ย้อนไปก่อนหน้านี้สักสามปี พื้นที่ชุมชนบ้านสาแพะ หมู่ 3 อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง มีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีจากความแห้งแล้ง ซึ่งสุดท้ายก็เป็นภัยกับทั้งชีวิตคน พืช และสัตว์ ที่นั่น แต่ก่อนก็ทำการเกษตรกันได้เฉพาะหน้าฝน แม้ต่างคนต่างสร้างบ่อและขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในฤดูอื่นๆ ตามกำลังทรัพย์ของตน รวมๆ กันแล้วเป็นจำนวนมากถึง 200 สระ แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะดินไม่สามารถอุ้มน้ำได้
แน่นอนว่า หากทำเกษตรได้ในฤดูฝนเท่านั้น การเลี้ยงชีพทั้งปีก็ไปไม่รอด แม้ลูกหลานอยากทำการเกษตรเป็นอาชีพ ก็คงจะท้อและออกจากพื้นที่ไปหางานอื่นทำเสียก่อนด้วยข้อจำกัดทางธรรมชาติ
เช่นเดียวกับกลุ่มชาวประมง อย่างที่จังหวัดตรังและระยอง ที่ก็ต้องสู้กับภัยธรรมชาติ ในฤดูมรสุมจำเป็นต้องงดออกเรือ ไม่สามารถจับสัตว์น้ำและทำให้คนในท้องถิ่นขาดรายได้ในการดำรงชีพ
เรื่องราวเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้ เพียงการ ‘จัดการน้ำ’ ด้วยวิถีที่ยั่งยืนและเข้าใจธรรมชาติ โดยเอสซีจีเดินตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 “จากภูผา สู่มหานที” เป็นแนวทางการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development- SD) ผ่านกิจกรรมที่ช่วยอนุรักษ์น้ำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชนให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองอย่างแท้จริง ส่งเสริมให้ทุกคนมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน
จัดการต้นน้ำ วางแผนกักเก็บระยะยาว
ยกตัวอย่างพื้นที่ต้นน้ำ เอสซีจีร่วมกับชุมชนในการสร้างฝายชะลอน้ำมานานกว่า 10 ปี โดยเริ่มที่จังหวัดลำปาง เนื่องจากฝายชะลอน้ำเป็นเครื่องมือฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแบบง่ายๆ ที่ชุมชนร่วมมือทำกันเองได้ โดยใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เช่น ไม้ไผ่ ดิน หิน เศษไม้ มาช่วยชะลอการไหลของน้ำและดักตะกอน เพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม
เมื่อมีน้ำก็มีป่า จากพื้นที่แห้งแล้งที่เคยมีไฟป่า 200-300 ครั้งต่อปี ก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จนไม่มีเลยในช่วงสองปีที่ผ่านมา แถมยังพบพันธุ์นกและสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ ป่ารอบโรงงานปูนซิเมนต์ไทย ลำปาง พบพันธุ์นกเพิ่มขึ้นจาก 78 ชนิด (ปี 2535) เป็น 169 ชนิด (ปี 2560) พบสัตว์ป่าชนิดต่างๆ อย่างหมูป่า เม่น อีเห็นข้างลาย สุนัขจิ้งจอก แมวดาว ตัวตุ่น นิ่มชวา ลิงลม และพบว่าเม่นกับอีเห็นข้างลายขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้น
การสร้าง ‘สระพวง’ ในพื้นที่เชิงเขา ช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรในบ้านสาแพะสามารถทำเกษตรได้ตลอดปี ด้วยการขุดสระเพื่อกระจายน้ำไปสู่พื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่สระแม่ขนาดใหญ่ไปสู่สระลูกและสระหลาน ตามระดับความสูงของพื้นที่ (ที่ออกมาเป็นสระ ‘พวง’) ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 500 ไร่ ทำให้ทำการเพาะปลูกได้มากถึง 7 ครั้งต่อปี
สิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการเหล่านี้คือการมีส่วนร่วมคิดร่วมทำของชุมชน ที่อาศัยกระบวนการปรับเปลี่ยนจากภายใน เริ่มจากการที่ชุมชนเป็นคนคิด ตัดสินใจ และวิเคราะห์ โดยมีเอสซีจีเป็นเพียงพี่เลี้ยงคอยแนะนำแนวทาง ตามหลัก หาน้ำให้ได้ เก็บน้ำไว้ใช้ ใช้น้ำให้เป็น ไปจนกระทั่งจัดการน้ำให้ดี
การมีส่วนร่วมนี้ก่อให้ชุมชนเกิดความสามัคคี ความหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ พึ่งพาตนเองได้ และถ่ายทอดแนวคิดรักษ์น้ำนี้ไปสู่ลูกหลาน หากพวกเขาอยากจะกลับมาทำการเกษตรที่บ้านก็เป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินฝัน จนลำปางได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่จดทะเบียนป่าชุมชนมากที่สุดในไทย
ปัจจุบัน เอสซีจีเข้าไปดำเนินงานกับ 55 ชุมชนใน 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน หนึ่งในความสำเร็จที่ไปไกลกว่าซีเอสอาร์ของบริษัท ก็คือการที่ชุมชนนำความรู้ที่มีไปต่อยอด อีกทั้งเมื่อผสานด้วยจิตสำนึกอนุรักษ์ของคนในท้องถิ่น ก็ยิ่งช่วยผนึกกำลังให้ชุมชนสามารถดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน
กระแสไหลเวียนของความยั่งยืน
เอสซีจียังต่อยอดโครงการที่เข้าไปดูแลและจัดการน้ำในพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อให้ทุกชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ
สำหรับพื้นที่กลางน้ำ เอสซีจีร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์และชุมชนในพื้นที่ภาคอีสาน ทำโครงการ ‘แก้มลิง’ มาช่วยกักเก็บแบ่งปันน้ำอย่างเป็นระบบ จากการขุดลอกหนองน้ำเดิม เชื่อมต่อคูคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ชุมชนบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและภัยน้ำท่วมตามลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่
ส่วนพื้นที่ปลายน้ำ เอสซีจีนำนวัตกรรรม ‘บ้านปลาจำลอง’ ที่ออกแบบโดยทีมวิจัยเอสซีจีเอง ไปวางในท้องทะเลทั้งชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ เพื่อเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเล คืนสมดุลระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และตรัง ช่วยเพิ่มแหล่งทำประมงใกล้ชายฝั่ง คืนวิถีชีวิตที่ยั่งยืนให้ประมงพื้นบ้าน
ตัวอย่างพื้นที่ที่ชาวปูนซิเมนต์ไทยทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงไปช่วยเหลือคือ บ้านมดตะนอย และเกาะลิบง อำเภอกันตรัง จังหวัดตรัง ที่ปัญหาของชาวประมงคือไม่สามารถออกเรือได้ในฤดูมรสุม เอสซีจีจึงร่วมกับกลุ่มชุมชน เขตห้ามล่าสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และมูลนิธิอันดามัน พัฒนาบ้านปลาจากปูนซิเมนต์ทนน้ำทะเลที่ชุมชนสามารถหล่อและนำลงไปวางได้ด้วยตัวเองที่ปีนี้วางลงไปแล้วกว่า 300 หลังในบริเวณคลองลัดเจ้าไหม ผลลัพธ์คือพบสิ่งมีชีวิต สัตว์น้ำเศรษฐกิจ ปลาสวยงาม กว่า 50 ชนิด และยังมีการปลูกป่าชายเลนและหญ้าทะเล อาหารหลักของพะยูน สัตว์ป่าสงวนที่พบได้ในจังหวัดตรัง ช่วยลดสภาวะโลกร้อนตามแนวทาง Blue Carbon และ Natural Climate Solution
นอกจากนี้ ธุรกิจเคมิคอลส์ในเอสซีจีร่วมกับสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้าน ยังเข้าไปแก้ปัญหาที่ชายฝั่งทะเลระยองไม่ค่อยมีทรัพยากร ต่อยอดภูมิปัญญาซั้งกอทางมะพร้าวของชาวบ้าน สู่การสร้างคุณค่าให้กับท่อ PE100 ที่เหลือจากการทดสอบในโรงงานมาพัฒนาเป็นบ้านปลา
ผลลัพธ์คือปัจจุบันพบสิ่งมีชีวิตกว่า 172 ชนิดในบริเวณบ้านปลาที่วางไว้ และมีพื้นที่อนุรักษ์ถึง 40 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างพัฒนาบ้านปลารีไซเคิลจากฝาขวดพลาสติก ซึ่งก็ถือเป็นวัสดุประเภท PE ที่นำมาต่อยอดได้เช่นเดียวกัน ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
นวัตกรรมบ้านปลานี้ยังได้รับรางวัล Bronze สาขา Sustainability Marketing จาก MAT Awards 2018 ด้วย
ซีเอสอาร์แบบเอสซีจี
โครงการ “รักษ์น้ำ…จากภูผา สู่มหานที” สะท้อนให้เห็นว่า งานซีเอสอาร์แบบเอสซีจีมีจุดแข็งที่เน้นเรื่องความยั่งยืนเป็นประเด็นแรก ซึ่งจะได้มาก็ต่อเมื่อให้ความสำคัญกับการพัฒนา ‘คน’ โดยเริ่มจากคนในชุมชนได้เข้าใจ เข้าถึง แล้วร่วมพัฒนาไปด้วยกัน จากนั้นจึงขยายผลด้วยการดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเป็นการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น โดยตลอดทั้งปีจะมีกิจกรรมรับสมัครเยาวชน Young รักษ์น้ำ จากทั่วประเทศ เพื่อให้มาเรียนรู้วิธีการจัดการน้ำ เช่น การทำฝาย การทำบ้านปลา และการทำสื่อต่อยอดเพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มคนที่สนใจให้กว้างขึ้น และปลูกฝังจิตสำนึกอนุรักษ์น้ำให้เกิดขึ้นในใจเยาวชน
เมื่อพัฒนาคน คนก็จะพัฒนากระบวนการ นำไปสู่การสร้างระบบทั้งระบบที่หล่อเลี้ยงตัวเองอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับการจัดการน้ำ ที่เมื่อได้มองภาพรวมตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ความยั่งยืนก็หมุนเวียนอยู่ในทุกกระบวนการ
แนวทางการพัฒนาตามแบบที่โครงการ “รักษ์น้ำ… จากภูผา สู่มหานที” ของเอสซีจี ยึดถือนั้น นอกจากจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนแล้ว ยังเป็นแนวทางที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์น้ำได้เช่นกัน
ติดตามรายละเอียดทาง:
- Website : www.scg.com
- Facebook : https://www.facebook.com/SCGofficialpage
Fact Box
โครงการรักษ์น้ำฯ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 97,000 คน จาก 16 จังหวัด ปัจจุบัน เอสซีจีสร้างฝายไปแล้ว 83,000 ฝายทั่วประเทศ และบ้านปลา 1,900 หลัง ตั้งเป้าหมายในปี 2563 ที่จะสร้างฝายให้ได้ 100,000 ฝาย และบ้านปลา 2,600 หลัง