เมื่อคืนนี้ (16 พฤศจิกายน 2023) อินเดียขอคำแนะนำจากบริษัทของไทย เพื่อช่วยเหลือคนงานราว 40 ชีวิต ที่ติดในอุโมงค์แห่งหนึ่งบริเวณทางหลวงหิมาลัย รัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) หลังเกิดเหตุถล่มตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ท่ามกลางความช่วยเหลือจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นับเป็นระยะเวลา 4 วันที่ล่วงเลย เมื่ออุโมงค์ดังกล่าวถล่มลงมาในช่วงเช้าตรู่เวลา 05.30 น. ของวันที่ 13 พฤศจิกายน 2023 ทำให้คนงานราว 40 ชีวิต ต้องติดอยู่ใต้อุโมงค์ที่มีความยาว 4.5 กิโลเมตร ซึ่งมีกองหินขนาดใหญ่ปิดหน้าอุโมงค์ ขณะที่มีท่อเหล็กบิดเบี้ยวสอดแทรกจากด้านบนอุโมงค์ลงมาด้วย
แม้ทางการรายงานว่า แรงงานทั้งหมดปลอดภัยดี และมีการส่งความช่วยเหลือผ่านช่องทางบางส่วนในอุโมงค์ ด้วยการเพิ่มออกซิเจนและอาหารขนาดเล็กเข้าไป เช่น ผลไม้แห้ง อีกทั้งยังมีการติดต่อผ่านวิทยุสื่อสารเพื่อตรวจสอบสถานการณ์ภายใน แต่การช่วยเหลือยังคงเป็นไปอย่างยากลำบาก
ทั้งนี้ สื่อท้องถิ่นรายงานว่า รัฐบาลอินเดียติดต่อบริษัทไทยแห่งหนึ่ง ซึ่งเคยให้ความช่วยเหลือ ‘ทีมหมูป่า’ ในปฏิบัติการค้นหาและกู้ชีพถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เมื่อปี 2018 เพื่อขอความแนะนำเบื้องต้น โดยอ้างถึงความสำเร็จในการช่วยเหลือโค้ชและนักเตะ 13 ชีวิต ออกมาจากถ้ำที่มีความซับซ้อนได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏรายละเอียดเพิ่มเติมว่า คำแนะนำจากบริษัทไทยคืออะไร และการช่วยเหลือจะดำเนินในรูปแบบใด ขณะที่ทางการอินเดียยังติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมด้านหินและดินจาก Norwegian Geotechnical Institute เพื่อให้ความช่วยเหลืออีกทาง
นอกจากนี้ รอยเตอร์ (Reuters) ระบุว่า ทางการมีแผนใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ผ่าซากปรักหักพัง และใส่สายท่อเหล็กอ่อนเพื่อนำทางให้ผู้รอดชีวิต 40 คน ออกมาจากอุโมงค์ได้อย่างปลอดภัย
“สิ่งที่ท้าทายอย่างเดียวคือการนำซากปรักหักพังออก เพราะมันกระจัดกระจายและร่วงลงมาเสมอ” รานจิต สินห์ (Ranjit Sinha) เจ้าหน้าที่จัดการภัยพิบัติในรัฐอุตตราขัณฑ์ อธิบายกับรอยเตอร์ผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์ หลังเมื่อวานนี้ กองทัพอากาศนำเครื่องขุดเจาะขนาดใหญ่ใส่เครื่องบินลำเลียงซี-130 เฮอร์คิวลิส (C-130 Hercules) เพื่อระดมกำลังช่วยเหลือ เพราะเครื่องขุดเจาะชิ้นแรกใช้งานไม่ได้แล้ว
รายงานของเดอะสเตรตไทม์ (The Straits Times) เผยว่า เศษซากมีความเปราะบางและร่วงหล่นอยู่เสมอ ทำให้คนงาน 2 ราย ได้รับบาดเจ็บในช่วงคืนวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะที่คนงานนับ 10 ราย ที่รอดจากการติดในอุโมงค์ถล่มต่างแสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลให้ความช่วยเหลือเพื่อนของพวกเขาล่าช้าเกินไป
เสียงวิจารณ์: อุบัติเหตุ vs ความสะเพร่า?
แม้จะมีการสันนิษฐานว่า อุบัติเหตุอุโมงค์ถล่มครั้งนี้เกิดจากลักษณะทางภูมิประเทศของรัฐอุตตราขัณฑ์ สะท้อนจากเหตุแผ่นดินถล่ม แผ่นดินไหว และน้ำท่วมตลอดช่วงที่ผ่านมา
ทว่าประชาชนบางส่วนและทางการท้องถิ่นกลับมองว่า มาจากการก่อสร้างเมืองมากเกินไป ซึ่งเกิดจากนโยบายของ นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีอินเดีย ที่ต้องการสร้างรัฐอุตตราขัณฑ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนา
สะท้อนจากการที่อุโมงค์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเส้นทางแสวงบุญจารธรรม (Char Dham) โครงการเมกะโปรเจกต์ของโมดี ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของสถานที่แสวงบุญในศาสนาฮินดู 4 แห่ง ได้แก่ ยมุโนตรี (Yamunotri) คงโคตรี (Gangotri) พาทรินาถ (Badrinath) และเกทารนาถ (Kedarnath)
การสร้างโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท) ด้วยระยะทาง 889 กิโลเมตร ทว่าถูกระงับโดยหน่วยงานท้องถิ่น หลังเกิดเหตุแผ่นดินทรุดตัวในเมืองโชศีมาฐ (Joshimath) ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ
การระงับดังกล่าวก็เกิดขึ้นกับอุโมงค์ที่เกิดเหตุ อัลจาซีรา (Al Jazeera) ระบุว่า อุโมงค์แห่งนี้สร้างขึ้นในปี 2018 และมีเป้าหมายเสร็จภายในปี 2022 แต่ภายหลังกลับถูกเลื่อนกำหนดการณ์ออกไปในปี 2024
ปัจจุบัน สภาพแวดล้อมในรัฐอุตตราขัณฑ์ค่อยๆ ทรุดโทรมอย่างน่ากังวล ในปี 2021 มีประชาชนมากกว่า 200 ราย เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมที่เกิดจากการละลายของธารน้ำแข็งจากเทือกเขาหิมาลัย ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญที่ยังคงตอกย้ำว่า ภัยพิบัติต่างๆ เกิดจากการพัฒนาเมืองมากเกินไป
อ้างอิง
https://www.aljazeera.com/gallery/2023/2/27/photos-inside-joshimath-indias-sinking-himalayan-town
https://uttarakhandtourism.gov.in/activity/char-dham
Tags: ทีมหมูป่า, อินเดียติดอุโมงค์, รัฐอุตตราขัณฑ์, อินเดีย, ไทย, เอเชีย, ติดถ้ำ