จากการสำรวจของบริษัทสถิติ เซิร์ฟชาร์ก (Surfshark) พบว่าหลายประเทศได้ยื่นคำร้องไปยังบริษัทกูเกิล (Google) ขอให้ลบเนื้อหาที่ถูกผลิตในเขตแดนของตัวเองที่ลงในแพลตฟอร์มต่างๆ ของกูเกิล โดยเนื้อหาที่ถูกร้องเรียนมักเป็นเรื่อง ‘หมิ่นประมาท’ กับ ‘ความมั่นคงแห่งชาติ’ แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้ขอให้ลบประเด็นที่ว่ามาเท่ากับเนื้อหาที่เข้าข่าย ‘วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล’

ไม่นานมานี้ เซิร์ฟชาร์กเผยข้อมูลการจัดอันดับประเทศที่ยื่นคำร้องขอให้ Google ลบเนื้อหาออกจากแพลตฟอร์ม โดยรวบรวมข้อมูลระหว่างปี 2011-2020 จนได้รายชื่อประเทศและประเด็นที่ขอให้ลบมากที่สุด ดังนี้

1. รัสเซีย ยื่นคำร้องลบเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ

2. ตุรกี ยื่นคำร้องลบเนื้อหาหมิ่นประมาท

3. อินเดีย ยื่นคำร้องลบเนื้อหาหมิ่นประมาท

4. สหรัฐอเมริกา ยื่นคำร้องลบเนื้อหาหมิ่นประมาท

5. บราซิล ยื่นคำร้องลบเนื้อหาหมิ่นประมาท

6. เกาหลีใต้ ไม่ระบุประเภทคำร้อง

7. สหราชอาณาจักร ยื่นคำร้องลบเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ

8. ฝรั่งเศส ยื่นคำร้องลบเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ

9. เยอรมนี ยื่นคำร้องลบเนื้อหาหมิ่นประมาท

10. อิตาลี ยื่นคำร้องลบเนื้อหาหมิ่นประมาท

11. อิสราเอล ยื่นคำร้องลบเนื้อหาหมิ่นประมาท

12. ปากีสถาน ยื่นคำร้องลบเนื้อหาละเอียดอ่อนด้านศาสนา

13. จีน ยื่นคำร้องลบเนื้อหาที่มีความรุนแรง

14. แคนาดา ยื่นคำร้องลบเนื้อหาที่มีการฉ้อโกง

15. สเปน ยื่นคำร้องลบเนื้อหาด้านความปลอดภัยและสิทธิส่วนบุคคล

16. ไทย ยื่นคำร้องลบเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

17. ออสเตรเลีย ยื่นคำร้องลบเนื้อหาด้านความปลอดภัยและสิทธิส่วนบุคคล

18. ญี่ปุ่น ยื่นคำร้องลบเนื้อหาหมิ่นประมาท

19. อาร์เจนตินา ยื่นคำร้องลบเนื้อหาหมิ่นประมาท

20. เวียดนาม ยื่นคำร้องลบเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

สำหรับการยื่นคำขอให้กูเกิลลบเนื้อหา บริษัทจะไม่ดำเนินการคำขอแบบวาจา รัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น เช่น คำสั่งศาล เอกสารหน่วยงานรัฐทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น และรัฐบาลจำเป็นต้องระบุรายละเอียดเนื้อหาที่ขอให้ลบ พร้อมอธิบายว่าเนื้อหาดังกล่าวขัดต่อกฎหมายอย่างไร จากนั้นบริษัทจะเริ่มประเมินคำร้องโดยดูจากกฎหมายในประเทศนั้นๆ

ความน่าสนใจนอกจากอันดับประเทศที่ยื่นคำร้องถึงกูเกิล คือประเภทของคำร้องที่ถูกยื่นมากที่สุด ประเทศที่ยื่นคำร้องส่วนใหญ่มักขอให้จัดการเนื้อหาพาดพิง หมิ่นประมาท สร้างความเกลียดชัง หรือทำให้บุคคลใดเกิดความเสื่อมเสีย ตามมาด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภัยความมั่นคง บางประเทศเข้มงวดเรื่องเนื้อหาที่มีความรุนแรง หรือกังวลเรื่องความขัดแย้งทางศาสนา และประเทศที่ยื่นคำร้องมากที่สุดตลอดกาลยังคงเป็นประเทศรัสเซียที่เป็นแชมป์เก่าติดต่อกันหลายปี

ประเทศไทยและประเทศเวียดนาม มีความเหมือนกันในเรื่องการยื่นคำร้องขอลบเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากที่สุด โดยรัฐบาลไทยยื่นคำร้องให้ลบเนื้อหาวิจารณ์รัฐบาลไป 1,092 รายการ คิดเป็น 95.2% ต่อคำร้องทั้งหมดที่ยื่นไป และรัฐบาลเวียดนามขอให้ลบเนื้อหาวิจารณ์รัฐบาล 459 รายการ คิดเป็น 70.4% ต่อคำร้องทั้งหมด

ส่วนประเทศที่ส่งคำร้องให้ลบเนื้อหาน้อยลงกว่าปีก่อนๆ คือ สหรัฐอเมริกา ช่วงหลังมานี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ลดคำร้องขอลบเนื้อหาลง 67.23% หากเทียบกับสถิติสูงสุดที่เคยยื่นคำร้องขอลบเนื้อหาในปี 2017 ถือว่าลดจนแทบไม่เหลือ เนื่องจากปี 2017 เป็นปีแรกที่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump)  เป็นประธานาธิบดี ในปีนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ขอให้ลบเนื้อหาที่ชาวอเมริกันเขียนร้องเรียนเรื่องการฉ้อโกงในอินเทอร์เน็ต คิดเป็น 285.47%

โดยแพลตฟอร์มที่รัฐบาลหลายชาติยื่นคำร้องขอให้ลบเนื้อหาหมวดต่างๆ มากที่สุดในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คือ ยูทูบ (YouTube) ตามมาด้วยกูเกิลเสิร์ช (Google Search) ที่มีจำนวนคำร้องทิ้งห่างจากอันดับหนึ่งมากถึง 39.17%

 

ที่มา

https://surfshark.com/google-removed-content

https://transparencyreport.google.com/government-removals/overview?hl=th

Tags: , , , , , ,