สถานการณ์การเมืองช่วงหลังการเลือกตั้งปี 2562 เกิดปรากฏการณ์ที่มีการเปิดฉากทลายเพดานข้อเรียกร้องของฝ่ายผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเป็นครั้งแรก สาธารณชนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยอย่างตรงไปตรงมา เกิดการท้าทายระเบียบความสัมพันธ์ทางสังคมแบบดั้งเดิม และการตั้งคำถามต่อระบบรัฐราชการรวมศูนย์อย่างกว้างขวาง ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะเทือนความเชื่อและกรอบมโนทัศน์เรื่อง ‘ชาติ’ ของรัฐอำนาจนิยมและฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งผูกติดกับสูตรสำเร็จเรื่อง ‘ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์’ อย่างเหนียวแน่นในการรักษาอำนาจและสิ่งที่ตนเองหวนแหนให้ดำรงอยู่ต่อไปอย่างรุนแรง ฝ่ายต่อต้านผู้ชุมนุมจึงใช้วิธีการสารพัดเพื่อทำลายภาพลักษณ์ที่ดีและความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม 

หนึ่งในวิธีการที่เห็นได้โดยทั่วไป คือการทำให้การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ กลายเป็นเรื่อง ‘สยดสยอง’ น่าหวาดกลัว มีการปลุกผีคอมมิวนิสต์ และกล่าวหาว่ากลุ่มผู้ชุมนุมต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสาธารณรัฐ พร้อมแปะป้ายว่าอีกฝ่ายเป็นพวก ‘ล้มเจ้า’ หรือ ‘ชังชาติ’ ในความหมายเดียวกับพวก ‘คอมมิวนิสต์’ ที่จำเป็นต้องถูกปราบปรามและกำจัดให้สิ้นซาก ไม่ว่าจะโดยการบังคับใช้กฎหมายหรือการใช้กำลังนอกกฎหมายก็ตาม

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลลัพธ์ความหวาดกลัวและรังเกียจคอมมิวนิสต์ ส่วนหนึ่งย่อมมาจากปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐไทยในช่วงสงครามเย็นที่เป็นไปอย่างเข้มข้น บทความนี้จะทำการสำรวจองค์ความรู้ คำอธิบาย มโนทัศน์พื้นฐานที่มีต่ออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ในตำราเรียนเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ครั้งอดีต ที่ถูกใช้งานจริงโดยกระทรวงศึกษาช่วงทศวรรษ 2510 ซึ่งจะช่วยทำความเข้าใจว่ารัฐไทยสร้างอัตลักษณ์ฝ่ายผู้เห็นต่างทางการเมืองและผู้ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในลักษณะอย่างไร

ตำราว่าด้วยลัทธิและวิธีการของคอมมิวนิสต์

ตำราว่าด้วยลัทธิและวิธีการของคอมมิวนิสต์ ถูกใช้เป็นหนังสือเรียนในกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการตีพิมพ์หลายต่อหลายครั้ง (พิมพ์ครั้งแรกในปี 2516 หลังเหตุการณ์ความรุนแรง 14 ตุลาฯ) นับเป็นพยานหลักฐานชิ้นสำคัญ ที่จะช่วยในการสำรวจมโนทัศน์ของสังคมไทยที่มีต่อคอมมิวนิสต์ในอดีต ตำราเล่มดังกล่าวเป็นผลงานของ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้เข้าดำรงนายกรัฐมนตรีหลังจากการยึดอำนาจในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ ‘การต่อต้านคอมมิวนิสต์’ คนสำคัญ และเป็นผู้ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแนะให้ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะรัฐประหาร ไปขอคำปรึกษาเกี่ยวแผนการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในช่วงที่กระแสความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์กำลังโหมปกคลุมประเทศอย่างหนัก

เนื้อหาในตำรา ธานินทร์ กรัยวิเชียร เริ่มต้นด้วยการอธิบายความหมายของ ‘ลัทธิ’ คอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์ วิวัฒนาการ รากเหง้าของความคิดและแขนงต่างๆ ของลัทธิคอมมิวนิสต์ น่าสังเกตว่า ตลอดเนื้อหาในตำราฉบับนี้มีการเลือกใช้คำว่า ‘ลัทธิคอมมิวนิสต์’ ในการกำหนดประเภทของความเชื่อ เพื่อสร้างความรู้สึกให้แก่ผู้อ่านเข้าใจว่าอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เป็นสิ่งที่ไม่ควรค่าแก่การเลื่อมใส คล้ายความเชื่อ ศาสนาที่มอมเมาตัวบุคคลให้หลงผิด รวมทั้งยังมีการพยายามประกอบสร้างความหวาดกลัวและความน่ารังเกียจแก่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ผ่านการใช้ประโยค ถ้อยคำ คำศัพท์ ที่มีความหมายเชิงลบจำนวนมาก

ความหมายและองค์ประกอบของลัทธิคอมมิวนิสต์

คอมมิวนิสต์ ถูกให้คำนิยามว่า “คือลัทธิซึ่งถือว่าทรัพย์สินและผลผลิตทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของสังคม เอกชนไม่มีกรรมสิทธิ์ใดๆ บุคคลทุกคนต้องทำงานเพื่อประโยชน์อันร่วมกันและมีการแบ่งปันผลจากการใช้แรงงานตามความจำเป็นของแต่ละคน ต่อมาแนวความคิดนี้ได้ก้าวร้าวรุนแรงยิ่งขึ้น จนถึงกับถือว่า เมื่อกรรมสิทธิ์ของบุคคลในที่นา อาหาร บ้านเรือน และทรัพย์สินอื่นๆ ต้องเป็นของสังคมโดยทัดเทียมกันแล้ว แม้กรรมสิทธิ์ในลักษณะที่เป็นนามธรรม เช่น เสรีภาพและชีวิตก็ต้องเป็นของสังคมร่วมกัน ภายใต้การกำหนดชะตากรรมของผู้นำคอมมิวนิสต์”

ส่วนองค์กรสำคัญอย่าง ‘พรรคคอมมิวนิสต์’ ก็คือ “ผู้แปรเนื้อหาแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ให้สัมฤทธิ์ผลในทางปฏิบัติ พรรคคอมมิวนิสต์จึงเป็นที่มาแห่งอำนาจ กฎหมาย และความเป็นความตายของมนุษย์ทุกรูปทุกนามในค่ายคอมมิวนิสต์  คณะผู้บริหารพรรคจะเป็นชนชั้นปกครองและใช้อำนาจปกครองประเทศแบบเผด็จการ โดยควบคุมกระบวนการนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการอย่างเด็ดขาด ชนชั้นปกครองเหล่านั้นกลับทำตนเป็นอภิสิทธิ์ชนกลุ่มใหม่ โดยไม่ยอมให้ชนกรรมาชีพผู้ใดลืมตาอ้าปาก หรือมีอำนาจขึ้นมาทัดเทียมตนได้…”

ธานินทร์เห็นว่ามีข้อพิจารณาเกี่ยวกับนโยบายและวิธีการของพรรคการเมืองคอมมิวนิสต์อยู่สองประการ ประการแรก คือ “ให้ริบเสียซึ่งบรรดาทรัพย์สินทั้งหมด และให้โอนมาเป็นของรัฐจนหมดสิ้น” และประการที่สอง “ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์ จำต้องใช้วิธีหักหาญเข้าทำการปฏิวัติเพื่อล้มล้างอำนาจของกระฎุมพี (The Bourgeoisie) ซึ่งได้แก่ คหบดี นายทุน และชนชั้นกลาง เพื่อให้ชนกรรมาชีพได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

รากเหง้าและวิวัฒนาการของแนวความคิดคอมมิวนิสต์

การอธิบายถึงรากเหง้าและวิวัฒนาการของแนวความคิดคอมมิวนิสต์ ธานินทร์อ้างถึงความคิดทางการเมืองแบบ ‘มาร์กซิสต์’ (Marxism) ‘เลนินนิสต์’ (Leninism) และ ‘สตาลินนิสต์’ (Stalinism) ซึ่งล้วนถูกธานินทร์ชำแหละให้กลายเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย ไม่พึงปรารถนาทั้งสิ้น อาทิ การอธิบายหลักการของมาร์กซิสต์ในสังคมคอมมิวนิสต์ “บุคคลที่มีร่างกายสมประกอบทุกคนต้องทำงาน ด้วยการเกณฑ์แรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการกสิกรรม (เกษตรกรรม)” เพื่อสร้างที่ปราศจากชนชั้น หรือในแง่ของวิธีการจัดการความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มาร์กซิสต์จะ “เอากรรมาชีพลงเป็นทาส โดยมีชนชั้นปกครองเป็นนายทาส คอยควบคุมบงการ” โดยมีวัตถุประสงค์ให้ทุกคนต้องทำงานอย่างขยันขันแข็งอย่างเท่าเทียมกัน

กรณีหลักการของเลนินนิสต์ ธานินทร์อธิบายว่า การจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์เพื่อนำพาสังคมสู่ไปสังคมคอมมิวนิสต์ได้ ทำได้วิถีทางเดียวคือ ‘การปฏิวัติ’ และการใช้ความรุนแรงก่อให้เกิดการจลาจล หาทางบ่อนทำลายจิตใจของประชาชนในประเทศต่างๆ ในโลกเสรี เพื่อไม่ให้ต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ รวมถึงการก่อการร้าย “ในอันที่จะบีบบังคับให้ประชาชนเชื่อฟัง ซึ่งจะต้องมีการทารุณกรรมและใช้ความหฤโหดต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้บุคคลทั่วไปต่อต้านการปกครองแบบคอมมิวนิสต์…” ซึ่ง ธานินทร์เน้นย้ำว่า “การก่อการร้ายอย่างเหี้ยมโหดทารุณนั้น เลนินถือว่าเป็นเครื่องมืออันสำคัญในการปฏิวัติของฝ่ายคอมมิวนิสต์…ก็คือองค์การตำรวจลับ ซึ่งมีห้องสำหรับทรมานผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานปฏิวัติซ้อน…มีการสังหารโหดผู้ต้องหาเหล่านี้เป็นอันมากโดยปราศจากการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม… ”

อีกทั้งในเรื่องหลักการบริหารงานของรัฐ ตามแนวคิดของลัทธิสตาลินนิสต์ ธานินทร์ชี้ให้เห็นว่า รัฐจะ “ต้องจัดระบอบการปกครองของรัฐให้เข้าสู่ระบอบทรราชย์แบบรัฐตำรวจลับ… ต้องมีการทำนารวม มีการควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภค” โดยที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้บัญชาการประเทศ เป็นต้น

คอมมิวนิสต์คือพวกที่ต้องการครองโลก

ตำราของธานินทร์จะเน้นย้ำอยู่เสมอว่า “ยอดความปรารถนาของฝ่ายคอมมิวนิสต์คือการครองโลก” โดยมีวิธีการที่หลากหลาย ตั้งแต่การอาศัยสนธิสัญญา เช่น กรณีเดือนสิงหาคม 2482 รัสเซียลงนามสนธิสัญญากับเยอรมันว่าจะไม่รุกรานกันและกัน และแบ่งกันปกครองประเทศโปแลนด์ ซึ่งรัสเซียที่เป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็จะถูกตีตราว่าเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอก ไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงในสนธิสัญญา หรือการใช้ปฏิบัติการแทรกซึม ทำโฆษณาชวนเชื่อ ให้ประชาชนในพื้นที่นั้นเลื่อมใสศรัทธาระบอบคอมมิวนิสต์ เพื่อสุดท้ายจะได้เข้าปกครองครอบงำได้โดยง่าย

ขณะเดียวกัน เพื่อให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถครองโลกได้อย่างรวดเร็วที่สุด ธานินทร์ยังกล่าวถึงขนาดว่า หากพวกเขาไม่ใช้กุศโลบายล่อลวงให้พัฒนาด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนาต้องยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจ หรือใช้แล้วแต่ไม่ได้ผล ก็จะเปลี่ยนไปใช้วิธีการรุกราน การก่อการร้าย สร้างความหวาดกลัว และสงครามแทน เพื่อบีบบังคับให้ประเทศเหล่านั้นต้องอยู่ใต้อำนาจ จากนั้นจึงเป็นการครอบงำทั่วทั้งโลกโดยสมบูรณ์

คำปลุกใจที่ขาดไม่ได้

นอกจากการให้ความรู้ คำบรรยายเกี่ยวกับ ‘ลัทธิคอมมิวนิสต์’ ตำราเล่มนี้ยังเต็มไปด้วยคำปลุกใจต่างๆ นานา เพื่อให้ผู้อ่านตระหนักถึงภยันตรายที่กำลังคืบคลานเข้ามารุกรานบ้านเมือง และเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องร่วมกันต่อสู้ สอดส่อง และเฝ้าระวังการกระทำทั้งหลายที่อาจทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ฉวยโอกาสเข้ามายึดครองประเทศได้ อาทิ “คอมมิวนิสต์ผาดผยองยิ่งนักในยามบ้านแตกสาแหรกขาด” ทั้งนี้ เพื่อให้คนในชาติสามัคคีปรองดองกันเพื่อป้องกันภัยคอมมิวนิสต์

“เราต้องช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองด้วยการสร้าง มิใช่ด้วยการทำลายดังที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ยุยงให้พวกเราบางกลุ่มกระทำอยู่ในขณะนี้” อันเป็นการกล่าวพาดพิงโจมตีการเรียกร้องความเป็นธรรมของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ แรงงาน กรรมกร นักเรียน และนักศึกษา ที่ทำการประท้วงอยู่ว่าก่อตัวขึ้นจากการยุยงปลุกปั่นของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่แทรกซึมเข้ามาในประเทศ

หรือ “บัดนี้ มหันตภัยกำลังคืบใกล้เข้ามาเข้ามาทำลายเอกราชและอธิปไตยของชาติอีกวาระหนึ่งแล้ว ท่านจะปล่อยให้เสียกรุงเป็นครั้งที่สาม และสละคำว่า ‘ไทย’ อันบรรพบุรุษของท่านสร้างไว้เป็นแรมศตวรรษเสีย ณ บัดนี้หรือ?” ซึ่งเป็นการชวนให้ระลึกถึงบุญคุณการต่อสู้ที่หนีไม่พ้นประวัติศาสตร์ ‘ไทยรบพม่า’ และ ‘การเสียกรุง’ ที่ชนชั้นนำใช้เป็นเครื่องมือในการสถาปนาอำนาจสูงสุดทางการเมืองของตนเองมาโดยตลอด ทั้งย้ำอีกว่า ประเทศจะไม่สามารถรอดพ้นจากการคุกคามไปได้ “ถ้าเราขาดความเชื่อในความดีเด่นของสถาบันสูงสุดทั้งสี่ของเรา คือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตย”

สุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์เป็นอย่างไร? ปลุกใจได้จริงหรือไม่? ไม่ใช่เรื่องสำคัญต้องนำมาพิจารณา เพียงแต่มันสอดคล้องเป็นอย่างดีกับปฏิบัติการอื่นๆ ของรัฐไทยในการสร้างบรรยากาศความเกลียดชัง ความหวาดกลัว และอารมณ์ความต้องการทำลายพวกคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซากในช่วงเวลานั้น เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ 19 คงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้

ถ้าฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดครองประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงประการใดบ้าง?

หลังจากสาธยายหลักการและวิธีการ ‘ความหฤโหด’ ของประเทศฝ่ายคอมมิวนิสต์ในการยึดครองประเทศและครองโลก รวมถึงอธิบายการรุกรานในประเทศไทย ณ ขณะนั้น ก็มาถึง ‘ไม้ตายสุดท้าย’ ของตำราเล่มนี้ ในหัวข้อ “ถ้าฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดครองประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงประการใดบ้าง?” ซึ่งเป็นการจินตนาการวาดภาพคอมมิวนิสต์ให้เป็นดั่งภยันตรายที่น่าหวาดกลัว เลวร้าย บั่นทอนความมั่นคง พร้อมทำลายทุกอย่างที่ทรงคุณค่าและเป็นที่หวงแหนของคนในชาติ

เริ่มจากระบอบการปกครอง “ความเปลี่ยนแปลงประการแรกที่จะอุบัติขึ้นทันใดที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้ายึดครองได้ ก็คือบรรดาทหารป่า หรือผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่อการร้าย ตลอดจนผู้ก่อการร้ายที่ปฏิบัติการอยู่ในประเทศ ก็จะเข้าสวมสิทธิ์และครองอำนาจในการปกครองบ้านเมืองทันที ยุคนั้นจะเป็น ‘ยุคอสูรครองเมือง’ บ้านเมืองจะร้อนเป็นไฟ ฝ่ายคอมมิวนิสต์จะลงมือจัดการแก้แค้นศัตรูอย่างหฤโหด…พวกนายจ้างและเจ้าของที่ดินทั้งหลายคงจะถูกขจัดด้วยอำนาจศาลเตี้ยหรือการประชาทัณฑ์ พวกที่เคยประณามและต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์มาก่อน…ก็อาจจะถูกลงโทษอย่างทารุณต่อหน้าประชาชนเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง ดังเช่นกรณีในกัมพูชาเมื่อปี 2518…”

ด้านศาสนา “สถาบันศาสนาทุกศาสนาจะต้องถูกทำลายอย่างย่อยยับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธศาสนาอันเป็นหลักชัยประจำชาติ และเคยให้ความร่มเย็นแก่มวลพุทธศาสนิกชนตลอดมา ก็จะถูกย่ำยีบีฑาอย่างป่าเถื่อน บรรดาพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีลและครองผ้ากาสาวพักตร์ก็จะต้องถูกบังคับให้เปลื้องผ้าเหลือง ออกตรากตรำทำงานเยี่ยงทาส” จะเห็นได้ว่า การที่กลุ่มนักศึกษาประท้วงต่อต้านการเดินทางเข้าประเทศของจอมพลถนอมที่ถือสมณเพศเป็นสามเณรกลับมา เป็นชนวนเหตุอย่างหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ซึ่งย้ำให้เห็นว่าความรุนแรงครั้งนั้นถือเป็นหนึ่งในปฏิบัติการป้องกันประเทศชาติจาก ‘พวกคอมมิวนิสต์’

เช่นเดียวกับ สถาบันพระมหากษัตริย์ “ย่อมจะต้องถูกทำลายให้สูญสิ้น…พระผู้ทรงดำรงตำแหน่งพระประมุขของไทยทั้งชาติ เป็นฉัตรปกป้องผองไทยมาแต่บรรพกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบัน (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรของพระองค์เป็นที่ยิ่ง ทรงเป็นห่วงใยในความอยู่เย็นเป็นสุข และประทับอยู่กับประชาราษฎร์โดยแท้ พระองค์ก็จะต้องเผชิญกับอำนาจทรชนของฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างแน่นอน ซึ่งวาระนั้นย่อมเป็นวาระสุดท้ายแห่งราชบัลลังก์ไทย”

“ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจะต้องพินาศสิ้น ระบอบการปกครองเผด็จการภายใต้ลัทธิคอมมิวนิสต์จะเข้ามาแทนที่” และ “ฝ่ายคอมมิวนิสต์จะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เพื่อยึดครองอำนาจเผด็จการไว้ให้ได้นานแสนนาน ซึ่งในการนี้จะต้องใช้ความทารุณโหดร้าย เพื่อให้ทุกคนหมอบศิโรราบต่อระบอบการปกครองของตนด้วย ในระยะแรกๆ อาจต้องมีการตัดศีรษะ ฝังทั้งเป็น…การขูดรีดเก็บภาษีเถื่อน การรีดนาทาเร้นเอาอาหารมาเลี้ยงทหารป่า การบังคับให้ประชาชนไปรับการสัมมนาตามแผนการศึกษาล้างสมอง การให้ทำงานหนัก…”

“เสรีภาพของประชาชนจะพลันปลาสนาการไปสิ้น…ชีวิตของไทยทั้งจะอยู่กับปลายหอกและคมดาบ สุดแต่ฝ่ายคอมมิวนิสต์จะบงการ…ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งหลายนั้น ความสุขสงบ และอบอุ่นในชีวิตครอบครัว ซึ่งเคยมีมาแต่หนหลัง จะอันตรธานไปโดยพลัน…”

ทั้งสร้างความสั่นคลอนต่อวลีอมตะที่บรรยายถึงประเทศไทยไว้ว่า “แผ่นดินไทยซึ่งมีสมญาว่า ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ก็จะกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้พวกเหล่านี้ตักตวงเอาตามอำเภอใจ ท่ามกลางหยาดเหงื่อแรงงาน และความทุกขเวทนาของชาวไทยซึ่งจะต้องทนเป็นขี้ข้าทรราชเหล่านี้ไปชั่วกัลปาวสาน”

ในท้ายสุด ตำราของธานินทร์สรุปให้เห็นว่า “ทันใดที่พวกคอมมิวนิสต์เข้ายึดครองผืนแผ่นดินไทย เราจะไม่มีสิ่งใดที่เราสุดหวงแหนเหลืออยู่ นับตั้งแต่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สิน ลูกเมีย แม้กระทั่งสิ่งสุดท้าย…ความเป็นตัวของตัวเอง… ประเทศไทยเรายืนหยัดเป็นเอกราชมาได้ทุกวันนี้ ก็เพราะปู่ย่าตาทวดของเราได้สละเลือดเนื้อ และอุทิศชีวิตเป็นชาติพลี ชาติไทยไม่ได้เป็นทาสใคร สายโลหิตทุกหยาดของเราเป็นไทย เราไม่เคยมีแอกแห่งความเป็นทาส จึงไม่จำเป็นต้องมีใครมาปลดแอกให้เรา”

น่าสนใจว่า หลายประเด็นที่ตำราชวนให้ผู้อ่าน ผู้ศึกษา รู้สึกหวาดกลัวและตระหนักถึงจำเป็นต้องช่วยกันป้องกัน เฝ้าระแวดระวังภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ เพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและความเลวร้ายต่างๆ ข้างต้น ซึ่งหากพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน แล้วมองย้อนกลับไป ก็ดูเหมือนจะไม่ต่างกันเท่าใดนัก และเป็นฝ่ายรัฐไทยเสียมากกว่าที่ใช้ความรุนแรงกดปราบประชาชนอย่างโหดเหี้ยม การอุ้มหาย ลอบสังหารผู้เห็นต่างเกิดขึ้นเป็นประจำ การปกครองระบอบเผด็จการยังคงอยู่ ขณะที่ระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยก็ไม่เคยได้ลืมตาอ้าปาก อีกทั้ง “เสรีภาพของประชาชนจะพลันปลาสนาการไปสิ้น…ชีวิตของไทยทั้งจะอยู่กับปลายหอกและคมดาบ” พอจะเป็นคำบรรยายสภาพชีวิตของประชาชนในปัจจุบันนี้ได้ด้วยเช่นกัน เพียงแต่เปลี่ยนจาก ‘ปลายหอกและคมดาบ’ เป็นปลายกระบอกปืน เท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น จากปรากฏการณ์ทางการเมือง ณ เวลานี้ สะท้อนให้เห็นราวกับว่าจะเป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งของคนรุ่นใหม่ในการต่อสู้เพื่อปลดแอกประชาชนออกจากการถูกกดขี่โดยระบอบอำนาจนิยม และปลดเปลื้องตนเองจากกรอบคิดทางวัฒนธรรม หรือขนบธรรมเนียมที่ครอบงำและคอยฉุดรั้งการสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตยมานับหลายศตวรรษ

เนื้อหาทั้งหมดในตำราเล่มนี้ เป็นเรื่องจริงเท็จ ผิดถูกอย่างไร อาจไม่ใช่เรื่องที่จะต้องนำมาพิจารณาหรือโต้แย้งอีกต่อไปในปัจจุบัน หากแต่ถือเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า ผู้คนในสังคมเมื่อครั้งอดีตถูกทำให้มีความรับรู้ ถูกทำให้เข้าใจต่อคำนิยามหรือความหมายของอุดมการณ์ทางการเมืองแบบคอมมิวนิสต์อย่างไร และแน่นอนว่า มันได้มีส่วนเสริมสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ให้ปกคลุมสังคมไทยในเวลานั้นไปเป็นที่เรียบร้อย

คอมมิวนิสต์ในมโนทัศน์ของสังคมไทย

ด้วยเหตุที่ถูกครอบงำโดยองค์ความรู้ และคำอธิบายข้างต้น ภาพคอมมิวนิสต์ที่ถูกสร้างขึ้นผ่านตำราดังกล่าว จึงไม่ต่างจากพวกเผด็จการอำนาจนิยมที่ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกครองบ้านเมือง เป็นกลุ่มที่ต้องการล้มล้างศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อบรรลุเป้าหมายของตน การพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และท้าทายความเชื่อแบบดั้งเดิมในปัจจุบัน ย่อมเท่ากับเป็นการกระตุกต่อมความหวาดผวาคอมมิวนิสต์แก่คนบางกลุ่ม ราวกับได้ข้ามย้อนเวลากลับไปอยู่ในยุคสงครามเย็นอีกครั้ง

แม้ช่วงเวลาหนึ่ง หลายคนจะพยายามชี้แจ้งหรืออธิบายกรอบความคิดคอมมิวนิสต์ว่าไม่ได้เป็นเผด็จการ ไม่ได้เป็นสิ่งชั่วร้าย ตลอดจนการพยายามอธิบายว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จะเป็นการทำให้สถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวดำรงอยู่คู่กับประชาชนได้อย่างสง่างาม ด้วยความบริสุทธิ์ใจและความหวังดีมากเพียงใด คงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้ผู้คนส่วนใหญ่คล้อยตามได้ เนื่องจากประสิทธิภาพของโฆษณาชวนเชื่อ และหลักสูตรการศึกษาในเวลาที่รัฐเป็นฝ่ายผูกขาดการให้ข้อมูลข่าวสารนั้นได้ผลกว่าที่คาดไว้มาก ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า ปัจจุบัน โครงสร้างสังคมของไทยนั้นเป็นสังคมผู้สูงอายุ ที่หมายความว่า ผู้คนจำนวนมากมีชีวิตผ่านช่วงเวลาสงครามเย็นเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ

ขณะเดียวกัน การบังคับใช้กฎหมายในลักษณะกดปราบประชาชนและกลุ่มผู้ชุมนุม ตลอดจนปฏิบัติการความรุนแรงทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและมวลชนผู้สนับสนุนรัฐบาล ยังแฝงนัยยะความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์อยู่ไม่น้อย เนื่องจากการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องทางการเมืองที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมืองดังที่ผ่านมา ได้เข้าปะทะกับความเชื่อที่ว่า บ้านเมืองสามารถรอดพ้นจากการถูกรุกรานจากคอมมิวนิสต์เป็นผลสำเร็จด้วยพระบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์

การสร้างภาพลักษณ์อันเลวร้ายแก่คอมมิวนิสต์ผ่านตำรานี้ ย่อมมีส่วนทำให้ความเชื่อหลายอย่างลงรากฝังลึกและยังถูกนำมาใช้สร้างอัตลักษณ์บางอย่างแก่ฝ่ายตรงข้าม เพื่อทำลายความชอบธรรมของการเคลื่อนไหวให้ไม่ต่างจากบ่อนทำลายชาติ เช่น การเรียกร้องความเป็นธรรมในประเด็นต่างๆ ของแรงงานและนักศึกษาที่ถูกอธิบายไว้ตั้งแต่อดีต ว่าเป็นผลจากการยุยงปลุกปั่นของผู้ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มต่อต้านรัฐบาลก็ยังคงถูกกล่าวหา ว่าเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมืองที่เสียผลประโยชน์ในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เช่นเดียวกับกรณีการแสดงออกโจมตีรัฐบาลและการทำงานเจ้าหน้าที่รัฐ ก่อนหน้านี้ก็เคยถูกมองว่าเป็นปฏิบัติการทำลายภาพพจน์ข้าราชการ เพื่อต้องการให้เกิดความแตกแยกเพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งฉวยโอกาสเข้ายึดครองอำนาจรัฐ และหากหันมามองสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านยิ่งดูเหมือนตรรกะแบบนี้ยังคงไม่หายไป

รวมทั้ง การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างสุจริต หรือเรียกร้องการปฏิรูปให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญเคียงคู่ประชาชนในแบบที่ควรจะเป็นตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมต้องถูกตีตราให้เท่ากับเป็นการจาบจ้วงทำลายล้มล้างสถาบันฯ จากอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งยึดมั่นกับสูตรสำเร็จเรื่อง ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

สุดท้าย ภายใต้มโนทัศน์ต่อการเรียกร้องทางเมืองดังกล่าว ได้ส่งผลต่อลักษณะท่าทีของกลุ่มการเมืองผู้สนับสนุนรัฐบาลที่เคลื่อนไหวคล้ายกับกลุ่มพลเรือนฝ่ายขวา ช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 อย่างเห็นได้ชัด อาทิ กลุ่มไทยภักดี กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน กลุ่มศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) ฯลฯ ที่มักมีหรือนำเสนอปฏิบัติการต่างๆ เสมือนกับสังคมไทยยังคงอยู่ในยุคสงครามเย็น เช่น กรณี แน่งน้อย อัศวกิตติกร ในฐานะประธานกลุ่ม ศชอ. ได้เข้าการแจ้งความดำเนินคดีผู้แสดงความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ตามฐานความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กว่า 1,275 รายชื่อ เพื่อเป็นการแสดงพลังปกป้องสถาบันกษัตริย์ และกำจัดพวกชังชาติ หรือกรณี นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม หรือ ‘หมอวรงค์’ แกนนำกลุ่มไทยภักดี ที่ออกมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง ‘ยุทธการหักคอเวียดกง’ ที่มองว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะใช้สื่อสมัยใหม่เป็นเครื่องมือในการสร้างกระแส “ผิดถูกไม่ใช่ปัญหา แต่ขอให้ไปในทิศทางที่กำหนด และจะมีการขยายผลซ้ำๆ ผ่านเครือข่าย จนคนคล้อยตาม เมื่อสุกงอมเพียงพอจึงโหมไฟสงครามปฏิวัติ ซึ่งในทางยุทธศาสตร์เวียดกง จะใช้สงครามจิตวิทยา โฆษณาชวนเชื่อปลุกระดมมวลชนให้เข้ามาร่วม ส่วนทางกองกำลังจะใช้กองโจรก่อการร้าย ก่อความไม่สงบ จนศัตรูอ่อนกำลัง จึงขยายเป็นสงครามปฏิวัติเต็มรูปแบบ เป้าหมายของคนเหล่านี้ คือล้มเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อสนองตัณหา ทุนสามานย์ที่ครอบงำพรรค สถาปนาระบอบประธานาธิบดี ขึ้นมาทดแทน

เมื่อพิจารณาเนื้อหาในตำราที่ยกมาอ้างถึงในบทความนี้กับการเคลื่อนไหวที่เคยเกิดขึ้น จึงไม่แปลก หากกลุ่มผู้มีอำนาจและชนชั้นนำที่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างหรือระบอบทางการเมืองที่เป็นอยู่ จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกดปราบกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างกว้างขวาง โดยที่คนจำนวนไม่น้อยได้แสดงออกอย่างชัดเจนให้รัฐบาล ‘เอาจริง’ กับผู้ชุมนุมในลักษณะส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรงอย่างถึงที่สุด ถ้าไม่ใช่เพื่อปกป้องโครงสร้างที่ตนได้ร่วมกันสถาปนาเอาไว้หรือได้รับผลประโยชน์มาโดยตลอด ก็อาจเป็นเพราะอาการ ‘หลอน’ ที่เคยมีต่อคอมมิวนิสต์เมื่อครั้งอดีตที่ผ่านมา

 

เอกสารอ้างอิง

การเมือง, ศชอ. ยื่นหลักฐาน 1,275 รายชื่อผู้แสดงความเห็นถึงสถาบันกษัตริย์ ต่อ บก.ปอท. ด้าน ผกก.สอบสวนเผย ตั้ง ‘คณะกลั่นกรองความมั่นคง’ ดำเนินการตรวจสอบก่อนยื่นฟ้อง, 10 กรกฎาคม 2564, ว๊อยซ์ออนไลน์, https://www.voicetv.co.th/read/N2RoMTrLl (สืบค้นเมื่อ 3 สิงหาคม 2564)

ไชยันต์ ไชยพร. ผิดด้วยหรือที่ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา. ซี่รีย์ “6 ตุลาในทัศนะของฝ่ายขวา” ตอนที่ 3, 3 กรกฎาคม 2543, บันทึก 6 ตุลา, https://doct6.com/archives/15059. (สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2564)

ธานินทร์ กรัยวิเชียร, ลัทธิและวิธีการของคอมมิวนิสต์, พิมพ์ครั้งที่ 7. (กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ กรมวิชาการ, 2520)

ธานินทร์ กรัยวิเชียร, ลัทธิและวิธีการของคอมมิวนิสต์, พิมพ์ครั้งที่ 7. (กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ กรมวิชาการ, 2520)

แนวหน้า, ถึงเวลาเด็ดขาด!‘ศรีสุวรรณ’ จี้รัฐรื้อฟื้น หวนใช้‘พ.ร.บ.ป้องกันคอมมิวนิสต์’อีกครั้ง, 10 ธันวาคม 2563, แนวหน้า, https://www.naewna.com/politic/537676 (สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2564)

ผู้จัดการออนไลน์, “สาธารณรัฐ” สู่ “ค้อนเคียว” “ม็อบเป็ดน้อย” ไม่ “บ้า” ก็ “เมา”,  12 ธันวาคม 2563, ผู้จัดการออนไลน์, https://mgronline.com/daily/detail/9630000126903 (สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2564)

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ใครเป็นใครในกรณี 6 ตุลา, ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง, (กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2544) หน้า 162-164.

สำนักข่าวไทยโพสต์, ‘หมอวรงค์’ เปิด ‘ยุทธการหักคอเวียดกง’, 13 ธันวาคม 2563, ไทยโพสต์, https://www.thaipost.net/main/detail/86720  (สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2564).

 

Tags: , ,