ทำไมวิชาฟิสิกส์ถึงน่าเบื่อ?

ใครเรียนสายวิทย์ฯ อาจยกมือค้านสุดฤทธิ์ (หรือคนสายศิลป์จะชอบเรียนก็ไม่ว่ากัน) แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าฟิสิกส์เป็นวิชาสุดหิน เพราะเรียนแล้วไม่เข้าใจ จำสูตรไม่ได้ แก้โจทย์ไม่เป็น สอบตก เกรดแย่ ฯลฯ จนไม่ชอบวิชานี้ไปในที่สุด

น่าเสียดายที่ ‘ความไม่เข้าใจ’ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำให้เราขาดทักษะความรู้ที่จำเป็นในวันข้างหน้า

และเป็นหนึ่งในเหตุผลอีกมากมายที่ทำให้คนโทษระบบการศึกษา

แต่ขณะเดียวกัน ‘ความไม่เข้าใจ’ ก็ผลักดันให้เราคิดหาทางแก้ไขด้วยวิธีที่สนุกและท้าทายยิ่งขึ้น
กลุ่มนักศึกษาฝึกงานจาก Moment บริษัทออกแบบในอเมริกา ได้ออกแบบเครื่องมือการเรียนรู้แบบใหม่ที่เรียกว่า ‘Mixed Reality’ ซึ่งผสานเทคโนโลยี Virtual Reality และ Augmented Reality เข้ากับอุปกรณ์การทดลองวิทยาศาสตร์ เพื่ออธิบายทฤษฎีฟิสิกส์ยากๆ ให้เห็นภาพและเข้าใจง่ายขึ้น เช่น แอโรไดนามิก ความเร่ง และแรงโน้มถ่วง พร้อมกับเปิดโอกาสให้เด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมและทดลองด้วยตัวเอง

โปรเจกต์เชิงทดลองสุดสร้างสรรค์นี้มีชื่อว่า ‘Peer’

ออกแบบการเรียนรู้ที่โลกเสมือนมาบรรจบกับความจริง

ผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์นี้ คือ ซาราห์ มิตราโน (Sarah Mitrano), เอียน มอร์โรว์ (Ian Morrow) แอนเดรีย เอเวอร์แมน (Andrea Everman) และเดเนียล พาร์ก (Daniel Park) ที่สำคัญทุกคนยังเป็นนักศึกษาฝึกงาน
พวกเขามองว่าแทนที่จะให้เด็กๆ เรียนผ่านแท็บเล็ต หรือแค่สวมแว่น VR แล้วต่างคนต่างเรียนตามปกติ ทำไมไม่ออกแบบเครื่องมือที่กระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ร่วมกันและเปลี่ยนความน่าเบื่อของวิชายากๆ ให้เข้าใจง่ายขึ้นล่ะ?

ชุดเครื่องมือนี้ประกอบด้วยอุปกรณ์การทดลองฟิสิกส์ขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่มีเซ็นเซอร์ติดตั้งข้างใน และแว่น VR แบบกล่องกระดาษ (คล้ายๆ Google Cardboard) เซ็นเซอร์เหล่านี้จะบันทึกข้อมูลการทดลองบนโต๊ะเรียน (physical data) และส่งไปยังระบบคลาวด์ที่เชื่อมต่อกับ VR และ AR เพื่อจำลองการทดลองทางวิทยาศาสตร์

ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์จะอธิบายหลักการของพลศาสตร์หรือแรงของอากาศที่กระทำต่อวัตถุ โดยให้เด็กๆ เรียนผ่านกล้อง VR จากนั้นจึงให้เด็กๆ ทดลองออกแบบใบพัดกังหันลมและจำลองการสร้างกระแสลมที่ทำให้ใบพัดหมุนเร็วที่สุดเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไปเลี้ยงเมืองได้เพียงพอ วิธีนี้จะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ และทดลองทำไปด้วย จนเกิดความเข้าใจนั่นเอง
Peer ยังเหมาะกับเด็กๆ อายุ 9-14 ปี ที่อยากเรียนรู้วิชาฟิสิกส์พื้นฐานด้านอื่นๆ สำหรับเด็กอายุ 9-14 ปี เช่น ความเร่ง (acceleration) พันธะในโมเลกุล (bond) แรง (force) คลื่น (wave) และแรงโน้มถ่วง (gravity)

แม้ว่าไอเดียนี้จะเป็นแค่คอนเซ็ปต์ แต่ทีมงานได้ยึดหลักการทำงานตามกระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking ตั้งแต่การคิดริเริ่มไอเดียใหม่ๆ จากปัญหา สำรวจความต้องการของผู้ใช้ หาทางแก้ไข ออกแบบโปรโตไทป์ และทดสอบซ้ำๆ หลายครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าจะเกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด และตอบโจทย์การใช้งานที่แท้จริง

ในระหว่างการพัฒนาโปรดักต์ พวกเขาได้ไปสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นักวิจัย ครูอาจารย์ในโรงเรียนที่ส่งเสริมการศึกษาปฐมวัยแบบ STEAM (Science, Technology, Engineering, Art and Math) เหล่าเมกเกอร์ที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษา และบริษัททำหนัง VR เพื่อแปลงอินไซต์ให้เป็นคอนเซ็ปต์ที่มีความเป็นไปได้จริง

จอห์น เพน (John Payne) ผู้อำนวยการบริษัท Moment ซึ่งเป็นคนดูแลภาพรวมของโปรเจกต์นี้อธิบายว่าจุดประสงค์ของโปรเจกต์นี้ไม่ใช่การลดบทบาทหน้าที่ของครู แต่เป็นการหาทางออกให้กับระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม
“เราอยากรู้ว่า VR จะช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อมของการศึกษาในปัจจุบันและเสริมศักยภาพของอาจารย์ให้ดียิ่งขึ้นหรือเปล่า มากกว่าที่จะเอาเข้ามาแทนที่การเรียนการสอนแบบเดิม”

ปัจจุบันหลายประเทศกำลังกังวลว่าเด็กเจเนอเรชันอัลฟาที่โตมากับเครื่องมือสื่อสารแบบแท็บเล็ต สมาร์ตโฟน และอุปกรณ์อัจฉริยะจะมีปัญหาด้านการเรียนรู้หรือมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าเด็กรุ่นก่อนๆ แต่โปรเจกต์ Peer กลับแสดงถึงความเป็นไปได้ว่าเครื่องมือเรียนรู้ที่เชื่อมต่อโลกดิจิทัลเข้ากับห้องเรียนเข้าด้วยกันอาจช่วยปลดล็อกปัญหาดังกล่าว และเปลี่ยนความน่าเบื่อในห้องเรียนให้เป็นประสบการณ์สุดสนุกได้เช่นกัน

ที่สำคัญ การแก้ปัญหาระบบการศึกษาอาจต้องเริ่มแก้ที่ทัศนคติของตัวเองก่อน

 

ภาพประกอบ: peer.momentnyc.com

อ้างอิง:

Tags: , ,