสได้หรือเปล่า

คำตอบคือมันมี แต่จะทำให้ส่งผลกระทบสูงขึ้นมาได้อย่างไร ทางเราประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมาได้มีน้องๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลและ Immersive Technology อยู่กลุ่มหนึ่ง ตอนนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่เราเรียกมาคุยว่าจะร่วมมือกันอย่างไรเพื่อให้เกิด Ecosystem ของกลุ่มที่ทำเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกันได้อย่างไร

ผมยกตัวอย่างนะครับ อุตสาหกรรมการผลิตเมื่อก่อนเรามีคำว่า Maker Space แม้ว่าตอนนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงเป็นอุตสาหกรรมหลัก แต่ว่าเมตาเวิร์สก็ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้วิศวกรรม กลุ่มนี้ทำให้มันเกิดโลกเมตาเวิร์ส ในสาขาการผลิตได้อีกด้วย นี่เป็นการเปลี่ยนสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Physical Asset) ให้กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล และสร้างโลกเมตาเวิร์ส เพราะว่าโลกของเรากำลังหมุนมาในทางนี้

กลายเป็นว่าเมตาเวิร์สจะช่วยเร่งทำให้เราเกิดเน็ตเวิร์คที่เข็มแข็ง เพื่อที่จะตามหากลุ่มคนที่สามารถทำนวัติกรรมได้เร็วขึ้น มันกลายเป็น Accelerator หรือตัวเร่งในโลกความจริงเสมือน หรือความจริงในอีกหนึ่งรูปแบบหนึ่ง ที่คนสามารถเข้าไปปฏิสัมพันธ์กันได้ ถ้าถามว่าเราพร้อมไหม กลุ่มเด็กพวกนี้ทำได้ เราก็อยากจะให้เขาสร้าง Innovation Thailand Metaverse ขึ้นมา โดยตอนนี้ก็มีกลุ่มบริษัทเอกชนที่ทำการขายที่ดินในเมตาเวิร์สไปแล้ว ซึ่งก็เป็นกลุ่มที่ทำงานร่วมกับเราเช่นกัน

เมตาเวิร์สจะเป็นตัวเร่งให้ประเทศไทยไปถึงเป้าหมายในการเป็นประเทศนวัตกรรมได้อย่างไร

เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจมากใน 3 มุม

มุมแรกก็คือ มันเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนที่เบี้ยน้อยไหน้อยทั้งหลายสามารถเจอคนได้เยอะขึ้นกว่าเดิม สามารถที่จะสร้างโอกาสได้ทุกที่ไม่จำเป็นต้องใช้แค่โลกจริงเสมอไป และมันยังสร้างโอกาสในการทำธุรกธรรมเพิ่มขึ้นในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นจากเมตาเวิร์สมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงนั้นทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Decentralization ของระบบ ที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาตัวกลางอย่างเดียว ลองจินตนาการดูว่าคนอยู่ต่างจังหวัด ไม่เคยได้รับโอกาสในการทำธุรกิจเท่ากับคนในกรุงเทพฯ แต่ถ้าคุณอยู่ในเมตาเวิร์ส ทุกอย่างจะขึ้นอยู่ว่าคุณสามารถที่จะโลดแล่นในโลกแห่งนั้นได้ดีแค่ไหน การกระจายโอกาสในการเกิดนวัตกรรมก็มากขึ้นด้วย

มุมที่สองก็คือ ทุกวันนี้ผู้ที่ทำสตาร์ทอัพหรือนวัตกรรมต่างๆ และนักลงทุนจะได้เจอกันมากขึ้นบนเมตาเวิร์ส เพราะปัญหาทุกวันนี้ไม่ใช่ว่านักลงทุนไม่มีเงิน มีคนมาถามผมตลอดว่ามีสตาร์ทอัพตัวใดน่าให้ทุนไหม ปัญหามันคือคนสองกลุ่มนี้ยังเจอกันไม่มากเท่าที่ควรต่างหาก เพราะฉะนั้นมันเป็นการเร่งการลงทุนทางด้านนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน 

และสุดท้าย การเกิดคุณค่าใหม่ๆ อย่างเช่น สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ขึ้นนั้น มันนำไปสู่การพัฒนาโลกอีกอีกใบหนึ่งไปเลย เพราะต้องอย่าลืมว่าเมตาเวิร์สเป็นตัวที่บอกอยู่แล้วว่ามูลค่าและสินทรัพย์ทั้งหลายมันมีมากกว่าโลกความเป็นจริงอย่างมหาศาล มันคือการเปลี่ยนโครงสร้างในการทำนวัตกรรมทั้งวงจร

แต่อันดับของนวัตกรรมก็จะไปสะท้อนทางด้านความเข้มแข็งของบริษัท ซึ่งตอนนี้เมืองไทยความเข้มแข็งของบริษัทขนาดใหญ่ถูกจัดให้อยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว แต่เรื่องของการลงทุน ระดมทุน หรือการพัฒนา Digital Content ประเทศไทยก็ยังคงตามหลังอยู่แม้กระทั่งเวียดนาม ซึ่งเมตาเวิร์สก็จะช่วยในการอุดรอยรั่วของการทำ Digital Transformation ของเมืองไทย ซึ่งเป็น 2 ส่วนจาก 7 ส่วนในการวัดค่าดัชนีความเข้มแข็งของนวัตกรรม

เราสามารถคาดหวังการเกิดขึ้นของเมตาเวิร์สในประเทศไทยได้ในเร็ววันหรือเปล่า?

มันมีอยู่แล้ว ผู้คนจะกระโจนเข้ามาโลดแล่นในเมตาเวิร์สอยู่สองมุม

มุมแรกนั้นจะเรียกว่าเมตาเวิร์สหรือเปล่าผมไม่แน่ใจ ก็คือการนำโลกในอดีตเข้ามาเป็นโลกเสมือนหรือโลก Immersive ไม่ว่าเชียงใหม่หรืออยุธยาในอดีตจะเป็นอย่างไร ก็สามารถสัมผัสได้เพียงแค่ใส่แว่น VR สิ่งนี้มันคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนเข้าใกล้โลกอดีตมากขึ้น แต่นั่นคือการกำหนดวัฒนธรรม และวิถีชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง หรือว่าคุณกำลังอพยพไปสร้างวิถีชีวิตและวัฒนธรรมใหม่ในโลกความจริงเสมือนนั้น โจทย์มันก็จะไม่เหมือนกัน โจทย์แรกคือการสร้างโลกเสมือนให้ผู้คนไปมีประสบการณ์ร่วมและเรียนรู้ แต่ถ้าเราสามารถทำได้อย่างหนังเรื่อง Ready Player One ซึ่งผมมองว่ามันอีกไม่ไกล มันจะกลายเป็นว่าคุณจะใช้โลกความจริงเสมือนใบนั้นทำมาหากินแล้ว 

แต่ในภาคเอกชนไทย ผมคิดว่าจะสร้างโจทย์ในข้อสองออกมาเร็วมากแน่ๆ โดยเฉพาะการสร้างอสังหาริมทรัพย์ในความจริงเสมือน หรือการสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยการใช้เทคโนโลยี NFT เป็นตัวนำร่อง ทำให้คนที่ไม่เคยสนใจเรื่องศิลปะต้องหันมาให้ความสำคัญต่อเรื่อง Art Tech หรือ Music and Art มากขึ้น ซึ่งก็ย้อนกลับมาสู่ Crafted Living อยู่ดี

‘นวัตกรรม’ กับ ‘ความเป็นไทย’ จะสามารถไปด้วยกันได้ไหม หรือเราต้องทิ้งบางอย่างไป 

ผมคิดว่าสิ่งที่ได้ตอบไปมันเคลียร์มากนะ อย่างแรกคือคุณต้องการเอาที่มันหยุดนิ่งในประวัติศาสตร์ใส่เข้าไปในโลกเสมือน มันคือการเรียนรู้ แต่ถ้ามันเป็นวัฒนธรรมที่กำหนดวิถีชีวิตไลฟ์สไตล์ใหม่ บนฐานวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มันไม่ต้องอนุรักษ์ เพียงแต่มันต้องตีความใหม่ ยกตัวอย่างเช่น เพลง-หนังอีสาน หรือเพลงภาคเหนือ ภาพเหล่านี้มันคือการตีความของวัฒนธรรมดั้งเดิม แต่ว่าใส่คอนเทนต์ใหม่เข้าไป เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นเคยทำมาในอดีต 

ซึ่งเขาทำให้ อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต อยู่เหนือกาลเวลา (Transcend) เขาไม่ได้ทำให้วัฒนธรรมมันเป็นสิ่งที่เขอะเขิน แต่ของเรามันดันทำให้วัฒนธรรมในอดีตกลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผมมองว่ามันไม่ถูกต้อง ผมมองว่าเราต้องลดการมองวัฒนธรรมเป็นความศักดิ์สิทธิ์ และกลายเป็นความซาบซึ้งภาคภูมิใจเพื่อที่จะได้สร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาตามยุคสมัยของผู้คนแทน

ระบบนิเวศของการสร้าง Innovation For Crafted  Living จะมาช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างไรบ้าง

ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ เศรษฐกิจของประเทศไทยก็จะถูกคนมองว่ามีการเติบโตช้า และไม่มีโอกาสในการเติบโตใหม่เลย สิ่งที่เขาประกาศกันว่าเรามี ‘ยูนิคอร์น’ แล้ว ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นการลงทุนในบริษัทใหญ่ เพราะในประเทศไทยมักจะเป็นการลงทุนในบริษัทที่โตแล้ว ไม่ใช่บริษัทรุ่นใหม่ที่มีความเสี่ยงสูง  เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ทำให้มันเกิด Segment ใหม่ขึ้นมาในระบบเลย เมืองไทยก็จะเป็นแบบนี้แหละ เพราะว่ามีผู้เล่นแค่ไม่กี่ราย

แต่ก็เพราะผู้เล่นรายใหญ่ไม่กี่รายเหล่านี้เขาเริ่มทำนวัตกรรมเยอะขึ้น เพราะมีทั้งความเข้าใจและประสบการณ์ตรงจากการสร้างนวัตกรรม เพราะฉะนั้นก็ต้องมองด้วยความเป็นธรรมว่าบริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้นั้นอยู่รอด และช่วยประคองไม่ให้เศรษฐกิจของไทยตกต่ำไปกว่านี้ได้ เป็นเพราะว่าเขาทำวิจัยพัฒนาเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ 

แต่ในขณะเดียวกัน โอกาสของบริษัทที่เป็นสตาร์ทอัพหรือ SME ในภูมิภาคก็ต้องทำให้เกิดขึ้น โดยการไปทำงานร่วมมือกับบริษัทใหญ่ๆ ในไทย เพราะต่างประเทศคงไม่เข้ามาช่วยเราหรอก นี่คือการสร้างสิ่งที่เรียกว่า Innovation Thailand Alliance พันธมิตรนวัตกรรมไทย ที่ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัย หรือสตาร์ทอัพ ต้องสร้างสองสิ่งคือ ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความต่อเนื่องในการทำงานร่วมกัน

การสร้างพันธมิตรก็เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ประเทศไทยไปสู่ฝันได้ แต่ถามว่าจะเสร็จภายในปีสองปีนี้ไหม ก็คงต้องตอบว่าไม่ใช่มันต้องทำไปเรื่อยๆ 

ปัญหาเรื่อง การรู้ดิจิทัล (Digital Literacy) ที่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในสังคมไทย เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสังคมที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมมากน้อยแค่ไหน และจะก้าวข้ามปัญหานี้ไปได้อย่างไร

สังคมนวัตกรรมกับการรู้ดิจิทัลมันก็ต้องไปคู่กันในระดับหนึ่ง

ทางด้านของการรู้ดิจิทัล ผมคิดว่าสังคมไทยมีระดับของความรู้ทางด้านดิจิทัลที่สูงในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาของคนไทยคือการไม่ยอมรับกับข้อมูลบางชุดของผู้อื่น จนไม่ยอมที่จะจับมือร่วมทำงานไปด้วยกัน เมืองไทยต้องเรียนรู้ในการที่จะทำงานร่วมกับคนที่มีความคิดที่แตกต่างจากตัวเอง ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะจำทำให้การรู้ดิจิทัลของเรามีวุฒิภาวะขึ้นมา

ส่วนในเรื่องของสังคมนวัตกรรม คิดว่าการที่คนไทยได้รับข่าวสารและปรับตัวอยู่ตลอดในทุกวันของ SMEs ที่อยู่ในต่างจังหวัด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หากมีการดูตาม Use Case จะเห็นได้ว่าการที่ธุรกิจเหล่านี้มีการปรับตัวและอยู่รอดนั้นมีจำนวนเยอะขึ้น จากที่ได้กล่าวไปนวัตกรรมจึงไม่ใช่เรื่องของการ R&D เพื่อหาของไฮเทค แต่เป็นเรื่องของการโมเดลที่จะทำให้สินค้าและบริการของคุณสามารถอยู่รอดได้ในภาวะที่แตกต่างกันได้อย่างไร 

ประเทศไทยควรจะสร้างสรรค์นวัตกรรมในด้านไหนและเรื่องใด

มันก็เป็นที่มาที่ไปว่าทำไมเราถึงใช้คำว่า Innovation For Crafted Living เพราะนวัตกรรมที่เราให้ความสำคัญในปัจจุบันล้วนเป็นส่วนแยกย่อยของ Crafted Living ไม่ว่าจะเป็น

ด้านโมเดลธุรกิจ (Business Model) ซึ่งสำคัญมากเทียบได้กับกระดุมเม็ดแรกเลย เราจะมีนวัตกรรมในการทำธุรกิจอย่างไรบ้าง ในวันที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาเต็มไปหมดเลยทั้งเมตาเวิร์สหรือว่า AI มันทำให้โมเดลธุรกิจเดิมใช้ไม่ได้

โมเดลทางด้านสังคม ที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง ทำแต่นวัตกรรมแล้วคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์มันก็ไม่เกิดผลดีในภาพรวม อย่างเมื่อวันก่อน ผมได้อ่านข่าวที่บอกว่าหากประเทศไทยมีคนรวยเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1% อัตราความเหลื่อมล้ำภายในประเทศจะพุ่งสูงขึ้นเยอะมากทันที

โมเดลของการให้บริการทางสาธารณะ เพราะในที่สุดแล้วรัฐไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ให้บริการทางด้านสาธารณะอย่างเดียว อาจจะเป็นทางฝั่งของเอกชนก็ได้ ประชาชนก็ได้ หากเราต้องการบริการสาธารณะที่ดี จะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำลดลงได้ อีกทั้งในปัจจุบันคนเข้ามาอยู่ในตัวเมืองเยอะขึ้น

Aestetic Innovation เพราะนวัตกรรมเป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์ ไม่ใช่เรื่องของศาสตร์เพียงอย่างเดียว อีกทั้งสังคมไทยยังเป็นสังคมที่มีความติสท์ อยู่พอสมควร

นวัตกรรมทางด้านฐานข้อมูล เนื่องจากข้อมูลนั้นจะกลายเป็นโจทย์ให้เราสามารถต่อยอดการสร้างนวัตกรรมที่แก้ปัญหาอย่างเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อน หรือปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำก็ตาม เพราะข้อมูลมันไม่ได้มาแก้ปัญหาให้กับภาคธุรกิจเพียงแค่อย่างเดียว ปัญหาฝุ่นควันน้ำท่วมเราใช้ข้อมูลจัดการได้หมด 

และสุดท้ายคือเรื่องของ ‘นวัตกรรมความคิด’ (Paradigm) เพราะคิดแบบเดิมเราก็จะได้อะไรแบบเดิม แต่การคิดแบบใหม่คือการมุ่งไปข้างหน้า ถึงแม้ว่าจะต้องพบเจอกับความเสี่ยงแต่นั่นคือความสวยงามของความไม่แน่นอนในโลกนวัตกรรม

NIA มีแผนใดบ้างที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่เส้นทางของการเป็น Innovation Nation 

เป้าหมายตายตัวคือการเป็น Top 30 ของประเทศที่มีดัชนีชี้วัดทางนวัตกรรม ทีนี้ก็ต้องตามมาด้วย ‘วิธีการ’ และ ‘พันธมิตร’ จึงเป็นสาเหตุที่เราได้ก่อตั้ง Innovation Thailand Alliance ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันในการร่วมทำหน้าที่ของตนเอง ตำแหน่งของผู้ที่เป็น Chief Innovation Officer ตอนนี้มีเยอะมากตามองค์กรที่เกิดขึ้น เราก็ต้องดึงคนเหล่านี้เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อสร้าง Innovation Dashboard ซึ่งทั้งไทยและต่างประเทศเอาไปใช้ได้ นี่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกคนรับรู้ว่าประเทศไทยมีความเป็นนวัตกรรมอย่างไร 

และการตอกย้ำอัตลักษณ์ทางนวัตกรรมอย่าง Innovation For Crafted Living นั้น เราจำเป็นที่จะต้องสื่อสารเรื่องนี้ออกไปให้ได้มากที่สุด เพื่อให้คนลบภาพจำจากที่ต้องเชื่อว่านวัตกรรมคือเรื่องกาารทำวิจัยเท่านั้น แต่สื่อสารไปให้คนรู้ว่าทุกวันนี้มันมีเคสแบบนี้อยู่รู้กันหรือเปล่า? บางคนยังไม่ทราบเลยว่าคนไทยสามารถทำได้มากขนาดไหน นี่จึงเป็นสิ่งที่เราต้องปรับปรุงเพราะว่าเรายังคงสื่อสารไม่มากพออยากจะแนะนำทักษะใดให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้ไว้เพื่อใช้ในการเป็นนักนวัตกร และเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตข้างหน้า

ทักษะที่อยากจะแนะนำมีเพียงแค่ 2 ข้อ

หนึ่งคือทักษะในการตั้งคำถามที่เฉียบคมที่เป็นทักษะที่จำเป็นของการเป็นนักนวัตกรตั้งแต่ต้น การฝึกตั้งคำถามโดยเริ่มจากคำว่า ‘ทำไม’ จะทำให้เรามีแรงในการพัฒนาตัวเอง มีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งใหม่ในโลก

สองคือทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพราะว่านวัตกรรมนั้นไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว ถ้าคุณจะบอกว่าคุณจะเป็นผู้สร้างที่เก่งที่สุดมันก็ไม่ใช่ เพราะแม้แต่คนอย่างสตีฟ จอบส์ กว่าเขาจะมาถึงวันนี้ได้ เขาถูกผลักดันจากคนนับร้อยมาแล้ว การทำงานร่วมกันและการให้เกียรติซึ่งกันและกันจึงสำคัญมาก

มองเห็นอะไรในตัวคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสู่วงการนวัตกรรมบ้าง

ที่เราทำกับเด็กมาเป็นหมื่นคน เราพบว่าเด็กทุกคนมีแพสชันหลายส่วน อีกทั้งยังหัวไวเรียนรู้เร็ว และก็กล้าที่จะเสี่ยง ดังนั้นตัวสมการเหล่านี้เราจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างแพลตฟอร์มสำหรับเด็กๆ และคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ เราจึงสร้าง STEAM4Innovator  ซึ่งก็คือ STEM (Science – Technology – Engineer – Mathmetics) + A (Art) เพราะผมไม่คิดว่าเราต้องทำเฉพาะ STEM อย่างเดียว เราต้องมีความเป็นทัศนศิลป์อยู่ในนั้นด้วย

และสร้างเครือข่ายเพื่อสังเกตเห็นความพัฒนาการของเด็กที่เข้ามา บางคนเข้ามาร่วมโครงการกับเราตั้งแต่เป็นเยาวชนนวัตกร ทุกวันนี้ก็ได้ตั้งบริษัทและทำงานเกี่ยวกับด้าน AI ไปเรียบร้อยแล้ว เราจึงคิดว่าเครือข่ายเหล่านี้จะเป็นตัวเร่งความสามารถของเด็กรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างนี้ อาจไม่ใช่ทุกคน แต่เป็นสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน เพราะเด็กรุ่นใหม่มีความมั่นใจที่จะคว้าโอกาสเอาไว้เสมอ 

Tags: , , , , ,