ผลการหารือของผู้นำสองเกาหลีเมื่อวันศุกร์ ยังไม่ใช่บทสรุปของวิกฤตนิวเคลียร์ ยังไม่ใช่บทปิดฉากของภาวะสงคราม ทว่าเป็นการสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้ ‘ทรัมป์’ ในฐานะคู่เจรจาตัวจริง ตกลงใจขึ้นโต๊ะพูดจากับ ‘คิม’

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โลกเฝ้ามองว่า คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือจะบรรลุข้อตกลงอะไรบ้างกับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มุนแจอิน เมื่อคนทั้งสองหารือครั้งประวัติศาสตร์ที่หมู่บ้านปันมุนจอม บนเส้นพรมแดนที่แบ่งเกาหลีเป็นสองประเทศภายหลังข้อตกลงสงบศึกเมื่อปี 1953

ประเด็นที่ผู้คนรอลุ้น มีสองเรื่องใหญ่ซึ่งเกี่ยวพันกัน นั่นคือ เกาหลีเหนือจะยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ไหม และทั้งสองเกาหลีจะบรรลุข้อตกลงสันติภาพหรือเปล่า

ผู้นำทั้งสองเกาหลี ปลูกต้นไม้ร่วมกัน เป็นสัญลักษณ์ที่มุ่งหวังถึงสันติภาพ

อันที่จริง โจทย์คำถามทั้งสองข้อ ไม่อาจตอบได้โดยลำพังเฉพาะเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ เหตุเพราะความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลีมีมหาอำนาจเข้ามาเอี่ยวตั้งแต่ยุคสงครามเกาหลีเมื่อช่วงปี 1950-1953 ปมนิวเคลียร์ก็ดี ปมสันติภาพก็ดี จึงขึ้นกับท่าทีของสหรัฐฯ และจีน ซึ่งคุมเชิงกันมาจนถึงทุกวันนี้

ถึงแม้บรรยากาศการพบปะกันของคิมกับมุนเมื่อวันศุกร์จะเต็มไปด้วยความชื่นมื่น ส่งท้ายด้วยการออก ‘ปฏิญญาปันมุนจอม’ แสดงเจตจำนงร่วมกันว่า ทั้งสองฝ่ายมุ่งหมายให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ปรารถนาให้บังเกิดสันติภาพถาวร แต่นั่นเป็นแค่ก้าวแรกๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของสองเกาหลีเท่านั้น

ถนนสู่สันติภาพเกาหลีจะยาวไกลแค่ไหน ยังต้องรอลุ้นผลการหารือระหว่างคิมจองอึนกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

เกาหลีเหนือจะเสนอข้อแลกเปลี่ยนอะไรบ้าง สหรัฐฯ จะยอมรับเงื่อนไขได้มากน้อยแค่ไหนสำหรับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ล้มเลิกขีปนาวุธข้ามทวีป ของฝ่ายเปียงยาง ทั้งสองฝ่ายจะยื่นหมูยื่นแมว หรือเกี่ยงงอนต่อรองกันอย่างไร

นั่นต่างหาก คือ กุญแจไขข้อคำถามเกี่ยวกับอนาคตของคาบสมุทรเกาหลี

เมื่อดูจากความล้มเหลวของข้อตกลงในอดีต ดูจากดุลอำนาจอันซับซ้อนเนื่องจากความมีส่วนได้ส่วนเสียของหลายฝ่าย และดูจากความเขี้ยวของทรัมป์ งานนี้ โอกาสสำเร็จคงประเมินได้ที่ 50-50

ปฏิญญาปันมุนจอม

คำประกาศร่วมภายหลังการหารือของคิมกับมุน ที่เรียกกันว่า ‘ปฏิญญาปันมุนจอม’ ไม่ได้ระบุโดยแจ่มแจ้งว่า เกาหลีเหนือตกลงปลดอาวุธนิวเคลียร์

คนทั่วไปรอฟังประโยคนี้ แต่คนที่ติดตามเรื่องวิกฤตเกาหลีตระหนักดีว่า ในการคุยกันระดับสองฝ่าย ผลสรุปที่คืบหน้าที่สุดย่อมมาไกลได้เท่าที่เห็น นั่นคือ ยืนยันคำมั่นว่าทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันที่จะทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์

เหตุที่ปฏิญญาสร้างความคืบหน้าได้เพียงการประกาศคำมั่น แสดงเจตนาอันดีว่าพร้อมจะปลดอาวุธ ต้องย้อนทำความเข้าใจว่า เปียงยางเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และระบบนำส่ง คือ ขีปนาวุธข้ามทวีป ก็เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับสหรัฐฯ และพันธมิตร คือ เกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพอเมริกัน

ดังนั้น ถ้าจะให้เกาหลีเหนือเลิกตั้งการ์ดสูง ลดการ์ดลงต่ำ อเมริกาก็ต้องทำอย่างเดียวกันให้สมน้ำสมเนื้อ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ประเด็นนิวเคลียร์โสมแดงนั้น คู่เจรจาหลักคือ สหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เกาหลีใต้

ในประเด็นสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี ปฏิญญาประกาศว่า ทั้งสองเกาหลีมุ่งมั่นสู่การประกาศยุติสงคราม เปลี่ยนข้อตกลงสงบศึกเป็นสนธิสัญญาสันติภาพ และสร้างกรอบความร่วมมืออันถาวรและหนักแน่นของการอยู่ร่วมกันโดยสันติ

ปฏิญญาระบุว่า ในการมุ่งสู่เป้าหมายที่ว่านี้ เกาหลีทั้งสองจะผลักดันให้เกิดการเจรจาสามฝ่าย คือ เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ หรืออาจเป็นสี่ฝ่าย โดยมีจีนร่วมด้วย

ปลดนิวเคลียร์กับสร้างสันติภาพ คือ เหรียญอันเดียวกัน ไม่อาจขาดด้านใดด้านหนึ่ง หากต้องการดับชนวนวิกฤต ก็ต้องยอมลดราวาศอกกันทุกฝ่าย

ความยากอยู่ที่การถอยคนละก้าวนี่เอง ใครจะยอมถอยก่อน หรือถอยพร้อมกัน แล้วถอยกี่ก้าว คิมกับทรัมป์จะตกลงกันอย่างไร ปูเสื่อรอชมการเจรจาความเมืองแห่งศตวรรษได้เลย

 

ดุลอำนาจ

ด้วยเหตุที่สงครามเกาหลียังไม่ปิดฉากด้วยสนธิสัญญาสันติภาพ ตามบรรทัดฐานของกฎหมายระหว่างประเทศจึงถือกันว่า โดยทางนิตินัย สองเกาหลียังเป็นคู่สงคราม จีนซึ่งถือหางฝ่ายเหนือ อเมริกาซึ่งถือหางฝ่ายใต้ ก็ยังอยู่พร้อมหน้า

ในเมื่อฉากสงครามยังไม่สะเด็ดน้ำนับแต่สงบศึกเมื่อ 65 ปีก่อน ต่างฝ่ายจึงต่างสร้างสมขีดความสามารถทางทหาร เพื่อถ่วงดุลอำนาจของกันและกัน

รัฐบาลวอชิงตันทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรทางทหารกับรัฐบาลโซลตั้งแต่ปี 1953 เรียกว่า สนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วมกัน มีใจความว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งถูกโจมตีด้วยอาวุธ อีกฝ่ายจะถือว่าเป็นอันตรายต่อสันติภาพและความปลอดภัยของตัวเองด้วย ฉะนั้น อีกฝ่ายก็จะเข้าช่วย ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่

รูปธรรมของความเป็นพันธมิตรในทุกวันนี้ คือ สหรัฐวางกำลังทหารไว้ในเกาหลีใต้ ใกล้พรมแดนเกาหลีเหนือ กว่า 2 หมื่นนาย ประจำการระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD เอาไว้ในค่ายทหาร ที่สำคัญที่สุด คือ ‘ร่มนิวเคลียร์’

ร่มนิวเคลียร์เป็นมาตรการตามแนวคิด ‘การป้องปรามนิวเคลียร์’ อธิบายง่ายๆ ก็คือ ตามพันธะผูกพันของสหรัฐฯ ถ้าพันธมิตรของอเมริกาถูกคุกคามด้วยภัยนิวเคลียร์ สหรัฐก็พร้อมปกป้องด้วยอาวุธอย่างเดียวกัน วอชิงตันเดินนโยบายนี้ทั้งกับโซลและรัฐบาลโตเกียว เพื่อป้องปรามฝ่ายตรงข้ามไม่ให้โจมตีพันธมิตร

เมื่อคู่ปรปักษ์พรักพร้อมด้วยรี้พลสกลไกรเสียขนาดนี้ เกาหลีเหนือย่อมต้องสร้างอำนาจต่อรอง ถึงแม้ไม่อาจทัดเทียม แต่ก็ต้องมีแสนยานุภาพในระดับที่จะประกันความอยู่รอดของรัฐได้

สำหรับเปียงยาง อาวุธนิวเคลียร์กับขีปนาวุธพิสัยต่างๆ จึงตอบโจทย์ข้างต้น

 

ท่าทีของทรัมป์กับคิม

สิ่งที่โลกเรียกกันว่า ‘วิกฤตนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ’ จะยุติลงได้ วอชิงตันกับเปียงยางต้องแสวงจุดลงตัวของดุลอำนาจใหม่ ด้วยความเห็นพ้องของโซล โตเกียว และรัฐบาลปักกิ่ง

การแสวงหาจุดสมประโยชน์นี่ล่ะที่ยากนักยากหนา สหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือเคยบรรลุข้อตกลงกันมาแล้วหลายครั้ง แต่ในที่สุดก็พังพาบไม่เป็นท่า ถามว่าเป็นความผิดของฝ่ายไหน นั่นแล้วแต่ว่ามองจากจุดยืนของใคร

ข้อตกลงปลดอาวุธนิวเคลียร์ ระงับการทดสอบขีปนาวุธ และการปฏิบัติตามของแต่ละฝ่าย ประสบความล้มเหลวด้วยเหตุปัจจัยตามแต่มุมมอง ในที่นี้คงเล่าย้อนไม่ไหว สรุปเพียงสั้นๆ ได้ว่า สหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือเคยลงนามกันเมื่อปี 1994 ปี 2005 และปี 2012 แต่ข้อตกลงล้มครืนลงหมด

ในคราวนี้ ทรัมป์จึงไว้เชิงว่า ขอรอดูผลซัมมิตระหว่างคิมกับมุนก่อน ค่อยตัดสินใจว่าจะขึ้นโต๊ะพูดจากับคิมหรือไม่ ที่ไหน เมื่อไหร่ ในชั้นนี้กำหนดนัดคร่าวๆ แค่ว่า ยินดีพบกับคิมในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมหรือในเดือนมิถุนายน

มหาเศรษฐีนักธุรกิจอย่างทรัมป์แสดงความเขี้ยว ด้วยการชูข้อเรียกร้องที่สำคัญที่สุด นั่นคือ สหรัฐต้องการให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างเบ็ดเสร็จ แหล่งผลิต แหล่งทดสอบ คลังแสง ต้องทำลายจนรื้อฟื้นใหม่ไม่ได้ และต้องเปิดรับการตรวจพิสูจน์ว่า ทำตามข้อตกลงแล้วโดยไม่หมกเม็ด

เห็นได้ว่า สหรัฐฯ กำลังเรียกร้องให้เกาหลีเหนือถอดเขี้ยวเล็บ ละทิ้งกล่องดวงใจที่ประกันความอยู่รอดของประเทศและระบอบปกครอง แต่ทรัมป์ยังไม่ยื่นข้อเสนอว่าจะยอมตอบแทนข้อเรียกร้องนี้ด้วยสิ่งใด

ขณะที่ฝ่ายเปียงยาง หัวใจที่ต้องการจากสหรัฐฯ ก็คือ หลักประกันความมั่นคง

รูปธรรมของหลักประกันความมั่นคง ก็คือ สหรัฐต้องยุติร่มนิวเคลียร์ ถอนทหารออกจากเกาหลีใต้ ยุติการซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร มอบความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอเมริกา รวมถึงให้คำมั่นที่จะไม่รุกรานเกาหลีเหนือ

ประเด็นเรียกร้องเหล่านี้ เกาหลีเหนือพร้อม ‘ลดราคา’ เมื่อเจรจาต่อรองกันในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของแต่ละฝ่าย

ความที่วิกฤตคาบสมุทรเกาหลีคาบเกี่ยวกับความมั่นคงของจีนและเกาหลีใต้ การเจรจาทำข้อตกลงใดๆ จึงต้องมีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของปักกิ่งกับโซลร่วมอยู่ในสมการด้วย

เกาหลีใต้ต้องการให้ฝ่ายเหนือล้มเลิกอาวุธนิวเคลียร์ แต่มุนแจอินแสดงท่าทีว่า ยอมรับได้หากเปียงยางจะปลดอาวุธแบบเป็นขั้นเป็นตอน ตามแต่ผลคืบหน้าการเจรจากับวอชิงตัน และถ้าลดกำลังรบอเมริกันในเกาหลีใต้ โซลก็ต้องการหลักประกันความมั่นคงจากจีนเช่นกัน

จีนต้องการให้สหรัฐฯ ยกเลิกร่มนิวเคลียร์ และถอนระบบป้องกันขีปนาวุธออกจากเกาหลีใต้ เพราะนอกจากระบบ THAAD จะบั่นทอนอำนาจต่อรองทางทหารของจีนในคาบสมุทรเนื่องจากขีดความสามารถในการสกัดกั้นจรวดของจีนแล้ว เรดาร์ไฮ-เทคของระบบนี้ยังใช้สอดแนมจีนได้อีกต่างหาก

 

หนทางรอมชอมจากนานาประเทศ

ถ้าต้องการยุติวิกฤตเกาหลี สถาบันสันติภาพ ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองของรัฐบาลสหรัฐฯ แนะนำในรายงานเมื่อปี 2003 ว่า สหรัฐฯ จีน และเกาหลีทั้งสอง ต้องบรรลุข้อตกลงที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญ 4 ประการ

หนึ่ง สหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือยุติความเป็นศัตรู สถาปนาความสัมพันธ์ขั้นปกติ สอง รับรองเอกราชของเกาหลีทั้งสอง (เวลานี้ต่างฝ่ายต่างอ้างอธิปไตยเหนือคาบสมุทรทั้งหมด) สาม ลดอาวุธ ตรวจพิสูจน์อาวุธนิวเคลียร์ สี่ สหรัฐฯ กับจีนให้หลักประกันความมั่นคงกับทั้งสองเกาหลี

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงตอนนี้ นักวิเคราะห์มองกันว่า ข้อตกลงที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุด ด้วยหลักการประนีประนอมกัน คือ เกาหลีเหนือระงับการทดสอบขีปนาวุธไว้ก่อน พักการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ชั่วคราว แล้วสหรัฐฯ และนานาชาติผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร ควบคู่กับการลดหรือระงับการซ้อมรบร่วม สหรัฐฯ – เกาหลีใต้

เมื่อผ่านจุดตั้งต้นเช่นว่านี้ได้ ค่อยต่อยอดไปสู่สันติภาพถาวรบนคาบสมุทรในการเจรจาขั้นต่อๆ ไป

สูตรนี้ฟังดูเหมือนจะลงตัวแบบแฟร์ๆ แต่อาจเป็นจริงยาก เพราะทรัมป์มีท่าทีเกี่ยงงอน เขาบอกว่าเกาหลีเหนือต้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ก่อน เรื่องอื่นค่อยมาพูดกัน.

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , , ,