“จาก ‘มีอำนาจเต็มในการปกครอง’ ไปสู่การ ‘ทรงราชย์’ และกำลังไปสู่สถาบันที่ไม่มีความหมายอะไรเลย… สถาบันหุ่นกระบอก” คือประโยคที่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ตรัสกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในตอนจบซีรีส์ The Crown ซีซันที่ 2 ตอน Marionettes’s

Marionettes เล่าเรื่องของ ‘ลอร์ดอัลทรินก์แฮม’ (2nd Baron Altrincham) นักคิด-นักเขียนคนสำคัญในช่วงทศวรรษ 1950 ว่าด้วยการออกมา ‘ติเตียน’ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หลังมีพระราชดำรัสที่โรงงานผลิตรถยนต์จากัวร์ด้วยโทนเสียงที่แข็งกร้าว ตอกย้ำแนวคิดว่าด้วยเรื่อง ‘ชนชั้น’ ชัดเจน และทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่บนหอคอยงาช้าง ยิ่งทิ้งระยะห่างจากประชาชน ทั้งที่สมเด็จพระราชินีเพิ่งขึ้นเสวยราชย์ได้เพียงไม่กี่ปีเท่านั้น แน่นอน หากเป็นไปอย่างนี้ ยิ่งอันตรายกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และอันตรายกับตัวพระองค์เอง…

หากย้อนกลับไปในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แม้พระราชอำนาจของพระองค์จะน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก แต่รัฐธรรมนูญก็ยังกำหนดให้สถาบันที่ไม่มีอำนาจนี้มีสถานะอยู่เหนือรัฐบาล และขุนนางหลายคนก็ยังเชื่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีความเป็นกลางพอที่จะสามารถตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมืองได้

แต่หลายๆ ครั้ง เจ้าความลึกลับ ไม่รู้ว่าข้างในเป็นอย่างไร และการกำหนดสถานะตัวเองให้เป็น ‘เบื้องสูง’ เกินไป ก็ทำลายสถาบันอยู่ไม่น้อย ตอนหนึ่งของเรื่องว่าด้วยสมเด็จพระราชินีไปที่โรงงานจากัวร์ ด้วยพระราชดำรัสที่กล่าวค่อนไปในทาง ‘ดูถูก’ พสกนิกร ได้สร้างความไม่พอใจให้นักสื่อสารมวลชนจำนวนไม่น้อย ขณะที่อีกหลายตอนก็ว่าด้วยการวางตัวของเจ้าชายฟิลลิป ที่ไปใกล้ชิดกับบรรดาชนชั้นนำสีเทามากเกินไป จนทำให้สถานะของสถาบันฯ หม่นหมอง

ภาระหนักจึงตกอยู่กับบรรดาข้าราชบริพารและที่ปรึกษาของสถาบันฯ เพราะนอกจากจะต้องทำให้สถาบันฯ เป็นกลางทางการเมืองแล้ว ยังต้องวางบทบาทให้เป็น ‘ผู้ใหญ่’ ที่ประชาชนรู้สึกนับถือ ขณะเดียวกัน ยังต้องควบคุมการใช้จ่ายไม่ให้ดูสุรุ่ยสุร่ายเกินไป เพราะอาจเป็นข้ออ้างของพวกนิยมสาธารณรัฐในการล้มสถาบันฯ ได้

ในยุคที่ข้าวยากหมากแพงอย่างช่วงทศวรรษ 1970 สมเด็จพระราชินีก็ต้องประหยัดด้วย และในยุคที่สถาบันฯ มีข่าวไม่ค่อยดีอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของพระญาติ สถาบันฯ ก็ต้องไปควานหาคนอย่าง ‘เลดี้ไดอานา’ มาเป็นตัวช่วยให้สาธารณชนมองความสวยงามของ Princess of Wales แทนที่จะมองเรื่องฉาวของพระญาติ

อีกตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ หลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอานา ที่สถาบันฯ ต้องเพิ่มสเกลจากการจัดพิธีเรียบง่ายแบบตระกูลสเปนเซอร์ มาเป็นการจัดสเกลใหญ่ โดยใช้แผนการจัดงานพระศพของควีนมาเธอร์ (สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ของควีนเอลิซาเบธที่ 2) มาใช้กับเจ้าหญิงไดอานาแทน รวมถึงการตัดสินใจให้เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี่เดินตามโลงศพพระมารดา ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ออกทั่วโลกตามข้อเสนอของรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการฝืน Protocol หรือธรรมเนียมปฏิบัติว่าด้วยการจัดงานพระศพที่เคยเคร่งครัดมาก

เรื่องนี้เจ้าชายแฮร์รี่เพิ่งให้สัมภาษณ์เมื่อ 20 ปีให้หลังว่าเกลียดการตัดสินใจนี้มาก เพราะลำพังสูญเสียแม่ไปแบบกะทันหันก็แย่พอแล้ว ยังต้องมาให้เดินตามหลังพระศพต่อหน้าประชาชนนับล้านคน ซึ่งดูการถ่ายทอดอยู่ทั่วโลกอีก

หลังสิ้นเจ้าหญิงไดอานา ซึ่งคนรอบตัว สมเด็จพระราชินี และเจ้าชายฟิลิป หลายคนมองว่าเป็น ‘ตัวป่วน’ เพราะชอบเอาเรื่องภายในมาเล่าให้นักข่าวฟังหรือออกโทรทัศน์กระทบกระเทียบสถาบันฯ หลายครั้ง ควีนก็กลับมาเป็นศูนย์กลางของสถาบันฯ อีกครั้ง แต่ในทศวรรษ 2010 นั้น ผลผลิตของเจ้าหญิงไดอานาอย่างเจ้าชายทั้งสองกลับทำให้สถาบันฯ มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น โดดเด่นขึ้น ก่อนที่เจ้าชายแฮร์รีจะมีปัญหาลดบทบาทตัวเองออกจากสถาบันฯ และกลายเป็นอีกหนึ่งระเบิดลูกใหญ่ในทศวรรษ 2020

กระนั้นเอง ภาพของเจ้าชายวิลเลียมซึ่งเป็นรัชทายาทลำดับที่ 2 ของราชวงศ์ก็ยังทรงวางตัวได้ดี ไม่ได้สนใจแต่เรื่องตัวเอง หากแต่ยังมองประโยชน์สถานะและการกุศล สืบทอดจากงานที่เจ้าหญิงไดอานาวางรากฐานมา ซึ่งนักข่าวอังกฤษและนักวิจารณ์จำนวนมากเห็นตรงกันว่า เป็นสิ่งที่เจเนอเรชันก่อนหน้าอย่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ไม่ได้สนใจนัก

ในปี 2016 ผลโพลจาก The Polling Club, King’s College พบว่าคนอังกฤษกว่า 76 เปอร์เซ็นต์ ยังอยากให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไป ส่วนอีก 17 เปอร์เซ็นต์ ต้องการเปลี่ยนอังกฤษให้เป็นสาธารณรัฐ ซึ่งน่าสนใจว่า คะแนนความนิยม ‘เพิ่มขึ้น’ จากการสำรวจช่วงก่อนปี 2000 ที่อยู่ราว 67-70 เปอร์เซ็นต์

กระนั้นเอง ผลสำรวจล่าสุดจาก YouGov กลับพบว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (ซึ่งปัจจุบันขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์หลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินี) ซึ่งเป็นรัชทายาทลำดับที่ 1 ได้รับคะแนนความนิยมจากประชาชนเพียง 42 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นอันดับ 8 จากบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหมด หากเทียบกับรัชทายาทเบอร์ 2 อย่างเจ้าชายวิลเลียม ที่ได้รับคะแนนสูงถึง 66 เปอร์เซ็นต์ หรือแม้แต่ เคท มิดเดิลตัน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ ก็ยังได้คะแนนสูงถึง 68 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นั้นคะแนนลอยลมไปแล้ว ไม่ได้สูงที่สุดในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่ยังสูงที่สุดหากเทียบกับกษัตริย์และพระราชินีทุกพระองค์ในประวัติศาสตร์ที่ 75 เปอร์เซ็นต์

ในทางตรงกันข้าม ผลสำรวจเมื่อกลางปี 2022 ที่ผ่านมา YouGov พบว่า เด็กอายุ 18-24 ปี จำนวน 34 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้รู้สึกว่าราชวงศ์มีความสำคัญ กว่า 31 เปอร์เซ็นต์ อยากเลือก ‘ประมุข’ ด้วยตัวเอง ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 11 เปอร์เซ็นต์ จากการสำรวจเมื่อปี 2019 ขณะที่อีก 33 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องการมีพระราชาหรือพระราชินีต่อไป ซึ่งลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากตัวเลข 60 เปอร์เซ็นต์ ในการสำรวจเมื่อปี 2011

แต่ไม่ว่าอย่างไร สมเด็จพระราชินีฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ก็ยังได้คะแนนรับรอง หรือ Approval Rating อยู่ที่ 62 เปอร์เซ็นต์ มีเพียง 22 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่อยากให้ประชาชนเลือกประมุขของประเทศด้วยตัวเอง ขณะที่กลุ่มสนับสนุนราชวงศ์ที่เข้มแข็งที่สุด เห็นจะเป็นประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป คนกลุ่มนี้สนับสนุนราชวงศ์มากถึง 77 เปอร์เซ็นต์

นั่นคือตัวเลขของสหราชอาณาจักร แต่สำหรับประเทศเครือจักรภพ ซึ่งพระราชินีทรงปกครองด้วย และเป็นผลผลิตโดยตรงจากยุคล่าอาณานิคม ดูเหมือนจะตรงกันข้ามออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา อดีตนายกฯ และนักการเมืองหลายคนเคยเปรยขึ้นมาบ่อยๆ ว่า วันใดที่สมเด็จพระราชินีสวรรคต ก็จะสนับสนุนให้เกิดการทำประชามติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐทันที เพราะประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีความผูกพันเชิงประวัติศาสตร์กับเจ้าอังกฤษมากเท่าไรนักอยู่แล้ว

2 คำที่บรรดา ‘รอยัลลิสต์’ ใช้เรียกสมเด็จพระราชินี นั่นคือคำว่า ‘Glamorous’ หรือสง่างาม และอีกคำคือคำว่า ‘Down to earth’ หรือติดดิน ทั้ง 2 สิ่งนี้ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงดำรงตนอยู่ได้ในโลกสมัยใหม่ แม้จะไม่มีอำนาจอะไรเหลืออยู่เลย นอกจากการเป็น ‘สัญลักษณ์’ ในทางประวัติศาสตร์เท่านั้น

นี่คือภาพจากสารคดี The Coronation ออกฉายทางบีบีซี (BBC) เมื่อต้นปี 2018

ควีนเล่าอย่างอารมณ์ดีว่า มงกุฎที่ต้องทรงสวมขณะทำพิธีบรมราชาภิเษกหนักมาก และหากสวมไปแล้ววางคอไม่ถูกตำแหน่งอาจทำให้คอหักได้

“คุณไม่สามารถก้มลงไปอ่านสุนทรพจน์ได้ การสวมมงกุฎนี้ สิ่งที่ต้องยอมรับคือคุณต้องยกหัวขึ้นไว้ตลอดเวลา เพราะหากก้มลง คอคุณอาจหัก และมงกุฎก็จะร่วงลงกับพื้น

“มีข้อเสียมากมายเกี่ยวกับมงกุฎอันนี้ อย่างไรก็ตาม ที่ต้องยอมรับก็คือ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างสำคัญ” ควีนให้สัมภาษณ์ด้วยรอยยิ้ม

 

อ้างอิง

https://yougov.co.uk/topics/politics/articles-reports/2022/05/31/platinum-jubilee-how-popular-are-royals

https://yougov.co.uk/topics/society/articles-reports/2022/06/01/platinum-jubilee-where-does-public-opinion-stand-m

https://youtu.be/7iksIsZOCBM

Tags: