นานาชาติและองค์กรสิทธิมนุษยชนออกโรงประณาม ‘ไทย’ กรณีส่งตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวกัมพูชา 5 คน และเด็ก 7 ขวบ 1 คน กลับประเทศ ชี้ละเมิดกฎหมายภายในและระหว่างประเทศ พร้อมแสดงความเป็นห่วงว่า เหยื่ออาจเผชิญการประหัตประหารจากทางการกัมพูชา
ก่อนหน้านี้ Pen Chan Sang Kream, Hong An, Mean Chanthon, Yin Chanthou, Soeung Khunthea และ Vorn Chanratchana สมาชิก ผู้สนับสนุน และญาติของนักเคลื่อนไหวจากพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party: CNPR) พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ถูกยุบในปี 2017 ลี้ภัยทางการเมืองมายังประเทศไทยในปี 2022 หลังถูกทางการกัมพูชาคุกคามและตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น
อย่างไรก็ตามสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia: RFA) รายงานว่า ทางการไทยส่งผู้ลี้ภัยทางการเมือง 6 คนกลับประเทศเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองควบคุมตัวที่จังหวัดปทุมธานี โดยขณะนี้พวกเขาถูกจำคุกที่เรือนจำ 3 แห่งในกัมพูชา ด้วยข้อหา ‘กบฏ’ ต่อชาติ ขณะที่เรือนจำและทางการปฏิเสธให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม
“ตามกฎหมายคนเข้าเมือง เราต้องเนรเทศพวกเขาออกไปในวันอาทิตย์ตอนเย็น” ส่วนหนึ่งของข้ออ้างจากเจ้าหน้าที่นิรนาม
เหตุการณ์ข้างต้นทำให้นานาชาติและองค์การระหว่างประเทศออกโรงวิพากษ์การกระทำของไทย โดย วิเวียน แทน (Vivian Tan) โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ RFA ผ่านอีเมลว่า ไทยละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ (Non-refoulement) และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พร้อมระบุว่า รู้สึกกังวลและเป็นห่วงผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่ต้องกลับไปเผชิญการประหัตประหารจากรัฐบาลกัมพูชา
“UNHCR มีความกังวลต่อการที่ไทยส่งผู้ลี้ภัยกัมพูชากลับประเทศ ซึ่งละเมิดต่อหลักการไม่ส่งกลับ โดยหลักการนี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่รับรองว่า จะต้องไม่มีบุคคลใดถูกเนรเทศ หรือส่งกลับไปยังดินแดนที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงและอันตรายต่อชีวิต”
นอกจากนี้ วิเวียนยังเปิดเผยว่า ในกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกส่งกลับ มีเด็กอายุ 7 ขวบ ซึ่งเป็นหลานของนักเคลื่อนไหวคนหนึ่ง พร้อมกับย้ำว่า เรื่องนี้น่าตกใจอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และกฎหมายอื่นของประเทศไทย แต่ยังไม่รักษาสิทธิและผลประโยชน์ของผู้เยาว์ ก่อนจะทิ้งท้ายว่า UNHCR ยังรอคำอธิบายจากรัฐบาลไทยอย่างเร่งด่วนต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ขณะที่ Soeung Sen Karuna ผู้อำนวยการองค์กรสนับสนุนประชาธิปไตยในออสเตรเลียเชื่อว่า รัฐบาลไทยและกัมพูชา กำลังร่วมมือกันเพื่อปราบปรามนักโทษการเมือง โดยประณามทางการไทยว่า ล้มเหลวในการเคารพกฎหมายสิทธิมนุษยชน และสิทธิของผู้ลี้ภัยในฐานะสมาชิกของ UN
ที่ผ่านมา องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติมักวิพากษ์วิจารณ์ไทยที่ให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านด้วยการส่งนักโทษการเมืองกลับประเทศ โดยเฉพาะกัมพูชาและเวียดนาม พร้อมระบุว่า ไทยคือพื้นที่ ‘ไม่ปลอดภัย’ สำหรับผู้ลี้ภัยทางการเมือง ขณะที่ ฮิวแมนไรต์วอตช์ (Human Right Watch: HRW) ชี้ว่า ไทยคือ ‘ตลาดแลกเปลี่ยน’ นักโทษทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับการส่งผู้ลี้ภัยไทยกลับมายังประเทศ
อ้างอิง
https://www.rfa.org/english/cambodia/2024/11/27/cambodia-refugees-refoulement/
https://www.rfa.org/english/cambodia/2024/11/26/cambodia-thailand-deports-activists/
Tags: องค์การสหประชาชาติ, รัฐบาลไทย, UN, UNHCR, ผู้ลี้ภัย, กัมพูชา, สิทธิมนุษยชน, ไทย