นักวิทยาศาสตร์ 11,258 คนหลากหลายสาขา จาก 153 ประเทศ เตือนว่าโลกของเรากำลังเผชิญกับภาวะฉุกเฉินสภาพอากาศอย่างชัดเจน พร้อมนำเสนอนโยบายหกประการที่จะต้องจัดการเพื่อแก้ไขปัญหานี้
นับเป็นครั้งแรกที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์กลุ่มใหญ่ออกมายืนยันอย่างเป็นทางการว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่อง ‘ฉุกเฉิน’ อันเกิดมาจากน้ำมือของมนุษย์ที่ร่วมกันปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ผลการศึกษาและคำประกาศนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Bioscience ในวาระครบรอบ 40 ปีการประชุมภูมิอากาศโลก ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 1979 โดยมีผู้นำคือบิล ริปเปิล นักนิเวศวิทยา ร่วมด้วยคริสโตเฟอร์ วูล์ฟ จากมหาวิทยาลัยโอเรกอน วิลเลียม มูมอว์ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยทัฟส์ และนักวิจัยจากออสเตรเลียและแอฟริกาใต้
“เราประกาศอย่างชัดเจนและแจ่มแจ้งว่าโลกกำลังเผชิญกับภาวะฉุกเฉินทางสภาพอากาศ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนเราต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา วิกฤตการณ์สภาพอากาศได้มาถึงแล้ว และเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ มันรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ คุกคามระบบนิเวศ ธรรมชาติและชะตากรรมของมนุษยชาติ”
ผลการศึกษาชิ้นนี้ จัดทำข้อมูลสรุปผลอย่างเข้าใจง่าย ในสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ว่ามนุษย์เป็นตัวการให้เกิดวิกฤติสภาพอากาศอย่างไรบ้าง และส่งผลให้เกิดอะไรบ้าง เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอด 40 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราการเติบโตของประชากร การผลิตเนื้อสัตว์ต่อจำนวนประชากร และการสูญเสียต้นไม้ทั่วโลก รวมถึงผลที่ตามมาเช่นแนวโน้มอุณหภูมิโลก และปริมาณความร้อนจากมหาสมุทร
นักวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นผ่านผลการศึกษาชิ้นนี้ว่ากิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ทำให้เกิดวิกฤติสภาพภูมิอากาศ นั้นมีอะไรบ้าง เช่น การคมนาคมทางอากาศ หรือความสัมพันธ์ของการเติบโตของจีดีพี (GDP) บทสรุปหนึ่งที่เห็นได้จากรายงานชิ้นนี้ก็คือความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างวิกฤติสภาพภูมิอากาศกับการบริโภคภายใต้วิถีชีวิตที่หรูหราของมนุษย์
นอกจากข้อมูลตลอด 40 ปีที่นำมาสรุปให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ยังเสนอนโยบายหกประการที่จะต้องจัดการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ได้แก่
-
ด้านพลังงาน —ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้ระบบภาษีคาร์บอนที่เข้มแข็งเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและใช้พลังงานทดแทนที่สะอาด
-
ด้านประชากร — สร้างสเถียรภาพแก่ประชากรโลก ด้วยนโยบายที่เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสิทธิมนุษยชนและจริยธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กผู้หญิงและให้บริการการวางแผนครอบครัวที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
-
ด้านธรรมชาติ — ยุติการทำลายธรรมชาติและฟื้นฟูป่าไม้และป่าชายเลนเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์
-
ด้านอาหาร — บริโภคอาหารที่ทำจากพืชและลดการบริโภคเนื้อสัตว์และลดขยะที่เกิดจากเศษอาหารที่เหลือทิ้ง
-
ด้านเศรษฐกิจ — เปลี่ยนเป้าหมายทางเศรษฐกิจจากการวัดด้วยการเติบโตของจีดีพี
-
ด้านมลภาวะ — ในระยะสั้นต้องรีบลดการปล่อยมลพิษอย่างเร่งด่วนและทันท่วงที ทั้งก๊าซมีเธน คาร์บอนดำ (เขม่า) และไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs)
อ้างอิง
https://www.theguardian.com/environment/2019/nov/05/climate-crisis-11000-scientists-warn-of-untold-suffering
https://www.cbc.ca/news/technology/scientists-declare-climate-emergency-1.5347486
https://academic.oup.com/bioscience/advance-article/doi/10.1093/biosci/biz088/5610806
https://www.washingtonpost.com/science/2019/11/05/more-than-scientists-around-world-declare-climate-emergency/
ภาพ : Francis Mascarenhas/REUTERS
Tags: ปรากฏการณ์เรือนกระจก, ภาษีคาร์บอน, สภาวะโลกร้อน, คาร์บอนไดออกไซด์