จากการระบาดของโควิด-19 ทั้งภาคเอกชนหรือประชาชนต่างออกมาช่วยเหลือกันเองผ่านการพัฒนาแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็น https://covidtracker.5lab.co และ https://www.bing.com/covid  ที่ระบุตำแหน่งติดตามสถานะของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา, ‘ NOSTRA Map’ แอปพลิเคชันจุดตรวจโควิด-19 ทั้ง 35 แห่งของ สธ.,  ‘Covid Bot’ และ ‘Sabaideebot’ แชตบอตให้ข้อมูล เช็กความเสี่ยงการติดเชื้อและติดตามอาการของตัวเอง หรือ https://maskmapthai.web.app/ แผนที่เช็คสต๊อกหน้ากากอนามัยแบบเรียลไทม์  

เช่นเดียวกันกับเพจและเว็บไซต์ ThaiCov.com อีกหนึ่งช่องทางที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนไอทีที่มารวมตัวกันเพื่อช่วยทำพิกัดโรงพยาบาลแต่ละแห่งทั่วประเทศที่ขาดแคลนหน้ากากอนามัย และอุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ เพื่อให้คนที่มีสามารถบริจาคไปยังโรงพยาบาลนั้นๆ ให้แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศมีหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ใช้อย่างเพียงพอเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น  

The Momentum มีโอกาสได้สนทนากับกลุ่มผู้จัดทำ ThaiCov.com ถึงที่มาที่ไปของการรวมตัวกันเพื่อทำเว็บไซต์นี้ สถานการณ์ปัจจุบันของโรงพยาบาลทั่วประเทศ และการทำงานในขั้นต่อไปของ ThaiCov.com ที่เราทุกคนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือได้

ThaiCOV คือใคร มารวมตัวกันได้อย่างไร 

ThaiCOV คือ เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการรับมือกับโรคโควิด-19  เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนไอทีตัวเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่มองว่าด้วยความรู้ไอทีที่มี น่าจะสามารถช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่กำลังประสบปัญหาได้

ThaiCOV จัดตั้งเพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลในการช่วยเหลือบุคลากรที่กำลังประสบปัญหา โดยในระยะแรกทาง ThaiCOV ตัดสินใจเจาะจงการช่วยเหลือไปยังกลุ่มสาธารณสุขที่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ก่อน เพราะกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มหน้าด่านของประเทศที่ทำหน้าที่รับมือ ช่วยเหลือ และคัดกรองผู้ป่วย

ข้อมูลที่ได้มาจากไหน เชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด

ข้อมูลที่ทาง ThaiCOV นำมาประกาศแจ้งให้ทราบนั้น เป็นการได้รับข้อมูลมา 2 ช่วงโดย ช่วงแรกได้รับข้อมูลจากบุคลากรทางแพทย์โดยตรงที่รวบรวมข้อมูลในแต่ละจังหวัดราว 50 โรงพยาบาล 

ช่วงสอง หลังจากเราทำเว็บไซต์เสร็จและประกาศออกไป ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือจากเพจ Drama-Addict ที่ช่วยแชร์ทำให้มีคุณหมอและพยาบาล จากอีกกว่า 50 โรงพยาบาลเข้ามาเพื่อขอให้ช่วยประกาศครับ 

มีการตรวจสอบข้อมูลโดยเฉพาะเรื่องเฟคนิวส์ที่อาจจะส่งผลต่อข้อมูลทั้งหมดอย่างไรบ้าง

เนื่องจากทีมพัฒนาที่ทำกันนั้น ต่างก็ไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องธุรกิจด้านสื่อเลยทำให้ไม่มีการดำเนินการการจัดการเฟคนิวส์แบบเป็นรูปธรรมที่แน่นอนครับ คือทำกันแบบลูกทุ่งนิดนึง แต่ก็โชคดีที่สิ่งที่เราพัฒนาในระยะแรก โดยเฉพาะเรื่องการประกาศโรงพยาบาลต่างๆ ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้น ยังไม่อยู่ในจุดที่มีเฟคนิวส์มากนัก จึงทำให้ยังพอคัดกรองข้อมูลได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งทุกคนที่แจ้งเข้ามา ทางเราเช็กโปรไฟล์เบื้องต้นแล้วพบว่าเป็นบุคลากรในโรงพยาบาลนั้นจริงๆ และเราได้ทำการ re-check ที่อยู่จัดส่ง และเบอร์โทรเพื่อให้เป็นการส่งหน้ากากเข้าโรงพยาบาลจริงๆ ไม่ได้เข้าตรงไปที่คนใดคนหนึ่ง 

เคยเจอกรณีที่จะจัดส่งหน้ากากอนามัยให้แก่โรงพยาบาลแต่ไม่ได้รับไหม

ตอนนี้ยังครับ แต่คิดว่าคงมีอีกหลายโรงพยาบาลที่คงยังไม่ได้รับหน้ากากอนามัยแน่ๆ ครับ ยิ่งโรงพยาบาลที่อยู่ในถิ่นธุรกันดาร หรือ โรงพยาบาลขนาดเล็ก แต่ก็มีลูกเพจบางคนที่เขาส่งรูปมาให้ดูว่าเขาบริจาคไปยังโรงพยาบาลเช่นกันครับ ทำให้เห็นว่ามีน้ำใจจากเพื่อนๆ ที่คอยส่งช่วยเหลือหมอ พยาบาล อยู่ครับ

ในทีมแบ่งงานกันอย่างไร  มีความถี่ในการอัปเดทข้อมูลมากน้อยแค่ไหน

เรามีกันอยู่ประมาณ 7 คนครับ 6 คนพัฒนาระบบและอีก 1 คนทำกับข้าว เติมเสบียง เราทำนอกเวลางาน ช่วงเวลาราวๆ 21.00 – 2.00 . ของแต่ละวัน ถ้าวันไหนหมดแรงหรือติดธุระก็ได้ทำน้อยหน่อย ส่วนความถี่ในการอัปเดทตอนนี้ก็คือ ใครพอมีเวลา ก็แวบเข้าไปเติมข้อมูลโรงพยาบาลที่แจ้งเข้ามาครับ 

อุปสรรคปัญหาในการทำงานมีอะไรบ้าง

คงมี 2 เรื่องครับ

  1. การทำอะไร แบบเปิดตัวมากไม่ได้ ก็จะทำให้การทำอะไรแต่ละอย่างนั้นจะต้องมาระดมคิดกันก่อนว่าจะมีกระทบตามมาไหม จะส่งผลกับใครหรือเปล่า

  2. ความเหน็ดเหนื่อยครับ เพราะงานประจำที่ทำก็ยุ่งจนหัวฟูแล้วต้องทำงานนี้ต่อในตอนกลางคืน เพื่อแจกจ่ายข้อมูล แต่เห็นผลลัพธ์ที่มีเพื่อนๆ บริจาคส่งไปยังโรงพยาบาลจริงๆ ก็ชื่นใจละครับ

หลังจากเปิดใช้งานเว็บไซต์มาได้สักพัก มีเสียงตอบรับอย่างไรบ้าง แล้วมีผู้บริจาคหน้ากากอนามัยมากน้อยแค่ไหนแล้ว

ไม่ทราบถึงจำนวนผู้ที่บริจาคเลยครับ เพราะทางเรายังไม่มีระบบการแจ้งกลับมาว่าได้รับแล้วนะ หลักๆ เราเป็นแค่กระบอกเสียงให้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาล ต่อให้มีคนบริจาคไปจริง ก็คงไม่มีใครรู้ว่าที่บริจาคมาเป็นเพราะกระบอกเสียงจากเว็บไซต์ไหน คิดว่าอาจจะมีหลายๆ เว็บไซต์ หลายๆ เพจที่ช่วยกันประกาศด้วยมั้งครับ แต่ถ้าการที่มีคนแชร์ออกไปบอกต่อๆ กันก็พอมีอยู่บ้างแต่อาจจะไม่เยอะเท่าที่ควร ถ้าเทียบกับเพจใหญ่ๆ ครับ

หากต้องการแจ้งข้อมูลกับ Thaicov สามารถติดต่อทางไหนได้บ้าง

อินบ็อกซ์ทางเพจ ThaiCOV หรือผ่านช่องทางของคุณหมอที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว เช่นเพจ หมอแล็บแพนด้า, แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว, Drama-Addict เหล่านี้ครับ

พอจะทราบไหมว่าสถานการณ์ตอนนี้ของแต่ละโรงพยาบาลเป็นอย่างไรบ้าง

เท่าที่ทราบก็ค่อนข้างแย่พอสมควร จากที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งมีการสั่งซื้อหน้ากาก เจลแอลกอฮอล์โดยตรงจากทางบริษัทที่ขายอุปกรณ์การแพทย์ แต่ทางบริษัทเหล่านั้นไม่สามารถนำสินค้ามาจำหน่ายให้โรงพยาบาลได้ เช่นหน้ากากอนามัย ก็จะถูกบังคับจากโรงงานส่งไปยังกระทรวงพาณิชย์เพื่อแจกจ่ายต่อ เลยกลายเป็นว่าหน้ากากไปไม่ถึงโรงพยาบาล ซึ่ง ปัจจุบัน ก็มีโรงพยาบาลกว่า 100 โรงพยาบาลที่แจ้งถึงผลกระทบในครั้งนี้ 

หากมีผู้ส่งหน้ากากอนามัยไปที่โรงพยาบาลหนึ่งมากเกินไปจะมีการจัดการอย่างไรบ้าง

ในส่วนนี้เป็นข้อมูลที่ได้รับจากทางฝั่งคุณหมอที่เราติดต่อด้วยนะครับ หากโรงพยาบาลไหนหน้ากากหมด จะมีการขอหยิบยืมจากโรงพยาบาลใกล้เคียงในจังหวัดของตน อย่างโรงพยาบาลที่เพิ่งส่งข้อความเข้ามาก็จะถ่ายรูปแล้วส่งมาบอกว่าได้รับแล้ว และแบ่งให้โรงพยาบาลใกล้เคียงกี่กล่องเหลือใช้เองกี่กล่องอย่างนี้ครับ

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นในอนาคตทาง Thaicov จะเพิ่มการระบุถึงข้อมูลอย่างอื่นด้วยไหม

มีแผนที่จะพัฒนา ดังนี้ครับ 

  1. เพิ่มเรื่อง Frequently Asked Questions ให้ความรู้แก่ประชาชน ถึงการรับมือโควิด-19

  2. เพิ่มช่องทางการติดต่อ การกระจายข่าว ที่จะเข้าถึงคนได้มากกว่านี้

  3. เพิ่มประเภทของสถานที่ที่ต้องการหน้ากาก เช่น สนามบิน หรือศูนย์คมนาคมต่างๆ ครับซึ่งมีการติดต่อเข้ามาบ้างแล้ว

  4. อุปกรณ์การแพทย์ประเภทอื่นๆ ตอนนี้กำลังเพิ่มประเภทให้หลากหลายขึ้น เช่น เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากผ้า และชุดหมี ซึ่งอันนี้กำลังทำอยู่ครับ คิดว่าคงเสร็จภายในสัปดาห์นี้

แล้วต้องการความร่วมมือแบบไหนเพิ่มอีกไหม

คงต้องการในเรื่องกระบอกเสียงให้คนอีกมากมายได้รับทราบว่าเรามีเว็บไซต์ที่เป็นสื่อกลางในการรับแจ้งจากคุณหมอ คุณพยาบาลอยู่ และอีกอย่างหนึ่งเราขาดคนทำงานที่จะมาช่วยเติมข้อมูลอัปเดตต่างๆ ให้เพจหรือเว็บน่าติดตามมากขึ้น และที่สำคัญยังขาดโลโก้เพจครับ ถ้ามีใครมีไอเดียเสนอมา ถ้าเด็ดเราจะขอยืมเลยครับ (หัวเราะ)

Tags: , ,