เสี่ยวปิง ในวัย 17 ปี บินจากเมืองจีนมายังบัวโนสไอเรสโดยที่เธอพูดสเปนไม่ได้แม้แต่คำเดียว พ่อแม่ของเธอเปิดร้านซักรีดอยู่ที่นี่มาก่อนหน้า น้องๆ ของเธอก็เกิดที่นี่ มีแต่เธอที่อยู่เมืองจีน
ทันทีที่มาถึง เธอถูกส่งไปทำงานในร้านขายเนื้อของญาติ เธอไปเรียนภาษาสเปน มีชื่อใหม่ว่าเบียทริซ พยายามจะมีชีวิตใหม่ในเมืองที่เธอไม่รู้จัก ในภาษาที่เธอไม่คุ้นเคย เธอตั้งใจเรียน ไปทำงานแล้วไปเรียนตอนบ่าย ซ่อนเงินสำหรับใช้จ่ายส่วนตัวในซอกหลังอ่างล้างมือ พ่อแม่ของเธอจู้จี้อยากให้เธอจ่ายค่าตั๋วที่บินมา อยากให้เธอช่วยงานที่ร้าน และอยากให้เธอแต่งงานกับหนุ่มจีนที่หาไว้ให้ แต่เธอมองอนาคตแตกต่างไปจากนั้น
วันหนึ่งที่ร้าน เธอพบนักวิจัยชายชาวอินเดียที่มาทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ในบัวโนสไอเรส เขาจีบเธอและเธอเล่นด้วย ทุกอย่างไปได้สวย จนจู่ๆ เขาขอเธอแต่งงานแบบปุบปับเพราะพ่อแม่บังคับ เขาอยากพาเธอไปอยู่อินเดียเป็นเมียเขา แต่เธอมองอนาคตแตกต่างไปจากนั้น
ที่โรงเรียนภาษา เธอกับเพื่อนชาวจีนร่วมชั้นเรียนสร้างบทสนทนาโดยใช้ภาษาสเปน เริ่มจากการเรียกชื่อข้าวของ ไปยังการสนทนาแบบพื้นฐาน การเรียนเกี่ยวกับไวยากรณ์ และการแลกเปลี่ยนความใฝ่ฝันถึงอนาคต
ในชั้นเรียนกับคนแปลกหน้านี้เอง ที่เธอออกมาหน้าชั้นเพื่อเล่าถึงอนาคตหลากหลายรูปแบบที่เธอมองมันแตกต่างออกไป
The Future Perfect หรือ El futuro perfecto (2016) คือหนังเล็กๆ จากอาร์เจนตินาที่เล่าถึงความใฝ่ฝันของเด็กสาวผู้อพยพ นี่ไม่ใช่หนังว่าด้วยชีวิตบัดซบของระบบสังคมที่ไม่เป็นธรรม หรือปัญหาความเข้ากันไม่ได้ทางวัฒนธรรม หรือปัญหาความแตกต่างของคนรุ่นพ่อแม่กับคนรุ่นลูก แต่มันคือหนังที่ว่าด้วยความฝันใฝ่ของปัจเจกชน การพูดถึงอนาคต การเพ่งมองไปยังอนาคตที่ต้องดีกว่านี้ ทางเลือกของหนุ่มสาวในโลกสมัยใหม่ที่พรมแดนเลือนเข้าหากัน ที่ค่านิยมของคนรุ่นก่อนหน้าไม่สามารถเอามาบังคับใช้ได้อีกต่อไป
หนังเกิดในอาร์เจนตินา แต่ตลอดเรื่อง เราแทบไม่ได้เห็นคนอาร์เจนตินาเลย (นอกจากขึ้นจอในฐานะตัวประกอบฉากหลัง) ตัวละครเกือบทั้งหมดเป็นคนจีนหรือไม่ก็คนอินเดีย หากแต่ทุกคนพูดสเปน มีเพียงฉากเดียวที่มีตัวละครชาวอาร์เจนตินาปรากฏขึ้น ซึ่งก็ปรากฏในฐานะนักแสดง (อาชีพของการรับบทเป็นคนอื่น) แถมยังพูดจีนได้อีกต่างหาก
หนุ่มสาวในหนังจึงกลายเป็นคนไม่มีรัฐ ไม่มีเชื้อชาติ ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่เปิดโล่ง ที่รัฐชาติไม่ใช่ ‘คุณค่า’ แต่เป็น ‘ข้อจำกัด’ คนหนุ่มสาวในหนังคือคนซึ่งข้ามพื้นที่พรมแดน การที่หนังเป็นหนังว่าด้วยความใฝ่ฝันของคนอพยพ เป็นอนาคตของผู้อพยพในฐานะปัจเจกชน จึงเป็นการมองโลกของยุคสมัยปัจจุบันที่คนทุกคนเป็นคนเร่ร่อน
เป็นไปตามชื่อของหนัง ‘อนาคตนั้นสมบูรณ์แบบ’ อนาคตสมบูรณ์แบบแน่ เพราะมันเป็นแค่อนาคตในหัวของเรา ในหนังเรื่องนี้ตัวละครหนุ่มสาวล้วนถูกผูกโยงไว้ด้วยอนาคตของตัวเองในมือผู้อื่น พ่อแม่ต้องการให้เสี่ยวปิงแต่งงานกับหนุ่มจีน พ่อแม่ของแฟนหนุ่มนักวิจัยของเธอก็ต้องการให้เขาแต่งงาน แม้แต่เขาและเธอก็ตกเป็นเหยื่ออนาคตของกันและกัน ดูเหมือนอนาคตของเขาและเธอ พวกคนเอเชีย ล้วนเกาะเกี่ยวอยู่กับครอบครัว และยิ่งเป็นผู้หญิงเอเชียที่อยู่ต่างบ้านต่างเมือง อนาคตของเธอดูเหมือนเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ และไม่มีทางเปลี่ยนแปลง
ทางออกที่เธอมีจึงเป็น ‘เงิน’ ที่เธอเม้มไว้ใช้ส่วนตัวไม่ยอมส่งเข้าบ้าน อนาคตอยู่กับเงินหลังอ่างล้างมือและโรงเรียนภาษา ที่ซึ่งเธอก็จะได้พบแต่กับคนจีนด้วยกัน หากเป็นหนังผู้อพยพเรื่องอื่นๆ นี่คงเป็นหนังโศกนาฏกรรมของชะตากรรมที่เลือกไม่ได้ของคนจีนอพยพ ที่ต้องเสียสละตัวเองเพื่อคนอื่นๆ ต้องยอมเจ็บปวด หรือไม่ก็ถูกลงโทษเพราะไม่ยอมรับการเลือกทางจารีต แต่นี่ไม่ใช่หนังที่เล่าด้วยสายตาแบบนั้น
ฉากหนึ่งของหนัง เสี่ยวปิง พาน้องสาวไปวัดสายตา คนวัดสายตาถามว่าชื่อจีนของเธอชื่ออะไร เธอตอบว่าเสี่ยวปิง คนวัดสายตาบอกว่า เสี่ยวปิงเหรอ ซาบรินา สิ เธอน่าจะชื่อซาบรินา ซาบรินาอาจจะเหมาะกว่าเบียทริซ ในเวลาต่อมา หลังจากนักวิจัยชวนเธอแต่งงาน ไม่ใช่เพราะรัก แต่เพราะต้องแต่ง เธอซึ่งพูดกับเขาด้วยภาษาของตัวเองที่เขาไม่มีวันจะเข้าใจ จู่ๆ ก็บอกเขาให้เรียกเธอว่าซาบรินา มันเป็นฉากสั้นๆ ที่ไม่ได้ส่งผลอะไรกับเรื่อง แต่มันงดงามเหลือเกินที่จะได้เห็นรูปแบบการต่อสู้ของเด็กสาวที่มาจากโลกใบหนึ่ง และจะไปสู่โลกอีกใบหนึ่ง เธออาจจะไม่สามารถฟิตอินกับโลกของเสี่ยวปิง พอๆ กับโลกของเบียทริซ วิธีที่ดีที่สุดคือการสร้างโลกของเธอขึ้นมาเอง และในโลกนั้นเธอชื่อซาบรินา อยากจะพูดจีนถ้าอยากจะพูด และอาจจะพูดสเปนถ้าอยากจะพูดเหมือนกัน
หนังอุทิศเวลาครึ่งหลังให้กับความเป็นไปได้ของอนาคตของเสี่ยวปิง ผ่านเรื่องเล่าที่เธอคิดขึ้นเอง อนาคตไม่แน่นอน เธออาจจะไปกับเขาแล้วพบว่าเขามีเมียแล้ว เธออาจจะยอมตามพ่อแม่ และวันหนึ่งหลังจากมีลูกสอง เป็นยายเพิ้งในร้านชำที่ต้องรับมือลูกค้าขี้เมา เธออาจจะพบเขากับผู้หญิงคนอื่น หรือบางทีพ่อแม่ของเธออาจจะรับไม่ได้ที่เธอออกนอกทางแล้วทำบางอย่างที่เธอจะต้องเสียใจ เสียงจากนอกเฟรมร้องถามว่า ไม่มีตอนจบแบบสุขสมให้ฟังบ้างหรือ และเธอตอบว่า มี มันมีทางออกที่สวยงามเสมอ แล้วเริ่มต้นเล่า
ฉากหนึ่งในหนังที่งดงามที่สุด เป็นฉากที่ดูเหมือนหลุดออกจากเรื่องมากที่สุด นั่นคือฉากที่เธอและเพื่อนๆ ออกไปเดินเล่นที่ชายหาด พวกเธอยืนมองทะเล แล้วจู่ๆ ก็คุยกันว่า ที่อีกฝั่งหนึ่งนั่นคืออุรุกวัย แต่วันนั้นท้องฟ้ามีเมฆมาก ไม่มีใครเห็นอุรุกวัย แต่รู้ว่าอุรุกวัยอยู่อีกฝั่งหนึ่ง อุรุกวัยที่มองไม่เห็นกลายเป็นภาพแทนของอนาคตของพวกเธอในวันที่ท้องฟ้ามีเมฆมาก ในวันที่พยากรณ์อากาศบอกว่าแดดจะออก แต่ดูเหมือนฝนจะตก
การพยากรณ์อากาศเป็นรูปแบบของการคาดเดาอนาคตจากสถิติและองค์ความรู้ในอดีต อนาคตของพวกเธอก็เป็นเช่นนั้น มันถูกผูกไว้กับประสบการณ์ของคนรุ่นพ่อแม่ที่คาดหวังถึงความมั่นคงอย่างง่าย และชีวิตของพวกเธอก็เหมือนการพยากรณ์อากาศที่ผิดพลาด พ่อแม่คาดหวังถึงวันฟ้าใส แต่วันต่อวันล้วนแต่เป็นวันอากาศหม่นมัว อนาคตที่แท้จริงจึงไม่ใช่แสงแดดที่คาดเดาในโทรทัศน์ (ที่ตลกคือ ในฉากนี้ ตัวละครพูดขึ้นมาว่า คนพยากรณ์อากาศนั่นก็เป็นคนอพยพเหมือนกัน) เป็นอุรุกวัยที่มองไม่เห็น แต่เลือกเองมากกว่า
และในฉากนี้เช่นกัน ที่เป็นครั้งแรกที่หนังมีตัวละครคนอาร์เจนตินาปรากฏขึ้น สิ่งที่คนพื้นเมืองสอนพวกเธอไม่ใช่ภาษา แต่เป็นการสอนการแสดง เพราะเขาเป็นนักแสดง ดูเหมือนการแสดงจะเป็นอาวุธไม่ต่างจากภาษาที่สอง การเสแสร้งเป็นคนอื่น ซ่อนตัวเองไว้หลังอ่างล้างมือ การเปลี่ยนชื่อจากเสี่ยวปิงเป็นเบียทริซเพื่อให้คนอื่นเรียกได้ง่าย ซ่อนซาบรินาไว้กับตัว การพยายามใช้สิ่งที่ตัวเองมีเพื่อต่อสู้กับวันนี้ และเชื่อมั่นว่ามีอนาคตที่ดีรออยู่ที่ไหนสักแห่ง แค่ไม่ยอมจำนน
นี่คือหนังของคนที่มีความหวัง แม้จะอยู่ในตำแหน่งที่ยากที่จะหวัง นี่คือหนังของความหวัง ของพลังสดใหม่ และความงดงามของหนังเกิดจากสายตาของหนังอันแทนสายตาของหนุ่มสาวที่ยัง ‘แลไปข้างหน้า’
FACT BOX:
The Future Perfect หรือ El futuro perfecto (2016) ภาพยนตร์สัญชาติอาร์เจนตินา กำกับโดย Nele Wohlatz
Tags: ผู้อพยพ, ชาวจีน, อาร์เจนตินา, บัวโนสไอเรส, รัฐชาติ, หนัง, ภาพยนตร์