อินสตาแกรมมีปุ่ม Explore เป็นฟีเจอร์ที่คัดสรรโพสต์ที่ระบบอัลกอริทึ่มติดตามกิจกรรมการใช้งานของผู้ใช้ และวิเคราะห์ข้อมูลอกมาเป็นการแสดงโพสต์ที่ผู้ใช้งานแต่ละคนสนใจ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบการถูกสอดส่องแบบนี้ วัยรุ่นในอเมริกาจึงใช้การหลอกระบบอัลกอริทึ่มเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว

วิธีในการปั่นป่วนระบบอัลกอริทึ่มติดตามการใช้งานของอินสตาแกรมเป็นการใช้บัญชีร่วมกันของกลุ่มคนหลายคน จากอุปกรณ์หลายตัว โดยให้แต่ละคนสามารถเข้าถึงแอคเคาต์นั้นได้พร้อมกัน ก่อนที่จะโพสต์เนื้อหาต่างๆ แบบสะเปะสะปะผ่านแอคเคาท์นั้น เช่น คนแรกโพสต์เรื่องแฮมเบอร์เกอร์ จากเยอรมนี อัลกอริทึ่มจะเข้าใจว่าแอคเคาต์นี้สนใจเรื่องอาหาร หรือการเดินทาง แต่ในเวลาเดียวกัน คนที่สองก็รีเฟรชปุ่ม Explore แล้วโพสต์เรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนแรกเลย อัลกอริทึ่มของอินสตาแกรมก็จะเริ่มได้รับข้อมูลที่สับสน และลองคิดดูว่าถ้าแอคเคาต์นี้มีคนใช้ร่วมกัน 20 คน อัลกอริทึ่มติดตามรูปแบบการใช้งานของอินสตาแกรมก็จะต้องเผชิญกับข้อมูลที่สับสนอลหม่าน และยากต่อการวิเคราะห์มากน้อยแค่ไหน 

ฉันอยากจะรู้ว่า ถ้ามีใครสักคนเจอแอคเคาต์ของฉัน เขาจะไม่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของฉันได้ว่า ฉันไปที่โรงเรียนนี้ตอนกี่โมง หรือฉันทำงานที่นี่ และฉันสนใจสิ่งต่างๆ มากมายซาแมนธ่า มอสลีย์ นักเรียนไฮสคูลที่ใช้วิธีการนี้ร่วมกับกลุ่มเพื่อนและพ่อของเธอ กล่าวถึงการที่วัยรุ่นพยายามปกป้องความเป็นส่วนตัวจากอินสตาแกรมในงานประชุมเหล่าแฮกเกอร์ Shmoocon ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี

มอสลีย์ค้นพบเทคนิคนี้หลังจากเธอสร้างแอคเคาต์อินสตาแกรมสำหรับทีม First Lego League ตอนเรียนระดับจูเนียร์ ไฮสคูล โดยเป็นแอคเคาต์ที่แชร์กันในหมู่สมาชิกทีม และพวกเขาพบว่า แต่ละครั้งที่แต่ละคนใช้งาน ระบบจะคัดสรรเนื้อหาที่แตกต่างกันมาให้ และมอสลีย์ก็ได้ทดลองแชร์แอคเคาต์นี้กับลูกพี่ลูกน้องที่อยู่คนละรัฐ ทำให้เธอรู้ว่าการแชร์แอคเคาต์สามารถช่วยอำพรางการติดตามของอินสตาแกรมได้ โดยเธออธิบายว่าวิธีการนี้ต่างจากสิ่งที่เรียกว่า finsta หรือบัญชีอินสตาแกรมปลอมสำหรับแชร์เนื้อหาที่คุณไม่ได้อยากจะแชร์ให้คนอื่นรู้ โดยมอสลีย์ระบุว่าบัญชี finsta ให้ความเป็นส่วนตัวจากผู้ใช้อินสตาแกรมคนอื่น แต่ไม่ได้เป็นส่วนตัวจากระบบของอินสตาแกรม

ขณะที่เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นเจ้าของอินสตาแกรมระบุว่าวิธีการนี้ไม่ได้ผิดข้อกำหนดในการใช้งานแต่อย่างใด  แต่ก็ไม่แนะนำให้ทำ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

เป็นที่รู้กันดีว่าผู้ให้บริการเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลกอย่างเฟซบุ๊ก กูเกิ้ล อินสตาแกรม หรือ แอมะซอน ต่างเก็บข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้ นอกจากนี้ บริษัทอย่าง LiveRamp ที่มีพันธมิตรเป็นบริษัททางการตลาดนับร้อยบริษัทยังให้บริการด้านการเก็บข้อมูลกิจกรรมออฟไลน์ควบคู่ไปกับตัวตนในโลกออนไลน์อีกด้วย ทำให้วัยรุ่นรู้สึกว่าพวกเขาถูกติดตามสอดส่องเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากพ่อแม่ รวมไปถึงฝ่ายปกครองของโรงเรียน

ที่มา

https://www.cnet.com/google-amp/news/teens-have-figured-out-how-to-mess-with-instagrams-tracking-algorithm/?__twitter_impression=true 

https://www.reddit.com/r/socialmedianews/comments/eyuu5d/teens_have_figured_out_how_to_mess_with/

https://www.superpunch.net/2020/02/teens-have-figured-out-how-to-mess-with.html

ภาพ : Dado Ruvic/REUTERS

Tags: , ,