แม้รัฐบาลจะเพิ่งมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2561 เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำไปใช้ในการรักษาภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้ แต่มีข้อกังวลว่า คนไทยอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการปลดล็อกให้ใช้กัญชาและกระท่อมรักษาโรคได้ เพราะมีบริษัทต่างชาติยื่นขอจดสิทธิบัตรกัญชาแล้วไว้แล้ว

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรรมการพิจารณาการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาปล่อยให้บริษัทต่างชาติยื่นคำขอจดสิทธิบัตรกัญชาแล้ว 9 คำขอ และได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้กรมฯ จะอ้างว่ายังไม่ได้ออกเลขสิทธิบัตรให้ แต่ในทางกฎหมายก็ถือว่า คำขอได้รับการคุ้มครองนับตั้งแต่วันที่ยื่นแล้ว ที่อาจมองได้ว่าเป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย

ต่อมา กรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้แจงว่า การยื่นคำขอรับสิทธิบัตร เป็นสิทธิที่ผู้ประดิษฐ์จะพึงดำเนินการได้ตามกฎหมายสิทธิบัตร หากคำขอสิทธิบัตรมีเอกสารครบถ้วนถูกต้อง เจ้าหน้าที่ก็จะต้องรับคำขอไว้ส่งให้ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรพิจารณาต่อไป พร้อมทั้งอธิบายว่า สารสกัดจากกัญชาจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร จะไม่มีใครเป็นเจ้าของสิทธิในสารสกัดจากกัญชาตามธรรมชาติ ทุกคนมีสิทธิที่จะวิจัยและนำมาใช้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 14 พฤศจิกายน ภาคประชาชนที่ติดตามเรื่องการเข้าถึงยา ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ และนักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา แถลงข่าวตอบโต้ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถยกคำขอได้ก่อน เมื่อตรวจพบคำขอที่ขัดต่อพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 9 ที่ระบุว่า การประดิษฐ์ต่อไปนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองทางสิทธิบัตร  (1) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช”และ (4) วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์ กรณีของกัญชาจึงห้ามข้อจดสิทธิบัตร

มูลนิธีชีววิถีโพสต์ในเพจ BIOTHAI เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนว่า “มีคำขอสิทธิบัตรจำนวนหนึ่ง เช่น คำขอสิทธิบัตร “ไฟโตแคนนาบินอยด์ในการรักษามะเร็ง” ของบริษัท GW Pharma และ Otzuka Pharmaceutical หมายเลขคำขอสิทธิบัตร 1201004672 ระบบ PCT ได้มีการประกาศโฆษณาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 นั้น ขัดต่อกฎหมายอย่างชัดเจน เนื่องจากเป็นการขอรับสิทธิบัตร “สารสกัดต้นแคนนาบิส (cannabis plant extract)” ซึ่งเป็นสารสกัดจากพืช อันเป็นข้อห้ามตามมาตรา 9 (1)

ใน พ.ร.บ.สิทธิบัตร มาตรา 28(1) เขียนอย่างชัดเจนว่า “ถ้าอธิบดีพิจารณาเห็นว่าคำขอรับสิทธิบัตรไม่ถูกต้องตามมาตรา 17 หรือการประดิษฐ์นั้นไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 9 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตรนั้น และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งคำสั่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตรหรือโดยวิธีการอื่นที่อธิบดีกำหนดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่อธิบดีมีคำสั่ง”  

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีกล่าวว่า “นอกจากเป็นความบกพร่องของกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว เรื่องนี้ยังเป็นความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งเคยประกาศยุทธศาสตร์ใช้ฐานความหลากหลายทางชีวภาพและองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นรากฐานของการพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจชีวภาพ”

ส่วนนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดเผยต่อสาธารณะว่า จนถึงขณะนี้ มีคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกัญชาจำนวนเท่าใด นอกจากนี้ กรมฯ จะต้องประกาศว่า จะดำเนินการตามพ.ร.บ.สิทธิบัตร หากไม่ดำเนินการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะต้องดำเนินการเอาผิด

ทางภาคประชาชนยังเห็นว่า การยื่นขอจดสิทธิบัตรส่งผลกระทบต่อประชาชน สถาบันวิจัย รวมทั้งองค์การเภสัชกรรมที่มีงานวิจัยและเตรียมขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชา เนื่องจากกฎหมายระบุว่าการคุ้มครองสิทธิบัตรเกิดขี้นนับตั้งแต่วันยื่นขอจดสิทธิบัตร ระหว่างรอผลการพิจารณา ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 7-8 ปี ผู้อื่นไม่สามารถขอจดทะเบียนซ้ำได้ จากประสบการณ์ทำงานพบว่าในกรณีของสิทธิบัตรยาที่ผ่านมา บริษัทมักใช้วิธีขู่ว่าจะดำเนินคดี

ส่วนความคืบหน้าของการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้วิจัยกัญชาไปใช้เป็นยาได้นั้น แม้คณะรัฐมนตรีมีไฟเขียวเมื่อต้นสัปดาห์ แต่ล่าสุด สภานิติบัญญัติแห่งชาติประกาศเลื่อนพิจารณาร่างพ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษออกไปก่อน จากเดิมที่น่าจะเข้าที่ประชุมวันที่ 16 พฤศจิกายน

โดยนายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติบอกว่า สนช. เป็นห่วงว่าหากไม่ดำเนินการเพิกถอนการขอจดสิทธิบัตรออกไปก่อน ก็เกรงว่าหากผ่านกฎหมายออกมา แล้วทำให้ต่างชาติได้รับรองการจดสิทธิบัตร ก็จะส่งผลกระทบต่อหน่วยงานภาครัฐและมหาวิทยาลัยที่จะศึกษาเรื่องนี้ จึงจะเชิญให้กรมทรัพย์สินทางปัญญามาชี้แจงในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้

 

อ้างอิง:

  • https://www.facebook.com/biothai.net/photos/a.467826533255873/2031738996864611/
Tags: , ,