ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์มีพิษจากอินเดีย เคนยา ไนจีเรีย อังกฤษ และสหรัฐฯ รวมตัวกันเพื่อคิดค้นและพัฒนาแอนติบอดีที่จะช่วยรักษาอาการจากการถูกงูกัด โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกับที่ใช้ค้นพบแอนติบอดีของเชื้อเอชไอวี

คณะทำงานนี้จะคิดค้นยาแก้พิษที่มีส่วนประกอบของ “ภูมิคุ้มกันมนุษย์” แทนการรักษาด้วยสารที่ได้จากสัตว์ในปัจจุบัน ซึ่งในบางครั้งอาจทำให้เกิดผลร้ายกับผู้ที่ถูกงูกัดบางราย เพราะถือเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในร่างกายมนุษย์

การรักษาพิษงูที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นการรักษาที่คิดค้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 คือการรีดพิษออกมาจากงูแล้วฉีดเข้าไปในสัตว์ใหญ่อย่างม้า เพื่อนำแอนติบอดีจากม้ามาใช้กับมนุษย์ หรือที่เรียกว่า เซรุ่มแก้พิษงู แต่เนื่องจากวิธีนี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ผู้ถูกกัดจึงต้องมารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งอาจอยู่ห่างไกลจากชุมชนของตัวเองถึง 2-3 ชั่วโมง ในบางกรณี กว่าจะถึงโรงพยาบาล คนไข้ก็พิการหรือเสียชีวิตไปก่อน

ศาสตราจารย์โรเบิร์ต แฮร์ริสัน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเกี่ยวกับการถูกงูกัด สถาบันการแพทย์เขตร้อนแห่งลิเวอร์พูล กล่าวว่า “เราพยายามค้นหาการรักษาอาการถูกงูกัด “ยุคใหม่” ซึ่งเราหวังว่าจะสามารถรักษาพิษงูในแอฟริกาและอินเดียได้ภายในชุมชน โดยไม่ต้องส่งตัวต่อไป”

พิษงูได้คร่าชีวิตคน 138,000 คนในแต่ละปี และทำให้ 400,000 คนต้องพิการถาวร เหยื่อเหล่านี้มักจะมาจากแถบที่อยู่อาศัยที่ยากจนที่สุดในแอฟริกาและอินเดีย ซึ่งเข้าถึงยาต้านพิษได้ยากหรือไม่ได้เลย

“ในพื้นที่บางส่วนของแอฟริกาและเอเชีย การถูกงูกัดเป็นภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกวัน” โรซี สจวร์ต เลขาธิการการด้านการพัฒนาสากลแห่งสหราชอาณาจักรซึ่งจะร่วมให้ทุนสนับสนุนการวิจัยนี้กล่าว และบอกว่าวิธีการใหม่นี้จะเป็นการรักษาที่เข้าถึงง่าย มีประสิทธิภาพ และไม่แพง

เมื่อสองปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดประเภทให้การถูกงูกัด ถือเป็นโรคที่ไม่ได้รับการรักษาในเขตร้อน และเปิดตัวยุทธศาสตร์ในระดับโลกในการลดอัตราการเสียชีวิตและพิการนี้ให้เหลือครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 ซึ่งการรวมกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญครั้งนี้ก็เป็นความหวังของยุทธศาสตร์ดังกล่าว

แนวทางใหม่ในการค้นหาการรักษาอาการงูกัดที่จะใช้ได้อย่างเป็นสากลนี้ เกิดขึ้นหลังจาก ดร.เดวิน ซ็อค นักวิทยาศาสตร์เอชไอวีชาวอเมริกัน ค้นพบว่าวิธีการที่ใช้ในการระบุตำแหน่งแอนติบอดีต้านเอชไอวีอาจจะสามารถนำมาใช้กับการรักษาอาการงูกัดได้ เขาจึงติดต่อกับโรเบิร์ต แฮร์ริสัน

“คณะทำงานของเราเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ปัญหาหลักๆ เกี่ยวกับสาธารณสุขของโลก อย่างการถูกงูกัด สามารถหาทางแก้ไขได้เมื่อผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในแต่ละสาขาได้มารวมตัวกันและแลกเปลี่ยนความคิด เครื่องมือ เทคโนโลยี และสิ่งที่ได้เรียนรู้มา” ซ็อคกล่าว

คณะทำงานดังกล่าว ซึ่งเรียกว่า Scientific Research Partnership for Neglected Tropical Snakebite (SRPNTS) จะมุ่งไปที่การสร้างภูมิคุ้มกันมนุษย์โดยพัฒนาจากเซลล์เม็ดเลือดแดงซึ่งรวบรวมจากผู้รอดชีวิตจากการถูกงูกัด และยังรวมถึงสัตว์ใหญ่อย่างอูฐ วัว และม้าที่มีภูมิต้านทานจากพิษแล้ว

อย่างไรก็ตาม กว่าจะทดสอบจนได้ยาต้านพิษที่ใช้ได้จริงอาจต้องใช้เวลาราว 4 ปีในการทดลองก่อนทดสอบในคน และอีก 3 ปีเป็นอย่างต่ำในการผลิตและลองทดลองในคน

 

ที่มา

ที่มาภาพ: EZEQUIEL BECERRA / AFP

Tags: , , , ,