เราเดินทางไปบ้านสาแพะ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง หลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการได้เพียง 2 วัน
สิ่งที่พบระหว่างการเดินทางท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด คือความแห้งแล้งของผืนป่าต้นน้ำที่ปรับตัวเข้าสู่ฤดูร้อนด้วยการเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน บ้างสลัดใบแห้งๆ โปรยลงพื้นดินปนทราย เหยียบแล้วเกิดเสียงดังกรอบ..กรอบ และเห็นตัวเลขบนโทรศัพท์แจ้งอุณหภูมิ 34 องศาเซลเซียส เดินไปเดินมาจนลืมไปเลยกับคำว่า “ลำปางหนาวมาก”
หากท่ามกลางความร้อน และความแห้งแล้ง เรากลับพบเห็นความเขียวขจีแลดูอุดมสมบูรณ์เป็นหย่อมๆ ในพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน จนตั้งคำถามในใจว่า…ชาวบ้านเอาน้ำจากไหนมาดูแลต้นไม้เหล่านี้?
เราพบนายคงบุญโชติ กลิ่นฟุ้ง ผู้ใหญ่บ้านบ้านสาแพะ ขณะที่เขากำลังถือโมเดลฝายชะลอน้ำจำลอง นี่คงเป็นเบื้องหลังของแปลงผักเขียวขจี รวมทั้งรายได้ที่สม่ำเสมอของเกษตรกรแม้ยามหน้าแล้ง
ผู้ใหญ่อธิบายพร้อมทำการทดลองวิทยาศาสตร์เล็กๆ ด้วยการเปิดน้ำให้ไหลเข้าสู่โมเดลทางลาดเชิงเขาที่ติดตั้งฝายชะลอน้ำ เปรียบเทียบกับโมเดลทางลาดเชิงเขาที่ไร้ฝายชะลอน้ำ ผลการทดลองพบว่า น้ำที่ไหลออกจากโมเดลติดตั้งฝายช่วยชะลอการไหลของน้ำสมชื่อ ไม่เพียงค่อยๆ ไหลออกจากโมเดล ใส ไร้ตะกอน หากน้ำปริมาณไม่น้อยซึมลงผิวดิน ช่วยสร้างความชุ่มชื้นอีกด้วย ตรงกันข้ามกับโมเดลไร้ฝาย น้ำไหลเร็ว แรง มีตะกอนมาก และดินทางลาดเชิงเขาแห้งผาก ไม่ซึมซับน้ำ
ชาวบ้านสาแพะจับมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการจัดสร้างฝาย ด้วยการลองผิดลองถูกอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 15 ปี ปัจจุบันสามารถสร้างเครือข่ายแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการดำรงชีพ พร้อมกับวางระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากร
ที่บอกว่าเป็น ‘เครือข่ายแหล่งน้ำ’ เพราะไม่เพียงฝายชะลอน้ำจะทำหน้าที่กักเก็บน้ำทั้งบนผิวดิน ใต้ดิน และในต้นไม้ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้พื้นที่ป่าไม้ในทุกฤดูกาล ทั้งเขตป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรม แต่น้ำจากฝายชะลอน้ำยังถูกกักเก็บเป็นระบบใน ‘สระพวง’ หรือเครือข่ายแหล่งน้ำในชุมชน
“สระพวง คือ แก้มลิงบนภูเขา แก้มลิงของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9” ผู้ใหญ่บ้านสาแพะบอกเรา
น้ำไหลจากแอ่งน้ำน้อยใหญ่ตามฝายชะลอน้ำบนลาดเชิงเขา สู่สระน้ำขนาดลดหลั่นกัน จากสระพวงขนาด 8,500 ลูกบาศก์เมตร มีศักดิ์เป็น ‘สระแม่’ ด้วยขนาดใหญ่ที่สุดและมีเพียงแห่งเดียว เชื่อมต่อกับ ‘สระลูก’ ขนาด 4,600 ลูกบาศก์เมตร และ ‘สระหลาน’ ขนาด 1,500 ลูกบาศก์เมตร
พลังของสระพวง แม่-ลูก-หลาน รวมทั้งสิ้น 7 สระ ไม่เพียงสร้างความชุ่มชื่นให้ชาวสาแพะมีน้ำใช้ตลอดปีเพื่อดำรงชีพและการเกษตรนับแต่ปี 2558 ไม่เว้นแม้ยามแล้ง หากยังช่วยสร้างรายได้และได้ยืนบนลำแข้งตนเอง จากระบบการบริหารจัดการเครือข่ายแหล่งน้ำ ปัจจุบันมีเกษตรกรร่วมโครงการกว่า 34 ราย หลังสระพวงก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมระบบจ่ายน้ำ ครัวเรือนที่ร่วมโครงการมีรายได้มากกว่า 200,000 บาทต่อปี
ฝายชะลอน้ำที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในบ้านสาแพะกว่า 300 แห่ง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกว่า 65,000 แห่งในจังหวัดลำปาง และกว่า 84,200 แห่งทั่วประเทศ (ซึ่งเอสซีจีร่วมกับเครือข่ายชุมชนและจิตอาสารักษ์น้ำทั่วประเทศ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการ ‘รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที’ มีเป้าหมายขยายผลการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ สร้างต้นน้ำที่ดี กลางน้ำที่สมบูรณ์ สู่ปลายน้ำที่ยั่งยืน
ชนะ ภูมี Vice President- Cement and Construction Solution Business คุยกับเราใกล้กับฝายจากความร่วมมือของชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน กระทั่งภิกษุนักอนุรักษ์ในพื้นที่ เขาชี้ไปที่ฝายชะลอน้ำและบอกเราว่า ฝายที่เห็นล้วนทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น หิน ไม้ไผ่ พร้อมสลายตัวไปตามธรรมชาติ เมื่อสภาพป่ากลับกลับฟื้นตัวอุดมสมบูรณ์
ฝายเป็นตัวอย่างสำคัญจากแนวปฏิบัติ SCG Circular Way ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีเป้าหมายใช้ทรัพยากรในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับวิถีชีวิต และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยให้ชุมชนสามารถจัดการน้ำ และทำให้น้ำหมุนเวียนกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไม่รู้จบ
“ปกติฝนตก หากไม่มีป่า ไม่มีพืชหน้าดิน น้ำจะไหลลงทะเลหมด หลักของ SCG Circular Way คือการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด การชะลอน้ำให้อยู่ในพื้นที่ที่เกิดการใช้น้ำด้วยการทำฝาย จะช่วยคืนความชุ่มชื้น เนื่องจากต้นไม้สามารถเก็บน้ำได้ น้ำสามารถอยู่ในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้มาก” ชนะยกตัวอย่าง
ฝายชะลอน้ำเป็นตัวอย่างที่ดีของการอธิบายหลักปฏิบัติ SCG Circular Way ให้เห็นภาพและเข้าใจง่าย แต่หากใกล้ตัวเราเข้ามาหน่อย ก็อาจเป็นเรื่อง ‘ขยะ’ ที่สร้างจากมือของคุณเอง
เมื่อเห็นถังขยะสีเหลือง สีเขียว สีแดง ในพื้นที่สาธารณะ แล้วสมองสั่งการอย่างอัตโนมัติให้จัดสรรขยะในมือ คัดแยกเป็นประเภท ขยะแห้ง ขยะเปียก ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย หรือการเลือกขยะบางชิ้นก่อนทิ้งบางชิ้น อย่างถุงพลาสติก ขวดน้ำดื่ม กระดาษหนังสือพิมพ์ ฯลฯ กลับมาใช้อีกครั้งหรือนำไปชั่งกิโลฯ ขายซาเล้ง
นี่คือตัวอย่างของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ใกล้ตัว
การเลือกใช้-ลดใช้-แยกขยะ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรจนเกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ด้วยมือของเราเองในที่พักอาศัยหรือสำนักงาน หากพฤติกรรมที่เปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมและโลกของเราได้
ชวนให้คิดถึงการคัดแยกขยะของชาวบ้านแป้นโป่งชัย จังหวัดลำปาง ที่พร้อมใจคัดแยกขยะจนเหลือศูนย์ เนื่องจากของเหลือทิ้งจากครัวเรือนล้วนสามารถแบ่งเป็นประเภทอย่างละเอียด และนำไปขายต่อได้ทั้งสิ้น แม้กระทั่งเศษอาหารยังถูกนำไปผลิตปุ๋ยหมักเพื่อพืชผลการเกษตร สร้างรายได้ทางอ้อมได้อีกด้วย
“ไปเดินห้างสรรพสินค้าในเมือง เจอขยะมากมายในถัง แบ่งประเภทถูกบ้าง ผิดบ้าง รู้สึกอย่างไร” เราถามชาวบ้าน 2-3 ครัวเรือนเล่นๆ คล้ายจะลองใจ เพราะอยากรู้จริงๆ ว่าคิดอย่างไรกับภาพที่เห็น
“เห็นแล้วอยากเก็บไปขายให้หมด” ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกัน
“ถ้าวันหนึ่งไม่มีคนรับซื้อแล้วจะยังแยกอยู่หรือเปล่า” ขอถามอีกนิด
“แยก เพราะมันเป็นนิสัยของเราแล้ว” ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันที่หนักแน่นกว่าเดิม
ชลณัฐ ญาณารณพ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี บอกว่า นอกจากการจัดการน้ำจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน ที่สามารถต่อยอดสู่การพัฒนาอาชีพ และรวมกลุ่มก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน เช่น วิสาหกิจชุมชนบ้านแป้นใต้ กลุ่มตลาดวีมาร์เก็ต และกรีนมาร์เก็ต ลำปาง
“ความร่วมมือระหว่างเอสซีจีและชุมชนในการจัดหลักสูตรวิสาหกิจและคุณธรรมชุมชนรักษ์น้ำ จนนำไปสู่ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจครัวเรือน คือทำให้ชุมชนมีรายได้เสริมจากวิสาหกิจชุมชนมากกว่า 60,000 บาท ต่อครัวเรือนต่อปี ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงและเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป”
ความยั่งยืนในชุมชนจังหวัดลำปาง เกิดขึ้นเพราะชาวชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง ทั้งยังต่อยอดสู่การสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต เป็นไปตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี อัญเชิญมาเพียงสั้นๆ แต่ใจความครบถ้วนว่า
“ช่วยเขา เพื่อให้เขาช่วยตนเอง”
ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ ‘รักษ์น้ำ จากภูผา สู่มหานที’ ได้ที่ https://www.scg.com/lovewater และข้อมูลเกี่ยวกับแนวปฏิบัติ SCG Circular Way ที่ https://www.scg.com/sustainability/circular-economy/
Tags: โครงการรักษ์น้ำ, Circular Way, SCGCircularWay, จากภูผา สู่มหานที, ฝายชะลอน้ำ, SCG