เมื่อวานนี้ (2 พฤษภาคม 2024) สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia) เปิดเผยว่า รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศสั่งห้ามไม่ให้ผู้ชายทำงานในต่างประเทศชั่วคราว โดยคาดว่า เป็นความพยายามบังคับเกณฑ์ทหาร หลังทัตมาดอว์ (Tatmadow) สูญเสียกำลังพลจำนวนมากในสงครามกลางเมือง
ยุนท์ วิน (Nyunt Win) ปลัดกระทรวงแรงงานเมียนมา ระบุว่า คำสั่งห้ามมีผลบังคับใช้ชั่วคราวในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา และจะดำเนินต่อไปตาม ‘ความจำเป็น’ ของสถานการณ์
“เราจะอนุญาตให้ผู้หญิงออกไปทำงานในต่างประเทศ ในฐานะแรงงานข้ามชาติเท่านั้น ขณะที่ผู้ชายไม่สามารถออกไปได้ในช่วงเวลาที่ถูกสั่งห้าม” ยุนท์ วินระบุกับเรดิโอฟรีเอเชียในเมียนมา ยกเว้นกลุ่มผู้ชายที่ลงทะเบียนตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และบางส่วนที่ทำข้อตกลงกับหน่วยจัดหางานระหว่างประเทศ
แม้กระทรวงแรงงานเมียนมาไม่ได้ระบุถึงสาเหตุการสั่งห้ามแรงงานชายออกนอกประเทศอย่างชัดเจน แต่แหล่งข่าวในสำนักงานจัดหางานในกรุงย่างกุ้งคาดเดาว่า นโยบายดังกล่าวเป็นไปเพื่อรักษาจำนวนผู้ชายเพื่อ ‘เกณฑ์ทหาร’ ในยามฉุกเฉิน ท่ามกลางกำลังพลที่ลดลงจากความปราชัยต่อฝ่ายต่อต้าน
“พวกเขาต้องการคนหนุ่มมาเป็นกำลังสำคัญ ตั้งแต่วันแรกที่กฎหมายเกณฑ์ทหารถูกประกาศ ผู้ชายจำนวนมากพยายามออกไปในต่างประเทศ ทั้งเป็นทางการหรือใช้วิธีการอื่นๆ ที่ไม่ถูกกฎหมายออกไป” แหล่งข่าวระบุสั้นๆ กับเรดิโอฟรีเอเชีย
นอกจากนี้ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หลาย (Min Aung Hlaing) ผู้นำสูงสุดของกองทัพพม่ายังกล่าวสุนทรพจน์ที่มีนัยสำคัญ หลังวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เขาเรียกแรงงานว่า ‘กำลังสำคัญของชาติ’ ขณะที่เน้นย้ำว่า ทหารต้องทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของตนเองในต่างแดน ท่ามกลางมูลจากสำนักข่าวอิรวดี (Irrawady) ที่ว่า ผู้นำเผด็จการรายนี้กำลังเผชิญความเครียดอย่างหนัก และถึงกับต้องกินยา ‘อัลปราโซแลม’ (Alprazolam) เพื่อบรรเทาความวิตกกังวล เพราะกลัวการถูกลอบสังหารและไว้ใจใครไม่ได้
ขณะที่แนวรบหลายพื้นที่ ฝั่งรัฐบาลทหารเมียนมาเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ มีเพียงบริเวณจังหวัดเมียวดีที่รัฐบาลทหารเมียนมาผลักดันฝั่งกองทัพปลดปล่อยชาติกะเหรี่ยงเข้าไปลึกยังพื้นที่ในประเทศเนื่องจากการแปรพักตร์ของผู้นำทหารกะเหรี่ยงอย่าง ชเว ชิต ตู่ (Saw Chit Thu)
ย้อนกลับไปในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2024 มิน อ่อง หล่ายออกกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหาร โดยกำหนดให้ชายและหญิงอายุ 18-35 ปี รับใช้กองทัพเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งมีรายงานจาก Burma Affairs & Conflict Study ว่า ประชาชนเมียนมามากกว่าแสนชีวิตพยายามเลี่ยงคำสั่งดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ มีรายงานจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization: ILO) ว่า ชาวเมียนมาทำงานในต่างประเทศราว 4 ล้านคน โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแรงงานเมียนมามากที่สุดถึง 2 ล้านคน แต่ยังไม่มีตัวเลขชัดเจนว่า แรงงานชายมีจำนวนเท่าใด
Tags: พม่า, อาเซียน, แรงงาน, เมียนมา, มินอ่องหล่าย, รัฐบาลทหารเมียนมา