จากวัดคอนเซ็ปชัญ เดินลัดเลาะไปอีกไม่ไกล เราก็มาถึงวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์
เมื่อตอนที่แล้ว เราได้รู้แล้วว่าวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์คือวัดของชาวญวน เรื่องราวในตอนนี้จึงเป็นประวัติความเป็นมาของชาวญวนที่เดินทางมาตั้งรกรากในสยาม
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เขมรนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของสยามมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 จนกระทั่งล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 3 ญวนก็เริ่มขยายอำนาจเข้าไปในเขมร และมีอิทธิพลอยู่ในบางพื้นที่ของเขมร ด้วยเหตุดังกล่าว ญวนกับสยามจึงมีเรื่องหมางใจกัน
ในสมัยพระเจ้ายาลอง พระมหาจักรพรรดิของญวน ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ชาวญวน และเมื่อพระเจ้ายาลองสวรรคตในปี 2363 พระเจ้ามินหม่าง พระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ก็ขึ้นเสวยราชสมบัติ
ในช่วงต้นของรัชกาล พระญาติของพระเจ้ามินหม่างก่อการกบฏแย่งชิงราชสมบัติ ในการปราบกบฏ พระเจ้ามินหม่างทรงระแวงพระทัยว่าชาวฝรั่งเศสให้การช่วยเหลือพวกกบฏ จึงทรงเกลียดชังชาวฝรั่งเศสนับตั้งแต่นั้น และทรงต้องการกำจัดชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้นำศาสนาคริสต์เข้าไปเผยแพร่ในญวน แต่พระเจ้ามินหม่างก็ได้รับการทัดทานจากเลวันเหยียดซึ่งเป็นมหาอุปราช และเป็นผู้หนึ่งที่มีอำนาจสูงสุดทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน โดยเคยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการปราบกบฏไกเซนในรัชกาลของพระเจ้ายาลอง อีกทั้งเป็นผู้ที่พระเจ้ายาลองไว้วางพระราชหฤทัย และทรงมอบหมายให้คอยว่ากล่าวตักเตือนพระเจ้ามินหม่าง พระเจ้ามินหม่างจึงทรงระงับแผนการปราบปรามชาวคริสต์
ครั้นถึงปี 2376 มหาอุปราชเลวันเหยียดถึงแก่ทิวงคต พระเจ้ามินหม่างจึงเริ่มปราบปรามชาวคริสต์ โดยห้ามชาวฝรั่งเศสเข้าประเทศ ห้ามมิให้ชาวญวนนับถือศาสนาคริสต์ รวมทั้งมีการทรมานและการสังหารพระสงฆ์ชาวฝรั่งเศส และชาวญวนที่นับถือศาสนาคริสต์จำนวนมาก
ในขณะที่พระเจ้ามินหม่างกำลังปราบปรามชาวคริสต์ พระสังฆราชตาแบรด์ ประมุขของมิสซังโคชินไชนา ก็ลี้ภัยมาอยู่ที่กรุงเทพฯ พร้อมกับเณรหลายคน ในเวลาใกล้เคียงกัน คุณพ่อกือโนต์และคุณพ่อวีอัลล์ พร้อมด้วยเณร ภคีนี และชาวคริสต์จำนวนหนึ่ง ก็หนีการปราบปรามมาอยู่ที่เมืองจันทบุรี
ในระหว่างที่ญวนกำลังประสบความยุ่งยากในการปราบปรามกบฏและบรรดาชาวคริสต์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะนำเขมรทั้งหมดกลับมาอยู่ภายใต้อิทธิพลของสยาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพบก และเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่ทัพเรือ ยกกองทัพไปทำศึกกับญวน เพื่อนำเขมรทั้งหมดกลับมาเป็นของสยาม
ในกองทัพเรือที่จะแยกไปรบกับญวน มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่นับถือศาสนาคริสต์อยู่สองท่าน คือพระยาวิเศษสงครามรามภักดี (แก้ว) และพระยาณรงค์ฤทธิโกษา ก่อนจะออกเดินทาง พระยาทั้งสองได้ไปพบกับพระสังฆราชฟลอรังส์ ประมุขของมิสซังกรุงสยาม และขอให้พระสังฆราชช่วยจัดบาทหลวงไปกับกองทัพด้วย พระสังฆราชจึงให้คุณพ่อเกลมังโซเดินทางไปกับกองทัพเรือ โดยพระยาทั้งสองจัดเรือพิเศษสำหรับคุณพ่อ และมีทหารชาวคริสต์ 15 นายอยู่ในเรือลำเดียวกัน
กองทัพบกจำนวน 30,000 นาย ยึดเมืองฮาเตียนของญวนได้ในวันที่ 1 มกราคม 2377 ขณะที่กองทัพเรือจำนวน 10,000 นาย ยกทัพไปทางจังหวัดจันทบุรี ก่อนจะเดินทางถึงเมืองฮาเตียนในวันที่ 6 มกราคม
เมื่อได้ข่าวว่ากองทัพสยามยึดเมืองฮาเตียนได้แล้ว ญวนจึงส่งกองทัพเรือมาทัดทาน คุณพ่อเกลมังโซซึ่งอยู่ในเหตุการณ์เล่าว่าการรบครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2377 ในเวลาเช้า การสู้รบดำเนินไปตลอดทั้งวันในแควสองสายของแม่น้ำสายใหญ่ ทหารญวนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ กองทัพเรือสยามไล่ติดตามไปอีก 3-4 วัน ก็เกิดยุทธนาวีใหญ่ขึ้นอีกครั้ง การต่อสู้ดำเนินไป 5 วัน 5 คืน ในที่สุด กองทัพเรือสยามก็ได้ชัยชนะอีกครั้ง ส่วนกองทัพบกก็ยึดเมืองในญวนได้อีกหลายเมือง
หลังจากชนะศึก กองทัพเรือสยามก็พักผ่อนอยู่ในบริเวณที่ทำศึก ในป่าใกล้กับที่ทหารเรือพักอยู่ มีชาวคริสต์ญวนราว 1,500 คนหลบหนีการปราบปรามของทหารพระเจ้ามินหม่าง พวกเขาหลบซ่อนตัวอยู่ด้วยความยากลำบาก เมื่อรู้ว่าทหารเรือสยามมาตั้งมั่นอยู่ในบริเวณใกล้เคียง จึงส่งผู้แทนมาติดต่อขอความคุ้มครอง ซึ่งทหารของสยามก็ให้การต้อนรับและชักชวนให้ออกจากป่ามาอยู่กับกองทัพ แต่ผู้ที่มาติดต่อก็ยังลังเลใจในการชักชวน พระยาวิเศษสงครามรามภักดีและพระยาณรงค์ฤทธิโกษาจึงไปเชิญคุณพ่อเกลมังโซให้มาพบกับชาวคริสต์ญวน เมื่อได้เห็นคุณพ่อและได้ฟังคุณพ่อพูดถึงประเทศสยาม ชาวคริสต์ญวนเกือบทั้งหมดก็ออกมาขออยู่ในอารักขาของกองทัพเรือสยาม และเมื่อกองทัพเรือสยามเดินทางกลับ ชาวคริสต์ญวนเหล่านั้นก็ติดตามมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
สำหรับกองทัพบก เมื่อปราบเมืองญวนได้หลายเมือง ก็กวาดต้อนชาวญวนที่ไม่ใช่ชาวคริสต์มาด้วยประมาณ 1,500 คน ในจำนวนนี้มีทั้งพวกที่เป็นกบฏต่อพระเจ้ามินหม่างและพรรคพวกของพระเจ้ามินหม่าง กระทั่งเมื่อปราบเมืองญวนตามชายแดนเขมรแล้วเสร็จ ก็ยกกองทัพเข้าไปในเขมร และเกลี้ยกล่อมหัวเมืองต่างๆ ของเขมรให้กลับมาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าแผ่นดินสยามตามเดิม
ครั้นกองทัพกลับถึงกรุงเทพฯ เจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยาพระคลัง พร้อมด้วยพระยาวิเศษสงครามรามภักดีและพระยาณรงค์ฤทธิโกษา ตลอดจนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้กราบบังคมทูลรายงานการสงครามให้ทรงทราบ ขณะที่พระยาวิเศษสงครามรามภักดีและพระยาณรงค์ฤทธิโกษาได้กราบทูลขอชาวคริสต์ญวนไปดูแล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระทัยเมตตากรุณาต่อชาวคริสต์ญวน จึงทรงอนุญาตตามที่พระยาทั้งสองทูลขอ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ชาวคริสต์ญวนราว 1,350 คนตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณวัดส้มเกลี้ยง เหนือบ้านเขมรซึ่งมีชาวคริสต์จำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ก่อนแล้ว และทรงใช้เงินส่วนพระองค์ซื้อที่ดินแปลงใหญ่ใกล้เคียงกัน พระราชทานให้ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย ขณะเดียวกันก็พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างวัดหลังแรกซึ่งสร้างด้วยไม้ไผ่ และตั้งชื่อว่า ‘วัดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์’ เพื่อใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ส่วนชาวญวนที่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์อีกประมาณ 1,500 คน พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่วัดแค นางเลิ้ง (วัดสุนทรธรรมทาน) ส่วนหนึ่ง ซึ่งลูกหลานของชาวญวนก็ยังคงอาศัยอยู่ในที่ดินผืนดังกล่าวจนกระทั่งปัจจุบัน
เมื่อมีวัดแห่งแรก พระสังฆราชตาแบรด์ซึ่งลี้ภัยมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ให้บาทหลวงสามองค์มาอยู่ที่วัด แต่วัดหลังแรกก็มีอายุได้เพียง 3 ปี เนื่องจากถูกลมพายุพัดเสียหายในปี 2380 พระสังฆราชกูรเวอซี ประมุขมิสซังกรุงสยาม จึงออกเงินให้สร้างวัดใหม่ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระองค์ก็นำพระรูปแม่พระและรูปนักบุญฟรังซัวซาเวียร์จากมะนิลามาตั้งในวัดหลังที่สอง ต่อจากนั้นก็สร้างโรงเรียนสำหรับเด็กชายและโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงเพื่อสอนภาษาญวนให้กับเด็กๆ
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเกล้าเจ้าอยู่ ทรงตรากฎหมาย ร.ศ.128 อนุญาตให้มิซซังโรมันคาทอลิกในกรุงสยามถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ เจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล จึงประกาศยกเนื้อที่บ้านญวนและบ้านเขมรในตำบลสามเสนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมิสซังโรมันคาทอลิก หมู่บ้านญวนและหมู่บ้านเขมรจึงมีขอบเขตดังนี้
ทิศเหนือ มีคลองบ้านญวนเป็นเขต ตั้งแต่ปากคลองจนถึงเขตถนนสามเสน
ทิศตะวันออก มีเส้นห่างจากขอบถนนสามเสนไปทางตะวันตก 6 วาเป็นเขต ตั้งแต่คลองบ้านญวนจนถึงคลองวัดราชาธิวาสทิศใต้ มีคลองวัดราชาธิวาสเป็นเขต ตั้งแต่ปากคลองวัดราชาธิวาสจนถึงเขตถนนสามเสน
ทิศตะวันตก มีฝั่งแม่น้ำเจ้าพระเจ้าเป็นเขต ตั้งแต่ปากคลองบ้านญวนฝั่งใต้จนถึงปากคลองวัดราชาธิวาสฝั่งเหนือ
รวมเนื้อที่พระราชทาน 68 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา
สำหรับวัดหลังที่สามซึ่งใช้ชื่อว่า ‘วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์’ ใช้เวลาสร้าง 10 ปี และมีพิธีมิสซาโดยมุขนายกมิสซังในวันฉลองนักบุญฟรังซิสเซเวียร์เมื่อปี 2410
วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์หลังที่สามเป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอกอทิก ผนังก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ (ไม่ใช้เหล็กและเสาเข็ม) ภายในประดับกระจกสีเป็นเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิล และมีภาษาญวนจื๋อโนม (ภาษาที่ชาวเวียดนามพัฒนาตัวอักษรจีนเพื่อใช้ในการเขียนภาษาเวียดนาม) อยู่เหนือพระแท่น
จากที่กล่าวมาแล้วว่าวัดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์นั้นมีโรงเรียนอยู่คู่กับวัด เมื่อกระทรวงศึกษาธิการออกระเบียบเพิ่มขึ้น คุณพ่อยอแซฟ บรัวซาต์ เจ้าอาวาสในช่วงปี 2460-2469 จึงก่อสร้างอาคารเรียนครึ่งตึกครึ่งไม้ขึ้นสองข้างของวัด หลังแรกสำหรับนักเรียนชาย สร้างเมื่อปี 2461 และหลังที่สองสำหรับนักเรียนหญิงก็สร้างในปีต่อมา ก่อนจะได้รับอนุญาตให้เปิดเป็นโรงเรียนเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2462 ใช้ชื่อว่าโรงเรียนแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์ จนถึงปี 2468 เมื่อคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร มาเปิดโรงเรียนแห่งที่สาม ซึ่งใช้ชื่อว่าโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ คุณพ่อบรัวซาต์จึงเปลี่ยนชื่อโรงเรียนของวัดเป็นโรงเรียนยออันนาด๊าร์ค สำหรับนักเรียนชาย และโรงเรียนเทเรซาเยซูกุมาร สำหรับนักเรียนหญิง
ในเวลาต่อมา เพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษา คุณพ่อบรัวซาต์จึงเชิญภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ซึ่งเปิดโรงเรียนอัสสัมชัญที่บางรัก ให้มาเปิดโรงเรียนในเขตวัดสามเสน หลังจากได้รับอนุญาต คณะภราดาเซนต์คาเบรียลจึงเปิดโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ซึ่งเริ่มทำการสอนเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2463 ส่วนโรงเรียนยออันนาด๊าร์คและโรงเรียนเทเรซาเยซูกุมารที่คุณพ่อบรัวซาต์สร้างไว้ ก็ถูกรวมเป็นโรงเรียนเดียวกันในช่วงที่คุณพ่อยวงบัปติสตา ตาปี เป็นเจ้าอาวาส (2469-2510) ใช้ชื่อว่าโรงเรียนยออันนาด๊าร์ค ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนโยนออฟอาร์คในปี 2524
พระรูปพระเยซูเจ้าทรงรักษาคนตาบอด
ที่ด้านหน้าของวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์คือ ‘พระรูปพระเยซูเจ้าทรงรักษาคนตาบอด’ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาจากประเทศอิตาลี เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี 2440
ในครั้งนั้น พระองค์เสด็จไปที่โรงงานช่างหล่อ ช่างปั้น และช่างเขียน ที่เมืองฟลอเรนซ์ เมื่อทอดพระเนตรพระรูปนี้ก็พอพระทัย และโปรดให้นำมาประดิษฐาน ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อสร้างพระราชวังดุสิตแล้วเสร็จ จึงโปรดให้นำพระรูปมาไว้ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงมีการย้ายพระรูปมาไว้ที่สนามหญ้าในสวนอัมพร กระทั่งในที่สุด เทศบาลนครกรุงเทพฯ ได้มอบพระรูปนี้ให้กับวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2492
ถ่ายภาพโดย ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย
ที่มา
http://catholichaab.com
https://minimore.com