ไดอารีที่รัก,

หลายปีแล้วเนอะที่เราไม่ได้คุยกัน น่าจะตั้งแต่ตอนที่ฉันเริ่มเล่นเฟซบุ๊ก แล้วก็หันมาโพสต์สเตตัสเกี่ยวกับเรื่องนั่นนี่แทนการเขียนไดอารี แต่ฉันกลับมานึกถึงเธออีกครั้ง…นึกถึงมากๆ เลยล่ะ หลังจากได้ดู The Mortified Guide ทาง Netflix จบครบทั้งหกตอน

เธอคงสงสัยใช่ไหมว่า มันเป็นรายการแบบไหน และทำไมถึงทำให้ฉันคิดถึงเธอได้ เล่าสั้นๆ ว่า รายการนี้มีที่มาจาก storytelling event ที่ชื่อ The Mortified ซึ่งมีมา 16 ปีแล้ว คอนเซ็ปต์ของมันก็คือ ให้คนที่สมัครเข้ามาขึ้นเวทีเพื่อแชร์เรื่องราวน่าอายช่วงวัยเด็กไปจนถึงวัยรุ่น ผ่านทางไดอารีหรือจดหมายที่เคยเขียนไว้แต่ไม่ได้ส่ง กลอนหรือเพลงที่เคยแต่ง หรือแม้แต่วิดีโอง่ายๆ ที่เคยถ่ายไว้ ต่อหน้าคนดูที่ผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาแล้วเช่นกัน

ความแปลกใหม่ของอีเวนต์ที่ชวนคนมาเปิดเผยเรื่องราวที่ไม่เคยเล่าให้ใครฟังต่อหน้าคนแปลกหน้า ซึ่งสร้างทั้งเสียงหัวเราะและสะกิดให้นึกถึงตัวเองในอดีต ทำให้จนถึงทุกวันนี้ The Mortified เดินทางไปยังเมืองต่างๆ มาแล้วมากกว่า 20 เมือง ทั้งในอเมริกาและในยุโรป

เดวิด นาเดลเบิร์ก (David Nadelberg) เจ้าของโปรเจ็กต์นี้บอกว่า ไอเดียของเขาเริ่มต้นจากการบังเอิญเจอจดหมายรักที่ตัวเองเขียนไว้ตอนวัยรุ่น แต่ไม่ได้ส่งถึงผู้รับ จากจดหมายฉบับนั้นที่เขาตั้งใจเขียนไปแนะนำตัวและสารภาพรักกับผู้หญิงที่แอบชอบ ก็ขยายมาเป็นไอเดียในการจัดอีเวนต์ที่ฉันเล่าให้เธอฟังนี่ล่ะ

จากเรื่องราวที่ไม่เคยซ้ำกัน เพราะแต่ละเรื่องก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแต่ละคน The Mortified แตกยอดมาเป็นพ็อดคาสต์, พ็อกเก็ตบุ๊ค, หนังสารคดีเรื่อง Mortified Nation และล่าสุดก็คือ The Mortified Guide ที่ทำเอาฉันดูรวดเดียวจบร่วมหกชั่วโมง

แต่ก่อนฉันเคยคิดว่า การได้แอบอ่านไดอารีของใครสักคนคงเป็นเรื่องสนุก แต่ความคิดนี้ก็ค่อยๆ จางไปในยุคที่ฉันเองก็ไม่ได้คิดถึงเธอเท่าไร แถมยังชินกับการอ่านโพสต์ต่างๆ ทางเฟซบุ๊กและส่องอินสตาแกรมของเพื่อนๆ ที่หลายคนบอกว่า ใช้โซเชียลมีเดียเหล่านี้แทนบันทึกประจำวัน จนบางครั้งรู้สึกว่าเกินอยากรู้เสียด้วยซ้ำ แต่พอได้ฟังเรื่องในไดอารีแบบที่ไม่ต้องแอบจาก docuseries เรื่องนี้ ฉันคิดว่าไดอารีมันมีเสน่ห์มากกว่านั้น เพราะมันมีความจริงใจอยู่ในทุกข้อความที่เขียน และเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกออกมาโดยที่ไม่ต้องแคร์ว่าใครจะกดไลค์หรือแคปไปส่งต่อ

อย่างอดีตสาวเนิร์ดใน EP.1 ที่เพิ่งมีแฟนครั้งแรกตอนวัยรุ่น แล้วบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้ ถ้าเป็นเฟซบุ๊ก เธอคงไม่กล้าโพสต์ว่า เธอกับแฟนมีอะไรด้วยกันกี่ครั้งในแต่ละคราวที่เจอกัน และยอดรวมทั้งหมดตั้งแต่คบกันมานับเป็นเท่าไร แต่แน่นอนว่าตัวเลขสถิติทั้งหมดนี้อยู่ในไดอารีของเธอ

นอกจากฟุตเทจจากอีเวนต์ที่จัดขึ้นในเมืองต่างๆ ที่เอามาแบ่งตามธีมความรักและเซ็กซ์, ครอบครัว, การเติบโต, การปรับตัวให้เข้ากับสังคม และป็อปคัลเจอร์แล้ว The Mortified Guide ยังเสริมด้วยการเล่าเรื่องด้วยฟุตเทจที่มาจากการสัมภาษณ์เจ้าของเรื่องถึงที่บ้านและในสตูดิโอ ซึ่งทำให้คนดูได้รู้แบ็กกราวน์ของแต่ละคนมากขึ้น และหลายซีนนั้นแทนที่จะทำให้ฉันหัวเราะดังขึ้น กลับทำให้ฉันน้ำตาซึมกับเรื่องราวเหล่านั้นแทน

เหมือนอย่างเรื่องของหนุ่มวัยรุ่นอเมริกันที่พ่อแม่ส่งไปอยู่กับยายหรือ ‘nona’ ที่อิตาลีในช่วงซัมเมอร์ ไดอารีของเขาเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้ด้วยความดุเดือดทางอารมณ์ของวัยรุ่นที่นึกว่าจะได้เที่ยวทั่วอิตาลีตลอดหนึ่งเดือน แต่กลายเป็นว่าต้องอยู่กับ nona ในเมืองเล็กๆ ตลอดทริป

เขาระเบิดความไม่พอใจทั้งหมดลงในไดอารี ทั้งเรื่องที่เจอและความเห็นส่วนตัว แต่เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วย้อนกลับไปมองช่วงเวลานั้น ผู้ชายคนเดียวกับที่เคยเขียนไดอารีว่า nona กรนเสียงดังเหมือนม้า แก่เกินจะสวย และคุยแต่เรื่องน่าเบื่ออย่างเรื่องคนนั้นคนนี้ตาย กลับอยากกลับไปที่เมืองนั้นอีกครั้ง เพื่อคุยในเรื่องที่เขาเคยเบื่อจนแทบอยากจะอุดหูเวลาได้ยิน

นอกจากเจ้าของเรื่องที่ขึ้นเวที The Mortified แล้ว ในเรื่องยังมีฟุตเทจที่มาจากการสัมภาษณ์คนที่มาดูอีเวนต์นี้แบบสั้นๆ แซมอยู่ในทุกตอน หลายเรื่องได้ยินแล้วก็รู้สึกว่า เอ๊ะ ฉันก็เคยรู้สึกแบบนี้ หรือไม่ก็ เฮ้ย เรื่องแบบนี้เคยเกิดกับเรานี่หว่า

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ทำให้ฉันรู้สึกร่วมไปกับคนแปลกหน้าทั้งที่ไม่ได้รู้จักกัน คงเหมือนกับแท็กไลน์ของรายการนี้ที่บอกว่า “We are freaks, we are fragile, and we all survived.” – กว่าจะถึงวันนี้ได้ ต่อให้มั่นใจแค่ไหนก็ต้องเคยผ่านห้วงเวลาที่ไม่มั่นใจหรือเปราะบางกันบ้างล่ะน่า

และในช่วงเวลาเหล่านั้น ก็ต้องขอบคุณไดอารีที่รักอย่างเธอที่อยู่เป็นเพื่อนกัน คอยรับฟังอย่างจริงใจ ไม่ตัดสินฉันจากทุกสิ่งทุกอย่างที่ฉันรู้สึก และสารภาพลงไปบนหน้ากระดาษได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องคอยเซ็ตสถานะให้เป็น only me เหมือนอย่างทุกวันนี้

 

 

อ้างอิง:

Fact Box

The Mortified Guide เป็นรายการที่ต่อเนื่องมาจาก The Mortified ซึ่งเป็น storytelling event ที่มีมาตั้งแต่ปี 2002 เจ้าของไอเดียนี้คือ เดวิด นาเดลเบิร์ก (David Nadelberg) ที่บังเอิญเจอจดหมายที่เขาเคยเขียนสมัยวัยรุ่น พอลองอ่านให้เพื่อนๆ ฟังก็กลายเป็นเรื่องตลกสำหรับทุกคน จนเกิดเป็นความคิดว่าอยากจะโชว์ชื่อ Crush Night แล้วให้คนมาผลัดกันอ่านจดหมายรักของตัวเองที่ไม่ได้ส่งถึงมือผู้รับ แต่เมื่อลองโยนหินถามทางจากเพื่อนๆ ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไร เขาจึงเก็บไอเดียใส่ลิ้นชักไว้

หลังจากนั้นอีกราวสองปี จู่ๆ วันหนึ่งระหว่างที่เขาคุยกับใครสักคนที่ทำงาน เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของเขาได้ยินเข้าแล้วก็อุทานว่า “Oh my god! when I found my diary, I was so mortified!” และนั่นเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ The Mortified ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่จดหมายรักเหมือนไอเดียเริ่มแรก แต่ขยายมาถึงสิ่งอื่นๆ ด้วย รวมถึงไดอารี ซึ่งเป็นสิ่งที่คนนำมาแชร์บนเวทีมากที่สุด

Tags: , , , ,