เมื่อวานนี้ (8 กันยายน 2024) สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่า ซาฮี ฮาวาสส์ (Zahi Hawass) นักโบราณคดี นักอียิปต์วิทยา และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและโบราณวัตถุของประเทศอียิปต์ พร้อมด้วยนักโบราณคดีจำนวนหนึ่ง ยื่นคำร้องให้พิพิธภัณฑ์นอยเอสมิวเซียม (Neues Museum) ในประเทศเยอรมนี คืนรูปปั้น ‘เนเฟอร์ติตี’ (Nefertiti) อดีตพระราชินีผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกไอยคุปต์ที่โด่งดังในเรื่องความงาม
ในอดีตรูปปั้นพระราชินีเนเฟอร์ติตี เคยอยู่ที่อมาร์นา (Amarna) อดีตเมืองหลวงในรัชสมัยของฟาโรห์อาเคนาเทน (Akhenaten) พระสวามีของราชินีผู้เลอโฉม เมื่อราว 1335 ปีก่อนคริสต์กาล ก่อนที่กลุ่มนักโบราณคดีชาวเยอรมันจะขุดพบในปี 1912 และนำกลับประเทศในปีเดียวกัน
ทั้งนี้อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและโบราณวัตถุ นำกลุ่มนักโบราณคดียื่นคำร้องในเว็บไซต์ Hawasszahi.com เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา โดยขอให้เยอรมนีนำรูปปั้นดังกล่าวส่งกลับคืนให้อียิปต์ หลังถูกนำออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย
“เราขอประกาศในฐานะคณะกรรมการแห่งชาติ อียิปต์ขอทวงคืนรูปปั้นพระราชินีเนเฟอร์ติตี เราต้องการให้ทุกคนเข้าไปในเว็บไซต์ และลงชื่อเพียงคนละ 1 รายชื่อเท่านั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า คุณต้องการให้โบราณวัตถุดังกล่าวกลับมา”
ฮาวาสส์เสริมว่า เขายังคงเรียกร้องโบราณวัตถุอีก 2 ชิ้น คือ ‘แผ่นหินโรเซตตา’ (Rosetta Stone) จารึกอียิปต์โบราณที่ประกอบด้วยตัวอักษรไฮโรกลีฟิก (Hieroglyphics) เดโมติก (Demotic) และกรีกโบราณ (Greek) ซึ่งขณะนี้จัดแสดง ณ บริติชมิวเซียม (British Museum) และ ‘จักรราศีเดนดารา’ (Dendara Zodiac) แผ่นหินแกะสลักจักรราศี หลักฐานที่แสดงถึงองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ของชาวไอยคุปต์ ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ (Louvre Museum) ประเทศฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์นอยเอสมิวเซียม และรัฐบาลเยอรมนีไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของฮาวาสส์และนักโบราณคดี ที่เริ่มต้นภารกิจค้นหาสุสานฝังร่างของราชินีเนเฟอร์ติตีตั้งแต่ปี 2017 หลังแหล่งที่อยู่มัมมี่ของอดีตราชินียังคงปริศนานานหลายศตวรรษ โดยอดีตรัฐมนตรีกิจการโบราณวัตถุเชื่อว่า ร่างของเธออาจจะถูกฝังอยู่ที่ไหนสักแห่งในหุบเขาแห่งกษัตริย์ (Valley of Kings)
“นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่นักโบราณคดีอียิปต์เป็นผู้นำในการทำงาน ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นภารกิจจากต่างชาติเสมอมา”
เขาย้ำว่า สุสานของราชินีเนเฟอร์ติตีคือโบราณสถานที่สำคัญที่สุดในโลก หากภารกิจค้นหาสุสานฝังร่างลุล่วง จะนับเป็น ‘การค้นพบแห่งศตวรรษ’ เพราะเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ จากเรื่องเล่าตำนานเดิมที่ครอบงำสังคมมานานหลายร้อยปี
ก่อนหน้านี้ หลายเสียงอ้างว่า มีการค้นพบมัมมี่ของพระราชินีผู้เลอโฉม ก่อนจะถูกกระทรวงวัฒนธรรมอียิปต์ตีตก ขณะที่การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์พบว่า DNA ไม่สอดคล้องกัน เนเฟอร์ติตีจึงได้รับการกล่าวขานเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง และยังลึกลับที่สุดอีกหนึ่งคนด้วย
อ้างอิง
https://artrkl.com/blogs/news/egyptian-archaeologist-discovers-queen-nefertitis-tomb
https://www.reuters.com/world/egyptian-archaeologist-calls-berlin-return-nefertiti-bust-2024-09-08/
https://www.arabnews.com/node/2570612/middle-east
Tags: เยอรมนี, อียิปต์, โบราณวัตถุ, โบราณคดี, เนเฟอร์ติตี, Nefertiti