สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีตั้งแต่ปลายปี 2022 จนถึงตอนนี้ เรียกว่าเป็นช่วงเวลาผันผวนมากที่สุดในรอบหลายปี ความตึงเครียดเกิดขึ้นบ่อยครั้งจากการที่เกาหลีเหนือซ้อมรบและยิงขีปนาวุธหลายสิบลูก การส่งโดรนบินข้ามแดนไปเกาหลีใต้ หรือการที่ญี่ปุ่นประกาศเพิ่มงบประมาณกระทรวงกลาโหมสูงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และทั้งสองประเทศยังคงเดินหน้าซ้อมรบร่วมกับสหรัฐอเมริกาบ่อยครั้ง สร้างความไม่พอใจแก่รัฐบาลเกาหลีเหนือเป็นอย่างมาก

วันที่ 6 เมษายน 2023 สำนักข่าว KCNA ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเกาหลีเหนือรายงานว่า การกระทำของสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ที่เดินหน้าซ้อมรบและมีความใกล้ชิดกันมากกว่าเดิม จะยิ่งสร้างความตึงเครียดจนถึงขั้นเป็น ‘ชนวนสงครามนิวเคลียร์’ ถือเป็นการกระทำน่ารังเกียจที่ไม่สามารถยอมรับได้

สำนักข่าวดังกล่าวยังอ้างอิงบทความของ โช จูฮยอน (Choe Ju Hyon) นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของเกาหลีเหนือ ที่ยืนยันว่า ความพยายามแบบขาดความยั้งคิดของสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ ที่จะนำกองทัพของตัวเองมาเผชิญหน้ากับกองทัพเกาหลีเหนือ ถือเป็นการผลักดันให้คาบสมุทรเกาหลีเผชิญหน้ากับหายนะที่ไม่สามารถแก้ไขได้ สุ่มเสี่ยงจะทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นจริงๆ อีกทั้งช่วงท้ายของรายงานข่าวระบุว่า ประชาคมโลกต่างต้องการให้ความตึงเครียดที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์นี้หายไปโดยเร็วที่สุด

ช่วงต้นเดือนมีนาคม คิม โยจอง (Kim Yo-jong) โฆษกพรรคแรงงานเกาหลี ที่มีฐานะเป็นน้องสาวของ คิม จองอึน (Kim Jong-un) ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ เคยออกแถลงการณ์เตือนสหรัฐฯ และชาติใดก็ตามที่คิดจะยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่ยิงขึ้นฟ้าในช่วงฝึกซ้อม จะถือว่าชาตินั้นประกาศสงคราม และเกาหลีเหนือมีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะโต้ตอบภัยคุกคามจากภายนอก 

หลังเกาหลีเหนือแสดงจุดยืน สหรัฐฯ และเกาหลีใต้จัดการซ้อมรบในปฏิบัติการชื่อ ‘Freedom Shield’ ระหว่างวันที่ 13-23 มีนาคม มีการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลบี-52 สตราโตฟอร์เทรส (B-52 Stratofortress) เครื่องบินทิ้งระเบิด B-1B เครื่องบินขับไล่ F-16 และ F-35 ที่ถือเป็นการซ้อมรบร่วมที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 5 ปี 

จากนั้นวันที่ 28 มีนาคม มีรายงานว่า สหรัฐฯ ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ยูเอสเอสนิมิตซ์ (USS Nimitz (CVN-68)) เทียบท่าที่ปูซาน สร้างความไม่พอใจให้เกาหลีเหนืออย่างมาก จนรัฐบาลต้องออกเอกสารประณามอีกฉบับตามหลังแถลงการณ์ของ คิม โยจอง 

พลเรือตรี คริสโตเฟอร์ สวีนีย์ (Christopher Sweeney) ผู้บัญชาการกองเรือนิมิตซ์ ระบุว่า การที่สหรัฐฯ ส่งกองเรือและเครื่องบินรบเข้ามาประจำการ ไม่ใช่เพราะต้องการข่มขู่หรือเตรียมคุกคามเกาหลีเหนือ แต่ต้องการแสดงให้เห็นว่า หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน สหรัฐฯ พร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่มาจากเกาหลีเหนือ

นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ส่งนาวิกโยธินของตัวเองร่วมซ้อมรบสะเทินน้ำสะเทินบกภายใต้รหัสซันยอง (Ssang Yong) พร้อมยานพาหนะสะเทินน้ำสะเทินบกความเร็วสูง LCACs และเครื่องบินขับไล่ล่องหน F-35B 

วันที่ 4 เมษายน กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้เปิดเผยว่า กองทัพเรือของ 3 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ได้จัดการซ้อมรบต่อต้านเรือดำน้ำบริเวณน่านน้ำสากลนอกเกาะเชจูเป็นเวลา 2 วัน เพื่อป้องกันขีปนาวุธและนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่นาน เกาหลีเหนือเปิดเผยว่า กำลังพัฒนาวัสดุที่ใช้ทำอาวุธนิวเคลียร์ ขยายคลังแสง และเปิดตัวโดรนใต้น้ำติดหัวรบนิวเคลียร์ 

การซ้อมรบที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งใกล้เกาหลีเหนือ ทำให้วันที่ 5 เมษายน คิม โยจอง ออกแถลงการณ์ทันทีว่า เกาหลีเหนือพร้อมโต้ตอบทุกเมื่อ ก่อนโลกจะได้เห็นการรายงานข่าวของ KCNA ในวันถัดมา ที่ยืนยันว่าพื้นที่ในคาบสมุทรเกาหลีเสี่ยงจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ได้ทุกเมื่อ และความเสี่ยงนี้เกิดขึ้นเพราะสหรัฐฯ กับชาติพันธมิตร  

 

ที่มา:

https://edition.cnn.com/2023/03/28/asia/us-marines-south-korea-amphibious-landing-intl-hnk-ml/index.html 

https://www.dw.com/en/north-korea-accuses-us-south-of-pushing-for-nuclear-war/a-65243159

https://www.aljazeera.com/news/2023/4/6/brink-of-nuclear-war-north-korea-warning-on-military-drills 

https://saudigazette.com.sa/article/631138/World/Asia/USS-Nimitz-arrives-for-naval-drills-in-South-Korea

https://en.yna.co.kr/view/PYH20230328169100325 

Tags: , , , , , , ,