วันนี้ (27 มิถุนายน 2565) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาเรื่อง ‘90 ปีรัฐสภา การเดินทางและความหวัง’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี รัฐสภา ถึง ‘การรัฐประหาร’ ว่า การรัฐประหาร ไม่ควรต้องเป็นคำตอบในเรื่องใดก็ตาม ในทางกลับกัน รัฐสภาควรต้องมีวิธีอื่นในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ ประเทศที่เจริญแล้วบางประเทศ อาจเลือกใช้วิธีที่ผิดปกติ ยกตัวอย่างเช่น อิตาลี ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีถึงสองครั้งที่ต้องเชิญคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหา แต่ทั้งหมดไม่ได้เกิดจากการนำอำนาจอื่นมาทุบระบบการเมืองและกติกาทิ้ง หากแต่เกิดจากการยินยอมพร้อมใจของนักการเมืองทุกฝ่าย

“แน่นอนการรัฐประหาร ไม่ควรเป็นคำตอบ แต่ถามว่ามีเหตุผลไหม ถ้าถามคนทำ เขาก็ให้เหตุผลเดิมๆ ทุกครั้ง การทุจริตคอร์รัปชัน บ้านเมืองแตกแยก รวมถึงเรื่องละเอียดอ่อน คือเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ฉะนั้น เป็นหน้าที่ของทุกคน ทำอย่างไรก็ได้ ไม่ให้เรื่องพวกนี้เกิดขึ้น”

อภิสิทธิ์ยังอ้างถึง วันมูหะหมัดนอร์ มะทา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกล่าวในเวทีเดียวกันว่า การรัฐประหารในบางครั้งมีคนเอาดอกไม้ไปให้ ว่าสองครั้งหลังที่ผ่านมา เขามองว่า คนในประเทศไม่ได้คิดอะไร นอกจาก “เออ มันจบเสียที” เพราะฉะนั้น การป้องกันรัฐประหารต้องช่วยกัน 3 เรื่องคือ 1. พยายามสร้างไม่ให้เกิดเงื่อนไข 2. ต้องช่วยกันยืนยันว่าการรัฐประหารไม่ใช่คำตอบ และ 3. ถ้าไม่ทำให้ศาลมีแนววินิจฉัยบรรทัดฐานใหม่ออกมาว่าไม่ยอมรับอำนาจที่เกิดจากการรัฐประหาร ก็จะแก้ปัญหานี้ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีผู้พิพากษาตุลาการเสียงข้างน้อยที่ปฏิเสธอำนาจการรัฐประหารแล้ว

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยไม่ได้มีวัฒนธรรมเหมือนกับประเทศประชาธิปไตยประเทศอื่นว่าฝ่ายบริหารต้องเคารพฝ่ายนิติบัญญัติ โดยอภิสิทธิ์ยกตัวอย่างเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเกิดวิวาทะจาก สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ซึ่งตำหนิ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า “อย่าสั่งเหมือนทหาร” และให้มีความรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร จนในที่สุด นายกรัฐมนตรีบอกว่า “แรงไปไหม”

“ผมอยากเรียนท่านรองประธานฯ ว่า ท่านพูดเบาเกินไป อยากให้ท่านนายกฯ ตระหนักว่า ถ้าดูประเทศที่ปกครองโดยระบอบรัฐสภา ผู้นำประเทศต้องถืองานสภาฯ สำคัญเป็นลำดับหนึ่ง โดยเฉพาะการตอบกระทู้ถาม ผมเป็นนายกฯ ต้องมาขอโทษที่ประชุมว่าต้องไปตอบกระทู้สภาฯ ต้องมาขอโทษในที่ประชุม ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาอ้างว่าไม่สามารถตอบกระทู้ไม่ได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ นึกจะถามกระทู้ขึ้นมา เราทราบอยู่แล้วว่ากระทู้ถามสด ใช้เวลามากขนาดไหน ใช้ไม่เกินชั่วโมง หรือชั่วโมงครึ่งหรอก ในหนึ่งสัปดาห์ถ้าบริหารเวลามาตอบกระทู้สภาไม่ได้ จะบริหารประเทศอย่างไร”

อดีตนายกรัฐมนตรียังกล่าวอีกว่า สำหรับรัฐสภาที่หลายคนคาดหวังให้เป็นกลไกในการหาคำตอบนั้น ยังมีสองปัจจัยหลักที่เป็นปัญหา ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ ประการแรก คือระบบสภาที่คิดกันมา เป็นการปกครองโดยเอากฎหมายเป็นหลัก แต่ร้อยปีที่ผ่านมา การแก้ปัญหาประชาชนต้องใช้อำนาจในการบริหารมากขึ้น ซึ่งอำนาจบริหารนั้นคล่องตัวและสะดวกรวดเร็ว กระนั้นเอง ก็ยังต้องอาศัยการออกกฎหมายโดยสภา ทว่า กระบวนการนิติบัญญัติ ไม่คล่องตัว รวดเร็ว กระชับ เหมือนฝ่ายบริหาร ทำให้เกิดความหงุดหงิดว่ากระบวนการนิติบัญญัตินั้นพึ่งพายาก

“เราคุยกับนักธุรกิจว่าอยากได้กฎหมายเรื่องนั้น เรื่องนี้ เขาก็ไม่อยากรอสองปี ฉะนั้น ต้องคิดว่ากระบวนการตรากฎหมายจะปรับปรุงอย่างไร การเขียนกฎหมาย ก็ต้องมีวิธีการที่หนักเบา มีกฎหมายในลักษณะที่เราเรียกว่า แซนด์บ็อกซ์ ใช้ในบางที่ ยกเว้นในบางที่ ยกเว้นในบางขณะ เรื่องนี้ถึงจะอยู่ในใจประชาชนว่าแก้ปัญหาได้”

อภิสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ ตนเองและสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่เคยปฏิเสธการตอบกระทู้ถามสดของรัฐสภา และเห็นว่าผู้บริหารประเทศควรต้องบอกกับตัวแทนประชาชนตลอดเวลาว่า ผู้นำคิดอย่างไรต่อปัญหานี้ มีแนวทางแก้ไขอย่างไร แล้วฟังทางเลือกจากฝ่ายค้านว่ามีทางเลือกที่ดีกว่าหรือไม่ แต่ปัจจุบัน เวทีสภามีเพียงแค่สองรอบ คือเทศกาลงบประมาณ กับอภิปรายไม่ไว้วางใจ แค่ปีละสองครั้ง ที่นายกรัฐมนตรีจะเข้ามาตอบเท่านั้น

อดีตนายกรัฐมนตรียังทิ้งท้ายด้วยว่า หากอยากให้สภาฯ เป็นที่พึ่งพาของประชาชนจริงๆ คำถามสุดท้ายที่ต้องตั้งคำถามก็คือเรื่องของวุฒิสภา โดยขณะนี้ หากยังหาคำตอบไม่ได้ว่าวุฒิสภาทำหน้าที่อะไรที่ ส.ส. ทำไม่ได้ ก็จะเป็นปัญหาต่อไปว่า ประเทศนี้อยากให้วุฒิสภาทำอะไร และจะมีปัญหาในการออกแบบระบอบประชาธิปไตยต่อไปในอนาคต

“หากเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นปัญหาต่อไปว่าในระบอบประชาธิปไตย ยังมีอีกสภาหนึ่งที่นอกจากไม่ยึดโยงประชาชน ยังมีอำนาจเกินพอดีในการที่จะถ่วงดุลกับ ส.ส. ด้วย”

Tags: , , ,