กลุ่มมุสลิมในอินเดียเชื่อว่า พวกเขากำลังเผชิญกับนโยบาย ‘เลือกปฏิบัติ’ หลังทางการบังคับให้พนักงานประจำร้านอาหารติดป้ายชื่อ โดยอ้างว่า เป็นการจัดระเบียบเพื่อสุขอนามัยและความปลอดภัย ทว่าช่องโหว่ของนโยบาย ทำให้กลุ่มมุสลิมถูกคุกคาม คว่ำบาตร ไปจนถึงขั้นโดนไล่ออกหรือต้องปิดกิจการ หลังเปิดเผยตัวตนและศาสนาที่นับถือผ่านชื่อนามสกุล

เหตุการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นในอินเดียทางตอนเหนือ หลังเดือนกันยายน 2024 โยคี อาทิตยนาถ (Yogi Adityanath) นักบวชชาวฮินดูและมุขมนตรีแห่งรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) จากพรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party: BJP) เป็นผู้เสนอนโยบายให้ร้านอาหารทุกแห่งต้องติดป้ายชื่อ นับตั้งแต่เจ้าของร้าน ผู้จัดการร้าน จนถึงพนักงานทั่วไป พร้อมกับให้เชฟและพนักงานเสิร์ฟสวมถุงมือ ใส่หน้ากากอนามัย และติดตั้งกล้อง CCTV 

สาเหตุที่ทำให้โยคีออกนโยบายดังกล่าว มาจากร้านอาหารในอุตตรประเทศ 2 แห่ง เกิดข่าวฉาวในเวลาเดียวกัน หลังวิดีโอไวรัลเมื่อวันที่ 12 กันยายน ปรากฏภาพวัยรุ่นชายคนหนึ่ง ‘ถ่มน้ำลาย’ ใส่โรตีระหว่างเตรียมอาหารในเขตสซาฮารานปูร์ (Saharanpur) ขณะที่ 1 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น มีพ่อค้าร้านน้ำผลไม้ในเขตกาซิบาอาด (Ghaziabad) ถูกจับกุม หลัง ‘ปัสสาวะ’ ลงในเครื่องดื่มให้ลูกค้ากิน 

“เหตุการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องน่าหวาดกลัว และส่งผลร้ายต่อสุขภาพของคนทั่วไป พฤติกรรมข้างต้นไม่อาจยอมรับได้แม้แต่น้อย” โยคีย้ำตามรายงานของสื่อท้องถิ่น โดยนโยบายดังกล่าวเริ่มบังคับใช้ในรัฐอุตตรประเทศ รวมถึงรัฐหิมาจัลประเทศ (Himachal Pradesh) อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ชาวมุสลิมในอินเดียเชื่อว่า มาตรการข้างต้นเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะการบังคับให้เปิดเผยตัวตนหรือชื่อ แสดงให้เห็นชนชั้นวรรณะหรือศาสนาที่นับถือ นำไปสู่การโจมตีไปจนถึงคว่ำบาตรให้ปิดกิจการ โดยเฉพาะสถานการณ์ความตึงเครียดในอุตตรประเทศ เมื่อกลุ่มฮินดูหัวรุนแรงภายใต้พรรค BJP ต่อต้านศาสนาอิสลามและกลุ่มมุสลิม

ราฟิก (Rafig) เจ้าของร้านอาหารวัย 45 ปี เปิดเผยผ่านเดอะการ์เดียน (The Guardian) ว่า เขาต้องไล่พนักงานที่นับถือศาสนาอิสลามออกไปกว่า 4 คนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมก่อนหน้าคำสั่งบังคับใช้ หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับให้ทุกคนในร้านอาหารติดป้าย โดยให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องของความปลอดภัยของพนักงาน

“ผมต้องไล่พนักงานชาวมุสลิมออกไป เพราะกังวลความปลอดภัยของพวกเขา การเปิดเผยชื่อยิ่งทำให้ทุกคนเปราะบาง และเสี่ยงต่อการเป็นเป้าหมายโจมตีได้ง่ายมาก” 

ราฟิกขยายความว่า เหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่าง 2 ศาสนาในชุมชน เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ก่อนจะย้ำว่า นโยบายของมุขมนตรีแห่งอุตตรประเทศ คือการกีดกันไม่ให้ใช้บริการร้านอาหารที่มีเจ้าของหรือพนักงานมุสลิมทางอ้อม และขณะนี้เขากำลังถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งหากไม่ทำตามอาจจะต้องปิดกิจการถาวร

ขณะที่ ทาบิช อาลัม (Tabish Aalam) เจ้าของร้านชาวมุสลิมชื่อดังในลัคเนา (Lucknow) แสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกันว่า นโยบายนี้อันตรายสำหรับเขาไม่แพ้กัน เพราะเป็นการบังคับให้เปิดเผยศาสนา และเขาเชื่อว่ารัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่กลับหาประโยชน์จากช่องโหว่ของมาตรการดังกล่าว

ไม่ใช่แค่ร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบ ทว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลของรัฐอุตตรประเทศและรัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของพรรค BJP เคยบังคับให้ร้านค้าริมถนนบริเวณเส้นทางแสวงบุญฮินดู-กันวาริยา (Hindu-Kanwariya) ต้องแสดงชื่อและตัวตน ท่ามกลางข้อสันนิษฐานที่มาของนโยบายนี้ว่า เกิดจากความหวาดกลัวว่า ผู้แสวงบุญชาวฮินดูจะแปดเปื้อนกับกลุ่มมุสลิมผ่านอาหาร 

อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา ศาลสูงสุดอินเดียระงับคำสั่งข้างต้น หลังกลุ่มประชาสังคมยื่นคำร้อง โดยบางส่วนพาดพิงถึงความคล้ายคลึงกับนโยบายของนาซีเยอรมนีที่เลือกปฏิบัติและกีดกันชาวยิว

นอกจากนี้ ยังมีทฤษฎีสมคบคิดว่า ชาวมุสลิมอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ฉาวในร้านอาหาร โดยบางส่วนเชื่อว่า กลุ่มอิสลามกำลังทำ ‘สงครามน้ำลาย’ ทางอาหาร โดยมุ่งเป้าไปที่คนฮินดู ทว่ายังไม่ปรากฏหลักฐานที่พิสูจน์ความจริง 

อ้างอิง

https://www.ndtv.com/india-news/yogi-adityanath-orders-display-of-food-operators-details-at-up-eateries-6641951

https://thediplomat.com/2024/07/2-bjp-state-governments-order-vendors-along-hindu-pilgrimage-route-to-display-their-names/

https://www.theguardian.com/world/2024/oct/13/muslims-in-india-face-discrimination-after-restaurants-forced-to-display-workers-names

Tags: , , , , , , ,