เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นำฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณี ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เหยื่อตำรวจซ้อมทรมานคลุมถุงดำ เป็นโจทก์ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ฐานละเมิด เรียกค่าเสียหาย 13 ล้าน โดยศาลพิพากษาว่า ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยชำระเงินเพียง 3.8 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2552 (วันที่ถูกละเมิด) ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564

คดีนี้เป็นคดีที่อุกฉกรรจ์ มีความน่าสนใจในมุมมองนิติศาสตร์และปัญหาของกระบวนการยุติธรรม ที่ตีราคาชีวิตและความเสียหายจากกรณีที่ประชาชนตกเป็นเหยื่อความรุนแรง โดยสะท้อนภาพอันกลับตาลปัตร จากที่รัฐควรเป็นฝ่ายที่ทำหน้าที่ให้การปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่รัฐกลับเป็นผู้ทำลายเสียเองทั้งหมด 

และนี่อาจเป็นอัตลักษณ์แท้จริงอย่างหนึ่งของรัฐไทย

ทบทวนจุดเริ่มต้นความเลวร้ายที่ครอบครัวชื่นจิตรต้องเผชิญ

ย้อนกลับไปวันที่ 28 มกราคม 2552 เกิดเหตุการณ์ ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร ที่ขณะเป็นเพียงนักเรียน ม.ปลาย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวระหว่างขับมอเตอร์ไซค์อยู่ เจ้าหน้าที่แจ้งให้เขาไปที่สถานีตำรวจ ซึ่งเขาก็ตามไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะคิดว่าอาจไม่มีอะไร 

แต่เรื่องหลังจากนั้นกลับตรงกันข้าม เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและถูกซ้อมทรมาน บังคับให้รับสารภาพว่าตนเป็นผู้กระทำความผิด เป็นคนร้ายที่ได้กระชากสร้อยทองจากผู้เสียหายที่เคยมาแจ้งความไว้ก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุเพราะเขามีรูปพรรณสัณฐานคล้ายกับคนร้ายจากข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งมา

จากเด็กนักเรียนกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงและกระบวนการซ้อมทรมานทันที เริ่มตั้งแต่การถูกตบเข้าบริเวณใบหน้า โดยผู้หญิงที่เป็นผู้เสียหายในคดีวิ่งราวทรัพย์ และมองว่าฤทธิรงค์เป็นผู้กระชากสร้อยทองไป ก่อนถูกใส่กุญแจมือและพาไปยังห้องด้านหลังสถานีตำรวจ ตำรวจกลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังรออยู่ในห้องจับมือทั้งสองข้างของเขาไพล่หลัง แล้วนำถุงขยะสีดำครอบหัวฤทธิรงค์ ก่อนทุบตีอย่างต่อเนื่อง พร้อมถามย้ำๆ ว่า “มึงเอาทองไปไว้ที่ไหน”

“ลูกผมถูกครอบถุงดำจนขาดอากาศ เขาก็เลยกัดถุงให้มีรูหายใจนิดนึง แต่พอมีรูแค่นิดเดียว ตำรวจก็เอาถุงใบใหม่มาครอบ แล้วบอกว่า ‘ถ้าเกิดมึงกัด กูก็จะครอบใหม่ ถ้ามึงตายไปก็เปลี่ยนเป็นคดีคนหาย’ เขาถูกสวมถุงดำไป 4 ใบ ต่างจากเคสที่จังหวัดนครสวรรค์ (คดีอดีต ผกก.โจ้) ที่โดนไป 6 ใบ” สมศักดิ์ ชื่นจิตร บิดาของฤทธิรงค์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าว

ในวันนั้น ฤทธิรงค์จำเป็นต้องใช้กลอุบายหลอกล่อเจ้าหน้าที่ เพื่อเอาชีวิตรอด เขายอมรับกับตำรวจไปตรงๆ ว่า นำทองไปฝากไว้ที่ร้านขายของชำแห่งหนึ่ง (ทั้งที่ไม่ได้ทำ) และบอกว่า จะไปชี้จุดซ่อนทองให้ด้วยตัวเอง โดยร้านชำดังกล่าว เป็นร้านที่ฤทธิรงค์รู้จักกับเจ้าของร้าน ทำให้เขามีโอกาสขอความช่วยเหลือกับคนในร้านได้ พูดทุกอย่างที่นึกขึ้นได้ในวินาทีนั้น 

แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจรู้ตัวว่าตนเองกำลังหลงกลอยู่ ก็รีบนำตัวฤทธิรงค์กลับไปสถานีตำรวจ พร้อมพยายามบังคับตรวจปัสสาวะ เพื่อจะยัดเยียดว่า ฤทธิรงค์มีอาการติดยาเสพติด แต่คนดูแลร้านชำที่ตามมาด้วยก็คัดค้านว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทำไม่ถูกต้อง และติดต่อให้บิดามารับฤทธิรงค์กลับบ้าน ตอนนั้นเอง สมศักดิ์ถึงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับลูกชาย หลังเวลาผ่านไปกว่า 4 ชั่วโมง

กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า คือความยุติธรรมแบบไทยๆ

ภายหลังเหตุการณ์ เมื่อสมศักดิ์ทราบว่าลูกชายของตนเจอกับอะไรบ้าง เขาก็รีบเดินหน้าแจ้งความกับตำรวจ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน ตำรวจที่จะรับแจ้งความกับตำรวจที่ทำร้ายร่างกาย ทรมานฤทธิรงค์ ก็เป็นตำรวจกลุ่มเดียวกัน มีการบ่ายเบี่ยง ไม่ยอมรับแจ้งความหลายครั้ง 

จนถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552 (10 วันหลังเกิดเหตุ) ที่ร้อยเวรยอมรับแจ้งความ แล้วหลังจากนั้น คดีก็ถูกดองไว้นานกว่า 6 ปี (2552-2558) ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หนึ่งในองค์กรอิสระที่ถูกจัดตั้งเพื่อมาเป็นกลไกการตรวจสอบอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ

เมื่อไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ได้เป็นเวลาหลายปี ครอบครัวก็พยายามยื่นหนังสือร้องเรียนกับหน่วยงานของรัฐมากกว่า 40 แห่ง เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ ไปกว่า 4-5 ล้านบาท แถมบ้านและที่ดินก็ต้องติดจำนอง ถึงอย่างนั้นก็ไม่เคยได้รับความช่วยเหลืออย่างจริงจังจากหน่วยงานใดเลยแม้แต่น้อย 

ตลอดระยะเวลาที่พยายามเรียกร้องความยุติธรรมต่อหน่วยงานรัฐ สิ่งที่ได้รับกลับมาคือคำว่า ‘อยู่ระหว่างรอดำเนินการ’ และจนท้ายที่สุด ป.ป.ท.ที่ทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงได้มีคำวินิจฉัยออกมาว่า คดีที่ฤทธิรงค์ถูกซ้อมทรมาน ‘ไม่มีมูลความผิด’ (ภายหลังตรวจพบว่ามีขบวนการทำพยานหลักฐานเท็จในกระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ท.ช่วยเหลือกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ ครอบครัวดำเนินคดีกับพยานเท็จดังกล่าว แยกเป็นอีกคดีหนึ่ง โดยในคดีนั้นจำเลยให้การรับสารภาพ และศาลจังหวัดปราจีนบุรีพิพากษารอการลงโทษ เป็นเวลา 1 ปี)

สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น หมายความว่ากระบวนการยุติธรรมโดยรัฐที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ที่ควรจะเป็นกลไกที่ประชาชนพึ่งพาและเข้ามาปกป้องชีวิตของประชาชน ก็จบลงตรงที่ไม่สามารถพึ่งพาใดๆ ได้เลย

ทั้งนี้ ด้วยความช่วยเหลือของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและให้ความช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อการซ้อมทรมาน ทางทีมทนายความของมูลนิธิฯ ได้ปรึกษากับครอบครัว และรื้อคดีขึ้นมาใหม่ ทำการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาและศาลแพ่งด้วยตัวเอง

ในคดีอาญาที่มีเป้าหมายในการลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรง ครอบครัวได้ตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาล เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 โดยศาลจังหวัดปราจีนบุรีใช้เวลาไต่สวนมูลฟ้องประมาณ 1 ปี กับอีก 6 เดือน ก่อนที่จะประทับรับฟ้องพิจารณาการกระทำความผิดของกลุ่มตำรวจ 4 จาก 7 คน วันที่ 19 ธันวาคม 2559 

ระหว่างนั้น ทางครอบครัวก็ถูกอีกฝ่ายติดตาม ข่มขู่ และมีนักการเมืองท้องถิ่นเข้ามาพูดคุยพยายามไกล่เกลี่ย และอุปสรรคที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่ฤทธิรงค์ ต้องตกเป็นจำเลยอีกคดีหนึ่ง ที่ตำรวจคนหนึ่งที่รอดพ้นจากการเป็นจำเลย เนื่องจากศาลไม่รับฟ้อง เพราะความผิดหมดอายุความไปก่อน (เป็นคนตบหน้าฤทธิรงค์ ไม่เป็นเหตุให้เป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นความลหุโทษตามมาตรา 391 ป.อาญา อายุความ 1 ปีนับแต่วันกระทำความผิด) ได้ฟ้องดำเนินคดีกลับ อ้างว่าฤทธิรงค์ฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ ซึ่งเป็นคดีที่สู้กันกว่า 6 ปี จนถึงชั้นฎีกา 

ท้ายที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้อง โดยที่ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นได้ตัดสินจำคุกฤทธิรงค์ 5 ปี และปรับ 1 แสนบาท (จากเหยื่อซ้อมทรมาน กลายเป็นจำเลยคดีฟ้องเท็จ)

กระบวนการพิจารณาคดีอาญานี้ดำเนินไปอีก 2 ปี 9 เดือน (15 ธันวาคม 2559 ถึง 28 กันยายน 2561) ศาลจังหวัดปราจีนบุรีนัดอ่านคำพิพากษา โดยพิพากษาว่า ตำรวจ 2 คนที่เกี่ยวข้อง (ครอบครัวถอนฟ้องไปก่อนหน้านี้ 2 คน[1]) มีความผิดจริงในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ด้วยวิชาชีพของจำเลย และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยถูกลงโทษมาก่อน ให้รอลงอาญา 2 ปี 

แม้ครอบครัวจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ และในอีกเกือบ 1 ปีให้หลัง วันที่ 7 สิงหาคม 2562 ศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

จะเห็นว่า ระยะเวลานับตั้งแต่ฤทธิรงค์ถูกซ้อมทรมาน การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี สำหรับรัฐไทย หลักการตามภาษิตกฎหมายที่ว่า ‘ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม’ (Justice delayed is justice denied) ย่อมใช้ไม่ได้อย่างสิ้นเชิง 

แม้ว่าทางครอบครัวจะดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ฤทธิรงค์ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกซ้อมทรมานอย่างไร พร้อมกับเอกสารทางการแพทย์ ใบตรวจร่างกายและความเสียหายทางจิตใจที่ฤทธิรงค์เผชิญ ก็ไม่ได้ทำให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างเที่ยงตรงและรวดเร็วแต่อย่างใด

 

การต่อสู้คดีเพื่อเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง

ในคดีแพ่งที่ทางครอบครัวได้ฟ้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยการฟ้องเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2560 และศาลมีคำพิพากษาหลังจากนั้นอีก 5 ปี คือ วันที่ 28 มิถุนายน 2565 โดยมีรายละเอียดในคำพิพากษาดังต่อไปนี้

เริ่มด้วย ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า “บาดแผลตามเนื้อตัวร่างกายของโจทก์ที่ปรากฎตามผลชันสูตร โดยแพทย์ผู้ตรวจบาดแผลตรวจบาดแผลมีการกดเจ็บที่ข้อมือสองข้าง กดเจ็บที่คอด้านหลัง ไม่พบบาดแผลที่ท้อง มีรอยถลอกด้านซ้ายบน ที่ท้องด้านซ้ายล่าง ใช้เวลารักษา 3 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์พบเพียงบาดแผลถลอกบนร่างกาย และโจทก์เบิกความว่า ถูกทำร้ายร่างกายโดยใช้ถูกพลาสติกคลุมศีรษะและมัดรวบด้านหลังทำให้ขาดอากาศหายใจ โดยกระทำหลายครั้ง ทั้งที่ยังใช้ถุงคลุมหลายใบครอบหลายชั้น จนขาดอากาศจนโจทก์มีอาการชักเกร็ง รวมทั้งใช้เข่ากดบริเวณลำตัวไม่ให้ดิ้น ทั้งข่มขู่ว่า หากโจทก์ไม่รับสารภาพ ถ้าโจทก์ตายจะนำศพไปทิ้งที่เขาอีโต้ เป็นเพียงคดีคนหายเท่านั้น เพียงเพื่อให้รับสารภาพว่าได้กระทำความผิดอาญา

“การกระทำทั้งหมดเป็นการทรมานโจทก์ในฐานะผู้ต้องหาโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อไม่ให้เกิดร่องรอยบาดแผลบนลำตัวของโจทก์ และเป็นการป้องกันตนเองให้พ้นจากความรับผิดทางกฎหมาย ถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนตามกฎบัตรของสหประชาชาติและกฎหมายรัฐธรรมนูญอีกด้วย”

โดยศาลกำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ประกอบด้วยค่าเสียหายต่อชีวิตร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จำนวน 1 ล้านบาท ค่าเสียหายต่อการถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวตั้งแต่เวลา 15.00-19.00 น. จำนวน 8 หมื่นบาท ค่าเสียหายต่อชื่อเสียงโดยคำนวนจากสถานภาพของโจทก์ขณะถูกทำร้าย และโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคตให้ 3 แสนบาท

และสุดท้ายค่าเสียหายต่อจิตใจ ศาลได้พิจารณาจากคำเบิกความของแพทย์ที่รักษาโจทก์มาเป็นเวลาหลายปี ว่าโจทก์มีอาการทางจิตเวช (Post-traumatic stress disorder: PTSD) หรือโรคเครียดอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญดังกล่าว จำนวน 2 ล้านบาท 

จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,380,000 บาท แก่โจทก์ โดยให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดต่อโจทก์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 หากรวมดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง เป็นจำนวนเงิน 6,844,500 และให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

จากความเห็นของทีมทนายเห็นว่า ค่าสินไหมทดแทนที่ศาลสั่งให้ สตช.ชดใช้น้อยกว่าที่เรียกในตอนแรกอย่างมากจาก 20 ล้านบาท ลดเหลือราวๆ 7 ล้านบาท ส่วนสำคัญมาจากกรณีที่ศาลให้ชดใช้กรณีสูญเสียทางทำมาหากินได้ลดลงเหลือเพียง 3 แสนบาท จากที่เรียกไป 1 ล้าน โดยคำนวณจากโอกาสประกอบสัมมาอาชีพของฤทธิรงค์ ที่จบเพียงวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 

ซึ่งประเด็นนี้ ศาลไม่ได้พิจารณาองค์ประกอบของกรณีที่ฤทธิรงค์ต้องเผชิญกับอาการ PTSD จนเป็นเหตุให้ตัวของเขาไม่สามารถสำเร็จการศึกษาในระดับที่สูงกว่าได้อีกต่อไป (ฤทธิรงค์เคยสอบติดคณะรัฐประศาสนศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แต่ต้องลาออกมาเพราะอาการ PTSD ในตัวเขา) อีกทั้งสภาวะความเสียหายทางด้านจิตใจของฤทธิรงค์ ยังหยุดความฝันของการเป็นนักดนตรี ที่ครั้งหนึ่งฤทธิรงค์ เคยเข้าแข่งการประกวดกีตาร์คลาสสิกระดับประเทศอีกด้วย

รวมถึงกรณีที่ศาลสั่งให้ชดใช้กรณีการละเมิดสิทธิเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายเพียง 8 หมื่นบาท จากที่เรียกไป 5 ล้านบาท เพราะศาลเห็นว่าเป็นการสืบประเด็นซ้ำซ้อนกับเรื่องการทำร้ายร่างกาย 

แต่ในทางหลักการของกฎหมายสิทธิมนุษยชน การละเมิดเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกาย การซ้อมทรมาน (ครอบถุงดำให้ขาดอาการหายใจ) กักขังหน่วงเหนี่ยว บีบบังคับให้รับสารภาพว่ากระทำความผิดในสิ่งที่ตนไม่ได้กระทำ ไกลห่างและรุนแรงกว่าการทำร้ายร่างกายเป็นอย่างมาก และผลกระทบที่ได้รับ เป็นผลกระทบระยะยาวที่ตามหลอกหลอนเหยื่อไปได้ตลอดชีวิต ต่างจากบาดแผลทำร้ายร่างกายภายนอกที่สามารถรักษาหายได้ในเวลาไม่กี่วัน ศาลควรพิจารณาประเด็นนี้อย่างใส่ใจต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และละเอียดอ่อนมากกว่านี้

และดังที่กล่าวไปเมื่อตอนต้น วันที่ 20 ธันวาคม 2566 ศาลอุทธรณ์ได้ลดจำนวนค่าเสียหายที่ฝ่ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติลงเหลือ 3.8 แสนบาท เนื่องจาก ศาลเห็นว่า ครอบครัวฤทธิรงค์ได้รับเงินเยียวยาจากการเจรจาตกลงยอมความกับตำรวจสองนายที่เคยได้ถอนฟ้องไปแล้ว 4 ล้านบาท จึงต้องนำเงินดังกล่าวมาหักด้วย ที่ศาลชั้นต้นไม่พิจารณาหักค่าเสียหาย 4 ล้านบาท ออกจากค่าเสียหายที่กำหนดให้จำเลยรับผิดชอบต่อโจทก์จึงไม่ถูกต้อง 

กลายเป็นว่า ศาลมองว่าครอบครัวฤทธิรงค์ ซึ่งเป็นโจทก์ อาจได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเกินความเสียหายที่แท้จริง 

แต่ตรงกันข้าม จากมุมมองฝั่งครอบครัวฤทธิรงค์ ค่าเสียหายที่ศาลกำหนดไม่มีทางเกินกว่าความเป็นจริง และเทียบไม่ได้กับความเลวร้ายและความสูญเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้น 

อนาคตและความฝันของฤทธิรงค์ในวัย 18 ปี ที่ดับวูบ และไม่มีทางย้อนกลับคืนมาได้ การต้องทนกับอาการ PTSD ตลอดชีวิต ถูกตีราคาเพียง 4 ล้านบาทเท่านั้น

หลังจากนี้ ทางทนายความและครอบครัวของฤทธิรงค์ก็จะขออุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกาต่อไป และต้องคอยจับตาดูกันด้วยว่า ศาลฎีกาจะรับฎีกาหรือไม่ อย่างไร

เชิงอรรถ

[1] เนื่องจากขณะนั้น ครอบครัวและทีมทนายความเห็นว่า ศาลไม่ได้ให้ความสำคัญต่อหลักสิทธิมนุษยชน จึงปรับกลยุทธ์ นำตำรวจคู่กรณีบางคนมาเล่าเรื่องตั้งแต่เริ่มจนจบว่าใครทำอะไรบ้างและทำบันทึกข้อเท็จจริง เซ็นยอมรับว่า เหตุการณ์วันนั้นมีอะไรเกิดขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐานต่อสู้คดีในชึ้นศาล แทนตัววัตถุพยานจำพวกภาพจากกล้องวงจรปิดหรือประจักษ์พยานอย่างอื่นป

เอกสารอ้างอิง

https://crcfthailand.org/2022/09/05/16212/

https://mgronline.com/crime/detail/9660000114970

https://prachatai.com/journal/2015/11/62273

https://prachatai.com/journal/2016/12/69297

https://prachatai.com/journal/2017/02/70258

https://prachatai.com/journal/2017/06/71732

https://prachatai.com/journal/2018/10/78957

https://prachatai.com/journal/2019/02/80934

https://thematter.co/social/politics/police-torture-chuenjit-family/154743

https://themomentum.co/somsak-cheunjit-interview/

Tags: , , , ,