ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับขุนเขาเปี่ยมชีวิตจาก The Sound of Music ที่ใครหลายคนอาจเห็นเมื่อนึกถึงประเทศออสเตรีย ที่นี่กลับเป็นแหล่งพำนักและสร้างงานของคนทำหนังอาร์ตเฮาส์จำนวนมาก ผู้ประสบความสำเร็จในการเชื้อเชิญเราเข้าสู่โลกมนุษย์ในมุมมืดที่น่าประหวั่นพรั่นพรึง และเต็มไปด้วยคำถามเชิงจริยธรรมที่กระอักกระอ่วนในการหาคำตอบ นอกจากปรมาจารย์เลือดเย็นผู้วิพากษ์สื่อและชนชั้นกลางบูร์ชัวส์ชนิดไม่ปรานีปราศรัยอย่างไมเคิล ฮาเนเก้ (Michael Haneke) ซึ่งค่อนข้างเป็นที่รู้จักในแวดวงหนังโลกร่วมสมัย (ผู้กำกับ The Piano Teacher, Funny Games, Hidden, The White Ribbon และ Amour) อีกหนึ่งคนทำหนังออสเตรียในคลื่นความถี่เดียวกันที่เรากำลังจะพูดถึงคราวนี้ก็คืออูลริค ไซเดิล (Ulrich Seidl)  

ลายเซ็นในงานของไซเดิลทั้งในหนังเล่าเรื่องและสารคดี คืออารมณ์ขันชั่วร้ายที่ชำนาญในการเล่นกับความผิดแปลกพิสดาร หรือกระทั่งสะอิดสะเอียนน่ารังเกียจ ผู้คนในหนังของเขาคือความบิดเบี้ยว เช่น คนเปลี่ยวเหงาผู้เลือกสัตว์เป็นเพื่อน ที่บางจังหวะก็ชวนคิดอกุศล (Animal Lover, 1996) สาวยูเครนผู้บำเรอกามลูกค้าประหลาดและคนไข้โรงพยาบาลบ้าตัวจริงที่ถูกใช้เป็นนักแสดง (Import Export, 2007) แก๊งป้าผิวขาววัยใกล้เกษียณที่ซื้อผู้ชายเคนย่ากินแต่ก็เพ้อพกถึงรักแท้ (Paradise: Love, 2012) ป้าเคร่งศาสนาผู้หลงรักพระเยซูบนไม้กางเขนแต่มีผัวเป็นมุสลิม (Paradise: Faith, 2012) หรือสาวอ้วนผู้หลงรักหมอประจำค่ายลดน้ำหนัก (Paradise: Hope, 2013)

ขนาดรูปร่างที่อ้วนหรือผอมจนผิดปกติ สีผิวเชื้อชาติที่ถูกขับเน้นความต่างให้เข้มข้น ริ้วรอยหรือความไม่สมประกอบจากวัย ความพิกลพิการป่วยไข้ทั้งทางกายและทางจิต คือสิ่งที่ถูกขีดเส้นย้ำพอๆ กับพฤติกรรมผิดวิสัยนานาประเภทในเรื่องที่เขาเขียน หรือขุดได้จากผู้คนผิดประหลาดที่เขาพาตัวเองไปพบเจอ หลายครั้งไปไกลจนชวนให้ขื่นคอระคนทึ่งในสายตาหยันโลกของเขา แต่หลายครั้งภาพที่ทำให้ท้องไส้ปั่นป่วนเหล่านั้นก็หม่นเศร้าอย่างประหลาด และยังโดดข้ามเส้นไปมาระหว่างความเป็นหนังเล่าเรื่องกับสารคดีอย่างไม่ยี่หระ เมื่อคุณสมบัติในตัวผู้แสดงสมัครเล่นถูกใช้อย่างเต็มที่ในหนังเล่าเรื่อง แต่ในหนังสารคดีก็มีลักษณะของการแสดงหน้ากล้องหรืออ่านบทในคราบของการสัมภาษณ์คอยสะกิดใจคนดูอยู่เป็นระยะ

Safari (2016) คือสารคดีขนาดยาวเรื่องล่าสุดของไซเดิลที่มีจุดเริ่มต้นคือคำถามที่ว่า อะไรคือวิธีคิดและแรงผลักดันของมนุษย์ที่มีกิจกรรมวันหยุดคือการเดินทางไปป่าซาฟารีในแอฟริกา …เพื่อยิงสัตว์ป่า

หนังลงพื้นที่สำรวจในประเทศนามิเบีย ติดตามนักล่าทั้งจากออสเตรีย เยอรมนี และเดนมาร์ก เพื่อบันทึกกระบวนการทั้งหมดของการหย่อนใจในซาฟารี ตั้งแต่กลุ่มมิตรสหายนายพรานวัยกลางคน สามีภรรยาชาวยุโรปผู้ดูแลศูนย์บริการการล่าสัตว์ ครอบครัวที่มาพร้อมลูกชายลูกสาววัยรุ่น และผัวเมียวัยชรา โดยส่วนหนึ่งในกิจกรรมการล่าของคนขาวก็คือคนท้องถิ่น ทั้งที่รับหน้าที่เป็นไกด์พาลูกทัวร์ไปยังจุดที่เหมาะสมแก่การล่า และคนอื่นที่มีชีวิตอยู่ปลายน้ำของวงจรทั้งหมดนี้

ไซเดิลไม่ได้ต้องการทำหนังเพื่อตั้งตัวเป็นผู้คุมญัตติโต้วาทีระหว่างฝ่ายเชียร์และฝ่ายชังการล่าสัตว์ป่าเพื่อความบันเทิง หรือกระโดดลงไปในข้อขัดแย้งและประเด็นยิบย่อย แต่ในขณะเดียวกันแม้เขาจะออกตัวว่าไม่ได้มีบทสรุปล่วงหน้าอยู่ในใจก่อนลงพื้นที่ Safari ก็ไม่ใช่หนังที่ปราศจากความคิดเห็นทางการเมือง หรือพยายามหลีกหนีข้อขัดแย้งจากฝ่ายที่อาจไม่เห็นด้วยกับหนัง เพราะนี่คือหนังที่มีคำถามสำคัญต่อความเลือดเย็นที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งไม่อาจแยกออกจากอภิปรัชญาว่าด้วยความเป็นมนุษย์ แต่คำตอบต่อภาพของวงจรการล่าสัตว์ที่เราได้เห็นนั้น คือสิ่งที่ผู้ชมจะย่อยและสังเคราะห์เพื่อตอบตนเองตามรูปแบบและความรู้สึกของแต่ละคน  

นี่คือหนังที่มีคำถามสำคัญต่อความเลือดเย็นที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งไม่อาจแยกออกจากอภิปรัชญาว่าด้วยความเป็นมนุษย์

ต่างจากความบิดเบี้ยวชวนพิโรธแบบกรณีอื้อฉาวที่ทุ่งใหญ่นเรศวร (ทั้งปี 2516 กับ 2561) ความคลุมเครือและเหยื่อมีชื่ออย่างสิงโตเซซิลในอุทยานแห่งชาติของซิมบับเว หรือความดราม่าของการสำเร็จโทษลิงกอริลลาฮารัมเบในสวนสัตว์เพื่อปกป้องมนุษย์ การล่าที่ปรากฏใน Safari นั้นดำเนินไปอย่างเป็นระบบ สงบราบคาบ และสะอาดถูกต้อง อย่างที่วงจรปกติควรจะเป็น และนั่นเองคือเป้าหมาย เพราะเมื่อหนังไม่ได้เลือกบันทึกภาพที่เน้นอารมณ์ระทึกชวนแขยงของการลักลอบเสาะหาช่องโหว่ หรือความอื้อฉาวบิดเบี้ยวเป็นพิเศษในพื้นที่ต้องห้ามและต่อสัตว์ที่อ่อนไหว ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การทำให้เห็นว่าความเลือดเย็นทั้งหมดนี้ยึดโยงอยู่อย่างไร ได้รับการอธิบายมอบความชอบธรรมจากชุดความคิดแบบไหน ผู้คนในวงจรนี้เป็นใคร และดำเนินไปด้วยสภาวะแบบใด

เรียบนิ่ง ตรงไปตรงมา เงียบงัน และไม่ตัดสินชี้ขาด แต่สำหรับผู้ชมที่อยู่นอกวงจรของกีฬาชนิดนี้ (หากทำใจให้เรียกเช่นนั้นได้) ภาพและเสียงทั้งหมดของหนังเรื่องนี้ อาจเป็นได้ทั้งความคลื่นไส้ ขยะแขยง และสยองขวัญอย่างลึกซึ้ง โดยไม่จำเป็นต้องอ่อนไหวเป็นทุนเดิมกับสวัสดิภาพสัตว์หรือกลิ่นคาวของเลือดกับเครื่องใน

เหล่านักล่าจากยุโรปดูจะทราบดีว่ากิจกรรมของพวกเขาถูกตั้งคำถามและต่อต้าน (และพร้อมจะแจ็กพ็อตถูกล่าเสียเองได้ทุกเมื่อ เหมือนหมอฟันผู้สังหารเซซิลหรือประธานบริษัทผู้สังหารเสือดำ แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับกระบวนการและการบังคับใช้กฎหมาย) ท่าทีในการเข้าหาของไซเดิลซึ่งเราไม่ได้เห็นชัดเจนในหนัง จึงต้องแยบยลและหลักแหลมในระดับที่ไม่ทำให้พวกเขาถอยหนีหรือก่อกำแพงเพื่อปกป้องตนเอง —ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นการเปิดเปลือยเนื้อหนังของพวกเขาเองอย่างถึงที่สุด

พวกเขาเปิดเผยถึงชนิดสัตว์ที่โปรดปรานในการล่า สัตว์ใหญ่ที่เป็นตัวท็อปที่หากล่าได้สักครั้งหนึ่งในชีวิตย่อมถือเป็นเกียรติประวัติ สัตว์ที่จะไม่มีวันหันปลายกระบอกปืนใส่เป็นอันขาดพร้อมเหตุผลประกอบ เสียงประสานของคำตอบต่อเหตุผลของฝ่ายต่อต้านจากสามีภรรยาผู้ดูแลศูนย์บริการการล่าสัตว์ ที่มองว่าธุรกิจนี้เป็นส่วนช่วยควบคุมประชากรสัตว์ที่โลกมองว่าหายากแฟนตาซีแต่ชุกชุมล้นเกินเหลือแสนในดินแดนซาฟารี พร้อมกับสร้างงานให้คนท้องถิ่นของประเทศโลกที่สาม และนักล่าหญิงคนหนึ่งเอ่ยประณามการฆ่าสัตว์อย่างเป็นระบบของโรงฆ่าสัตว์ พร้อมอธิบายต่อว่ามันต่างกับการฆ่าที่เธอชื่นชอบนี้อย่างไร

นอกวิลล่าที่พัก ในผืนป่ากับทุ่งหญ้า กล้องจับไปที่ความวาบหวามในแววตาหลังกระสุนพุ่งทะลุร่างของเป้าหมาย ความลุ้นระทึกระหว่างตามรอยเลือดรอยเหงื่อและสุนัขคู่ใจไปยังซาก พ่อแม่ที่สอนวิธีเล็งปืนให้ลูกวัยรุ่นที่กำลังค่อยๆ เพิ่มพูนความภาคภูมิใจเมื่อการล่าครั้งแรกๆ ของพวกเขาประสบผล ไกด์ท้องถิ่นที่ช่วยชี้เป้าและอธิบายความเป็นไปได้ต่างๆ ในช่วงเวลาที่พวกเขาออกล่า การซุ่มเฝ้าสัตว์อยู่บนห้างอย่างใจเย็น และเฝ้ามองสัตว์ใหญ่ล่ายากจากระยะไกล พร้อมวางแผนรุกคืบเข้าหาอย่างเงียบเชียบเป็นขั้นเป็นตอน ไปจนถึงความอิ่มเอิบจากการได้สัมผัสริ้วขนและเนื้อหนังของสัตว์ที่ล่าได้ และการแต่งซากทั้งการล้างเขาให้เงาสวยหรือขยับแข้งขาให้ถูกที่ถูกทางเพื่อภาพที่เหมาะเจาะลงตัว ไม่ต่างกับการสร้างภาพอาหารในอินสตาแกรม

การแต่งซากทั้งการล้างเขาให้เงาสวยหรือขยับแข้งขาให้ถูกที่ถูกทางเพื่อภาพที่เหมาะเจาะลงตัว ไม่ต่างกับการสร้างภาพอาหารในอินสตาแกรม

ฉากที่เชื่อได้ว่าผู้ชมจำนวนมากจะจดจำไปอีกนานคือการออกล่ายีราฟ ซึ่งกินความตั้งแต่การซุ่มดูจากระยะไกล ไคลแม็กซ์ของการล่าที่เต็มไปด้วยจุดพลิกผัน (ยีราฟเป้าหมายไม่ตายในกระสุนนัดแรกจนนำไปสู่การเผชิญหน้าระยะใกล้ และยีราฟที่เหลือในฝูงก็เฝ้ามองสมาชิกที่หายไปอยู่ห่างๆ) ไปจนถึงการปิดจ๊อบเมื่อซากยีราฟตัวดังกล่าวถูกขนย้ายมายังโรงชำแหละศพ

หนังไม่ได้ใช้วิธีการทางภาพยนตร์เพื่อเชื้อเชิญให้คนดูหัวเราะเยาะว่าพวกเขาจมอยู่ในโลกตกยุคอย่างเจ้าอาณานิคมเก่า หรือแช่งชักหักกระดูกคนพวกนี้ที่มองเห็นการล่าสัตว์ป่าเป็นสิ่งบันเทิง (หากไซเดิลจะทำ ย่อมไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา แต่นั่นจะทำให้ความซับซ้อนลุ่มลึกของหนังหายไปทันที) เพราะภายใต้ภาพชวนช็อกและความยอกแสยงใจที่คนดูต้องเป็นประจักษ์พยานการตายของสัตว์ใหญ่ หนังก็ยังซื่อสัตย์และตรงไปตรงมามากพอที่จะบันทึกความยิ่งใหญ่ตระการตา ความภาคภูมิใจ และความสำเร็จของผู้พิชิตเอาไว้ด้วย

นอกจากทัศนคติที่ล้าหลังในมาตรวัดของโลกปัจจุบัน มันก็คงเป็นความยิ่งใหญ่ ความภาคภูมิ และสถานะผู้พิชิตที่มีถ้วยรางวัลเป็นสัตว์หายากจากผืนป่านี้เองที่ดึงดูด แม้การล่าสัตว์ในโลกปัจจุบันจะต่างจากสมัยชนชั้นสูงเจ้าอาณานิคม แต่กฎหมายและธุรกิจที่เข้าควบคุมก็ยังรักษามนต์ขลังบางอย่างของโลกลี้ลับแห่งป่าซาฟารีเอาไว้เป็นจุดขายให้คนที่หลงเสน่ห์ คล้ายกับการเดินทางไปสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ที่กลายสภาพเป็นธุรกิจท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว

ราคาของชิ้นส่วนอวัยวะสัตว์ป่าซาฟารีนานาพันธุ์ละเอียดยิบในแคตตาล็อก ถูกอ่านเรียงลำดับให้กล้องบันทึกโดยสามีภรรยาวัยชราชาวยุโรปด้วยน้ำเสียงแข็งทื่อ คนดูผู้อยู่นอกวงจรไม่อาจแน่ใจได้เต็มร้อยว่านี่เป็นราคาซื้อหรือราคาขาย แต่ที่แน่ใจได้มากกว่าคือ ราคานี้ไม่ใช่ราคาสำหรับที่คนท้องถิ่นชั้นล่างซึ่งหนังบันทึกภาพไว้ คนท้องถิ่นที่อยู่ในกระบวนการเลื่อยตัดชิ้นส่วน ถลกหนัง คว้านเครื่องในจากซากสดๆ และหารายได้จากการรับจ้าง หรือไม่ก็เศษเสี้ยวกระจัดกระจายที่หลงเหลืออยู่จากกิจกรรมของบรรดาเศรษฐีฝรั่ง

ย้อนไปดังที่เกริ่นไว้ตอนต้น คนที่คุ้นเคยกับผลงานของไซเดิลอาจรู้สึกผิดประหลาดอยู่บ้างเมื่อได้พบว่า ผู้คนที่ปรากฏตัวใน Safari นั้นดูสมบูรณ์พร้อม (ใช่สิ เพราะนี่คือเศรษฐี) ปราศจากความบิดเบี้ยวผิดรูปทรงแบบที่เราได้เห็นในหนังเรื่องก่อนๆ ของเขา แต่ก็เช่นเดียวกับที่ความยิ่งใหญ่ตระการตาของการล้มยีราฟคือกุญแจสำคัญที่มอบคำตอบว่าทำไมจึงยังมีคนเข้าป่าล่าสัตว์เพื่อความบันเทิง การเป็นมนุษย์ที่สวยงามและเชื่อมั่นในความถูกต้องของนักล่าเหล่านี้เองที่ได้แสดงให้เห็นว่า คนทำหนังไม่จำเป็นต้องใช้มนุษย์ที่บิดเบี้ยวเพื่อตั้งคำถามหรือแสดงจุดยืนเลยในกรณีนี้

เพราะลำพังการเป็นมนุษย์ที่เลือกหย่อนใจด้วยการล่าสัตว์ นั่นเองคือความบิดเบี้ยวที่เด่นชัดจนไม่ต้องใช้ปัจจัยเสริมใดๆ

Fact Box

  • ปัจจุบันอูลริค ไซเดิลอายุ 65 ปี มีผลงานหนังยาวเข้าประกวดในสามทหารเสือเทศกาลหนัง (คานส์, เบอร์ลิน, เวนิซ) มาแล้วทั้งหมดห้าเรื่อง โดยชนะรางวัลสองครั้งจาก Dog Days (2001, Grand Special Jury Prize) และ Paradise: Faith (2012, Special Jury Prize) จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิซ
  • สารคดีเรื่องก่อนหน้านี้ของเขาคือ In the Basement (2014) ที่มีธีมเชื่อมโยงเป็นแฝดคนละฝากับ Safari อยู่บางๆ โดยในเรื่องนั้นเขาเล่าเรื่อง ‘ห้องใต้ดิน’ ที่เจ้าของบ้านใช้เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมลับ เช่น เป็นบ้านของตุ๊กตาที่เธอเรียกว่าลูก, ใช้เป็นที่ซ้อมยิงปืนเพื่อจัดการพวกมุสลิม, บรรเลงเพลงรัก SM แบบถึงพริกยิ่งกว่านิยายโรมานซ์ 20+ เรื่องไหนๆ หรือกระทั่งเป็นห้องสะสมของที่ระลึกพรรคนาซี - ถ้า In the Basement คือเรื่องหม่นมืดในที่ลับ Safari ก็คือเรื่องหม่นมืดในที่แจ้งนั่นเอง
Tags: , , , , ,