กรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนกำลังออกจากซีเรียและอัฟกานิสถาน บ่งบอกว่า สหรัฐอเมริกาเลิกให้ความสำคัญกับพันธมิตร การกลับลำนโยบายหลักที่อเมริกายึดถือนับแต่หลังสงครามโลกเช่นนี้ สั่นคลอนความมั่นคงทั้งของยุโรปและเอเชีย

นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ในด้านหนึ่ง สันติภาพโลกค้ำจุนอยู่ด้วยกรอบกติกาภายใต้สหประชาชาติ มียักษ์ใหญ่ 5 มหาอำนาจคุมเชิงกันในคณะมนตรีความมั่นคง ทว่าในอีกด้านหนึ่ง เสถียรภาพของภูมิภาคต่างๆ ก็ได้รับการค้ำชูภายใต้ ‘การเมืองที่เป็นจริง’ ผ่านระบบพันธมิตร

โลกผ่านยุคสงครามเย็น ยุคโลกาภิวัตน์ จนถึงยุคภัยคุกคามนอกแบบ ท่ามกลางการแข่งอิทธิพลระหว่างพี่เบิ้มน้อยใหญ่ โดยไม่ปะทุบานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่ ก็เพราะระบบพันธมิตรที่มีสหรัฐฯเป็นเสมือนดุมล้อ มีประเทศนั้นประเทศนี้เป็นเหมือนซี่ล้อ จับมือกับสหรัฐฯ ในด้านการทหารหรือการเมือง

อเมริกาเล่นบทผู้รักษาเสถียรภาพมาโดยตลอด ตั้งแต่นาโต จนถึงออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ กระทั่งประเทศไทย ล้วนได้รับอานิสงค์จากระบบพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ ภายใต้หลักผลประโยชน์ต่างตอบแทน พันธมิตรได้หลักประกันความมั่นคง อเมริกาได้รักษาสถานะจอมมหาอำนาจ และได้ตลาดสำหรับทุนนิยมอเมริกัน

นักสังเกตการณ์มองว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ชูคำขวัญ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ส่อแสดงว่า สหรัฐอเมริกากำลังบ่ายหน้าไปสู่นโยบายโดดเดี่ยวตนเอง ถ้าข้อวิเคราะห์นี้เป็นจริง พันธมิตรทั้งหลายก็จะต้องรับภาระด้านการป้องกันประเทศในแบบบ้านใครบ้านมันกันมากขึ้น

 

‘สัญญาณ’ จากตะวันออกกลาง

โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อ 19 ธันวาคมว่า สหรัฐฯ จะถอนทหาร 4,000 นายในซีเรียกลับบ้านทั้งหมด เรื่องนี้ถูกมองว่า เป็นการกลับลำนโยบายของสหรัฐฯ ในเรื่องการต่อสู้กับกลุ่มสุดโต่ง ดาอิส (Daesh) หรือที่เรียกกันด้วยคำย่อว่า ไอเอส (Islamic State) ซึ่งขยายตัวในซีเรียต่อจากอิรัก

ถึงแม้เป็นการประกาศอย่างปุบปับ แต่การกลับลำที่ว่าก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว ทรัมป์หาเสียงด้วยนโยบายนี้ตั้งแต่ปี 2016 เขาบอกว่า “เราช่วยคนอื่นฟื้นฟูประเทศ แต่เราอ่อนแอลง ผมเป็นผู้สมัครชิงประธานาธิบดีคนแรกที่เข้าใจเรื่องนี้ นี่เป็นปัญหาใหญ่” หลังจากได้นั่งในทำเนียบขาว ทรัมป์ก็เคยแสดงท่าทีหลายครั้งว่า เขาจะถอนทหารในซีเรีย

ภาพโดย DELIL SOULEIMAN / AFP

ในสงครามซีเรียไม่ได้มีแต่กองกำลังอเมริกัน ยังมีทหารจากชาติพันธมิตรหลายประเทศเข้าร่วมด้วย เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี โดยรับภารกิจด้านการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มไอเอส

แม้ว่าในระยะหลัง กลุ่มไอเอสถูกปราบปรามจนกระทั่งแทบไม่เหลือพื้นที่ยึดครองในซีเรียแล้ว แต่ไอเอสยังมีนักรบและผู้สนับสนุนอีกหลายพัน คนเหล่านั้นอาจรวมกำลังกันใหม่ สู้รบช่วงชิงพื้นที่คืน และอาจก่อเหตุโจมตีในยุโรป

เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม ยังมีรายงานข่าวด้วยว่า สหรัฐฯ จะถอนทหารราว 5,000 นายจากทั้งหมด 14,000 นายออกจากอัฟกานิสถาน (Reuters, 21 December 2018)

กรณีอัฟกานิสถาน พันธมิตรชาติตะวันตกเข้าร่วมภารกิจในนามของนาโต ประเทศที่ส่งทหารไปประจำการเป็นหลักพันนาย ประกอบด้วย สหรัฐฯ เยอรมนี และอังกฤษ

การลดบทบาททางทหารของสหรัฐฯ ในซีเรียและอัฟกานิสถาน ย่อมส่งผลให้ชาติยุโรปต้องเข้ามาเติมเต็มช่องว่างแทนที่กองกำลังอเมริกัน นั่นแปลว่า นาโตต้องแบกรับภาระด้วยตัวเองมากขึ้นในการป้องกันภัยก่อการร้าย

 

‘อุทาหรณ์’ สำหรับเอเชีย

ทรัมป์วิจารณ์ระบบพันธมิตรที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำว่า ทำให้อเมริกาสิ้นเปลืองเงินมากมาย พร้อมกับเรียกร้องให้พันธมิตรควักกระเป๋าตัวเองให้มากกว่าที่เป็นอยู่ นี่คือเหตุผลหลักที่ทรัมป์เดินหน้าลดบทบาททางทหารของอเมริกาในดินแดนโพ้นทะเล

หนึ่งในพันธมิตรที่ได้รับสัญญาณการถอนทหารอเมริกันแล้วก็คือ เกาหลีใต้

นิวยอร์กไทมส์รายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม ว่า ทรัมป์สั่งให้เพนตากอนเตรียมแผนทางเลือกไว้รองรับการลดกำลังในเกาหลีใต้ คำสั่งนี้มีมาก่อนที่ทรัมป์จะพบกับคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ที่สิงคโปร์ ในเดือนมิถุนายน

เวลานี้ สหรัฐฯ วางกำลังไว้ในเกาหลีใต้ราว 28,500 นาย ข่าวบอกว่า ทรัมป์สั่งการดังกล่าวเพราะมองว่าอเมริกาได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่คุ้มกับเงินที่จ่ายไป และการคงฐานทัพไว้ที่นั่นก็ไม่ได้ช่วยยับยั้งเกาหลีเหนือไม่ให้กลายเป็นชาตินิวเคลียร์

การวางกำลังทหารอเมริกันต้องใช้เงินปีละ 800 ล้านเหรียญฯ ตามข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งสอง เกาหลีใต้ต้องออกเงินครึ่งหนึ่ง แต่ทรัมป์เรียกร้องให้รัฐบาลโซลจ่ายเองทั้งหมด (New York Times, 3 May 2018)

สำหรับญี่ปุ่น ซึ่งมีทหารอเมริกันประจำการราว 53,000 นาย ทรัมป์เคยพูดตอนหาเสียงถึงการถอนทหารทั้งหมด เว้นแต่ว่ารัฐบาลโตเกียวจะตกลงรับเป็นท่อน้ำเลี้ยงสำหรับกองกำลังสหรัฐฯ ที่นั่น ซึ่งมีไว้ป้องปรามการขยายอำนาจของจีน และการคุกคามของเกาหลีเหนือ (Foreign Policy, 17 September 2018)

นอกจากความร่วมมือทางทหารแบบทวิภาคีกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นแล้ว ที่ผ่านมา กองเรือของสหรัฐฯ ในย่านแปซิฟิก รวมทั้งร่มนิวเคลียร์ของอเมริกัน ยังมีบทบาทป้องปรามการผงาดของจีนที่ส่งผลต่อไต้หวันและน่านน้ำทะเลจีนใต้ด้วย

แสนยานุภาพทางทะเลของสหรัฐฯ เป็นเครื่องค้ำประกันความมั่นคงในเอเชียตลอดมา จนถึงเวลานี้ ยังไม่ปรากฏท่าทีว่า ทรัมป์จะลดบทบาทในพื้นที่ยุทธศาสตร์ส่วนนี้ด้วยหรือไม่ แต่ท่าทีของทำเนียบขาวในกรณีต่างๆ ข้างต้นอาจเป็นสัญญาณว่า ความเป็นพันธมิตรระหว่างอเมริกากับเอเชียอาจเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้าก็เป็นได้

จากตะวันออกกลางถึงเอเชียตะวันออก มหาอำนาจโลกทั้งหลาย ไม่ว่าจีน รัสเซีย ยุโรป และบรรดาพี่เบิ้มในภูมิภาค ตั้งแต่อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี จนถึงสองเกาหลี ญี่ปุ่น รวมทั้งอาเซียน คงถึงเวลาต้องวาดแผนการอย่างใหม่สำหรับการรักษาดุลอำนาจ ภายใต้ฉากสถานการณ์ที่อเมริกาลดบทบาทด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ

 

อ้างอิง:

ที่มาภาพเปิด: DELIL SOULEIMAN / AFP

Tags: , , , ,