ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) เผยเมกะโปรเจกต์ มูลค่ากว่า 7,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 243,936 ล้านบาท) เพื่อย้ำเป้าหมายลดอุตสาหกรรมการปล่อยก๊าซคาร์บอน ลง 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรวมถึงการลดใช้พลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติภายในประเทศ และจากการประชุมกับผู้นำยุโรปหลายประเทศ ทรูโดชี้ว่าหลายประเทศมีท่าทีตัดสินใจยุติการพึ่งพาพลังงานจากประเทศรัสเซียและหันมาพึ่งพาพลังงานอื่นๆ ทดแทน

ในปี 2020 ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย รวมแล้วราว 1.55 แสนล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติทั้งหมด หากยุโรปตัดสินใจไม่พึ่งพารัสเซีย หมายความว่าก๊าซธรรมชาติจะหายไปเกือบครึ่ง จึงต้องเร่งหาพลังงานทดแทนหรือนำเข้าจากประเทศอื่นเป็นจำนวนมาก ในอนาคตวาระสำคัญจึงตกไปอยู่ที่การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ

“ยุโรปไม่ได้เพียงแค่ต้องการยุติการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเท่านั้น แต่ยังต้องพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานให้เป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

สำหรับเมกะโปรเจกต์ดังกล่าว ประกอบด้วยการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles หรือ EV) และกำหนดให้ 20 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์และรถบรรทุกทั้งหมดที่จำหน่ายในแคนาดาต้องปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2026 และเปลี่ยนเป็นรถยนต์ EV ทั้งหมดภายในปี 2035 ทั้งยังรวมไปถึงโครงการสิ่งก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green house) และสัญญาความร่วมมือเพื่อสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวมากมาย เป็นนิมิตหมายอันดีว่าหลายประเทศเริ่มหันมาสนใจเรื่องการบริหารประเทศควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

ถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรีแคนาดาในปัจจุบันจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำสิ่งแวดล้อมในระดับสากล โดยให้คำมั่นสัญญาถึงนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด แต่ในอีกด้าน เขาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ดำเนินนโยบายที่ขัดแย้งกับสองประเด็นข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายท่อขนส่งก๊าซและพลังงานอื่นๆ ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลในแคนาดากล่าวว่า ทรูโดนั้นประสบความสำเร็จในการคิดโปรเจกต์แต่ผลลัพธ์นั้นกลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

ทั้งนี้แคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศอุตสาหกรรม G7 ที่ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบเป็นอันดับ 4 ของโลก และอยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดต่อประชากรอีกด้วย ซึ่งการประกาศเมกะโปรเจกต์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่ทรูโดมีคำสั่งให้เพิ่มการผลิตและส่งออกน้ำมันรวมถึงก๊าซธรรมชาติอีก 3 แสนบาร์เรลต่อวัน หรือเป็นการเร่งผลิตเพิ่มขึ้นอีก 5 เปอร์เซ็นต์เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของสหภาพยุโรป

หันกลับมามองประเทศไทย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เผยแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและอุตสาหกรรมที่รักษาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 350 ล้านตันต่อปี และประเทศไทยต้องใช้เงินประมาณ 7-8 แสนล้านบาทต่อปีในการกำจัดคาร์บอน

สำหรับแผนดังกล่าวประกอบด้วย การต่ออายุใบอนุญาตการเช่ารถยนต์ EV และเพิ่มการจัดตั้งสถานีชาร์จให้เพียงพอ ต่อมาคือส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนและลดการปล่อยคาร์บอนในทุกอุตสาหกรรม สุดท้ายคือส่งเสริมการผลิตพลังงานสีเขียวทุกรูปแบบ โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ การริเริ่มโครงการพลังสะอาดเป็นเรื่องที่ดีต่อทั้งคนในประเทศและต่อสิ่งแวดล้อม แต่การนำเสนอโปรเจกต์ใหม่ๆ ย่อมต้องมาคู่กับผลลัพธ์ที่ทำได้จริง มิเช่นนั้นก็เป็นเพียงนโยบายขายฝันเท่านั้น ซึ่งประชาคมโลกคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ความพยายามด้านพลังงานสะอาดของแต่ละประเทศจะเป็นเช่นไรในอนาคต

ที่มา:

https://www.aljazeera.com/…/canada-unveils-multi…

https://www.france24.com/…/20220329-canada-announces…

Tags: , ,