การแพทย์ทุกวันนี้ก้าวหน้าไปไกลมากจนมนุษย์ในอนาคตอาจไม่ต้องกลัวการบาดเจ็บหนักๆ อย่างอัมพาตอีกต่อไป
วันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส (Swiss Federal Institute of Technology) ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยผ่านวารสาร Nature ว่าสามารถทำให้ลิงวอก (Rhesus Monkey) ที่เป็นอัมพาตกลับมาเดินได้อีกครั้งด้วยอุปกรณ์ส่งสัญญาณแบบไร้สายจากสมองไปกระตุ้นยังไขสันหลังโดยตรงเป็นครั้งแรก
ไขสันหลังเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เหมือนสายเชื่อมต่อการส่งสัญญาณระหว่างสมองกับอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย การบาดเจ็บที่ไขสันหลังจึงเป็นเหมือนฝันร้าย เพราะอาจทำให้เป็นอัมพาตช่วงลำตัวตั้งแต่ตำแหน่งที่ได้รับบาดเจ็บลงไป ซ้ำร้ายเส้นประสาทบริเวณไขสันหลังยังฟื้นตัวได้ยาก ทำให้ความหวังที่จะกลับมาเป็นปกตินั้นริบหรี่เต็มทน
แต่ทีมนักวิจัยได้ใช้วิธีฝังชิปลงไปที่เปลือกสมองส่วนมอเตอร์คอร์เท็กซ์ (Motor Cortex) ซึ่งสมองส่วนนี้จะส่งกระแสประสาทไปควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อที่อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจทั่วร่างกาย
ชิปดังกล่าวจะอ่านค่ากระแสไฟฟ้าที่สมองแล้วถอดรหัสออกมาว่า กระแสประสาทลักษณะนี้หมายถึงการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้ออะไรและเคลื่อนไหวอย่างไร จากนั้นจะส่งสัญญาณแบบไร้สายไปสั่งการอุปกรณ์สร้างกระแสไฟฟ้าที่ฝังไว้ที่ไขสันหลัง เพื่อกระตุ้นเส้นประสาทโดยตรงด้วยการตอบสนองที่แทบจะเป็นแบบเรียลไทม์
หลังจากขั้นตอนการฝังชิปผ่านพ้นไป ก็เข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ ทีมนักวิจัยพบว่าลิงวอกสามารถลงน้ำหนักบนขาข้างที่เป็นอัมพาตได้เกือบเป็นปกติ ทั้งบนพื้นและบนสายพานภายในเวลา 6 วัน ส่วนการเดินเลี้ยวโค้งนั้นยังไม่สามารถทำได้
การผ่าตัดฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในลักษณะนี้อาจทำให้ยุคที่มนุษย์เราสามารถผสานร่างกายเข้ากับเครื่องจักรได้อย่าง ‘ไซบอร์ก’ อาจใกล้เข้ามาอีกขั้นหนึ่ง
ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านนี้กำลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งการกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation) เพื่อแก้ไขการเดินในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน การสั่งการแขนกลด้วยคลื่นสมอง การกระตุ้นไขสันหลังเพื่อทำให้ผู้ป่วยอัมพาตกลับมาเล่นกีตาร์หรือแม้กระทั่งกลับมายืนได้อีกครั้ง
แต่การจะทำให้ผู้ป่วยอัมพาตกลับมาเดินได้เป็นปกติ อาจยังต้องใช้เวลาวิจัยกันอีกหน่อย เนื่องจากลิงวอกเดิน 4 ขาต่างจากมนุษย์ที่เดิน 2 ขา กลไกควบคุมการเคลื่อนไหวจึงแตกต่างกันทั้งในแง่ของการทรงตัว การหักเลี้ยว และการหลบหลีกสิ่งกีดขวาง
แม้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นก้าวเล็กๆ ของลิงวอก แต่นับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่สำหรับผู้ป่วยอัมพาต!
ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง:
– http://www.bbc.com/news/health-37914543
– dx.doi.org/10.1038/nature20118
– dx.doi.org/10.1038/nm.4025