ด้วยความช่วยเหลือทั้งแรงกายและแรงใจจากหลายฝ่าย ในที่สุด เด็กๆ จากทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีที่ติดเข้าไปอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนก็สามารถออกมาได้อย่างปลอดภัยหลังติดอยู่ภายในถ้ำนานกว่าสองสัปดาห์ ทำให้ผู้เฝ้าติดตามค่อยหายใจกันโล่งคอขึ้นหน่อย

แต่หลังจากนี้ ยังมีอีกหลายด่านที่เด็กๆ และโค้ชทีมหมูป่า ต้องเผชิญต่อไป ซึ่งตลอดระยะเวลาที่เกิดเรื่องนี้ ผู้คนทั้งในไทยและต่างประเทศ ต่างก็อดไม่ได้ที่จะหวนไปเปรียบเทียบกับอีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่ผู้ประสบภัยเจอข้อจำกัดบางส่วนคล้ายกัน นั่นคือเหตุการณ์เหมืองทองคำถล่มในประเทศชิลี จนทำให้คนงานเหมือง 33 คนต้องติดอยู่ใต้หินก้อนใหญ่ขนาดเท่ากับตึกเอมไพร์สเตทนานกว่า 69 วัน ในปี 2010

เรียนรู้จากเหตุเหมืองชิลีถล่ม ชีวิตยังต้องดำเนินชีวิตต่อ

ย้อนกลับไปยังเหตุการณ์เหมืองทองคำในประเทศชิลีถล่ม เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2010 คนงานเหมือง 33 คนดำรงชีวิตด้วยทูน่ากระป๋องและขนมปังกรอบที่มีไม่มากนัก โดยที่ไม่รู้ว่าจะมีใครเจอพวกเขาหรือไม่ ด้านบน หน่วยกู้ชีวิตเริ่มขุดรูลงไปในภูเขาและพยายามหาตำแหน่งของคนงาน หลังจากผ่านไป 17 วัน จึงได้พบกระดาษเขียนข้อความเล็กๆ ผูกติดมากับหัวขุดเจาะว่า “พวกเราทั้ง 33 คนปลอดภัยดีในเชลเตอร์”

ตอนนั้น กว่าพันล้านคนทั่วโลกติดตามการถ่ายทอดสดขณะที่คนงานเหมืองค่อยๆ ถูกลำเลียงขึ้นมาบนพื้นดินทีละคน ด้วยแคปซูลที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะที่ชื่อว่าฟีนิกซ์ (Phoenix) กระบวนการช่วยเหลือใช้เวลาราว 24 ชั่วโมง โดยใช้งบประมาณไปราว 600 ล้านบาท

หลังปลอดภัยแล้ว คนงานเหมืองซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Los 33” ได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์จำนวนมากในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งเดินทางไปเยือนสถานที่สำคัญหลายแห่ง ทั้งดิสนีย์เวิลด์ ล่องเรือไปตามหมู่เกาะประเทศกรีซ ไปเยือนทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด  รวมถึงเยรูซาเล็ม รวมถึงบทความและหนังสืออีกมากมาย

5 ปีถัดมา หลังจากรอดชีวิตออกมา มีภาพยนตร์เรื่อง 33 ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของคนงานเหมืองออกฉาย หลังจากนั้น สำนักข่าวหลายแห่งไปติดตามดูว่าชีวิตของคนงานเหมืองเคยติดอยู่ใต้ดินนาน 69 วัน เป็นอย่างไร

แต่ชีวิตจริงอาจไม่งดงามเหมือนกับตอนจบของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด

ชาวเหมืองบางคนพยายามประกอบอาชีพอื่นๆ แต่ก็ล้มเหลวต้องกลับไปทำงานในเหมือง (ที่เป็นบาดแผลของพวกเขา) อีกครั้ง บางคนเผชิญกับโรคพิษสุราเรื้อรังหรือติดยาเสพติด หลายคนต้องกินยาต้านภาวะซึมเศร้า ทุกข์ทรมานจากฝันร้ายและภาพย้อนอดีตซ้ำ

กระทั่งมาริโอ เซปุวิดา (Mario Sepulveda) หัวหน้ากลุ่มที่มีชื่อเล่นว่า ซูเปอร์มาริโอ จากการที่เป็นคนมองโลกในแง่ดีมากๆ ก็ยังต้องต่อสู้กับความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย

“เมื่อคนเห็นภาพต่างๆ ของการช่วยเหลือ พวกเขาคิดว่านรกสิ้นสุดแล้ว แต่ในความเป็นจริงมันเพิ่งเริ่มต้นขึ้น” เขากล่าว

เขากล่าวว่า เขาและเพื่อนๆ ที่มีอายุระหว่าง 19-63 ปี ถูกกดขี่และละทิ้งจากบริษัทเหมืองที่พยายามหลีกหนีความผิดจากพิบัติภัยครั้งนี้ จากนักการเมืองที่ใช้ปฏิบัติการนี้เพื่อหาคะแนนนิยม และจากทนายความซึ่งให้คำปรึกษาแก่คนงานเหมืองได้แย่มาก ทั้งยังโกงพวกเขาด้วย

“ทุกคนได้รับประโยชน์หมด ยกเว้นพวกเรา”

ตอนที่เขาพบกับนักแสดงที่เล่นเป็นเขาในภาพยนตร์ เขาของานเป็นนักแสดงตัวประกอบหนัง แต่หลังจากนั้นก็ถูกกันออกจากตัวภาพยนตร์ ในวันเปิดตัวภาพยนตร์ คนงานเหมือง 4 คนได้รับเชิญไปร่วมงาน โดยไม่มีซูเปอร์มาริโอ

ยิ่งไปกว่านั้น คำตัดสินในปี 2013 ซึ่งไม่ดำเนินคดีกับใครเลยก็ทำให้เขารู้สึกแย่มากขึ้นไปอีก

“เราเป็นแค่คนที่ทำงานที่อยู่ลงไปในเหมือง และขึ้นมาอยู่ในโรงละครสัตว์ จากนั้นโลกก็ลืมเรา”

เอดิสัน เปญ่า (Edison Peña) หนึ่งใน 33 คนงานที่ระบายความเครียดและกดดันด้วยการวิ่งจ๊อกกิ้งทุกๆ วันที่ติดอยู่ในเหมือง จนถูกเรียกว่า ‘The Runner’ หลังถูกช่วยออกมา เขาต้องเข้ารับการรักษาในศูนย์ฟื้นฟู 2 ครั้ง นายจ้างคิดเขามีปัญหาจากสภาพจิตใจที่ไม่เสถียรจึงไม่ยอมรับเข้าทำงาน ส่วนบริษัทเหมืองอื่นๆ กลัวว่า การจ้างคนงานที่มีชื่อเสียงเหล่านี้จะกลายเป็นจุดสนใจโดยไม่ตั้งใจซึ่งอาจจะสร้างปัญหาให้กับบริษัทได้

คนงานที่อายุมากได้รับเงินบำนาญจากรัฐด้วยเงินที่น้อยกว่าเงินเดือนของคนงานเหมืองครึ่งหนึ่ง ฆอร์เก กัลเลกุยโล (Jorge Galleguillo) จึงต้องหารายได้เสริมด้วยการเป็นไกด์พาเที่ยวรอบๆ ที่เกิดเหตุ ฝันร้ายยังคงทำให้เขาตื่นตอนตี 4 ทุกคืน

อเล็กซ์ เวกา (Alex Vega) คนงานเหมืองอีกคนเข้าใจความรู้สึกดีนี้ จิตแพทย์บอกว่าเขาดีขึ้นมากแล้วจากตอนแรก เขาดูจะดีกว่าคนงานคนอื่นๆ เนื่องจากการทำงานเป็นช่างเครื่องกลตั้งแต่เช้าจนดึก เพราะไม่ต้องการสมองว่าง “ต้องทำให้ในหัวยุ่งๆ เข้าไว้ ถ้าผมไม่ทำงาน ความทรงจำเหล่านั้นจะเริ่มหลั่งไหลออกมา”

ชาวเหมืองอีกคนหนึ่ง โอมาร์ เรย์กาลาส (Omar Reygadas) บอกว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เขาเปลี่ยนไปเป็นคนละคน จากคนที่ชอบสังคม แต่ตอนนี้อยากอยู่คนเดียว “เมื่อผมรอดออกมาได้ ผู้คนต่างต้องการประเด็นอะไรสักอย่างจากผม และ ตอนนี้ผมเกลียดเวลาโทรศัพท์ดัง ผมรู้สึกโกรธง่ายขึ้นด้วย และแม้ว่าผมจะรักแฟนผมมาก แต่ตอนนี้กลับรู้สึกโล่งใจที่ไม่ต้องแชร์บ้านกับเธอ เพราะผมต้องการพื้นที่ส่วนตัว”

แม้จะไม่ใช่กรณีเดียวกันเป๊ะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญ ว่าไม่ควรมีใครกลายเป็นเพียงละครสัตว์ที่จะถูกจับจ้องเพียงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยลืมว่าพวกเขาก็ต้องเป็นมนุษย์ที่ควรได้รับการเยียวยาจากสิ่งที่เกิดขึ้น และสำหรับเขาเรื่องมันไม่ได้จบลงแค่ในวันที่สื่อหรือผู้คนเลิกสนใจใคร่รู้เรื่องของพวกเขาอีกต่อไปแล้ว

กายปลอดภัยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือดูแลจิตใจ

เร็วๆ นี้เอง นายแพทย์ จีน คริสโตเฟอร์ โรแมคโนลี (Jean Christophe Romagnoli) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกีฬาซึ่งเคยทำหน้าที่ออกแบบโปรแกรมเพื่อช่วยเหลือคนงานเหมืองชาวชิลี และอัลแบร์โต อิเทอร์รา เบนาวิเดส (Alberto Iturra Benavides) นักจิตวิทยาให้คำปรึกษา ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นถึงประสบการณ์การช่วยเหลือคนงานเหมืองเมื่อปี 2010 เปรียบเทียบกับกรณีของทีมฟุตบอลหมูป่า

โรแมคโนลีบอกว่าการรักษาสภาพจิดใจเป็นส่วนที่ยากที่สุด ทีมฟุตบอลหมูป่าไม่ได้เตรียมตัวมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกขังแบบนี้ ไม่เหมือนกับคนงานเหมืองที่คุ้นเคยกับการอยู่ในพื้นที่แคบ อาการกลัวที่แคบหรือความกลัวแบบอื่นๆ อาจเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การเป็นนักฟุตบอลที่เล่นกีฬาเป็นทีม ต้องอาศัยความเป็นทีมเวิร์คที่เข้มแข็ง ก็อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบนี้ได้

“เราต้องเข้าใจว่า นี่อาจจะเป็นการผจญภัยครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของพวกเขา ในบริบทแบบนี้ สิ่งที่ทำได้ง่ายก็คือ การสร้างความบันเทิงและอดทนกับพวกเขา ในสถานการณ์ที่เปราะบาง จำเป็นมากที่จะรักษาบุคลิกขี้เล่นและสนุกสนานไว้ ดังนั้นทีมกู้ชีพต้องไม่เพิ่มความโกรธ ความเครียด การตัดสิน ที่จะทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้น เด็กๆ ไม่ต้องรู้ความท้าทายที่ผู้ใหญ่และคนทั้งประเทศเผชิญอยู่ พวกเขาเพียงแต่ต้องรู้ว่ามีคนรักและพวกเขาได้รับอนุญาตจากผู้ใหญ่แล้วว่าให้พักผ่อนได้ อย่าขัดขวางความเป็นไปได้ต่างๆ โดยไม่วิเคราะห์และทดสอบกับพวกเขา” เบนาวิเดส กล่าว

ปัญหาพื้นฐานแบบเดียวกับกรณีของเหมืองชิลีก็คือ สภาวะจิตใจที่เผชิญกับความไม่แน่นอนระหว่างการได้รับความช่วยเหลือ ในช่วงเวลาที่คนเจอพวกเขาแล้ว แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะรอดชีวิตออกไปหรือไม่ ความไม่แน่นอนเหล่านี้สร้างความกลัว และอาจกลายเป็นหายนะได้ถ้าจัดการไม่ดี สิ่งที่สถานการณ์เช่นนี้ต้องการมากที่สุดคือ ‘เสถียรภาพ’

ด้านราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยก็ได้เผยแพร่ข้อเสนอแนะต่อผู้ประสบภัยว่า ก่อนออกมาจากถ้ำ เด็กและโค้ชควรได้รับการบอกกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอกในช่วงที่พวกเขาติดอยู่ในถ้ำ โดยเน้นการให้ข้อมูลที่เป็นจริง และต้องระวังการเล่าที่พูดถึงอารมณ์ ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ

เมื่อเด็กและโค้ชออกมาสู่โลกภายนอก ควรรีบให้เด็กและโค้ชกลับเข้าสู่กิจวัตรประจำวันของชีวิตตามปกติเหมือนช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ ควรหลีกเลี่ยงการดูข่าวหรือสื่อโซเชียลที่มีการนำเสนอข่าวที่เกิดขึ้นและวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่มีความรู้สึก/อารมณ์ทั้งทางบวกและทางลบต่อเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงฯ

อีกทั้ง ไม่ควรให้เด็กและโค้ชต้องพูดหรือเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ทั้งการออกสื่อ การสอบถามจากครอบครัว โรงเรียนและชุมชน เพราะเป็นอันตรายต่อการพัฒนาเติบโตของเด็ก ทั้งนี้ต้อง ติดตามการปรับตัวของเด็กและโค้ชอย่างต่อเนื่องหลังจากกลับสู่ครอบครัวและชุมชน

บทเรียนที่นำมาใช้ได้ในปี 2018

หลังจากที่ทีมหมูป่ารอดชีวิตออกมาได้แล้ว สำนักข่าวรอยเตอร์ได้ไปสัมภาษณ์ คนงานเหมืองชิลีอีกครั้ง หลุยส์ เออร์ซัวร์ (Luis Urzua) ซึ่งขณะนี้อายุ 62 ปี แนะนำให้เด็กๆ ที่รอดชีวิตมาได้ ให้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวและหลีกเลี่ยงข้อเสนอทางการเงินต่างๆ

“พวกเขาและครอบครัวไม่มีความสามารถพอที่จะจัดการกับเรื่องแบบนี้ เราเองที่เป็นผู้ใหญ่ก็ทำไม่ได้” เออร์ชัวร์ยังแนะนำให้เด็กๆ ทีมหมูป่าออกมาเล่าเรื่องก็ต่อเมื่อพวกเขาพร้อมแล้วเท่านั้น และหวังว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องราวแห่งความหวังและศรัทธา ดังเช่นเรื่องราวของพวกเขาที่ชิลี

ตอนนี้เขาทำงานให้กับหน่วยงานด้านเหมืองและธรณีวิทยาแห่งชิลีในตำแหน่งโฆษก เขาบอกว่า คนงานเหมืองหลายคนจากเหตุการณ์นั้นยังมีปัญหาด้านสุขภาพจิตและทำงานไม่ได้ “เกือบทุกคนมีปัญหาทางจิตใจ พวกเขานอนไม่หลับหรือรู้สึกไม่ดี พวกเขาอยู่ในภาวะหดหู่”

โอมาร์ เรย์กาเดสให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า “ผมทุกข์ทรมานจากภาวะวิตกกังวล และตอนนี้ต้องกลับมาหานักบำบัดอีกครั้ง” “มีหลายคนสัญญากับเราไว้ แต่จากนั้นเราก็ถูกลืม ผมหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นกับพวกเขา”

ทั้งคนงานเหมืองชาวชิลีและทีมหมูป่า ต่างก็เผชิญกับความยากลำบากคล้ายๆ กัน โรแมคโนลีบอกว่า ความแตกต่างระหว่างสองเหตุการณ์นี้ อยู่ที่อายุและสภาพแวดล้อม

คนงานเหมืองมีโรคเรื้อรังมากมาย เช่น ความดันเลือดสูง เบาหวาน ส่วนเด็กๆ ไม่น่าจะมีโรคเหล่านี้ เพราะโรคพวกนี้เป็นในคนที่อายุเกิน 30 ปีขึ้นไป

คนงานเหมืองอาจมีสภาพจิตใจที่เข้มแข็งกว่าเพราะพวกเขาเคยชินกับที่แคบ จึงไม่ตื่นตระหนกง่ายๆ

สภาพในเหมืองชิลีก็ไม่เปลี่ยนแปลงมาก ส่วนในถ้ำ ต้องคอยลุ้นว่าระดับน้ำอาจจะสูงขึ้น และอากาศที่น้อยลงเต็มที

ข้อดีของการที่ยังเด็กอยู่ก็คือ ปฏิกิริยาตอบสนองทางจิตวิทยาของคนที่อายุน้อยกว่าอาจจะดีกว่าคนงานเหมือง เบนาวิเดส นักจิตวิทยายังแนะนำว่า สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือภาวะผู้นำของโค้ช การให้ความเคารพเขาจะช่วยรักษาความสงบและทำให้ความเครียดลดลง และนำไปสู่สถานการณ์ทางบวกได้ รวมทั้งไม่มีภาวะบอบช้ำทางจิตใจหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้

 

ที่มา:

Tags: , ,