ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินมากพอสำหรับซื้อของขวัญให้กับครอบครัวและคนที่รัก เพราะลำพังการใช้จ่ายเพื่อดำเนินชีวิตในแต่ละวันลำบากอยู่แล้ว โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่ต้องออกจากบ้านมาหาเงินส่งกลับไปเลี้ยงครอบครัว ตอนนี้ที่สิงคโปร์มีกลุ่มคนที่หาทางลดขยะจากของเหลือใช้ของคนร่ำรวยด้วยการส่งให้กับแรงงานข้ามชาติต่อ เพื่อที่จะได้เป็นของขวัญส่งกลับบ้านได้
กลุ่มฟรีแกน สิงคโปร์ (Freegan in Singapore) อธิบายตนเองในกลุ่มเฟซบุ๊กว่า ฟรีแกนหมายถึงคนที่ปฏิเสธบริโภคนิยม และหาทางลดขยะ โดยเฉพาะการนำของที่ถูกทิ้งกลับมาทำให้อยู่ในสภาพเดิม และใช้ของที่ถูกทิ้งซ้ำ “เราเป็นฟรีแกนเพื่อประหยัดเงิน ถนอมผู้คน หรือถนอมโลก บางคนทำทุกอย่างที่ว่ามา”
ในสิงคโปร์ ขยะจะถูกเผาหรือส่งไปฝังกลบที่เกาะสร้างขึ้นใกล้ๆ สำนักสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประมาณว่าเกาะที่ฝังกลบขยะนี้จะเต็มในปี 2035 เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 10 ปี สิ่งที่เป็นของเหลือจำนวนไม่น้อยแทบไม่เคยถูกใช้งานหรือใช้งานน้อยมาก กลุ่มฟรีแกนส์จึงหาทางนำของที่ยังใช้ได้เหล่านี้ ส่งต่อไปยังคนอื่นๆ
มีฟรีแกนในสิงคโปร์ราว 6,500 คน ทำงานเชื่อมต่อกับแรงงานต่างชาติที่มาจากประเทศรายได้น้อยนับพันคนในสิงคโปร์ ซึ่งไม่สามารถซื้อของในห้างได้
พฤติกรรมของพวกเขาอาจทำให้หลายคนที่เจอตกใจ เพราะโดยหลักการแล้ว ฟรีแกนจะหาของตามถังขยะ นำของที่ถูกทิ้งมาทำให้กลับสู่สภาพเดิม หรือนำกลับมาใช้ใหม่ แล้วแบ่งปันให้กับคนอื่นเพื่อประหยัดเงินและรักษาสิ่งแวดล้อม
เมื่อธันวาคมปี 2017 สมาชิกคนหนึ่งเริ่มหาทางรวบรวมขนมปังที่ขายไม่ออกจากร้านที่อยู่ใกล้บ้านไปมอบให้กับคนที่ต้องการ และลดขยะจากอาหาร งานขยายตัวจากร้านเดียวจนเป็น 10 กว่าร้านในเดือนมิถุนายน 2018
ถ้าเข้าไปดูในกลุ่มเฟซบุ๊กก็จะเห็นพวกเขาโพสต์รูปของที่ตนเองเจอ ทั้งเสื้อผ้าที่ไม่ค่อยใส่ เครื่องประดับ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือของหรูๆ เช่น กระเป๋าถือ จากนั้นจะนำไปให้กับแรงงานข้ามชาติทุกสุดสัปดาห์ หากเป็นช่วงเวลาพิเศษอย่างเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ก็จะจัดงานจับสลากของขวัญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของราคาแพงและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น กระเป๋าถือยี่ห้อ Coach ลำโพงโซนี่ ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ในสภาพดีมาก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปีนี้แรงงานข้ามชาติชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่งจับสลากได้กระเป๋าหลุยส์ วิคตอง ส่วนเวอร์จิเนีย แอนเดรด อายุ 52 ปี ชาวฟิลิปปินส์อีกคนหนึ่งเล่าว่า ปีนี้ส่งชุดทีวีกลับบ้าน 2 ชุด แล็ปท็อปให้ลูกชาย และเก้าอี้รถเข็นให้แม่และน้องสาว ซึ่งเดินไม่ได้เพราะเป็นอัมพาต เธอยังบอกด้วยว่า การส่งของเหล่านี้กลับบ้านทำให้ไม่ต้องหาซื้อเสื้อผ้าจากสิงคโปร์ส่งกลับไปเป็นของขวัญ นำเงินมาซื้ออาหารและจ่ายค่าเทอมแทน สมาชิกในครอบครัวก็รู้ว่าของเหล่านี้มาจากการบริจาค บางส่วนมาจากขยะ
กลุ่มฟรีแกนก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 โดยแดเนียล เทย์ (Daniel Tay) นักวางแผนการเงินวัย 38 ปี ช่วงเริ่มต้นมีสมาชิกประมาณ 1,100 คน ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-34 ปี
ที่มา:
https://www.facebook.com/groups/freeganinsingapore/
https://freeganinsingapore.wordpress.com/2018/07/01/the-great-bread-hunt/
https://sg.style.yahoo.com/millennials-go-dumpster-diving-singapore-name-freeganism-025258197.html
Tags: Freegan, สิงคโปร์, ขยะ, ฟรีแกน