มันเป็นปีที่ฮ่องกงคืนกลับสู่จีน ปีที่เจ้าหญิงไดอานาและแม่ชีเทเรซาเสียชีวิต ปีที่เด็กสาวปินอยเชื้อสายจีนถูกพวกเด็กรวยๆ ทำร้ายและข่มขืนตอนกลางวันแสกๆ และเป็นปีที่ฟิลิปปินส์วุ่นวายไปด้วยคดีลักพาตัวเรียกค่าไถ่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวและพวกเศรษฐีเชื้อสายจีน และเป็นปีที่โอราเซีย (Horacia) พ้นโทษหลังจากติดคุกฟรี 30 ปีจากเหตุที่เธอไม่ได้ก่อ คนที่ทำให้เธอพ้นโทษเป็นเพื่อนนักโทษหญิงด้วยกันเองที่เคารพเธอเหมือนแม่และครู จนไม่อาจแบกรับความผิดที่ว่าหล่อนเองที่เป็นอาชญากรในคดีของเธอ ป้ายสีเธอเพราะถูกจ้างโดยคนรักเก่าของเธอที่เป็นคนร่ำรวยและชั่วร้าย หลังสารภาพ นักโทษหญิงคนนั้น หนึ่งในเพื่อนสนิทในคุกของเธอฆ่าตัวตาย เธอได้เป็นอิสระ ไม่มีสิ่งใดหลงเหลืออีกนอกจากความแค้น สามีของเธอตายก่อนที่เธอจะออกมา ลูกชายพลัดพรากสูญหาย เธอกลับไปบ้านเก่า พบหญิงรับใช้กับสามียังคงดูแลบ้าน เธอยกบ้านให้พวกเขา ติดต่อไปหาลูกสาวที่แทบจะจำกันไม่ได้ เธอแจ้งเพียงว่าอย่าให้ใครรู้ว่าเธอออกมาแล้ว
เธอมีสองสิ่งต้องกระทำ หนึ่งคือตามหาลูกชายที่หายสาบสูญ และสองคือล้างแค้นคนที่ทำให้เธอต้องทุกข์ทรมาน
เธอเดินทางไปยังเมืองนั้น ตามหาเขาจนเจอ ไปลอบมองเขาที่โบสถ์ เธอผูกสัมพันธ์กับคนขายไข่ข้าวที่ตระเวนไปทั่วเมืองในยามกลางคืน รู้เห็นทุกสิ่งอย่างและแบกความทุกข์ของตัวเอง หญิงบ้าที่โบสถ์ซึ่งพยายามบอกทุกคนว่าโลกนี้เต็มไปด้วยปีศาจ และเธอได้พบกับกะเทยนางหนึ่งบนถนน หล่อนผู้ร่อนเร่ไปในความเมามายเพื่อที่จะตายอย่างช้าๆ เพราะหล่อนกลัวพระเจ้าจนไม่กล้าฆ่าตัวตาย คืนหนึ่งหล่อนถูกรุมโทรมและทำร้ายร่างกาย โซซัดโซเซมายังบ้านของเธอ เธอคอยพยาบาลดูแลหล่อนจนกลับมาเป็นปกติ เปิดเผยบาดแผลในจิตใจแก่กัน ชักนำไปสู่โศกนาฏกรรม การล้างแค้นที่ไม่อาจชำระ ความทุกข์ซึ่งติดแน่นราวกับตำหนิบนร่างกายโอราเซีย เร่ร่อนไปในโลกที่สิ้นหวัง เธอมีความดีงามในจิตใจ แต่มันไม่มากเพียงพอที่จะให้โลกที่มืดเหมือนนรกนี้ดีขึ้นมาได้ และเธอไม่สามารถแก้ไขอะไรให้คืนกลับมาได้ แม้แต่ชีวิตของตัวเอง
นี่คือภาพยนตร์ยาว 3 ชั่วโมง 48 นาที ซึ่งอาจนับว่าเป็นภาพยนตร์ขนาดสั้นของ Lav Diaz ผู้กำกับชาวฟิลิปปินส์ ที่มักจะทำหนังขาวดำขนาดยาว โดยทั่วไปภาพยนตร์ของเขามีความยาวตั้งแต่ 4 ไปจนถึง 11 ชั่วโมง กล้องตั้งนิ่งยาวนาน ปล่อยให้จอภาพยนตร์เป็นผืนผ้าใบสำหรับตัวละครผู้คนซึ่งอาจจะทำหรือไม่ทำอะไรเลย ผู้ชมชาวไทยจำนวนหนึ่งรู้จักเขาเป็นอย่างดีจากการที่หนังของเขาถูกนำมาฉายแบบใต้ดินต่อเนื่องยาวนาน จนแทบเรียกได้ว่าผู้ชมชาวไทยได้ดูหนังของเขาแทบทุกเรื่อง
ดังที่เขาเคยให้สัมภาษณ์เมื่อมีคนถามว่าทำไมหนังของเขาถึงยาว เขาตอบว่า สำหรับเขา แนวคิดเกี่ยวกับเวลาเป็นแนวคิดที่มาจากตะวันตก ซึ่งมาพร้อมกับเจ้าอาณานิคมเมื่อเข้าครอบครองคาบสมุทรมลายู ดินแดนนี้ดั้งเดิมผู้คนไม่ได้ผูกติดกับเวลา หากผูกติดอยู่กับลมฟ้าอากาศตามแบบของสังคมเกษตรกรรม ‘เวลา’ กำหนดให้ผู้คนต้องตื่นไปทำงาน เลิกงานไปโบสถ์ หรือใช้เวลาสำหรับภาพยนตร์เพียงสองชั่วโมง เขาคิดว่าภาพยนตร์ของเขาไม่จำเป็นต้องถูกกำกับด้วยสิ่งนั้น เพราะหากภาพบนจอจำเป็นต้องยาว 30 นาที เขาก็ยินดีที่จะปล่อยให้มันยาว 30 นาที เขายินดีให้ผู้ชมลุกออกไปข้างนอกแล้วกลับมาในโรงอีกครั้ง มากกว่าจะถูกบังคับให้ใช้เวลาจำกัด ความยาวจึงเป็นการท้าทายต่อกรอบเวลาดั้งเดิม
สิ่งสำคัญไม่ใช่คำถาม และยิ่งไม่ใช่คำตอบ หากคือวิธีที่ผู้คนค้นหาคำตอบ การไม่อาจพบคำตอบ และการสูญเสียระหว่างการค้นคำตอบนั้น
ในหนังของเขา ฉากหลังมักจะเป็นเมืองเล็กๆ ในฟิลิปปินส์ หนังของเขามักจะตั้งคำถามแบบนิยายรัสเซีย เกี่ยวกับบาปในใจซึ่งโยงใยไปถึงประวัติศาสตร์ การเมือง ประสาคนที่เติบโตมาในยุคที่มาร์กอสประกาศกฎอัยการศึก ภาพที่เต็มไปด้วยความสิ้นหวังของผู้คน คนยากจนที่ลุกขึ้นมายืนหยัด และปัญญาชนที่ถูกทำลายจิตวิญญาณจากระบบโสมมของโลกนี้
กลับมาที่ The Woman Who Left อย่างที่บอกว่านี่อาจจะเป็นหนังขนาดสั้นของเขา (และทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อหนังคว้ารางวัลสิงโตทองที่เวนิส) เป็นอีกครั้งที่เขาดัดแปลงนิยายรัสเซียของลีโอ ตอลสตอย หลังจากนำ Crime and Punishment มาตีความใหม่ใน Norte End of History เพื่อสำรวจมนุษย์และศีลธรรม ในครั้งนี้ เขาเอานิยาย God See the Truths, But Waits มาดัดแปลงเพื่อตั้งคำถามเกี่ยวศาสนาและความดีงามในจิตใจมนุษย์
หนังตั้งคำถามที่เป็นคำถามพื้นฐานมากๆ เช่นพระเจ้ามีจริงหรือไม่ เราสามารถไถ่ถอนบาปของเราได้หรือเปล่า ยังมีความดีงามหลงเหลืออยู่ไหมในโลกนี้ และความดีงามจะเปลี่ยนโลกได้หรือไม่ แน่นอนว่ามีหนัง หนังสือ งานศิลปะ หรือแม้แต่งานสถาปัตยกรรม ตั้งคำถามเรื่องนี้มามากมายจนกลายเป็นคำถามที่แสนน่าเบื่อ แต่ใช่หรือไม่ว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่คำถาม และยิ่งไม่ใช่คำตอบ หากคือวิธีที่ผู้คนค้นหาคำตอบ การไม่อาจพบคำตอบ และการสูญเสียระหว่างการค้นคำตอบนั้น
เราเริ่มต้นจากโอราเซีย เธอเป็นคนสามัญที่เชื่อมั่นในความดีงาม ในคุก เธอคอยดูแลนักโทษหญิงคนอื่น เมื่อออกจากคุก ถึงจะสุมตนเองด้วยไฟแค้น แต่สิ่งที่เธอทำคือการเผื่อแผ่ความห่วงใยไปยังผู้คนรอบตัว ดูแลคนที่เธอเคยรู้จัก ไปจนถึงคนแปลกหน้า กระทั่งกับคนที่เธอเคยทำร้าย เธอยังคงไปยืนมองเขา ผงะเมื่อเห็นว่าเขามีครอบครัว มีลูกหลานเล็กๆ กลับบ้านฝึกซ้อมเอาปืนจ่อเขาทุกวัน มอดไหม้ด้วยเพลิงของความแค้นและการให้อภัยไม่ได้
แต่สิ่งนี้นำพาเธอไปสู่สิ่งที่ดีกว่าหรือไม่ ผู้คนรอบข้างเปิดเผยความทุกข์ให้เธอฟัง เพื่อนนักโทษที่ไม่อาจทนแบกรับความดีงามที่เธอมีให้ตัวเองได้ เปิดเผยความจริงที่เธอต้องติดคุกฟรีและตายเพราะไม่อาจทนรับบาปที่ตัวเองก่อไว้กับเธอได้ ชายหลังค่อมขายไข่ข้าวมีลูกที่กำลังป่วย เขาเองเคยถูกพวกมันกดขี่ข่มเหงฆ่าคนอันเป็นที่รัก เขาเร่ร่อนขายไข่ข้าวในเมืองมืดกลางดงสลัมซึ่งจ่ออยู่หน้าบ้านของเศรษฐีคู่แค้นของโอราเซีย พวกคนยากจนที่โอราเซีย ช่วยเหลือและซื้อไข่ให้กิน พอถึงวันหนึ่งก็ตีลูกตัวเองอย่างกับคนบ้า และถึงที่สุด หากนายทุนใจโฉดเป็นปัญหาทั้งหมด เพราะพยายามจะใช้กฎหมายรื้อไล่สลัมออกไปให้พ้น การตายของนายทุนไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นมาเลย พวกเขายังคนโดนไล่ไปนอนข้างถนนอยู่ดี เฉกเช่นกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับกะเทยที่โอราเซีย ได้ช่วยเหลือไว้ คนที่ตัดสินใจที่จะตายแต่ฟื้นกลับมามีชีวิตเพราะความดีของเธอ แต่ความดีของเธอนำไปสู่การตอบแทนเธอที่หม่นหมอง เพราะหล่อนช่วยเธอด้วยการรับเอาบาปไว้กับตัวเอง ถึงที่สุด ไม่ว่าโอราเซียจะทำคุณงามความดีอย่างไร มันไม่ได้รับประกันเลยว่าโลกจะดีขึ้น เธอกลายเป็นนักบุญที่เดินทางไปในเมืองบาป สิ่งที่เธอตั้งใจกระทำไม่อาจให้ผลตอบแทนที่ถูกที่ควร ไม่ใช่เพราะความดีไม่มีอยู่ แต่มีความมืดมากมายที่กัดกินผู้คนจากข้างใน
ไม่ว่าโอราเซียจะทำคุณงามความดีอย่างไร มันไม่ได้รับประกันเลยว่าโลกจะดีขึ้น เธอกลายเป็นนักบุญที่เดินทางไปในเมืองบาป
ในที่สุดมันจึงเป็นไปตามที่ตัวละครสองตัวพูดไว้ในเรื่อง คนแรกคือหญิงบ้าหน้าโบสถ์ที่โอราเซียดูแล หญิงบ้า (ที่เป็นตัวละครหลักเสมอในหนังทุกเรื่องของ Lav Diaz) ประกาศถ้อยแถลงที่จริงที่สุด คือโลกนี้เต็มไปด้วยปีศาจ ปีศาจทุกหนแห่ง บนถนน ในบ้านเรือน แม้แต่ในโบสถ์ของพระผู้เป็นเจ้า การที่เธอกลายเป็นบ้าอาจเป็นวิธีที่ถูกต้องในการใช้ชีวิตอย่างผุดผ่องบนโลกใบนี้ หากไม่เช่นนั้นก็ต้องกลายเป็นปีศาจเสียเอง ดังเช่นเขา เศรษฐี อาชญากร นายทุน นักการเมือง อะไรก็ตามที่เคยเป็นคนรักเก่าของโอราเซีย และเป็นคนที่วางแผนให้เธอต้องติดคุกเพียงเพราะแค้นที่เธอไม่เลือกเขา ฉากหนึ่งที่ยะเยือกที่สุดในหนัง คือฉากที่เขากึ่งจะสารภาพบาปต่อบาทหลวงประจำโบสถ์ เขาถามคุณพ่อว่าพระเจ้ามีจริงหรือ ถ้าเขาทำเรื่องชั่วร้ายมา เขาจะได้รับการอภัยเพียงเพราะสารภาพบาปกระนั้นหรือ และบาทหลวงเพียงบอกว่า พระเจ้ามีอยู่ทุกหนแห่ง ในตัวของเขาด้วย เขาต้องหาพระเจ้าด้วยตนเอง และเขา-ปีศาจที่แท้ ได้แต่แค่นเสียงหัวเราะในลำคอ เพราะไม่มีคำตอบใดอยู่ในคำตอบนั้น นอกจากข้อความนามธรรมเลื่อนลอย
แต่ไม่ว่าพระเจ้าหรือปีศาจก็ไม่สมหวังในหนังของ Lav Diaz
จึงกลายเป็นว่าสิ่งที่ย้อนแย้งที่สุด คมคายที่สุดสิ่งหนึ่งคือชื่อหนังเอง เมื่อคำว่า ‘left’ ใน The Woman Who Left อาจจะแปลความหมายได้ว่า ผู้หญิงคนที่จากไป หรือผู้หญิงคนที่ถูกทิ้งไว้ ไม่ว่าจะไป หรืออยู่ ก็อยู่ในความโดดเดี่ยวไม่รู้ทิศ หนำซ้ำ ‘left’ ยังอาจจะหมายถึงฝ่ายซ้าย และหนังอาจจะเป็นทุกข์ทางจิตวิญญาณของฝ่ายซ้ายก็เป็นได้
เมื่อการล้างแค้นสิ้นสุดลง เธอไม่ได้รู้สึกได้รับการปลดปล่อย โอราเซียยังคงเดินทางต่อไปในเมืองอันสิ้นหวัง ตามหาลูกชายที่พลัดหายไปในช่วงเวลาที่เธอต้องเข้าคุก การตามหาอย่างไม่มีความหวังใดๆ หลงเหลือ บาปที่เธอไม่ได้ก่อ บาปที่ไม่ใช่ของเธอ เป็นของเธอ และเธอไม่มีวันจะไถ่ถอนได้ ในฉากสุดท้ายของหนัง เราจึงเห็นโอราเซียอยู่กลางความมืด เดินอมทุกข์ไปในที่ที่ไม่ใช่ที่ไหนเลย พื้นเกลื่อนไปด้วยรูปตามหาคนหายที่ไม่มีวันหาพบ จะเป็นพระเจ้า นักบุญหรือปีศาจ ทุกคนต่างหลงทางชั่วนิรันดร์
Tags: ความดี, ภาพยนตร์, ศีลธรรม, ศาสนา, The Woman Who Left, Lav Diaz, ภาพยนตร์ขาว-ดำ, ภาพยนตร์ฟิลิปปินส์, ลีโอ ตอลสตอย, God See the Truths But Waits, รีวิวหนัง