ช่วงแรก จะพาท่านไปสำรวจความสลับซับซ้อนของสังคม ที่ปรากฏและแสดงให้เห็นผ่านการแสดงออกทางวัฒนธรรม และตัวอย่างมุมมองต่อวัฒนธรรมย่อยและค่านิยมที่ถูกกดทับ เพื่อแสดงให้เห็นถึงมิติด้านอื่นๆ ที่หลบซ่อนอยู่ภายใต้การแสดงออกร่วมกันของผู้คน

ในงานศึกษาของ ไมเคิล เบลก (Michael Blake) ที่ฉายภาพช่วงต้นปี 1970 ลอนดอน ประเทศอังกฤษ คนหนุ่มสาวของอังกฤษปรับเปลี่ยนตนเองเข้าสู่วัฒนธรรมย่อย 2 ประเภท ได้แก่ วัฒนธรรมม็อด (Mod) และวัฒนธรรมสกินเฮด (Skinhead) ด้วยแรงกดดันทางเศรษฐกิจและการแสวงหาพื้นที่ในแบบของพวกเขา กลุ่มสกินเฮดยึดโยงวิถีชีวิตกลับไปยังชุมชนแรงงานในอดีตของลอนดอนเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาวะตกงาน แต่กลุ่มม็อดนั้นกลับแสดงให้เห็นถึงแนวความคิดเกี่ยวกับความมั่งคั่งและการสะสุมทุน โดยมักจะแสดงภาพให้เห็นว่าพวกเขานั้นมีทุนสะสมและรู้ว่าควรจัดการกับเงินอย่างไร  

เบลกเสนอว่า “วัฒนธรรมย่อยเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาร่วมเชิงประสบการณ์อันเกิดจากความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรมเหล่านี้ได้สร้างรูปแบบของอัตลักษณ์ร่วมที่ซึ่งวัยรุ่นสามารถที่จะบรรลุอัตลักษณ์ปัจเจกของตนขึ้นมาจากภายนอกสิ่งที่ถูกกำหนดจากสังคมว่าด้วยชนชั้น การศึกษาและอาชีพ” 

ดังนั้น จากมุมมองนี้ วัฒนธรรมย่อยจึงหมายความถึงการแบ่งปันอัตลักษณ์และในเชิงสัญลักษณ์ร่วมกันของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมุ่งหมายที่จะแสดงออกถึงคุณค่าของตน ที่มีความซับซ้อนและเป็นจุดมุ่งหมายร่วมที่จะแสดงออกซึ่งตัวตน คุณค่า และแสวงหาการยอมรับในฐานะสมาชิกร่วมกันของสังคม 

คนหนุ่มสาวและวัฒนธรรมย่อย: วิถีชีวิตและภาพจำกลับด้าน

ในสังคมปัจจุบันอาจเป็นเรื่องล้าสมัย หากพูดเรื่องวัฒนธรรมในแง่ที่ยึดโยงอยู่กับเชื้อชาติ ภาษา และศาสนา เนื่องมาจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่เชื่อมต่อโลกเข้าด้วยกันและเกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมขึ้นมากมาย มีการหยิบยืมวัฒนธรรม เช่น อาหาร ดนตรี การแต่งกาย ไปใช้ระหว่างกัน และเนื่องจากในสังคมประชาธิปไตยนั้นยอมรับในความหลากหลาย และมีเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะในงานสร้างสรรค์ การแสดงออกภายใต้วัฒนธรรมเพื่อสื่อสารถึงตัวตน และความหวังของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงสมควรที่จะได้รับการยอมรับและการคุ้มครอง เพื่อสร้างพื้นที่ในการแบ่งปันความหมายร่วมกันของสังคม

แต่เมื่อเกิดงานสร้างสรรค์ขึ้น โดยเฉพาะเป็นงานสร้างสรรค์ที่ใช้พื้นที่ของวัฒนธรรมย่อยและอัตลักษณ์ของกลุ่มในการแสดงออก การตีความและการให้คุณค่าต่องานอาจถูกผูกติดกับความรับรู้ฝ่ายเดียว และความคิดเห็นที่สัมพันธ์ต่อความรับรู้ที่มีความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมภายใต้รูปของความต่างทางวัฒนธรรม เช่น เราอาจมีอคติต่อการสื่อสารของคนบางกลุ่ม

‘วัฒนธรรมวัยรุ่นในยุคโลกาภิวัตน์ไม่ได้อิงแอบหรือสืบเนื่องกับวัฒนธรรมเก่าอีกต่อไป หากแต่มีการพัฒนาและก่อรูปใหม่อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมใหม่จึงไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ภายใต้ลำดับความสัมพันธ์แบบสูงต่ำ คัดง้าง หรือเบียดบังกับสังคมเสมอไป

เพราะวัฒนธรรมนั้นเป็นประเด็นที่จะต้องวิเคราะห์ด้วยตรรกะที่มีความสลับซับซ้อน มากกว่าความสัมพันธ์เชิงระนาบในแบบเดียวที่คุ้นชินกันมา’ 

เสรีภาพในการแสดงออกคือพื้นที่ให้ผู้คนได้มีความสามารถนำเสนอความคิดและจินตนาการของตนเองได้ปรากฏออกมาให้ผู้อื่นรับรู้ ดังนั้น คนทุกคนจึงควรมีสถานะทางการแสดงออกอย่างเท่าเทียมกัน

การจะพิจารณาคุณค่าของงานสร้างสรรค์ที่ถ่ายทอดและแสดงออกที่ปรากฏผ่านวัฒนธรรม จึงอาจจำเป็นต้องสลัดค่านิยมที่ยึดโยงกับความสัมพันธ์ที่มีความสูงต่ำไม่เท่าเทียมกัน และต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า ในการแสดงออกนั้นประกอบไปด้วยมิติที่ซับซ้อน มีความลื่นไหลอยู่มาก และไม่จำเป็นที่จะต้องต่อต้านกับความสัมพันธ์ทางสังคมอื่นๆ 

แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น ในการแสดงออกซึ่งความเห็นหรือความรับรู้บางประการก็อาจถูกสกัดกั้นออกไปได้ หากการแสดงออกนั้นมีเนื้อขัดหรือแย้งกับคุณค่าทางสังคมที่จำเป็นต่อความเป็นอยู่ของสังคม สิ่งนี้สามารถเห็นได้จากการเซนเซอร์ ทั้งอย่างการแปะป้ายผู้ปกครองควรให้คำแนะนำ (Parental Advisory) หรือกระทั่งถูกนำออกไปด้วยอำนาจของภาครัฐที่อ้างว่าปกป้องคุณค่าทางศีลธรรม ดังที่จะเห็นในตัวอย่าง 2 ประการต่อไปนี้ 

การแสวงหาพื้นที่และการยอมรับผ่านการแสดงออก

ใบปิดภาพยนตร์เรื่องรักในสวนหลังบ้าน ภาพ: วิกิพีเดีย

แมลงรักในสวนหลังบ้าน (Insects in the Backyard) ผลงานภาพยนตร์กำกับโดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ออกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแวนคูเวอร์และฉายในเทศกาลภาพยนตร์โลกกรุงเทพฯ และได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Dragons and Tigers Competition เนื้อเรื่องเล่าชีวิตของตัวละครที่พบเจอประสบการณ์อันแปลกประหลาด ครอบครัวที่พ่อเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ภาพยนตร์ไม่ผ่านการอนุญาตจากกระทรวงวัฒนธรรม ด้วยเหตุผลว่า มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เนื่องจากการนำเสนอความรักของคนเพศเดียวกัน การที่ตัวละครตัดสินใจประกอบอาชีพโสเภณี การสูบบุหรี่ ดื่มสุราขณะใส่ชุดนักเรียน รวมถึงการที่ตัวละครฝันว่าฆ่าพ่อ บางส่วนมีการนำเสนอภาพของขององคชาตและประกาศห้ามฉาย ดังนี้ จะเห็นได้ว่าเนื้อหาที่โป๊เปลือยนั้นกระทบต่อศีลธรรมอันดีอันเป็นมาตรฐานของรัฐ ตลอดจนเนื้อหาที่แสดงออกถึงบริบททางเพศและการขายบริการ บริบททางวัฒนธรรมที่ดูเหมือนจะฝ่าฝืนค่านิยมทางเพศเหล่านี้จึงถูกมองว่าแตกต่างไปจากความรับรู้ของสังคมในสายตาของกระทรวงวัฒนธรรมในขณะนั้น

ภาพจากวิดีโอประกอบเพลงปฏิรูป, ภาพ: prachachat.net

ตัวอย่างอีกหนึ่งประการคือ ผลงานเพลงปฏิรูป ของกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship (R.A.D.) ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมืองปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะการเมืองไทยช่วงหลังรัฐประหาร นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถูกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยื่นคำร้องเพื่อระงับการเผยแพร่บนเว็บไซต์ยูทูบต่อศาลอาญา ศาลมีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่คลิปเพลงปฏิรูป ตามคำร้องของผู้ยื่นคำร้อง โดยระบุว่า ‘โดยรวมเนื้อหาทำนองให้พัฒนาปรับปรุงความเท่าเทียมของบุคคลในสังคม แต่เต็มไปด้วยถ้อยคำหยาบคายทุกวรรคตอน บางตอนมีถ้อยคำเปรียบเปรยถึงพระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่สมควรเผยแพร่ ทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชนและบุคคลทั่วไป’ และแม้ว่าการแสดงออกนั้นจะกระทำภายใต้เสรีภาพ ‘แต่เสรีภาพดังกล่าวนั้นต่อผู้อื่น โดยเฉพาะบุคคลที่คนส่วนใหญ่ให้ความเคารพ จึงไม่ได้เป็นผลงานที่สร้างสรรค์เพื่อสังคม’ 

ทั้งนี้ ก่อนที่วิดีโอเพลงปฏิรูปจะถูกปิดกั้นการเข้าถึง คลิปเพลงมียอดผู้เข้าชมประมาณ 9 ล้านครั้ง และมีผู้มาแสดงความคิดเห็นมากกว่า 1 หมื่นครั้ง

ทนายความในคดีระบุว่า คำสั่งที่ออกมาไม่เพียงแต่กระทบต่อศิลปินเจ้าของผลงาน แต่ยังสร้างความตื่นกลัวให้กับการสร้างสรรค์ผลงานต่อวงการเพลง ในขณะที่หนึ่งในศิลปินเจ้าของผลงานได้เปิดเผยว่า รู้สึกโกรธที่วัฒนธรรมการแร็ปกลายมาเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ด้วยการหยิบยกประเด็นคำหยาบคายในเพลงมาด้อยค่าแก่นหลักของเพลงที่ได้สื่อสารออกไป 

ในกรณีนี้เป็นการปิดกั้นการเข้าถึงงานสร้างสรรค์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและมีความหยาบคาย โดยสั่งปิดกั้นการเข้าถึงภายในประเทศไปยังผลงานดังกล่าว เนื่องจากมีถ้อยคำเปรียบเปรยถึงพระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรี ดังนั้น หากคำสั่งนี้กลายเป็นบรรทัดฐานต่อไปก็อาจจะสร้างอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ผลงานของชุมชนศิลปินได้ ตลอดจนการที่ศาลเห็นว่าเนื้อหาให้พัฒนาปรับปรุงความเท่าเทียมของบุคคลในสังคม แต่กลับเห็นว่าไม่ใช่งานสร้างสรรค์ ก็เป็นการลดทอนคุณค่าอื่นๆ ในที่ปรากฏในเนื้อหาด้วย

เพราะวัฒนธรรมย่อย คือความพยายามในการจัดการความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง

เสรีภาพในการแสดงออก คือสิ่งที่ทำให้ผู้คนเชื่อมต่อเข้าหากันได้ เพื่อที่จะถกเถียง เสนอ เรียนรู้ และเผยแพร่ความคิดและจินตนาการของตนเองให้ปรากฏออกมาสู่โลก ท่ามกลางความคิดที่หลากหลายและภูมิหลังที่แตกต่างกัน ดังนั้น การแสดงออกจึงเป็นสิ่งที่จะสร้างความรับรู้ และบอกเล่าประสบการณ์และจุดมุ่งหมายของชุมชนให้ปรากฏออกมาแก่สังคม แต่เมื่อการแสดงออกผ่านงานสร้างสรรค์จำเป็นต้องผ่านกระบวนการตีความเพื่อควบคุมระดับศีลธรรมทางสังคม พื้นที่ในการแสดงออกอาจถูกบีบให้แคบลงได้

นอกเหนือไปกว่านั้น หากตีความคุณค่าโดยอ้างอิงกับคุณลักษณะทางวัฒนธรรมเป็นหลัก อาจทำให้มองข้ามคุณค่าอื่นๆ ที่ประกอบสร้างขึ้นจากสังคมที่มีความสลับซับซ้อนในความเป็นจริง ทั้งจากมิติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมที่ประกอบอยู่ในการแสดงออกก็อาจถูกลดทอนความสำคัญลงไป เหลือเพียงสิ่งที่สอดรับกับความเข้าใจแบบเดิมที่มีอยู่

ส่งท้าย

เมื่อจำเป็นต้องพิจารณาถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมตลอดจนพลวัตทางสังคม จึงสมควรที่จะทำความเข้าใจชุมชนและการแสดงออกอย่างเป็นกลาง คำนึงถึงพวกเขาในฐานะสมาชิกอื่นๆ ในสังคม ในฐานะสมาชิกร่วมกันในชุมชนที่แสวงหาพื้นที่ในการนำเสนอตัวตนและความคิดเห็นออกมาให้ปรากฏ ทั้งเพื่อเปิดโอกาสและพื้นที่การสื่อสารให้แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้สื่อสารในชีวิตประจำวันได้เข้ามามีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม

ความแตกต่างไม่ใช่ความวุ่นวายของสังคม กลับกันความแตกต่างถือเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย การบอกว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสื่อสารแก่สาธารณะได้ย่อมเป็นการจำกัดการแสดงออก และปิดกั้นความหลากหลายซึ่งเป็นประเด็นร่วมกันของสังคม

 

อ้างอิง

Christine Feldman-Barrett, WE ARE THE MODS, https://museumofyouthculture.com/mods/

Brake, Michael. 1985. Comparative Youth Culture: The Sociology of Youth Culture and Youth subcultures in America, Britain and Canada, London – New York: Routedge&Kegan Paul. ใน ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, วัฒนธรรมวัยรุ่น, วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, Vol. 22 No. 1 (2010): วัยรุ่นกับวัฒนธรรมสมัยนิยม, https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jss/article/view/172544

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, วัฒนธรรมวัยรุ่น

หนังโดนแบน ‘Insects in the Backyard’ เตรียมเข้าฉาย 30 พ.ย., Voice Online, เผยแพร่เมื่อ 29 สิงหาคม 2560, https://www.voicetv.co.th/read/528004

ศาลสั่งปิดคลิปเพลง “ปฏิรูป” ของวง R.A.D. อีกครั้ง อ้างเพลงไม่สร้างสรรค์ ใช้คำหยาบคาย และมีการแสดงความเห็นกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทฑอมนุษยชน TLHR, เผยแพร่เมื่อ 7 กรกฎาคม 2565, https://tlhr2014.com/archives/45744?fbclid=IwAR14chN3Ylfda78RYKGgIkPPJ0s0wrxPLqrvszkmDh5ryHl0w5JN1lykMVA

Tags: , , , , ,