ท่ามกลางความตื่นตัวในวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่กระจายออกไปทั่วโลกและน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกละลายตัวอย่างรวดเร็วด้วยสภาวะโลกร้อน รัสเซียได้ตัดสินใจเปิดตัวเรือตัดน้ำแข็งพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อสนองตอบต่อโอกาสการเข้าถึงแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาลในเส้นทางเดินเรืออาร์กติก
รัสเซียเปิดตัวเรือตัดน้ำแข็งที่มีชื่อว่า ‘อูราล’ ซึ่งถูกต่อในอู่ต่อเรือที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและเป็นหนึ่งในสามของกองเรือใหม่ที่จะเป็นกองยานตัดน้ำแข็งที่ใหญ่และทรงพลังที่สุดในโลก สำหรับเตรียมเปิดเส้นทางเดินเรือเส้นทางใหม่หรือที่เรียกว่า ‘เส้นทางทะเลเหนือ’ (NSR) ซึ่งคาดว่าจะมีการเดินเรือตลอดทั้งปี
โดยเรือจะถูกส่งมอบให้บริษัท Rosatom ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ของรัสเซียในปี 2022 พร้อมกับเรือตัดน้ำแข็งอีกสองลำคือ Arktika และ Sibir ซึ่ง Alexey Likhachev ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Rosatom เปิดเผยว่า อูราลและพี่น้องของเธอเป็นหัวใจสำคัญสำหรับกิจกรรมในโครงการยุทธศาสตร์เปิดเส้นทางทะเลเหนือ (NSR)
ด้านประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ได้เผยในเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า รัสเซียกำลังอยู่ระหว่างการเร่งสร้างเรือตัดน้ำแข็ง โดยมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าบริเวณชายฝั่งอาร์กติก โดยภายในปี 2035 กองเรืออาร์กติกของรัสเซียจะมีมากถึง 13 ลำ และ 9 ลำจากทั้งหมดจะทำงานด้วยพลังงานนิวเคลียร์
การผลักดันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความแข็งแกร่งให้ ‘มอสโคว์’ สำหรับการแข่งขันทางเหนือที่มีคู่แข่งสำคัญเป็นแคนาดา สหรัฐอเมริกา และนอร์เวย์ รวมถึงจีน โดยมอสโคว์หวังว่าเส้นทางที่วิ่งจากเมอร์มานสค์ไปยังช่องแคบเบริงใกล้กับอลาสกาจะเป็นที่นิยมมากขึ้นจากเวลาขนส่งทางทะเลที่ลดลงในเส้นทางเอเชียไปยังยุโรป
ปัจจุบัน เขตอาร์กติกมีปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซเทียบเท่ากับน้ำมันถึง 412,000 ล้านบาร์เรลหรือประมาณ 22% ของน้ำมันและก๊าซที่ยังไม่ได้เริ่มต้นใช้งานของโลก
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาร์กติกเป็นหนึ่งในพื้นที่ร้อนที่สุดในโลก ระดับน้ำแข็งในทะเลแถบอาร์กติกจึงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีขนาด 5.04 ล้านตารางไมล์ ลดลง 525,000 ตารางไมล์จากค่าเฉลี่ยของน้ำแข็งที่ปกคลุมในช่วงปี 1981-2010 ทำให้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 น้ำแข็งในอาร์กติกมีขนาดต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ (อ้างอิงจากศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NSIDC)) หลังจากที่ในปี 2018 รัสเซียส่งเรือลำแรกผ่านเส้นทางทะเลเหนือโดยไม่มีเรือตัดน้ำแข็ง
ทั้งนี้ กลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมหลายกลุ่มได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับผลจากการละลายของน้ำแข็งบริเวณอาร์กติกว่าการทำลายน้ำแข็งเพื่อเชื้อเพลิงและเส้นทางเรือไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ในบริเวณอาร์กติกเท่านั้น แต่ยังทำให้แผ่นน้ำแข็งละลายเร็วขึ้นและกระทบถึงระดับน้ำทะเลโดยรวมของทั้งโลก รวมถึงอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงไปอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำทะเลทั่วโลกอีกด้วย
ที่มา
https://www.carbonbrief.org/five-reasons-why-the-speed-of-arctic-sea-ice-loss-matters