ในยุคสมัยที่รัฐไทยมีความต้องการใช้แรงงานในภาคการผลิตหรือบริการอย่างเข้มข้น สิ่งนี้ทำให้คนที่ย้ายถิ่นข้ามแดนถูกทำให้มีสถานะเป็นแรงงานข้ามชาติและเข้าสู่กลไกของตลาดการจ้างงาน ด้วยเพราะเห็นว่าสามารถที่จะจ่ายค่าตอบแทนทางในการทำงานได้ในระดับที่ถูกและไม่เลือกประเภทของงานที่จะทำจึงสามารถที่จะทดแทนงานบางประเภทที่พลเมืองในชาติเลือกที่จะไม่ทำ 

บทความ Rule of Law ในสัปดาห์นี้ต้องการที่จะเสนอส่วนหนึ่งของสภาวะว่าด้วยการเป็นพลเมืองแบบส่วนเสี้ยว ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่มาจากความตั้งใจที่จะให้มีสถานะพลเมืองลักษณะดังกล่าว ในความหมายที่ว่าเป็นการทำให้คนที่ไม่มีสัญชาติไทยกลายเป็นทรัพยากรที่สอดคล้องกับการควบคุมกำกับเพื่อที่จะตอบสนองต่อตรรกะเสรีนิยมใหม่ ในบริบทของคนที่มีหน้าที่ในขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ แต่ไม่มีสิทธิทางด้านสวัสดิการอย่างพลเมืองไทย

เสรีนิยมใหม่ที่สร้างพลเมืองแบบส่วนเสี้ยว

ฐานความคิดว่าด้วยเสรีนิยมใหม่นั้นต่อยอดมาจากความสำคัญในเรื่องเสรีภาพทางการตลาดที่ต้องสูงขึ้น จากฐานคิดเดิมที่ว่าทุนนิยมจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาพร้อมกับเสรีภาพของปัจเจกชนที่จะทำให้มนุษย์คนหนึ่งสร้างกำไรและรักษากรรมสิทธิ์ของตนเอง ซึ่งสิ่งนี้เป็นแรงจูงใจในการขยายสร้างสังคมทุนนิยมขึ้นมา และในตรรกะเสรีนิยมใหม่ได้ยกระดับหลักการใหญ่ๆ สองเรื่อง คือนอกจากบทบาทที่ตลาดจะต้องเสรีในการผลิต แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการแล้ว ในอีกด้านหนึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐต้องลดบทบาทหรือจำกัดหน้าที่ของรัฐในการเข้าแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ทุนสามารถที่จะสะสมทุนและปัจเจกชนที่เกิดแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ[1] กล่าวคือเสรีนิยมได้ยกกลไกตลาดสู่เอกชนที่เกิดการแข่งขันกันอย่างเสรี เอกชนรายเล็กที่มีศักยภาพน้อยก็จะสู้กับเอกชนรายใหญ่ที่มีศักยภาพสูงไม่ได้ กรณีที่รัฐเข้าแทรกแซงเพื่อคุ้มครองค่าตอบแทนในการทำงาน และการมีมาตราการปรับลดราคาสินค้าเพื่อโอบอุ้มคนรากหญ้า ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยาในด้านต่างๆ จึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของตรรกะเสรีนิยมใหม่ ในโลกที่สิ่งที่ไม่เคยเป็นสินค้าก็กลายเป็นสินค้าได้ แม้กระทั่งกำลังแรงงานของคนก็ถูกทำให้กลายเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่มีราคาและสามารถซื้อขายได้

 ทั้งนี้ ประเด็นความเป็นแรงงานข้ามชาติในฐานะพลเมืองแบบส่วนเสี้ยวกลับยิ่งไปไกลกว่านั้น เพราะรัฐไทยไม่ได้แต่เพียงถอยห่างจากการควบคุม หากแต่กลับสร้างความร่วมมือให้กับเอกชนในการจ้างงานแรงงานข้ามชาติจากเดิมที่มีสถานะเป็นคนข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างเช่น พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่ให้อำนาจกับฝ่ายบริหารอนุญาตให้เกิดการจ้างงานในรูปแบบต่างๆ เช่น 6หนึ่ง การอนุญาตนำเขามาทำงานตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศซึ่งแรงงานกลุ่มดังกล่าวจะถูกเรียกว่าแรงงานตาม MOU[2] สอง แรงงานข้ามชาติที่ได้รับการอนุญาตให้อยู่ในประเทศและอนุญาตให้ทำงานเป็นการชั่วคราวตามมติคณะรัฐมนตรี[3] สาม แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในลักษณะไปเช้าเย็นกลับหรือตามฤดูกาลในพื้นที่ตามความตกลงว่าด้วยการสัญจรข้ามแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน[4] 

การจ้างงานเหล่านี้นอกจากจะเป็นการสร้างเงื่อนไขและต้นทุนต่อการเป็นแรงงานข้ามชาติที่มีสถานะถูกกฎหมายแล้ว หากมองในอีกด้านหนึ่งก็ราวกับว่ารัฐรับใช้เอกชนในการจ้างงานแรงงานข้ามชาติเพื่อให้คนเป็นของทุน ผ่านกฎระเบียบต่างๆ จากกฎหมายที่ตรึงและควบคุมกำกับแรงงานข้ามชาติ ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางเคลื่อนย้ายที่ต้องได้รับอนุญาตจากฝ่ายปกครอง ประเภทของงาน ประเภทของงานที่ห้ามประกอบอาชีพ และเงื่อนไขในการเปลี่ยนงานที่ทำอยู่

ผลของการเป็นพลเมืองแบบส่วนเสี้ยวภายใต้นโยบายเยียวยาของรัฐ

สภาวะพลเมืองแบบส่วนเสี้ยวถูกทำให้เห็นอย่างชัดเจนอีกครั้งผ่านโครงการของรัฐบาล ในฐานะที่เงินเยียวยาคือการแทรกแซงจากรัฐเพื่อให้ประชาชนสามารถยังชีพได้ แต่กลับไม่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติ อันเป็นการสะท้อนถึงการเป็นพลเมืองที่ไม่เต็มตัวด้วยการสร้างเงื่อนไขผ่านความรู้สึกการเป็นพวกเดียวกันหรือทำให้เป็นคนล่ะกลุ่มกัน ผ่านคุณสมบัติการถือสัญชาติไทยที่ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขของการเข้าถึงสวัสดิการ ในที่นี้คือโครงการ ‘ม.33 เรารักกัน’[5] ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาภาระด้านค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 อันเป็นที่รับรู้กันว่าได้สร้างผลกระทบต่อความเป็นอยู่ วิถีชีวิต เศรษฐกิจของผู้คนทั่วทั้งประเทศในทุกๆ ด้าน 

โดยมาตรการการเยียวยาดังกล่าวได้มีจุดเริ่มต้นจากโครงการเราชนะ ซึ่งเป็นการเยียวยาประชาชนทั่วไป และภายหลังจึงได้จัดให้มีโครงการ ม.33 เรารักกัน ได้จัดทำขึ้นเพื่อเยียวยาผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวกลับออกแบบคุณสมบติของโครงการที่ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มคนผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น เท่ากับว่าบนเส้นทางที่ทุกคนในรัฐต่างประสบกับวิกฤตปัญหาที่ควรได้รับการเยียวยา กลับทอดทิ้งให้พลเมืองที่ย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในรัฐไทย ในฐานะที่เขาเหล่านั้นก็มีส่วนร่วมในระบบประกันสังคมตามสถานะที่เป็นแรงงาน ซึ่งได้นำเงินเข้าสู่ระบบประกันสังคมเช่นเดียวกับแรงงานสัญชาติไทยคนอื่นๆ ที่ได้จ่ายเงินเข้าสู่กองทุนประกันสังคมตามสถานะผู้ประกันตน ซึ่งรัฐกลับใช้เกณฑ์ดังกล่าวเป็นมาตรการเยียวยาที่จะเยียวยาคนกลุ่มหนึ่ง และไม่เยียวยาคนอีกกลุ่มหนึ่งในระบบวงจรที่ต่างนำเงินเข้าสู่กองทุนอย่างเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีตัวแทนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายภาคประชาสังคมได้ใช้สิทธิผ่านกระบวนการยุติธรรม เพื่อเป็นคดียุทธศาสตร์ในการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติผ่าน 3 องค์กรที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ โดยลำดับแรกเป็นการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีอำนาจในการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองในการวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งปรากฏตามเป็นคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องร้องเรียนเลขแดงที่ 1615/2564 ที่ยกเอาเหตุผลจากนิยามคำว่า ‘เชื้อชาติ’ และ ‘สัญชาติ’ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 มาอธิบายเพื่อที่จะบอกว่าประเด็นดังกล่าวนั้นมิใช่การเลือกปฏิบัติจากความแตกต่างว่าด้วยเชื้อชาติ

ในลำดับต่อมา จึงนำมาสู่การร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏเป็นคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 57/2564 ที่ศาลไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เพราะว่าเงินช่วยเหลือตามโครงการ ม.33 เรารักกันนั้นมาจากการจัดสรรงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย มิใช่การใช้อำนาจจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญโดยตรง

ท้ายที่สุดของกระบวนการคือการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยมีผู้ถูกฟ้องคือสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ และคณะรัฐมนตรี ซึ่งล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะที่หากขาดองค์กรใดองค์กรหนึ่งไป โครงการดังกล่าวนี้จะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย แม้คดีดังกล่าวจะเป็นการฟ้องหลังสิ้นสุดระยะเวลาในการฟ้องคดี 90 วันนับจากวันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุที่จะฟ้องแล้วนั้น ซึ่งทางผู้ฟ้องได้อุทธรณ์ต่อไปว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมที่เป็นข้อยกเว้นในการฟ้องคดีหลังสิ้นสุดระยะเวลาการใช้สิทธิ 90 วัน[6] ทั้งนี้ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1326/2566 ที่ผ่านมานั้น นอกจากจะไม่รับคำฟ้องในคดีดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นไปเพื่อการเรียกร้องสิทธิประโยชน์เฉพาะผู้ฟ้องคดี 2 คนเท่านั้น[7] และได้วินิจฉัยอีกว่า มติของคณะรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจทางบริหารเพื่อกำหนดนโยบายในการช่วยเหลือประชาชน ผลก็คือเมื่อเป็นการกระทำทางบริหารโดยแท้จึงไม่อาจใช้อำนาจตุลาการพิจารณาความด้วยกฎหมายได้

           ภาพเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ-คนไร้สัญชาติหน้าศาลปกครองกลาง[8]

 

บทสรุป

แรงงานข้ามชาติในด้านหนึ่งถูกกำกับและความคุมผ่านกฎหมายที่สร้างความสลับซับซ้อนในการทำให้แรงงานข้ามชาติเป็นคนของทุน และในขณะเดียวกันมาตรการแทรกแซงเยียวยาทางเศรษฐกิจที่เอาเกณฑ์ในการเยียวยาจากผู้มีส่วนในการนำเงินเข้าสู่กองทุนประกันสังคมมาส่วนหนึ่งนั้น ซึ่งนับได้ว่าแรงงานข้ามชาติมีส่วนในการรังสรรค์และพัฒนากองทุนประกันสังคมเสมอมา ในฐานะที่เป็นผู้ที่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเหมือนกับแรงงานไทยคนอื่นๆ เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่เหนือกว่าเนื้อหาทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ ซึ่งไม่อาจที่จะอ่านผ่านตัวบทกฎหมายและคำพิพากษาว่ายุติธรรมหรือไม่ยุติธรรมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความเป็นธรรมที่รัฐผลักความเสี่ยงในการเผชิญหน้าของวิกฤตปัญหาให้กับแรงงานข้ามชาติ โดยใช้สัญชาติเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรม

สำหรับผู้เขียน เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่ากัน ในฐานะแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีอำนาจต่อรองจากความสัมพันธ์ที่สืบเนื่องมาจากการเป็นพลเมืองแบบส่วนเสี้ยวตามตรรกะเสรีนิยมใหม่ การแบกรับกับวิกฤตและความเสี่ยงจึงถูกผลักออกไป จากคนผู้มีอำนาจคือรัฐไปยังคนที่มีอำนาจต่อรองต่ำ ซึ่งในที่นี้ก็คือแรงงานข้ามชาติ ท่ามกลางกลไกที่รับใช้ตรรกะเสรีนิยมใหม่ในการแสวงหาประโยชน์จากประชากรผู้ย้ายถิ่นข้ามแดน ทั้งนี้ หากกลับมาสะท้อนย้อนคิดประเด็นเหล่านี้เพื่อการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ เช่น สภาวะสังคมผู้สูงอายุและปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต หากรัฐไทยตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ ก็ควรที่จะมีวิธีคิดและนโยบายต่อแรงงานข้ามชาติที่ดีกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่คุ้มครอง โอบอุ้ม และเยียวยาแรงงานข้ามชาติ

 

อ้างอิง

[1] ไพโรจน์ คงทวีศักดิ์, “โลกาภิวัตน์”, เชียงใหม่: ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560, น. 43-48

[2] โปรดดู มาตรา 59 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

[3] โปรดดู มาตรา 63/2 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

[4] โปรดดู มาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

[5] โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิว่า ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือเคยเป็นผู้ประกันตน ภายในวันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ไม่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่เป็นผู้ได้รับสิทธิเราชนะ และไม่เป็นผู้มีเงินฝากกับสถาบันการเงินเกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 โปรดดู กรมประชาสัมพันธ์, เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม แจงรายละเอียด โครงการ ม.33 เรารักกัน พร้อมย้ำ เปิดลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com, สืบค้นวันที่ 8 สิงหาคม 2566, จาก https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/cid//iid/9772

[6] โปรดดู มาตรา 49 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

[7] ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่เห็นควรแก่การตั้งคำถามในการใช้ดุลยพินิจของการตีความที่ว่าด้วยเรื่องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะของศาลปกครองในการรับฟ้องคดีที่พ้นกำหนดระยะเวลา ในการพิจารณาตั้งแต่ผลกระทบของการรับฟ้องและไม่รับฟ้องคืออะไร แนวคำพิพากษาที่ตีความเรื่องนี้มีขึ้นอย่างยืดหยุ่น กว้าง หรือแคบมากน้อยเพียงใด ในด้านหนึ่งการฟ้องคดีที่เสมือนไม่มีอายุความก็คือบทบาทของศาลที่เข้าไปตรวจสอบฝ่ายปกครองมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดที่ศาลจะเข้าไปตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย เพราะหากถือเรื่องการพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีเป็นสำคัญแล้วนั้น ก็จะเห็นได้ว่าในอีกมุมหนึ่งก็คือการสร้างกฎที่มีผลผูกพัน แม้อาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ก็จะมีผลผูกพันทันทีและผู้ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ก็ต้องก้มหน้ารับกรรมไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดียุทธศาสตร์ดังกล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเพียงประโยชน์ของคนที่ไม่สัญชาติไทยสองคนหรือไม่ หรือจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่จะสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาสวัสดิการของรัฐไทย ทั้งต่อแรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญชาติในฐานะแรงงานในประเทศนี้ และไม่ทางใดก็ทางหนึ่งย่อมเป็นพลดีต่อการแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจสังคมด้วยหรือไม่ อย่างไร

[8] ภาพจาก Workpoint, เครือข่ายแรงงานข้ามชาติฟ้องศาลปกครอง กรณี ‘ม.33 เรารักกัน’ ไม่เยียวยาผู้ประกันตนต่างสัญชาติ, สืบค้นวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566, จาก https://workpointtoday.com/hrdf-220528/

Fact Box

  • กรณีของโครงการ ‘ม.33 เรารักกัน’ ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาภาระด้านค่าใช้จ่ายจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรค Covid-19 ให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ของ พรบ. ประกันสังคมนั้น กลับมีเงื่อนไขในการเข้าถึงสิทธิประการหนึ่งว่า ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น สิ่งนี้ในความเห็นของผู้เขียนมองว่าเป็นการสะท้อนถึงเรื่องพลเมืองแบบส่วนเสี้ยว ที่รัฐและทุนในฐานะผู้มีอำนาจกลับผลักบทบาทหน้าที่ในการเยียวยาให้กับตัวของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นเรื่องของความเป็นธรรมที่อยู่เหนือกว่าความยุติธรรมทั้งเชิงเนื้อหาและกระบวนการ ตามบริบทที่ทำให้แรงงานซึ่งไม่มีสัญชาติไทยกลายเป็นทรัพยากรที่ต้องการของทุนและตอบสนองต่อลัทธิเสรีนิยมใหม่
Tags: , , , ,