อะไรคือฐานคิดของ ‘สาธารณประโยชน์?’
หากเราคิดในฐานการตัดสินใจว่า การกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะถือเป็นการกระทำเพื่อคนหมู่มาก เพื่อประโยชน์สุขของประชากรส่วนรวม การกระทำใดหรือโครงการใดที่สามารถตอบสนองความพึงพอใจให้แก่คนหมู่มากและสร้างความสุขได้จะถือเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แม้จำเป็นที่จะต้องเบียดบังหรือสร้างผลกระทบต่อคนหมู่น้อยก็ไม่เป็นไร ใช่หรือไม่? เพราะคนหมู่น้อยควรที่จะต้องสละผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อให้คนหมู่มากจะได้มีประโยชน์สุข ใช่หรือไม่?
เจเรมี เบนแทม (Jeremy Bentham) นักปรัชญาศีลธรรมและอดีตนักปฏิรูปกฎหมาย ผู้ก่อตั้งลัทธิอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) อธิบายว่า หลักการสูงสุดของศีลธรรมคือ ‘การสร้างความสุขให้ได้มากที่สุด’ การกระทำใดที่สร้างความสุขมากสุดถือเป็นการกระทำที่ถูกต้อง และย่อมเป็นการกระทำที่สร้างอรรถประโยชน์สูงสุด คำว่า ‘อรรถประโยชน์’ หมายถึง การกระทำหรืออะไรก็ตามที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินหรือความสุขที่มากกว่าความเจ็บปวด ฐานคิดเช่นนี้มักปรากฏถูกใช้จากผู้ที่อยู่ในฐานะบัญญัติกฎหมาย ในการตัดสินใจออกกฎหมายหรือนโยบายที่มุ่งใช้เป็นการทั่วไป และเพื่อประโยชน์สาธารณะของประเทศ[1]
ดังนั้น เราจึงพบเห็นผู้มีอำนาจในการออกนโยบายหรือกฎหมายที่ใช้บังคับโดยมีพื้นฐานมาจากการหลักการอรรถประโยชน์นิยม ที่มีวัตถุประสงค์ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะที่จะสามารถสร้างความสุขมวลรวมให้แก่คนหมู่มาก ซึ่งคนหมู่น้อยควรต้องเสียสละ แต่เราเคยพิจารณาถึงคนหมู่น้อยอย่างแท้จริงหรือไม่ว่า พวกเขาเป็นใคร? ทำอะไร? จะได้รับผลกระทบอย่างไร? และได้รับการชดเชยเยียวยาที่สมเหตุสมผลหรือไม่?
เพื่อที่จะทดลองหาคำตอบนี้ ผู้เขียนยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย เพื่อค้นคว้าตอบคำถามดังกล่าว ผ่านการบอกเล่าถึงโครงการผันน้ำยวม โครงการขนาดใหญ่ที่จะมีเป้าประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ และพาท่านไปสำรวจทำความรู้จักกับคนหมู่น้อยที่จำเป็นจะต้องเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ถูกกล่าวอ้าง
โครงการเพื่อสาธารณประโยชน์?
“การพัฒนาโครงการผันน้ำยวม จึงเป็นการเพิ่มความมั่นคงทางด้านน้ำให้กับเขื่อนภูมิพลที่ยังสามารถเก็บกักน้ำได้อีกเป็นปริมาณมาก ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของประชาชนในพื้นที่รอบโครงการ ก่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงในการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระเยา ซึ่งพื้นที่ตั้งองค์ประกอบสำคัญครอบคลุม 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก
“… หากโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถสร้างประโยชน์ครอบคลุมทุกด้าน เช่น ด้านการเกษตร เกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 70,000 ครัวเรือน ด้านอุปโภคบริโภคจะมีการจัดสรรน้ำเฉลี่ยปีละ 300 ล้าน ลบ.ม. ได้รับประโยชน์กว่า 1,300,000 ครัวเรือน ด้านการผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังน้ำของเขื่อนภูมิพลผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 426 ล้านหน่วย ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับประโยชน์ 100,000 ครัวเรือน ด้านประมงในเขื่อนน้ำยวม ด้านการท่องเที่ยว ด้านธุรกิจ และอุตสาหกรรม รวมถึงการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ด้วย”[2]
แผนที่พื้นที่ลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (แนวผันน้ำยวม)[3]
โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล งบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 71,290.77 ล้านบาท โครงการผันน้ำขนาดใหญ่ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมี พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นประธาน ได้ผ่านการเห็นชอบต่อรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมฯ (Environment Impact Assessment: EIA) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 โครงการขนาดใหญ่นี้ต้องการให้ดึงน้ำข้ามภูมิภาคจากภาคเหนือไปสู่ภาคกลาง ตลอดระยะการก่อสร้างโครงการผันน้ำยวมต้องใช้พื้นที่ถึง 3,641.18 ไร่ โครงการก่อสร้างนี้ยังต้องใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5 แห่ง ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าสองยาง ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งขวา ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แจ่ม – ป่าแม่ตื่น และป่าสงวนแห่งชาติอมก๋อย พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติแม่เงา ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก[4]
การสร้างโครงการผันน้ำยวมนี้ จำเป็นที่จะต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อทำหน้าที่กักเก็บน้ำ และสูบน้ำ ผ่านการสร้างสถานีสูบน้ำ ณ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจะต้องมีการขุดเจาะที่ดินทำกินของชุมชน เพื่อวางแนวท่อสำหรับการสูบน้ำและการลำเลียงน้ำ จึงต้องมีพื้นที่สำหรับทิ้งกองดินหรือวัสดุ และเกิดการขุดแนวอุโมงค์ขนาดใหญ่ควบคู่ไปด้วย ขณะเดียวกัน ยังจำเป็นที่ต้องก่อสร้างแนวไฟฟ้าสายส่งขนาดใหญ่ผ่าน จ.เชียงใหม่ เพื่อใช้กระแสไฟฟ้าเป็นพลังงานในการสูบและดึงน้ำจากแม่น้ำยวมไปเติมในเขื่อนภูมิพล จ.ตาก
อย่างไรก็ดี ตามรายงาน EIA ของกรมชลประทานระบุว่า จะใช้พื้นที่โครงการครอบคลุมเพียง 36 หมู่บ้าน แต่จะสร้างประโยชน์มหาศาลทั้งการลดค่าใช้จ่ายเพิ่มมูลค่าด้านเกษตร เพิ่มกำลังในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยว และสร้างความมั่นคงในทางรายได้ และรักษาสมดุลระบบนิเวศ
เมื่อเราได้พิจารณาข้อมูลของโครงการสาธารณะไปแล้ว จากนี้ลองมาสำรวจผู้คนหมู่น้อยที่ต้องเสียสละว่า พวกเขาเป็นใคร? และต้องเสียสละอะไรบ้าง? เพื่อแลกกับประโยชน์ของคนหมู่มากตามที่โครงการได้ระบุไว้
คนหมู่น้อย ผู้ต้องเสียสละ?
ตามรายงานการ EIA ระบุว่าจะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนเพียง 29 คนเท่านั้น ดังนั้น เพื่อขยายภาพให้เห็นถึงคนกลุ่มน้อย ผู้เขียนเลือกที่จะเขียนถึง หมู่บ้านแม่สอใต้ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย หนึ่งในพื้นที่ของโครงการผันน้ำยวม ที่การเดินทางเข้าหมู่บ้านมีเพียงถนนลูกรัง ซึ่งหน้าฝนก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะถนนแคบรถยนต์สองคันแทบจะสวนกันไม่ได้ ที่นี่ผู้คนส่วนใหญ่จึงใช้รถจักรยานยนต์ขี่ไปบนเส้นทางดินที่เคี้ยวคดไปตามภูเขา หากพลาดไปรอบด้านก็จะเป็นผาสูง เสี่ยงต่ออันตรายยิ่ง ทำให้ต้องอาศัยความระมัดระวังอย่างมากในการขับขี่
บ้านแม่สอใต้เป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยง (โปว์) หมู่บ้านเล็กๆ มีครัวเรือนประมาณ 20 หลังคาเรือน หมู่บ้านที่ถูกโอบล้อมด้วยธรรมชาติเกือบเต็มรูปแบบ ความเขียวขจีของผืนป่า เสียงชะนีที่ร้องเรียก วิถีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ผู้คนที่นี่ดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม เป็นเกษตรกรทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าวไร่ พริกกะเหรี่ยง ฟักทอง เลี้ยงวัว เป็นต้น พวกเขาใช้ภาษากะเหรี่ยงโปว์ในการสื่อสารเป็นหลัก และสื่อสารภาษาไทยได้น้อยมาก
ภาพหมู่บ้านแม่สอใต้ ด้านซ้ายมือ คือพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน และขวามือ คือบ้านเรือนของชาวบ้าน
หมู่บ้านแห่งนี้ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่ละบ้านใช้เพียงโซลาร์เซลล์แผงเล็กๆ เพื่อพอให้ได้มีแสงสว่างในตอนกลางคืนบ้าง ผู้คนที่นี่ใช้ชีวิตยามค่ำคืนที่อาศัยแสงจากไฟฟ้าเพียงน้อยนิด พวกเขาไม่มีทีวี ตู้เย็น ปลั๊กไฟให้ใช้ ทำให้บรรยากาศตอนกลางคืนที่นี้เห็นพระจันทร์และดวงดาวสุกสกาวบนท้องฟ้าอย่างชัดเจน น้ำที่พวกเขาใช้มาจากภูเขาไม่มีน้ำประปาแบบในเมือง หมู่บ้านนี้แทบจะถูกเก็บซ่อนไว้จากธรรมชาติเพราะสัญญาณโทรศัพท์เข้าได้ถึงเพียงบางจุดของหมู่บ้าน และถึงเข้าได้ก็จะมีสัญญาณเพียงน้อยนิดเท่านั้น
ที่นี่มีโรงเรียนเล็กๆ ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน แต่ไม่ใช่เป็นโรงเรียนประถมหรือมัธยมแบบในเมือง เด็กที่นี่โชคดีน้อยกว่านั้น เพราะโรงเรียนที่นี่เป็นการศึกษาสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูง (ศศช.) ใช้วิธีการเรียนการสอนแบบบ กศน. ที่จะมีครูดอยเพียง 1 – 2 คน เข้ามาสอนนักเรียน เด็กส่วนใหญ่ที่นี่มีหลายวัยตั้งแต่เด็กเล็กๆ ถึงประมาณ 15 ปี จำนวนนักเรียนไม่ค่อยมากนัก เพราะจำนวนครัวเรือนที่น้อยและนักเรียนทุกคนก็จะเรียนร่วมกัน การศึกษาที่ไม่ได้รับเต็มที่ ทำให้ทางเลือกต่ออนาคตของเด็กๆ เหล่านี้ถูกจำกัด เมื่อถูกถามถึงว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร สายตาที่เหม่อลอยพร้อมคำตอบที่เงียบงัน กลับเป็นกลายเป็นคำตอบได้มากกว่า ดังนั้น จึงมีเด็กบางคนที่เมื่ออายุ 14 – 15 พ่อแม่ส่งออกไปทำงานรับจ้างยังต่างจังหวัด เพื่อให้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว
ขณะเดียวกัน พื้นที่ของชาวบ้านจำนวนหนึ่งถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่กองเก็บวัสดุตามแนวขุดเจาะอุโมงค์ ที่จะมีมวลดินและก้อนหินจากใต้ดินปริมาณมหาศาลถูกขุดขึ้นมากองไว้ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้พื้นที่วางกองดินประมาณ 40 ไร่ โดยหนึ่งในพื้นที่ที่จะถูกกำหนดให้เป็นจุดวางกองดิน เป็นพื้นที่ของชาวบ้านที่ติดอยู่กับลำน้ำที่ชาวบ้านใช้เพื่อการเกษตรและเลี้ยงสัตว์
ลำน้ำ ณ บ้านแม่สอใต้ ที่ชาวบ้านใช้น้ำเพื่อการเกษตรและเลี้ยงสัตว์
พื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านคนหนึ่งข้างลำห้วยแม่สอ ที่ถูกกำหนดให้เป็นจุดกองดินจากอุโมงค์
ในทศวรรษที่คนในเมืองตื่นตัวกับเรื่องความเป็นเมือง ผู้คนในเมืองรวมถึงตัวผู้เขียนสามารถเข้าถึงไฟฟ้า น้ำประปา เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย แต่หมู่บ้านแม่สอใต้แห่งนี้ กลับเป็นอีกหนึ่งในหลายหมู่บ้านใน ต.นาเกียน ที่ยังไม่มีโอกาสได้ใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาอย่างเพียงพอ ระบบการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม เด็กๆ ไม่สามารถจิตนาการความฝันที่ยิ่งใหญ่ ทั้งเรื่องสิทธิในการอยู่อาศัยและที่ทำกินที่พวกเขาไม่เคยจะได้รับเนื่องจากอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ยังไม่รวมถึงสิทธิการพัฒนาที่พวกเขาควรจะได้รับการพัฒนาตามแนวทางที่พวกเขาพึงพอใจ
นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักประกันใดที่จะรับประกันได้ว่าพวกเขาจะได้รับการชดเชยอย่างสมเหตุสมผล เพราะพื้นที่ทำกินของพวกเขาไม่ได้มีเอกสารสิทธิ์ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการเสียสละพื้นที่ให้กลายเป็นจุดกองดิน แม้จะเกิดขึ้นภายในไร่ของชาวบ้านไม่กี่คน แต่แน่นอนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้จะจำกัดไว้เฉพาะในที่ดินนั้น แต่ย่อมกระทบรวมไปถึงการใช้พื้นที่และทรัพยากรของชุมชนที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป ใครจะสามารถรับประกันได้ว่า การขุดเจาะอุโมงค์ การขุดดินทิ้ง จะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ทั้งดิน น้ำ ป่าเขา การดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชน รวมไปถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อทรัพยากรป่าไม้ซึ่งไม่สามารถทำให้กลับคืนมาดังเดิมได้ คำตอบต่อคำถามเหล่านี้ยังคงเงียบงัน
บทสรุป
บ้านแม่สอใต้เป็นภาพสะท้อนของคนชายขอบอีกหลายกลุ่มที่ถูกกดทับสิทธิการพัฒนา ขาดการได้รับโอกาสที่จะเข้าถึงสิทธิต่างๆ ที่พึงมีเท่าเทียม พวกเขาเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยจากรัฐ ภาพความเหลื่อมล้ำปรากฎชัดเจนในหมู่บ้านนี้ที่พวกเขาอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง แต่รัฐยังคงต้องการเรียกร้องให้พวกเขาเสียสละ และช่วงชิงทรัพยากรที่พวกเขาสามารถใช้ได้ โดยคุณภาพชีวิตพวกเขาไม่เคยดีขึ้น
การพัฒนาที่พวกเขาไม่เคยมีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบายที่เกิดจากกำหนดนโยบายจากผู้มีอำนาจนั่งโต๊ะจากบนมาใช้กับผู้คน (Top-down) ทำให้ผู้มีอำนาจสามารถกล่าวอ้างหรือใช้นามแห่งสาธารณประโยชน์ หรือนามแห่งความมั่นคง โดยไม่จำเป็นที่จะต้องรู้จักว่าใครคือคนกลุ่มน้อยที่ต้องเสียสละ สิ่งใดกดทับพวกเขาอยู่ ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยจะหมดไป และย่อมจะมีคนกลุ่มน้อยกลุ่มใหม่เกิดขึ้นอยู่ร่ำไป พร้อมๆ ไปกับการถูกกดทับจากความเหลื่อมล้ำที่รัฐมอบให้พวกเขา วังวนการออกแบบฐานนโยบายเช่นนี้จึงสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้คนจำนวนหนึ่งเสมอและตลอดไป
ขณะเดียวกันรายงาน EIA โครงการผันน้ำยวม ที่ผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางทั้งจากนักวิชาการ และภาคประชาสังคมถึงความคุ้มค่าทั้งมูลค่าการก่อสร้าง และประโยชน์ที่ส่วนรวมจะได้รับ กับทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่าหรือไม่ เป็นไปได้หรือที่จะมีผู้คนได้รับผลกระทบเพียงน้อยนิด? ล้วนเป็นคำถามที่โยนกลับไปยังภาครัฐให้ต้องทบทวนอย่างหนัก แต่หากโครงการนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง สิ่งที่แน่ชัดอย่างหนึ่งคือ ผลกระทบจากการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ แม่น้ำ ลำธาร สัตว์ป่า ย่อมเป็นผลกระทบต่อประชากรทุกคนในประเทศอย่างแน่นอน
เอกสารอ้างอิง
เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน. สรุปข้อมูลและข้อสังเกต โครงการผันน้ำยวมจากกลุ่มน้ำสาละวิน สู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา. ธันวาคม 2564. หน้า 19. ระบบออนไลน์: https://www.salween.info/post/report-namyuamdiversiontunnel-update_ebook?fbclid=IwAR36agwXL8z1x6stuv6uGgP_brFVXaOqtE50ExwInT6q2nmh2aVifFa5PSY.
แซนเดล, ไมเคิล เจ. ความยุติธรรม. กรุงเทพฯ : ซอลท์ พับลิชชิ่ง. 2563. หน้า 54-55.- Salween.info. สรุปข้อมูลและข้อสังเกตโครงการผันน้ำยวมจากลุ่มน้ำสาละวินสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา. ระบบออนไลน์ : https://www.salween.info/post/report-namyuamdiversiontunnel-update_ebook?fbclid=IwAR36agwXL8z1x6stuv6uGgP_brFVXaOqtE50ExwInT6q2nmh2aVifFa5PSY
The Active News. .กรมชลฯ ลุยหาเอกชนร่วมทุน สร้างโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล หลังผ่าน EIA. ระบบออนไลน์ : https://theactive.net/news/sustainable-20220326/
บรรณานุกรม
[1] แซนเดล, ไมเคิล เจ. ความยุติธรรม. กรุงเทพฯ : ซอลท์ พับลิชชิ่ง. 2563. หน้า 54-55.
[2] The Active News. .กรมชลฯ ลุยหาเอกชนร่วมทุน สร้างโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล หลังผ่าน EIA. ระบบออนไลน์ : https://theactive.net/news/sustainable-20220326/
[3] Salween.info. สรุปข้อมูลและข้อสังเกตโครงการผันน้ำยวมจากลุ่มน้ำสาละวินสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา. ระบบออนไลน์ : https://www.salween.info/post/report-namyuamdiversiontunnel-update_ebook?fbclid=IwAR36agwXL8z1x6stuv6uGgP_brFVXaOqtE50ExwInT6q2nmh2aVifFa5PSY
[4] เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน. สรุปข้อมูลและข้อสังเกต โครงการผันน้ำยวมจากกลุ่มน้ำสาละวิน สู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา. ธันวาคม 2564. หน้า 19. ระบบออนไลน์: https://www.salween.info/post/report-namyuamdiversiontunnel-update_ebook?fbclid=IwAR36agwXL8z1x6stuv6uGgP_brFVXaOqtE50ExwInT6q2nmh2aVifFa5PSY.
Tags: โครงการผันน้ำยวม, รัฐ, กฎหมาย, Rule of Law