วันนี้ (25 เมษายน 2025) รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศนำร่องขุดเหมืองใต้ทะเล พร้อมเป็นผู้นำการสำรวจทั้งน่านน้ำภายในและสากล หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เซ็นคำสั่งประธานาธิบดี (Executive Order) ครั้งใหม่ ท่ามกลางความกังวลว่า อาจขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่
สำนักข่าว New York Times รายงานว่า ทรัมป์ออกคำสั่งประธานาธิบดีประกาศให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำในการขุดเหมืองสำรวจ และพัฒนาแร่ธาตุหรือทรัพยากรใต้ทะเล เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพด้านการป้องกันประเทศ พัฒนาสาธารณูปโภค และพลังงาน โดยคำสั่งดังกล่าวมีผลครอบคลุมทั้งน่านน้ำภายในประเทศ และพื้นที่นอกเขตอำนาจรัฐ (Jurisdiction) หรือบริเวณน่านน้ำสากล ซึ่งอาจเป็นพื้นที่โซนคราริออน-คลิปเปอร์ตัน (Clarion-Clipperton Zone) ในมหาสมุทรแปซิฟิก
คำสั่งดังกล่าวจะมีผลให้องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) สหรัฐฯ ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตให้บริษัทต่างๆ ขุดเหมืองใต้ทะเล โดยมุ่งหวังว่า อาจค้นพบแร่ธาตุบางอย่างที่เพิ่มพูนศักยภาพของประเทศทั้งในเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการทหาร เช่น แร่นิกเกิล, โคบอลต์ และสังกะสี ถือเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับจีนที่กำลังควบคุมห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chains) ท่ามกลางสงครามการค้าอันร้อนระอุ และเพิ่มมูลค่า GDP ของสหรัฐฯ ด้วยการสร้างงานสร้างอาชีพถึง 1 แสนตำแหน่ง
ด้านบริษัทขุดเจาะเหมืองแร่อย่าง Metal Company ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา อาจเป็นตัวเต็งในการนำร่องโปรเจกต์ครั้งนี้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา บริษัทเคยขอให้รัฐบาลทรัมป์อนุมัติบริษัทในเครือขุดเจาะเหมืองแร่ใต้ทะเล โดยใช้เงินมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1,600 ล้านบาท) ขณะที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้า เช่น เรือที่สามารถขุดเจาะได้ถึงก้นทะเล หรือเรือสำรวจไร้คนขับ
อันที่จริงรัฐบาลทรัมป์อาศัยช่องว่างทางกฎหมายระหว่างประเทศ ในการดำเนินนโยบาย หลังสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรพื้นดินท้องทะเลระหว่างประเทศ (International Seabed Authority: ISA) ที่ควบคุมการทำเหมืองใต้ทะเลตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกเป็นภาคีสมาชิก และมีอำนาจครอบคลุมกิจกรรมใดๆ ในบริเวณน่านน้ำสากล ขณะที่วุฒิสภาสหรัฐฯ ยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea: UNCLOS) ที่กำหนดให้รัฐภาคีสามารถแสวงหาทรัพยากร หรือทำประมงได้แค่บริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone: EEZ) หรือพื้นที่จากทะเลอาณาเขตไม่เกิน 200 ไมล์ทะเล
แม้การทำเหมืองใต้ทะเลเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่ในนานาชาติก็เป็นฉันทมติร่วมกันว่า รัฐไม่ควรแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากกิจกรรมดังกล่าว เพราะก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การประมง และระบบนิเวศใต้ท้องทะเล โดย อาร์โล เฮมพ์ฮิลล์ (Arlo Hemphill) นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประณามการกระทำดังกล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่มีสิทธิทำลายมรดกของมนุษยชาติและทำลายท้องทะเล เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจอันเล็กน้อย
ปัจจุบัน 30 ประเทศทั่วโลก เรียกร้องให้ระงับการขุดเหมืองใต้ทะเล ขณะที่บริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อย่าง BMW, Volkswagen, Volvo, Apple, Sumsung และ Google ต่างก็ให้คำมั่นว่าจะไม่ใช้ทรัพยากรจากใต้ท้องทะเลเช่นเดียวกัน
อ้างอิง
–https://www.nytimes.com/2025/04/24/climate/trump-seabed-mining.html
Tags: เหมืองใต้ทะเล, Donald Trump, โดนัลด์ ทรัมป์